อาศรมมิวสิก : ไอดา แฮนเดล นักไวโอลินข้ามภพข้ามชาติ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ  

อาศรมมิวสิก : ไอดา แฮนเดล นักไวโอลินข้ามภพข้ามชาติ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ  

อาศรมมิวสิก : ไอดา แฮนเดล
นักไวโอลินข้ามภพข้ามชาติ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาโลกได้สูญเสียนักไวโอลินระดับตำนานแห่งศตวรรษที่ 20 ไปอีกคนหนึ่ง เธอคือ “ไอดา แฮนเดล” (Ida Haendel) นักไวโอลินสุภาพสตรีชาวอังกฤษ (กำเนิดในประเทศโปแลนด์) ซึ่งจากไปในวัย 91 ที่บ้านพักในเมือง “ไมอะมี” (Miami) รัฐฟลอริดา (Florida) สหรัฐอเมริกา ข่าวการเสียชีวิตของเธอนอกจากเป็นการสูญเสียนักไวโอลินที่ดีที่สุดของโลกคนหนึ่งไปแล้ว เรื่องราวในชีวิตของเธอในด้านความเป็นศิลปินดนตรีมีอะไรที่น่าเรียนรู้มากมาย ทั้งด้านการต่อสู้ชีวิตเพื่อบรรลุถึงชื่อเสียงความสำเร็จที่ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ อีกทั้งทัศนคติความคิดเชิงปรัชญาต่างๆ ที่เธอมีต่อศิลปะดนตรีที่เธอได้อุทิศตัวเป็นผู้รับใช้มาตลอดชีวิต ย่อมมีประโยชน์ต่อวงการดนตรี ทั้งสำหรับผู้รักดนตรีทั่วๆ ไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินดนตรี (และผู้คิดที่จะเป็นศิลปินดนตรีในอนาคต)

เรื่องราวในช่วงต้นชีวิตของเธอ ในตอนที่เธอได้เริ่มสำแดงปาฏิหาริย์ทางดนตรีในวัยเพียง 3 ขวบครึ่ง ยังคงเป็นเรื่องราวที่ใช้แนะนำตัวของเธอได้อย่างน่าทึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาถึงชีวประวัติของเธอตามเวทีสนทนาต่างๆ หรือในข้อเขียน, บทความเกี่ยวกับตัวเธอ นั่นคือเรื่องราวในตอนที่เธอได้ยินเสียงแม่ร้องเพลงเล่นในครัว หนูน้อยไอดายืนยันกับแม่ว่า “หนูเล่นไวโอลินในเพลงที่แม่ร้องอยู่นี้ได้นะ!” แม่เธอไม่เชื่อ และห้ามเธอไม่ให้แตะต้องไวโอลินของพี่สาวซึ่งเป็นห่วงว่าถ้าเธอซุกซนไปหยิบมาเล่นแล้วเสียหายไป ครอบครัวที่ยากจนของเธอในตอนนั้นจะไม่มีเงินซื้อใหม่ หนูน้อยไอดาวัย 3 ขวบครึ่ง (ที่ไม่เคยเรียนไวโอลินมาก่อนเลยในชีวิต) เถียงกับแม่ว่าเธอสามารถเล่นเพลงที่แม่ร้องได้แน่นอน เมื่อแม่ไม่เชื่อเธอจึงแอบตะเกียกตะกายไปหยิบไวโอลินของพี่สาวมาจนได้ และเล่นเพลงที่แม่ร้องให้ฟังได้อย่างถูกต้อง นั่นจึงเป็นสัญญาณเริ่มต้นในชีวิตทางดนตรีของเธอ

ในเรื่องนี้ไอดา แฮนเดล ได้เล่าถึงความรู้สึกของเธอว่า “ฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างมากในเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ เพราะว่าในตอนที่ฉันหยิบไวโอลินมาเล่น ตอนอายุ 3 ขวบครึ่ง ฉันสามารถเล่นมันได้ราวกับว่าบางสิ่งบางอย่างที่มันได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนนั้น ได้ดำเนินกระบวนการของมันต่อไปอีก” มาถึงตอนนี้ ครอบครัวของเธอตระหนักดีแล้วว่า อัจฉริยะทางดนตรีในครอบครัวที่พ่อเธอได้อุทิศตัวสร้างขึ้นมานั้นไม่ใช่พี่สาวเธอที่กำลังเรียนไวโอลินอยู่ แต่เป็นหนูน้อยไอดาผู้สามารถเล่นไวโอลินได้ถูกต้อง แม้ไม่เคยผ่านการเรียนมาก่อน เรื่องราวบรรยากาศทางดนตรีในครอบครัวของเธอน่าสนใจอยู่ไม่น้อย “นาธาน แฮนเดล” (Nathan Haendel) บิดาของเธอเป็นศิลปินวาดรูปที่ผิดหวังในอาชีพทางดนตรีมาก่อน ความฝันในการที่จะเป็นนักไวโอลินของเขาถูกดับไปตั้งแต่ในวัยเด็ก ครอบครัวอันเคร่งศาสนา ที่มีบิดาเป็นนักสอนศาสนา (Rabbi) สั่งห้ามไม่ให้บุตรชายเล่นดนตรี พลังและความหวังทางดนตรีของนาธานผู้พ่อ จึงตกมาอยู่ที่ลูกๆ ทายาทของเขาจะต้องได้เป็นนักดนตรีอันเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถบรรลุถึงได้ในวัยเด็ก

