บรรพชนคนไทย 3,000 ปี สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง : รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

บรรพชนคนไทย 3,000 ปี สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ทำแผนผัง – บริเวณพื้นที่แหล่งฝังศพยุคหินใหม่อายุราว 3,000 ปี ที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ซึ่งพบวัตถุโบราณหลายชิ้น โดยทางกรมศิลปากรเตรียมทำแผนผังแหล่งโบราณคดีเพื่อวางแผนงานการขุดค้นต่อไป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2563 หน้า 1)

บรรพชนคนไทย
3,000 ปี สีบัวทอง
อ.แสวงหา จ.อ่างทอง

รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

หลายพันปีมาแล้ว คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณอ่างทองล้วน “ไม่ไทย” เพราะเป็นประชากรของดินแดนดั้งเดิมที่ยังไม่เรียกประเทศไทยและคนไม่พูดภาษาไทย แต่พูดภาษาหลากหลายซึ่งเป็นภาษาร่วมอุษาคเนย์ ถึงกระนั้นก็ล้วนเป็นบรรพชนคนไทย เพราะต่อไปข้างหน้าทั้งดินแดนและผู้คนสืบเผ่าพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของคนไทยและประเทศไทย

ต่อมาเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว คนลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมถึงสองฝั่งคลองสีบัวทองที่อ่างทอง ล้วนเป็นประชากรของรัฐอยุธยาพากันพูดภาษาไทย (ซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน) แล้วกลายตนเป็น “คนไทย”

Advertisement

หลักฐานพบล่าสุดจำนวนมาก “ไม่เหมือนเดิม” จากชุมชนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปี สีบัวทอง อ่างทอง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

ประวัติศาสตร์โบราณคดี “แห่งชาติ” ของไทย แบ่งยุคสมัยตายตัวตามลักษณะประวัติศาสตร์ศิลปะซึ่งไม่ปกติ เพราะมี “อคติ” เจือปนหลายด้าน ดังนั้นต้อง “รื้อ” แล้ว “สร้าง” อย่างปกติสากลโลก ที่ความเป็นมาหรือพัฒนาการของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงตามลักษณะเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในและภายนอกที่ปฏิเสธมิได้

ชุมชนดึกดำบรรพ์บนที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา

Advertisement

แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว บนพื้นที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เพิ่งพบจากการสำรวจตรวจสอบร่วมกันของคณะอาจารย์หลายสถาบัน เป็นหลักฐานสำคัญครั้งใหญ่ยืนยันว่ามีชุมชนคนเริ่มแรกตั้งหลักแหล่งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคกลางตอนล่าง (มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2563 หน้า 1)

บรรพชนคนไทย 3,000 ปี สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง  รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ทำแผนผัง – บริเวณพื้นที่แหล่งฝังศพยุคหินใหม่อายุราว 3,000 ปี ที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ซึ่งพบวัตถุโบราณหลายชิ้น โดยทางกรมศิลปากรเตรียมทำแผนผังแหล่งโบราณคดีเพื่อวางแผนงานการขุดค้นต่อไป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2563 หน้า 1)

โบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์, ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ, หินดุสำหรับทำภาชนะดินเผา, เครื่องมือหินขัด, ชิ้นส่วนเครื่องมือสำริด, ลูกปัดทำจากกระดูกปลาขนาดใหญ่ เป็นต้น ขุดพบบริเวณพื้นที่แหล่งฝังศพยุคหินใหม่อายุราว 3,000 ปี ที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2563 หน้า 1, 10)

