ถอดรหัส’ระเบียงคด’วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สยามยุคพระปกเกล้าฯ จากจิตรกรรม’รามเกียรติ์’

หนุมานฝ่าด่านยุงยักษ์ตัวโตเท่าแม่ไก่ เพื่อช่วยพระรามที่เมืองบาดาล หนึ่งในภาพยอดฮิตที่ผู้คนกล่าวขวัญ

เมื่อกล่าวถึงดินแดนสยามประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพจำส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องราวในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รวมถึงการก่อสร้างสิ่งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์อย่างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ที่ธำรงอยู่คู่พระนครเรื่อยมาจวบจนปัจจุสมัย

ทว่า ในมุมของศิลปะและวัฒนธรรมตามอย่างจารีตประเพณี ยังมีเหตุการณ์สำคัญยิ่ง อย่างการรังสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดรามเกียรติ์อันรายล้อมรอบระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งไม่ได้มีแค่ความงดงามอลังการ หากแต่บันทึกห้วงเวลาหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไว้ให้คนรุ่นหลัง ทั้งยังมีแง่มุมหลากหลายที่คล้ายยังเป็นปริศนาให้ค้นคว้าต่อยอด

นี่คือเหตุผลที่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ตัดสินใจทุ่มเทดำเนินการศึกษาเรื่อง “จิตรกรรมระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” ภายใต้โครงการวิจัย “สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยได้รับทุนจากมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

‘ระเบียงคด’แรงบันดาลใจจาก’นครวัด’

ความสนใจของประเด็นนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ประเด็นของสถานที่เขียนภาพ นั่นคือ ระเบียงคด ซึ่ง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ สันนิษฐานว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากระเบียงคดของปราสาทนครวัด แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เนื่องจากระเบียงคดเป็นสิ่งที่ปรากฏครั้งแรกในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 แล้วส่งอิทธิพลให้ดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาสมัยอยุธยา สืบมาถึงรัตนโกสินทร์ ส่วนการเขียนภาพจิตรกรรมก็คาดว่าเป็นอิทธิพลจากภาพสลักที่ระเบียงคดของปราสาทนครวัดเช่นกัน

Advertisement

“ระเบียงคดเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏครั้งแรกในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ตอนกลาง จนต่อมาในสมัยพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 จึงเริ่มพบว่ามีการแกะภาพพระพุทธรูปเรียงรายตามผนัง ต่อมาเมื่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับอิทธิการก่อระเบียงคดจากวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรโดยมีพัฒนาการออกไปอีกขั้นหนึ่ง คือเนื่องจากผนังระเบียงคดของอยุธยาก่ออิฐถือปูน ไม่ใช่ก่อด้วยหินเหมือนในเขมร ดังนั้น อยุธยาจึงก่อพระพุทธรูปแทนการแกะสลักหิน และคงสืบทอดลักษณะเช่นนี้ลงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับการเขียนจิตรกรรมที่ระเบียงคดในลักษณะนี้ ไม่พบที่วัดสำคัญแห่งอื่นๆ เพราะมีการนำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ จึงไม่เอื้อต่อการเขียนภาพ แต่ที่วัดพระแก้ว ผมคิดว่ามีความตั้งใจที่จะเขียนภาพจิตรกรรมมาแต่แรก จึงไม่มีการนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ โดยน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากภาพสลักที่ระเบียงชั้นนอกของปราสาทนครวัด” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

จิตรกรรมรามเกียรติ์ที่ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีโคลงจารึกสมัย ร.5 อธิบายเรื่องเป็นตอนๆ
จิตรกรรมรามเกียรติ์ที่ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีโคลงจารึกสมัย ร.5 อธิบายเรื่องเป็นตอนๆ

เขียนแล้วลบ รื้อแล้วสร้าง แนวทางก่อนรัชกาลที่ 7

จากเรื่องระเบียงคด มาถึงแนวคิดการวาดจิตรกรรม ซึ่งอาจารย์เปิดเผยข้อมูลว่า จากหลักฐานด้านเอกสารพบว่าที่ระเบียงคดวัดพระแก้ว มีการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แล้วมีการ “ลบ” ภาพเพื่อเขียนใหม่ทุกครั้งเมื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ๆ ไม่ใช่เพียงการเขียนซ่อมแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ

“จิตรกรรมที่ระเบียงคดมีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการลบทิ้งเขียนใหม่ พอสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการสร้างปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งจำเป็นต้องขยายแนวระเบียงคด ทำให้ต้องเขียนจิตรกรรมใหม่อีกครั้ง โดยเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และในรัชกาลเดียวกันนี้ เมื่อคราวฉลองพระนครครบ 100 ปี เมื่อ พ.ศ.2425 ก็ทรงโปรดเกล้าให้เขียนจิตรกรรมใหม่อีก โดยประชุมช่างเอกของกรุงมาช่วยกันเขียนในตอนต่างๆ มีการสร้างแผ่นโคลงจารึกติดไว้บนเสาระเบียงว่าใครเขียนตอนไหน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 คราวฉลองพระนครครบ 150 ปี ทรงโปรดเกล้าให้เขียนจิตรกรรมใหม่อีกครั้ง โดยมีพระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียนศิลปะไชย) เป็นหัวหน้างาน ใช้เวลา 3 ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการลบของเดิมทิ้งยกชุดเพื่อเขียนใหม่เหมือนรัชกาลก่อนๆ แต่เป็นการเขียนซ่อมในส่วนที่ชำรุดเท่านั้น ยกเว้นบางส่วนที่ชำรุดจนซ่อมไมได้จริงๆ ถึงจะลบเขียนใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน”