Advertisement

แม้ว่าพ่อจะไม่ใช่นักดนตรี แต่ไอดาสำนึกเป็นอย่างสูงว่าพ่อของเธอเป็นผู้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จทางดนตรีของเธอ เธอเล่าว่าพ่อมักจะไม่พอใจกับการเล่นของเธอในวัยเด็ก พ่อบอกว่า “…มันไม่ได้สื่อสารอะไรกับพ่อเลย มันฟังดูแข็งทื่อเกินไป มันไม่ได้เป็นการบอกเล่า, สนทนากับพ่อเลย…” ตอนแรกฉันก็คิดว่าพ่อน่ะบ้าไปแล้ว แต่ต่อมาจึงตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นโครงสร้างโดยองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นจังหวะ, ประโยค, วลี ทุกๆ สิ่งล้วนแต่มีความหมาย พ่อพูดถูกต้องทีเดียว และก็ด้วยการอุทิศตัวทุ่มเทอย่างสุดชีวิตนี่เองที่ทำให้ไอดาก้าวสู่ความสำเร็จในระดับโลกได้ในเวลาต่อมา พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดไม่เพียงพอ เมื่อตระหนักว่าหนูน้อยมีพรสวรรค์ที่ไม่ธรรมดาติดตัวมาเช่นนี้ นาธานถึงกับลงทุนหอบหิ้วพาครอบครัวย้ายออกจากเมือง “เคลม” (Chelm) มาสู่กรุงวอซอ (Warsaw) เมืองหลวง เพื่อที่หนูน้อยไอดาจะได้มีโอกาสได้เข้าเรียนในสถาบันการดนตรี (Conservatory) ได้อย่างถูกต้อง

ครอบครัวทั้งหมดจำต้องย้ายถิ่นฐานด้วยเหตุผลนี้

ที่สถาบันดนตรีแห่งกรุงวอซอ ไอดาได้มีโอกาสเรียนกับ “มีซีสวาฟ มิคาโลวิคส์” (Mieczyslaw Michalowicz) ผู้เป็นศิษย์ของ “เลโอโปลด์ เอาเออร์” (Leopold Auer = นักไวโอลินที่ไชคอฟสกีเคยอุทิศบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตให้) เท่านั้นยังไม่พอบิดาของเธอพยายามหอบหิ้วเธอเพื่อไปขอโอกาสพบกับนักไวโอลินใหญ่ๆ ระดับนานาชาติเสมอ เพื่อขอโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นได้ชมฝีมือลูกสาว เริ่มจากการได้พบกับ “บรอนิสวาฟ ฮูเบอร์แมน” (Bronislaw Huberman) ที่ออกปากว่า “ผมได้มีโอกาสพบกับเด็กที่มีพรสวรรค์สูงมามากมาย…แต่เด็กคนนี้คือผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”
การได้มีโอกาสพบกับ “โยเซฟ ซิเกติ” (Joseph Szigeti) นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ ที่ยอมรับเธอเป็นลูกศิษย์ ด้วยเห็นแก่พรสวรรค์ของเธอและครอบครัวที่ฐานะไม่ดี ด้วยการสอนโดยไม่คิดเงิน และเอื้ออำนวยให้เธอและบิดาบินตามไปเรียนที่ฝรั่งเศส แต่เมื่อไปถึง โยเซฟ ซิเกติ ก็ไม่ว่างต้องออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา แต่โชคก็เอื้ออำนวยให้พวกเขาได้มีโอกาสพบกับนักไวโอลินและปรมาจารย์ไวโอลินชาวฮังการีนาม “คาร์ล เฟลช” (Carl Flesch) ที่ได้นำพาพวกเขาไปสู่กรุงลอนดอนในที่สุด