ก่อนหน้านี้นักโบราณคดี “ทางการ” ของไทย เชื่อถือตามความรู้เก่าว่าทะเลอ่าวไทยมีชายฝั่งเว้าลึกเข้าไปถึงนครปฐม, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, ลพบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี และชลบุรี ดังนั้นบรรดามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งหลักแหล่งในป่าดงพงพีที่ดอนหุบเขาและเถื่อนถ้ำแถบสุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, อุทัยธานี จึงพบเครื่องมือหินและอื่นๆ มากมายบริเวณลุ่มน้ำแควใหญ่-แควน้อยกับแม่กลอง ส่งผลให้ อ่างทอง, ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพฯ เป็นท้องทะเลอ่าวไทยโบราณหลายพันปี ไม่มีมนุษย์ตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยเป็นชุมชน

 

 

การค้นพบแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ มีชุมชนและหลุมฝังศพมนุษย์พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุหลายพันปีที่อ่างทอง จึงเป็นหลักฐานสำคัญมากที่ให้ข้อมูลความรู้ใหม่แก่นักโบราณคดี “ทางการ” ตาสว่าง ว่าแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยสมัยเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณนนทบุรี [นายตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) บอกผู้สื่อข่าว มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2563 หน้า 1]

ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว พบทั่วไปบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเคยมีผู้รายงานนานหลายปีแล้วในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ ตามลำน้ำ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, และที่ราบลุ่มต่ำ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ฯลฯ

โดยสรุปประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยต้องทบทวนโดย “รื้อ” แล้ว “สร้าง” ด้วยข้อมูลชุดใหม่อย่างรู้เท่าทันการเมือง


ชุมชน 3,000 ปี สีบัวทอง อ่างทอง

ชุมชนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปี สีบัวทอง มีข้อมูลพิสดารในหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง โดย ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2560 ราคา 280 บาท

ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณสองฝั่งคลองสีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง และพื้นที่โดยรอบระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำน้อย เคยพบก่อนเมื่อ 55 ปีที่แล้ว จากการเดินสำรวจเบื้องต้นบนผิวดิน พ.ศ.2508 โดย อ.ศรีศักร วัลลิโภดม (เมื่อครั้งเป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) และหลังจากนั้นมีการสำรวจซ้ำสม่ำเสมอหลายครั้งหลายหน

ข้อมูลที่สำรวจพบทั้งหมด อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ทยอยเขียนบทความวิชาการแบ่งปันและเผยแพร่ทั้งในวารสารวิชาการของสถาบันการศึกษาและโดยเฉพาะวารสาร เมืองโบราณ ต่อมารวบรวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ ค้นหาอดีตของเมืองโบราณ (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.2538) ล่าสุดสรุปภาพรวมไว้ในหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2560 หน้า 182-185)

 

 

 


หม้อสามขา

หม้อสามขา ราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบครั้งแรกที่บ้านเก่า ต.จรเข้เผือก อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันพบมากตั้งแต่ทิวเขาภาคตะวันตก ต่อเนื่องลงไปภาคใต้ของไทย และทางเหนือของมาเลเซีย

ชิ้นส่วนหม้อสามขา เป็นโบราณวัตถุสำคัญพบในชุมชน 3,000 ปี อ.แสวงหา จ.อ่างทอง (นายจารึก วิไลแก้ว ผอ.สำนัก ศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา บอกผู้สื่อข่าวมติชน ฉบับวันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2563 หน้า 8)

หม้อสามขา เป็นภาชนะดินเผามี 3 ขา อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว วัฒนธรรมลุ่มน้ำ ฮวงโห ในจีน เป็นที่รู้ทั่วโลก ต่อมาพบในหลุมฝังศพกระจายมากทางทิวเขาตะวันตกพรมแดนไทย-พม่า ตั้งแต่เขตสุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร ถึงมาเลเซีย

ชิ้นส่วนหม้อสามขา พบที่สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง มีอายุร่วมสมัยกับที่เคยพบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง และหนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี เป็นพยานหนักแน่นว่ามีการติดต่อใกล้ชิดกันหลายพันปีมาแล้ว

