โจรฉก โยมซื้อ พระบิณฑบาต ‘หนังสือบุด’ เมืองนคร อีกครั้งที่ความเคลื่อนไหวปรากฏ

โจรฉก โยมซื้อ พระบิณฑบาต ‘หนังสือบุด’ เมืองนคร อีกครั้งที่ความเคลื่อนไหวปรากฏ : โดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร
“สีมากถา” ฉบับเมืองนครศรีธรรมราช เขียนด้วยอักษรขอมพร้อมจิตรกรรมงดงาม ชิ้นเอกที่ได้คืนจากการโจรกรรม

ไม่ตาม มี “เอาต์” สำหรับข่าวคราวการสูญหายของ สมุดข่อย หรือ “หนังสือบุด” เก่าแก่จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาพบว่าถูกโจรกรรมเพื่อจำหน่ายในตลาดมืด กระทั่งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ตั้งศูนย์บิณฑบาตคืนเป็นสมบัติชาติ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เตรียมขออนุมัติออกหมายจับ ซึ่งเบื้องต้นมีการเปิดเผยว่ามีบุคลากร “ภายใน” เกี่ยวข้อง

จริงๆ แล้ว ก่อนเข้าสู่สื่อกระแสหลักอย่างแพร่หลาย ข่าวนี้มีเสียงกระซิบทั้งวงนอกวงในและวงออนไลน์มาก่อนหน้า ว่ามีเรื่องราวไม่ชอบมาพากล คล้ายๆ ว่ามีโจรบ่อนไส้อยู่ในศูนย์อนุรักษ์ แต่ยังไม่มีใครกล้าฟันธง กระทั่งมีการแจ้งความกลายเป็นข่าว พร้อมเสียงบ่นเบาๆ ถึงความล่าช้าของการออกท่าแอ๊กชั่นของสถาบันผู้ครอบครอง จนประชาชนคนไทยพร้อมโลกออนไลน์แอ๊กชั่นกันเอง เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการทวงคืนพระโพธิสัตว์ ประโคนชัย จากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา การคัดค้านย้ายโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐมไปสู่ พช.อู่ทอง สุพรรณบุรี อีกทั้งกรณีเรือนไม้บอมเบย์เบอร์มา หรือบ้านเขียวแห่งเมืองแพร่

สะท้อนความ “ไม่เงียบ” ของคนไทยในความเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ หลายกรณีมีคู่พิพาทคือภาครัฐเสียเอง ทั้งที่ถูกย้อนยุคพร่ำบอกกรอกความรักชาติในนิยามย้อนแย้ง

การฉกมรดกวัฒนธรรมที่มีค่าในตลาดค้าของเก่าโดย “คนใน” แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช้เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด ทว่า ในยุคที่อะไรๆ ก็ออนไลน์ รวมถึงการค้าขายโบราณวัตถุ จึงพบเห็น ได้เบาะแส และตรวจสอบง่ายกว่าในวันวานยังหวานอยู่

Advertisement

บ่ายวันพุธที่ 22 กรกฎาคม ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ มวลมหาประชาชนบุกเกาะขอบวงเสวนา “พลิกพับบุดสมุดข่อยโบราณ สมบัติชาติ และมรดกทางภูมิปัญญาอันหาค่ามิได้” รอฟังความคืบหน้าการได้คืนมาซึ่งมรดกบรรพชนคนเมืองนคร เมืองสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศไทย

ทวงคืน คัดค้าน ตามหา ถึงเวลาคนไทย ‘ไม่เงียบ’

เริ่มต้นที่ “ปู่ครู” ไม่ใช่จากเมืองนครศรีธรรมราชดังปรากฏในจารึกหลัก 1 แต่เป็นปู่ครูในวงการมานุษยวิทยาและโบราณคดีรุ่นบุกป่าฝ่าดงสำรวจโบราณสถานทั่วไทย ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม เจ้าของรางวัลฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขอถอดเฟซชิลด์ชั่วคราวขณะกล่าวผ่านไมโครโฟนด้วยเนื้อหาเข้มข้นตามสไตล์ ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้หลายครั้งซึ่งอาจสัมพันธ์กับการที่รัฐออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของวัฒนธรรมในท้องถิ่น ทั้งยังย้อนเล่าถึงเรื่องราวเมื่อหลายสิบปีก่อนอันเป็นที่มาของการรวบรวมเอกสารโบราณในไทยและประเทศลุ่มน้ำโขง