Advertisement

ไอดา แฮนเดล เป็นหนึ่งในผู้ที่คู่ควรเป็นอย่างยิ่งกับคำว่า “เด็กมหัศจรรย์” (Wunderkind) นอกจากปาฏิหาริย์ทางดนตรีในวัย 3 ขวบครึ่งแล้ว เธอยังออกแสดงดนตรีต่อสาธารณชนในงานสำคัญๆ ตั้งแต่เด็กมากมาย เช่น การออกแสดงเดี่ยวกับเปียโน (Recital) ในลอนดอนในปี ค.ศ.1936 (ในวัย 8 ขวบ) และได้ออกแสดงครั้งใหญ่, ครั้งสำคัญยิ่งในชีวิตในปีถัดมา (ค.ศ.1937) ที่กรุงลอนดอน ด้วยการได้แสดงเดี่ยวบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตของบรามส์ (Johannes Brahms) ในเทศกาลลอนดอนพรอมมินาด (The Proms) ภายใต้การอำนวยเพลงของ เซอร์ เฮนรี วูด (Sir Henry Wood) ผู้ประทับใจในตัวหนูน้อยเป็นยิ่งนัก

ว่ากันว่าในครั้งนั้น (และในครั้งอื่นๆ อีก เช่นการเข้าแข่งขันไวโอลินในรายการใหญ่ๆ) เธอต้องโกหกอายุให้แก่เกินจริงไป 5 ปี เพื่อมิให้ผิดกฎหมายแรงงานเด็ก(ในการแสดงคอนเสิร์ต) และถูกต้องตามเกณฑ์อายุของการเข้าประกวด เธอต้องประกาศว่าอายุ 14 ปี ทั้งที่ตอนนั้นเธออายุ 9 ขวบ นี่จึงเป็นที่มาของความสับสันในชีวประวัติของเธอ ที่บ้างก็อ้างว่าเธอเกิดในปี ค.ศ.1928 บางแหล่งก็อ้างว่าเธอเกิดในปี ค.ศ.1923 จนแม้เมื่อเธอเสียชีวิตบางแหล่งข่าวก็บอกว่าเธออายุ 96 ปี (ถ้านับว่าเธอเกิดปี ค.ศ.1923)

หมุดหมายแห่งความสำเร็จครั้งสำคัญ ในความเป็นเด็กมหัศจรรย์ของเธอ ก็เห็นจะได้แก่การได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการ “Wieniawski Competition” ที่ในตอนนั้นจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1935 เธออายุเพียง 7 ขวบ (แต่โกหกว่าอายุ 14 ปี ตามเกณฑ์) ในครั้งนั้นเธอได้รับรางวัลที่ 7 การแข่งขันครั้งนั้นเป็นที่โจษขานกันจนกลายเป็นตำนาน เพราะรางวัลที่หนึ่งตกไปอยู่กับ “จินเน็ต เนวู” (Ginnette Neveu) สาวน้อยวัย 16 ชาวฝรั่งเศส ผู้ชนะนักไวโอลินในตำนานในเวลาต่อมาคือ “ดาวิด ออยสตราค” (David Oistrakh) เด็กโข่งในวัย 27 ที่เข้าร่วมประกวด แต่ถูกเบียดตกเป็นที่สอง (นี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ว่าผลแห่งการแข่งขันทางดนตรีไม่อาจรับประกันความสำเร็จทางดนตรีตลอดชีวิตได้)

นอกจากการต้องโกหกอายุหลายครั้งในวัยเด็กเพื่อสามารถเข้าสู่เวทีการประกวดดนตรี และการออกแสดงคอนเสิร์ตได้แล้ว ยังมีการหลอกลวงที่เธอสารภาพในเวลาต่อมา ที่เป็นทั้งบทเรียนและกรณีศึกษาที่น่าวิเคราะห์ทางดนตรีสำหรับอัจฉริยะทางดนตรีเป็นอย่างมาก นั่นก็คือความสามารถใน “การอ่านออก-เขียนได้” ทางดนตรีของเธอ นับเป็นทั้งเรื่องน่าขันและขบคิดว่าใน ความเป็นอัจฉริยะทางการเล่นไวโอลินอย่างมหัศจรรย์โดยกำเนิดของเธอนั้น เธอเล่นไวโอลินโดยการใช้เพียงหู และความทรงจำมาตลอด เธอเล่นบทเพลงใหญ่ๆ ด้วยการใช้วิธีฟังและจดจำ แล้วเล่นด้วยสัญชาตญาณ โดยที่เธออ่านโน้ตไม่ออก และเล่าว่าเธอหลอกนักไวโอลินใหญ่ๆ ทั้งหลายจากการเล่นโดยความจำ แม้กระทั่งตอนที่เธอเล่นโซนาตาของเบโธเฟน ให้ “คาร์ล เฟลช” ปรมาจารย์ทางไวโอลินฟัง คาร์ล เฟลชก็เข้าใจว่าเธอ “อ่านออก-เขียนได้” ทางดนตรีโดยไม่มีปัญหา