แต่ที่สำคัญคือมีการติดต่อถึงจีนตามเส้นทางการค้าดินแดนภายใน เข้าไปทางใต้ของจีน บริเวณ “ที่สูงแห่งเอเชีย” (Zomia) หลักแหล่งกว้างใหญ่ของคนพูดตระกูลภาษาไท-ไต (แต่ไม่ใช่ “คนไทย”) จากคำอธิบายของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ในหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2559)


 

แผนที่แสดงตำแหน่งแหล่งโบราณคดี 3,000 ปี สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง(มีฝั่งทะเลอยู่ราว จ.นนทบุรี) ต่อมาฝั่งทะเลอ่าวไทยยืดออกไปอยู่ราวถนนพระราม 2กรุงเทพฯ สมัยการค้าโลกเริ่มแรก (หรือสมัยทวารวดี) 1,500 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ.1000

จากบ้านเป็นเมืองและรัฐ

แหล่งโบราณคดี 3,000 ปี บริเวณสีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง คืออะไร? สำคัญอย่างไร? หมายถึงอะไร? มีข้อมูลพอจะบอกเล่าไว้เป็นเบื้องต้นอย่างกว้างๆ ดังนี้

1.พื้นที่พิธีกรรม “เฮี้ยน” หรือศักดิ์สิทธิ์กลางชุมชนใหญ่ แหล่งฝังศพคนชั้นนำหัวหน้าเผ่าพันธุ์ จึงพบโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ฝังรวมกับศพ (เหมือนบ้านเชียง อุดรธานี)
พื้นที่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์กลางชุมชนอย่างนี้ เป็นต้นแบบสมัยกรุงศรีอยุธยามี ท้องพระเมรุ หรือท้องสนามหลวง และเป็น
ต้นตอที่บริเวณลุ่มน้ำโขงเรียก “ป่าเฮ่ว” ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรียก “ป่าช้า” (คำว่า ช้า หมายถึง ซากศพ)

2.ชุมชนนับถือศาสนาผีมีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” คนตายขวัญไม่ตาย เพียงขวัญหายจากร่าง ต้องฝังร่างไว้รอขวัญคืนร่าง (คนจะได้ฟื้น) ขวัญไม่ตายแต่จับต้องไม่ได้มองไม่เห็น โดยมีวิถีเหมือนไม่ตายในต่างมิติ
สมัยนั้นยังไม่ติดต่ออินเดียจึงไม่รู้จักวิญญาณทางศาสนาพุทธและพราหมณ์ ไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด และยังไม่
รู้จักพิธีเผาศพ (ตามแบบอินเดีย)

3.คนในชุมชนเป็นใคร? มาจากไหน? พูดภาษาอะไร? หลักฐานที่พบขณะนี้บอกไม่ได้ แต่รู้ได้แน่ว่า “เชื้อชาติ” ไม่มีจริงในโลก
ดังนั้นคนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปี สีบัวทอง เป็น “บรรพชนร่วม” ของคนอุษาคเนย์และคนไทย เพราะไทยอยู่ในอุษาคเนย์ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกันทั้งของดินแดนและผู้คนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องจนปัจจุบัน ประกอบด้วยคนนานาชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่”

บรรพชนคนไทยจากสีบัวทอง

คนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปี สีบัวทอง มีลูกหลานเหลนโหลนสืบพงศ์เผ่าเหล่ากอหน่อเนื้อเชื้อสายเป็นวงศ์วานว่านเครือของบ้านเมืองที่จะเติบโตต่อไปจากการค้าโลก

ต่อมาหลัง พ.ศ.1000 สมัยการค้าโลก (ไทยเรียกสมัยทวารวดี) รับศาสนาพุทธ, พราหมณ์ จากอินเดีย ผลักดันชุมชนบ้านเมืองมีคูน้ำคันดิน ปัจจุบันพบย่านนั้นที่บ้านคูเมือง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง และพื้นที่โดยรอบอีกหลายแห่ง