Advertisement
สีมากถาฉบับเมืองนคร แตกต่างจากฉบับอื่นที่เคยพบ จุฑารัตน์ จิตโสภา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ สันนิษฐานว่าเป็นเพราะความต่างของภูมิประเทศ

“การเคลื่อนไหวเพื่อขอคืนหนังสือบุดในครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวโดยคนใน ไม่ใช่กรมศิลปากร ซึ่งนำไปเก็บโชว์ เห็นแค่รูปแบบศิลปะ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความหมาย และบริบทสังคม ย้อนกลับไปหลายปีก่อน มูลนิธิโตโยต้าเคยให้ทุนในการจัดการเอกสารโบราณทั้งในประเทศไทยและลาว ซึ่งผมก็เข้าร่วมด้วย โดย 2 แห่งที่ให้ความสำคัญมากคือ 1.มรภ.นครศรีธรรมราช 2.ม.มหาสารคาม เอกสารเหล่านี้สะท้อนการเป็นสังคมลายลักษณ์ที่เจริญแล้ว มีบันทึกความทรงจำ ผลิตด้วยใจ มีความสวยงามจากความศรัทธา แต่ลดความสำคัญลงไปหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เมื่อมีการศึกษาในระบบโรงเรียน พวกนักเล่นโบราณวัตถุ ตีมูลค่าเป็นเงิน เป็นเรื่องซื้อขาย แต่คุณค่า ประเมินไม่ได้ สะท้อนรากเหง้า แต่เรากลับหลงลืม ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญมาก มีการสนับสนุนให้ปริวรรต หรือถ่ายทอด อ่านแปลเพื่อให้คนปัจจุบันเข้าใจ แต่กลับมีคนเอาไปป่น ทำพระ ทำมวลสาร” ศาสตราจารย์ศรีศักรเล่า

แม้ขึงขังในทุกประเด็นศิลปวัฒนธรรม ทว่า ในเชิงกฎหมาย นักวิชาการท่านนี้เรียกร้องให้ “ออมชอม” อย่าถึงขนาดโดนคดีรับซื้อของโจร เพราะคนที่ซื้อไปรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอให้ใช้โอกาสนี้ทำให้สังคมมองเห็นถึงความหมายและคุณค่าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

‘สีมากถา’ ฉบับเมืองนคร ชิ้นเอก ‘ได้คืน’ หลังถูกโจรกรรม

จบการเทศนาธรรมโดยปูชนียบุคคลที่สังคมไทยต้องรับฟังแล้ว ไปต่อที่ไฮไลต์ในประเด็นการโจรกรรม ซึ่ง นายแพทย์ บัญชา พงษ์พานิช ผอ.หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในฐานะฆราวาสผู้ถวายงานพระสงฆ์ใน “ศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร” เปิดเผยว่า ศูนย์ศิลปวัฒนธรร มรภ.นครศรีธรรมราชนี้ ตนขอใช้คำว่า เป็น “กรุ” ใหญ่ที่สุดกรุหนึ่ง ของการเก็บรักษาหนังสือบุด เนื่องจากมีการรวบรวมไว้มากถึงราว 4,000 เล่ม ในขณะที่หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช มีเพียง 500 เล่มเท่านั้น สำหรับหนังสือบุดที่หายไป คาดว่าอาจมากถึง 1,000 เล่ม อย่างไรก็ตาม หลังการตั้งศูนย์บิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร มีผู้ติดต่อแสดงความประสงค์ในการส่งคืนอย่างต่อเนื่อง

“หลังการแถลงตั้งศูนย์บิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร ภายใน 1 ชั่วโมง มีคนติดต่อมาบอกว่ามีหนังสือบุดอยู่ที่ตัวเอง โดยไม่รู้ว่าเป็นของที่ขโมยมา ขณะนี้มีกระบวนการส่งคืนบ้างแล้ว ทั้งจากเพชรบุรี ขอนแก่น และที่อื่นๆ แสดงว่ากระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งถ้าจำนวนที่สูญหายถึง 1,000 เล่มจริง การขอรับคืนคือเรื่องใหญ่ มิติที่น่าสนใจคือ มีผู้ส่งคืน 3 ลัง หน้าลังเขียนว่า กราบขอโทษ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ส่วนการตามหาผู้กระทำผิด มรภ.นครศรีธรรมราชมีการออกแถลงการณ์ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ติดตามอยู่ ใครครอบครองหนังสือบุดไว้ขอให้ส่งคืนไปยังวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช หากส่งคืนตอนนี้ยังถือว่าเป็นการมีโดยสุจริต”