เธอมาอ่านออกเขียนได้ทางดนตรีก็ต่อเมื่อหลังจากได้เรียนกับคาร์ล เฟลช อย่างจริงจังนั่นเอง (ผู้เขียนคิดว่าประสบการณ์นี้คงไม่แตกต่างจาก ศิลปินนักร้องอัจฉริยะบางคนที่เสียงร้องเปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์สามารถสะกดผู้ฟังได้ แต่เจ้าตัวอ่านกลับหนังสือไม่ออก!)

ไอดา แฮนเดล มีแนวคิดในการมองโลกทางดนตรีที่น่าศึกษาหลายๆ ประการ ประการหนึ่งก็คือจัดได้ว่าเธอเป็นศิลปินที่มีผลงานการบันทึกเสียงไม่มากนัก หากเทียบกับความยิ่งใหญ่ของเธอ และศิลปินรุ่นเดียวกันในระดับเดียวกัน เธอใช้เวลาในช่วงท้ายชีวิตอยู่ที่เมืองไมอะมี ในสหรัฐอเมริกา มีมุมมองที่เธอได้แสดงความคิดเห็นต่อสหรัฐอเมริกา ที่อาจจะสะท้อนถึงมุมมอง ด้านอื่นๆ ของชีวิตและเชื่อมโยงถึงเหตุผลที่เธอบันทึกแผ่นเสียงไว้ไม่มากนัก

เธอกล่าวว่า “…อเมริกาเป็นประเทศที่เน้นหนัก-ทุ่มเทไปในเรื่องเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์, สื่อสาร, การทำการตลาด บรรดาศิลปินดนตรีคลาสสิก ต้องลงไปแข่งขันกับบุคคลในวงการบันเทิง พวกเขาลงทุนใช้จ่ายไปอย่างมากกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ สำหรับฉันเองจะไม่ทำอะไรแบบนั้นหรอก ไม่แม้แต่สตางค์แดงเดียว!…” (คนอเมริกันหรือแฟนเพลงอเมริกันของเธอ ไม่เคยออกมาวิจารณ์เธอเลยว่า เธอชังชาติอเมริกา ถ้ามาอาศัยแผ่นดินอเมริกาอยู่ แล้วไม่รักแผ่นดินนี้ก็จงออกไปจากอเมริกา คนอเมริกาคงเข้าใจวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ด้วยดี และถือว่าผู้กล้าพูดจาด้วยเหตุผลและความจริง ถือเป็นการติเพื่อก่อและเป็นกัลยาณมิตรที่ไม่เฝ้าแต่ยกยอปอปั้นด้วยความเท็จ)

ไอดา แฮนเดล เล่นไวโอลินมาตลอดชีวิตอันยาวนานของเธอ นับแต่วัยเด็กอัจฉริยะ (อ่านโน้ตไม่ออก) จวบจนย่างเข้าปัจฉิมวัย มีคลิปวิดีโอแบบถ่ายไว้ดูเล่นๆ ในปี ค.ศ.2009 ถ่ายในฟลอริดา ที่เธอพำนักอาศัยมากว่า 30 ปี ที่คุณยายแฮนเดิลในวัย 81 ยังคงเล่นไวโอลินได้อย่างกระฉับกระเฉง บรรเลงคอนแชร์โตบทแล้วบทเล่า ตามคำขอโดย ไม่มีการบรรเลงดนตรีคลอ แสดงให้เห็นถึงความทรงจำและความสามารถอันเป็นเลิศ เธอยังออกแสดงดนตรีอยู่เป็นระยะๆแม้วัยจะล่วงเลยถึงหลัก 80 ปี เป็นชีวิตที่มุ่งรับใช้ดนตรีมาอย่างยาวนาน จากความสำเร็จในฐานะเด็กอัจฉริยะตัวฉกาจ จนมาสู่วัยชราที่กลายเป็นศิลปินและนักคิดที่น่าติดตามผู้หนึ่ง เธอได้แสดงทรรศนะทางดนตรีที่เชื่อโยงถึงประสบการณ์อันยาวนานทางดนตรีและมุมมองต่อโลกและศิลปะดนตรี ซึ่งเปลี่ยนแปลงเติบโตบรรลุวุฒิภาวะอันสุกงอมผ่านกาลเวลาอันยาวนาน