บ้านเมืองคูน้ำคันดินสองฝั่งคลองสีบัวทองเป็นเครือข่ายอยู่ระหว่าง 2 รัฐใหญ่ ได้แก่ รัฐอู่ทอง (สุพรรณบุรี) ทางทิศตะวันตก กับรัฐละโว้ (ลพบุรี) ทางทิศตะวันออก แล้วมีการติดต่อใกล้ชิดสม่ำเสมอด้วยเส้นคมนาคมทางน้ำ ซึ่งมีลำน้ำน้อยใหญ่หลายสายเชื่อมถึงกันทั้งแม่น้ำ
ท่าจีน (ไปอู่ทอง) และแม่น้ำน้อย (ไปละโว้)

ต่อเนื่องถึงหลัง พ.ศ.1500 สมัยการค้าสำเภาจีนถึงอ่าวไทย (ไทยเรียกสมัยลพบุรี หรือสมัยขอม) บ้านเมืองมั่งคั่งจากการค้า ทำให้คนหลายเผ่าพันธุ์มีมากขึ้น

กระทั่งหลัง พ.ศ.1700 อำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไทยกระจายจากลุ่มน้ำโขงครอบคลุมฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา มีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ต่อไปข้างหน้ามีอำนาจเหนือกรุงศรีอยุธยา ประชากรหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า แล้วกลายตนเป็นคนไทย

ชุมชนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปี สีบัวทอง สืบลูกหลานเหลนโหลนต่อมาเป็นประชากรสมัยกรุงศรีอยุธยา พบซากอาคารก่ออิฐเป็นโบสถ์สมัยอยุธยาตอนปลาย ในวัดสีบัวทอง ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง

ชาวสีบัวทองร่วมป้องกันหมู่บ้านของตนให้พ้นภัยสงครามอังวะสมัยกรุงแตก พ.ศ.2310 ชาวบ้านทุกวันนี้ร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนคนสีบัวทอง ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง
ปู่ปิ่น เป็นนายพรานบ้านสีบัวทอง ใช้ประสบการณ์พรานป่าชักชวนชาวบ้านที่แตกฉานซ่านเซ็นหลังกรุงแตก พ.ศ.2310 ให้รวมกันตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ จึงได้รับยกย่องเป็น “บรรพบุรุษ” คนสีบัวทอง (รูปปั้นปู่ปิ่นในศาลปู่ปิ่น ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง)

คลองสีบัวทอง

ชุมชนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปี สีบัวทอง อยู่บนที่ราบลุ่มต่ำ มีแม่น้ำลำคลองห้วยหนองบึงน้อยใหญ่กระจายทั่วไป เชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำน้อยถึงแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพคลองสีบัวทอง หน้าวัดสีบัวทอง ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง)

ชุมชนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปี สีบัวทอง ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมไปมาหาสู่กับชุมชนอื่นโดยรอบทั้งใกล้และไกล ถึงลุ่มน้ำโขงและรอบอ่าวไทย เช่น บ้านเก่า (แควน้อย ลุ่มน้ำแม่กลอง กาญจนบุรี), อู่ทอง (ลำน้ำจรเข้สามพัน-ลุ่มน้ำท่าจีน สุพรรณบุรี), ละโว้ (ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี จ.ลพบุรี)

ชุมชนไม่เหมือนเดิม หลังสร้างเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนภูมิพล (หลัง พ.ศ.2500) การไหลหลากของแม่น้ำ 3 สายเปลี่ยนไป (แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำน้อย, แม่น้ำท่าจีน) ขณะเดียวกันมีระบบชลประทานกว้างขวาง ส่งผลให้คลองสีบัวทองกับลำน้ำน้อยใหญ่เหมือนใยแมงมุมบริเวณที่ราบลุ่มร่วงโรย และบรรดาห้วยหนองที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ไม่เหมือนเดิม

ถนนรถยนต์เริ่มแทนที่การคมนาคมทางน้ำ ชุมชนลดความสำคัญลง บางแห่งร้างไปก็มี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image