สุรเชษฐ์ แก้วสกุล สถาปนิกและแอดมินเพจ “คิดอย่าง” เปิดหนังสือบุดที่ได้รับคืนอย่างต่อเนื่อง หลังมีการตั้งศูนย์บิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร

หนึ่งในหนังสือบุดที่ได้รับคืนมาแล้วคือ “สีมากถา” ฉบับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการนำมาจัดแสดงในตู้กระจกให้รับชมและบันทึกภาพ หนังสือบุดเล่มนี้เป็นคู่มือพร้อมภาพประกอบการผูกพัทธสีมา ซึ่งในประเทศไทยมีฉบับซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ “สีมากถา ฉบับวัดสุทัศนเทพวราราม” ซึ่งสำนักพิมพ์เมืองโบราณเคยจัดพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม นายแพทย์บัญชาบอกว่า สีมากถา ฉบับเมืองนครศรีธรรมราชที่ได้คืนมานี้ มีความสมบูรณ์กว่า และสวยงามกว่าฉบับวัดสุทัศนเทพวราราม

เปิดเบาะแสภาพถ่ายบน ‘ฟูก’ จากศูนย์อนุรักษ์สู่ตลาดมืด

จากนั้น ลงลึกในรายละเอียดด้วยปากคำของผู้ติดตามเบาะแสตัวจริง อย่าง สุรเชษฐ์ แก้วสกุล สถาปนิกและแอดมินเพจ “คิดอย่าง” ผู้สวมวิญญาณโคนันสายงานอนุรักษ์ สืบเสาะมาตั้งแต่ต้น โดยย้อนเล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากครั้งที่ตัวเองเดินทางไปยังศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มรภ.นครศรีธรรมราช เปิดตู้ต่างๆ แล้วสะดุดตากับ หนังสือบุด “สีมากถา” ซึ่งยังไม่มีการทำทะเบียน แม้ตอนนั้นเวลาน้อย แต่ก็ได้ถ่ายภาพไว้เกือบทุกหน้า

ต่อมา ได้ทราบข่าวว่ามีหนังสือบุดหลุดเข้าไปในตลาดมืด มีข้อความระบุว่า เขียนไว้สำหรับวัดแห่งหนึ่งใน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าหลุดมาจากไหน กระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน 2563 มีบุคคลรายหนึ่งโพสต์ขายหนังสือบุด “สีมากถา” ในกลุ่ม “คนรักสมุดไทย” ซึ่งเป็นกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้และสะสมเอกสารโบราณที่ตกทอดในตระกูล ไม่ใช่กลุ่มช้อปปิ้งของเก่าแต่อย่างใด เมื่อได้เห็นภาพก็จำได้ทันทีว่าเป็นเล่มเดียวกับที่เคยถ่ายภาพเก็บไว้จาก มรภ.นครศรีธรรมราช และฉุกคิดในประเด็นกระแสข่าวหนังสือบุดหลุดมาขายในตลาดมืด ว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน

หลังจากนั้น เมื่อได้เห็นภาพหนังสือบุดเล่มอื่นๆ เช่น พระมาลัย ตำรานวดจับเส้น แล้วพิจารณาอย่างละเอียด สังเกตได้ว่าเป็นการถ่ายบนฟูกนอน ไม่ใช่บนโต๊ะสำหรับค้นคว้า ตนได้ส่งข้อความไปสอบถามยังผู้โพสต์ภาพเหล่านั้นในเฟซบุ๊ก จึงมีการบอกราคาขาย ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่าหนังสือบุดเหล่านั้นหลุดมาจาก มรภ.นครศรีธรรมราชแล้วจริงๆ

อย่างไรก็ตาม มรภ.นครศรีธรรมราชมีความล่าช้าในการตั้งกรรมการตรวจสอบ กระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม จึงมีการตั้งนิติกร และเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งที่น่าห่วงในขณะนั้นคือหนังสือบุดอาจสูญหายไปตลอดกาล ต่อมา คณะสงฆ์จึงตั้งกรรมการขอบิณฑบาตหนังสือบุดโดยไม่เอาเรื่องในทางกฎหมาย หลักการตามที่หารือกันไว้คือ หลังมีการส่งคืนมารายวัน จะทำบันทึก ตรวจรับทั้งฝ่ายฆราวาส ฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายหอสมุดแห่งชาติ โดยจะแจ้งตำรวจรับทราบด้วย