Advertisement
สมุดไทยดำ "ภาพร่าง" รามเกียรติ์ก่อนเขียนจริงบนผนัง เก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
สมุดไทยดำ “ภาพร่าง” รามเกียรติ์ก่อนเขียนจริงบนผนัง เก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
ภาพร่างจิตรกรรม มีข้อความระบุตำแหน่งว่า "คางป่ตูฉ่นวนดานตวันตกถึงมูม ๓ หอง"
ภาพร่างจิตรกรรม มีข้อความระบุตำแหน่งว่า “คางป่ตูฉ่นวนดานตวันตกถึงมูม ๓ หอง”

งานศิลป์’สมจริง’ ยักษ์-ลิง ราวมนุษย์

สำหรับมุมมองด้านศิลปะ รุ่งโรจน์บอกว่า ลักษณะเด่นคือความพยายามที่จะเขียนฉากวิวทิวทัศน์ให้สมจริงเลียนแบบธรรมชาติ รวมถึงกับการเขียนภาพ พระ เทวดา ลิง และยักษ์ในจิตรกรรมมีกล้ามเนื้อเหมือนมนุษย์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นสมัยนิยมในช่วงรัชกาลที่ 7 สอดคล้องกับหลักฐานด้านเอกสารซึ่งมีข้อความใต้ภาพจิตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่เขียนในระหว่าง พ.ศ.2472-2474

“ลักษณะฝีมือเมื่อเทียบกับจิตรกรรมในช่วงปลาย ร.5-ร.-6 พบว่าจิตรกรรมที่ระเบียงคดแห่งนี้ได้พัฒนาการเทคนิคการเขียนออกไปมาก เช่น การมีแสงเงาที่พยายามจะให้ใกล้เคียงธรรมชาติ รวมถึงตัวพระ ลิง ยักษ์และเทวดาที่มีการแสดงกล้ามเนื้ออย่างชัดเจน”

ภาพธรรมชาติ อาทิ ต้นไม้ที่ดูเสมือนจริง ฝีมือจักรพันธุ์ โปษยกฤต ในวัยหนุ่ม เมื่อ พ.ศ.2515
ภาพธรรมชาติ อาทิ ต้นไม้ที่ดูเสมือนจริง ฝีมือจักรพันธุ์ โปษยกฤต ในวัยหนุ่ม เมื่อ พ.ศ.2515

 

หนุมานอมพลับพลา ตอนศึกไมยราพณ์ เขียนเมื่อ พ.ศ.2472 ฝีมือ "สง่า มยุระ" จิตรกรและผู้ก่อตั้งโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของไทย
หนุมานอมพลับพลา ตอนศึกไมยราพณ์ เขียนเมื่อ พ.ศ.2472 ฝีมือ “สง่า มยุระ” จิตรกรและผู้ก่อตั้งโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของไทย

ความรู้เปิดผนึก

ข้อมูลความรู้ที่ได้จากงานวิจัย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ไม่ได้ปิดผนึกไว้แน่นหนาในห้องสมุด หากแต่นำออกเผยแพร่โดยการชักชวนผู้สนใจเข้าชมจิตรกรรมระเบียงคด ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 178 ห้อง โดยใช้เนื้อหาจากรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 เริ่มต้นพระชนกไถดินหานางสีดาจนจบตอนพระพรต พระสัตรุต พระมงกุฎ และพระลบ กลับอโยธยาเฝ้าพระราม

นอกจากนี้ ยังมีจิตรกรรมที่เขียนอยู่ที่ผนังช่องทางเดินที่ซุ้มประตูทั้ง 7 ซุ้มของระเบียงคดและที่ผนังช่วงหักศอกของระเบียงคดด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร อีกทั้งผนังระเบียงบริเวณหลังพระศรีรัตนเจดีย์ด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งนำเนื้อหาจากนารายณ์สิบปางและรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 มาเขียน

รวมถึงจิตรกรรมอสูรพงศ์และวานรพงศ์ที่เขียนขึ้นในฐานะทวารบาลที่ผนังของซุ้มประตูและผนังช่วงหักศอกของระเบียงคดด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร และผนังหักศอกหลังพระศรีรัตนเจดีย์

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ยังชี้ชวนให้สังเกตดูรายชื่อนายช่างหลายรายซึ่งกลายเป็น “ศิลปินดัง” อาทิ เฟื้อ หริพิทักษ์ และจักรพันธุ์ โปษยกฤต

จิตรกรรมเหล่านี้ จึงนับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิตและจะคงอยู่คู่กรุงศรีรัตนโกสินทร์สืบไปชั่วกาลนาน

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อ.คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหงนำชมจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยในโครงการ "สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อ.คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหงนำชมจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยในโครงการ “สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image