บทเพลงบางเพลงเธอเล่นมาตลอดชีวิตนับแต่วัยเด็กนั่นก็คือ คอนแชร์โตของบรามส์ ที่บรรดาแฟนๆ เพลงของเธอถือว่านี่คือบทเพลงประจำตัวของเธอ เสมือนนามบัตรประจำตัวเธอ (เมื่อครั้งที่เธอเคยมาเยือนเมืองไทยในเดือนเมษายนปี พ.ศ.2526 ณ โรงละครแห่งชาติ กับวงฮ่องกงฟิลฮาร์โมนิก อำนวยเพลงโดย “Kenneth Schermerhorn” เธอก็บรรเลงคอนแชร์โตของ บรามส์) หรือคอนแชร์โตของ ซิเบลิอุส ที่เธอเคยเล่นออกอากาศรายการวิทยุในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ในปี ค.ศ.1949 ในตอนนั้น ฌอง ซิเบลิอุส (Jean Sibelius) หลังจากได้ฟังการแสดงของเธอผ่านการถ่ายทอดเสียง เจ้าตัวถึงกับออกจดหมายชื่นชมฝีมือของเธอ อย่างเป็นทางการ ต่อมาคอนแชร์โตบทนี้ก็กลายเป็น “ลายเซ็นประจำตัว” ของเธอไปอีกบทเพลงหนึ่ง

เธอให้ทรรศนะเกี่ยวกับผลงานอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ว่า “…เพื่อสร้างความยุติธรรมที่คู่ควรต่อผลงานชิ้นเอกทั้งหลายในระดับปรากฏการณ์เหล่านี้ คุณจำต้องเป็นศิลปินที่บรรลุวุฒิภาวะ ฉันนั้น ละอายที่จะต้องยอมรับว่าฉันเล่นคอนแชร์โตของเบโธเฟน ตอนอายุ 9 ขวบ และของบรามส์หลังจากนั้นไม่นาน ทุกวันนี้ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ ฉันก็ยังคงเล่นเพลงพวกนี้อยู่ และฉันก็ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ เมื่อใครๆ พากันถามฉันว่า คุณต้องเล่นคอนแชร์โตของบรามส์มาตั้ง 1,000 ครั้ง ไม่เบื่อบ้างรึ? คำตอบของฉันก็คือ…ไม่มีทางหรอก! …ทุกๆ วันคือวันแห่งการค้นพบสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ฉันมองข้ามไปเมื่อวานนี้, ฉันก็กำลังค้นหามันในวันนี้ และในวันพรุ่งนี้ก็จะนำมาซึ่งการค้นพบอีกครั้งหนึ่ง…มีคลังสะสมแห่งแรงบันดาลใจอันไม่รู้จักหมดสิ้นอย่างแท้จริง อีกทั้งแหล่งความรู้อันมากมายมหาศาล ในสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ได้บรรลุถึง สำหรับฉันแล้วมันสร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่อย่างเหลือเชื่อจริงๆ…”

จากชั่วเวลากว่าครึ่งศตวรรษ จากวัยเด็กอัจฉริยะสู่ปัจฉิมวัยแห่งศิลปินนักคิด เธอเติบโตผ่านศิลปะดนตรีมาตลอดชีวิต ทรรศนะต่อ “ดนตรีชั่วชีวิต” ของเธอให้แง่คิด-ข้อคิดต่อเราในฐานะผู้รักดนตรีและศิลปะอย่างไร หรือไม่ เธอเชื่อว่าความสามารถทางไวโอลินของเธอเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากอดีตชาติ (ผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ก็น่าที่จะเคารพความเชื่อที่แตกต่างนี้ได้)

ผู้เขียนคิดว่าถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อเธอเล่นไวโอลินมาจากชาติก่อน และยังมาต่อในชาตินี้ ในภพชาติต่อไปเธอก็คงน่าจะไปเล่นไวโอลินต่อไป ดนตรี, ศิลปะอันละเอียดอ่อนย่อมขัดเกลาจิตวิญญาณให้ละเอียดอ่อนไปเรื่อยๆ

ในกรณีของ ไอดา แฮนเดล ดนตรีไวโอลิน อันละเอียดอ่อนอาจจะช่วยขัดเกลาจิตวิญญาณของเธอไปจนถึงขั้นหลุดพ้นในภพชาติต่อๆ ไป ก็อาจเป็นไปได้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า ศิลปะอันละเอียดอ่อนสามารถส่องทางจิตวิญญาณไปสู่การละวางสรรพสิ่งและบรรลุถึง “สุญญตา” (ความว่าง) ได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image