“หลังเปิดศูนย์บิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร ก็ค่อยๆ อัพข้อมูลในอินเตอร์เน็ต โดยมีช่องทางต่างๆ ซึ่งก็มีผู้นำหนังสือบุดส่งคืนกับทางตำรวจ 37 เล่ม ตำรวจได้นำมาส่งที่ศูนย์ โดยมีเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราชช่วยทำทะเบียนให้รวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้วย” สุรเชษฐ์เล่าครบจบทุกกระบวนความ

นักวิชาการระบุว่า หนังสือบุดสะท้อนการแพร่กระจายวรรณกรรมภาคกลางจากการพัฒนาระบบไปรษณีย์และคมนาคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ที่เป็นผลจากการพัฒนาระบบการปกครอง

ทลายวัฒนธรรม ‘ปู่โสมเฝ้าทรัพย์’ เจอเล่มสำคัญ ต้องรีบเผยแพร่

ปิดท้ายด้วยนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ภูธร ภูมะธน ชาวนครศรีธรรมราชตัวจริง ที่เริ่มด้วยการเล่าว่า เหตุที่เมืองนคร มีหนังสือบุดเยอะ เพราะเป็นเมืองนักปราชญ์ ในอดีตมีความเกี่ยวข้องกับราชสำนักทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจใหญ่ ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ประกอบกับตั้งอยู่ใกล้ทะเล จึงได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลาย เพิ่มพูนประสบการณ์ เชื่อมโยงกับโลก

เนื้อหาในหนังสือบุด มีทั้งศาสนา ประวัติศาสตร์ กฎหมาย ตำรายา วรรณกรรม ตำราดาราศาสตร์ และอีกมากมาย บางเล่มเต็มไปด้วยภาพเขียน ทั้งแบบจารีต และแบบที่เขียนตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ หนังสือบุดจากเมืองนคร ส่วนหนึ่งถูกนำเข้ามาในกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งก่อตั้งหอสมุดวชิรญาณ ดังนั้น หนังสือบุดจำนวนมากที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ ล้วนมาจากนครศรีธรรมราช บางเล่มเก่าถึงยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สำหรับการรวบรวมหนังสือบุดโดยสถาบันการศึกษาต่างๆ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยครูทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีการจัดเก็บไว้จำนวนมาก ซึ่งทำให้สามารถรักษาต้นฉบับไว้ได้มากและถูกจัดเก็บเป็นระเบียบ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้หนังสือบุด “ถูกพรากไปจากชาวบ้าน” ผู้ที่ใช้จริงในวิถีชีวิต

(จากซ้าย) นายแพทย์ บัญชา พงษ์พานิช, ภูธร ภูมะธน และ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม
ในเสวนา “พลิกพับบุดสมุดข่อยโบราณ สมบัติชาติ และมรดกทางภูมิปัญญาอันหาค่ามิได้”

ประเด็นสำคัญที่ต้องหยิบปากกาไฮไลต์ คือมุมมองที่นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ระบุว่า สำหรับหนังสือบุดที่ได้คืนมา ต้องมีการลงทะเบียน จัดเก็บ โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ มีการศึกษา ปริวรรต หรืออ่านแปลเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ ตีพิมพ์เล่มสำคัญ “อย่าเก็บเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์”

“ถ้าเจอเล่มสำคัญ ต้องจัดพิมพ์เผยแพร่ให้ความรู้ ให้หน่วยราชการที่มีหน้าที่ คือ หอสมุดแห่งชาติรวบรวม แต่ต้องทลายวัฒนธรรมการเก็บรักษาที่ไม่เอื้อเฟื้อผู้ใช้ประโยชน์ การเก็บเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ก็ไม่บังควร”

วัฒนธรรมไทยเฉยที่บ่นเพียง “เสียดาย” เมื่อมรดกชาติถูกทำลายทำท่าจะจบสิ้นลงด้วยความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนมาหลายรอบแล้ว ส่วนแอ๊กชั่นของหน่วยงานรัฐแม้ดูมีความพยายามมากขึ้น แต่ยังไม่ทันใจประชาชนที่พากเพียรใช้ความอดทนมานานนับเนื่องหลายทศวรรษแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image