อาศรมมิวสิก : วันนี้มีดนตรีอยู่ที่ไหน : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : วันนี้มีดนตรีอยู่ที่ไหน : โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : วันนี้มีดนตรีอยู่ที่ไหน : โดย สุกรี เจริญสุข

ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ให้ไปพูดเรื่อง “การบูรณาการการเรียนการสอนวิชาดนตรีผ่านรายวิชากลุ่มการวิจัย โดยเน้นประสบการณ์ของวิทยากรที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่อาจารย์สอนดนตรีทั่วประเทศ” ซึ่งได้รับปากว่าจะไปพูดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้กิจกรรมเสวนาวิชาการถูกเลื่อนเรื่อยมา กระทั่งได้โอกาสพูดอีกครั้งในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งข้อมูลที่เตรียมไว้เดิมก็ล้าสมัยไปแล้ว โลกเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

สิ้นสุดสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษ หนังสือ สื่อวิทยุโทรทัศน์ หมดยุคดนตรีที่เป็นแผ่นเสียง วงดนตรีสด วงขนาดเล็ก วงขนาดใหญ่ ซึ่งหมดความจำเป็นและหมดความต้องการ เป็นวิธีคิดและวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่า ชีวิตคนที่ขับเลยสะพานพระราม 5 ไปแล้ว (อายุ 50 ปีขึ้นไป) ก็ต้องปรับตัวเองใหม่ เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้วอย่างรวดเร็ว ทั้งการสื่อสารและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปหมด รวมทั้งเรื่องศักดิ์ศรี สัจจะ ราคาความน่าเชื่อถือ และบุญคุณ ต่างก็ละลายเลือนหายไปจากสังคม คนอยู่ต้องปรับตัว ต้องเอาตัวรอด โดยมีผลประโยชน์คือเป้าหมายที่สำคัญ หากปรับตัวไม่ได้ก็จะอยู่ยาก หรืออยู่อย่างไร้ความหมายและตกยุค

เนื่องจากชีวิตผมกำลังลงจากสะพานพระราม 6 เพื่อจะขึ้นสะพานพระราม 7 กลายเป็นคนแก่ที่เริ่มหลงลืม ประกอบกับความไม่อยากจะจำ ชีวิตที่ไม่ต้องการรำพึงรำพันอะไรที่เกี่ยวกับอดีต จึงใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่พูดเรื่องอดีต เพราะเห็นว่ามีประโยชน์น้อย จึงขอพูดเรื่องดนตรีในปัจจุบันและดนตรีในอนาคต “วันนี้ดนตรีในเมืองไทยอยู่ที่ไหนและเป็นอย่างไร” ยังมีความสนใจเรื่องดนตรีในอนาคต เพราะรู้สึกว่าทำให้ชีวิตมีความหวัง รู้สึกมีชีวิตชีวา และทำให้ชีวิตไม่ท้อแท้

Advertisement

ส่วนความรู้เรื่องดนตรีในปัจจุบันอยู่ที่ไหนนั้น คำตอบคือ มีความรู้ดนตรีอยู่ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งได้รวมความรู้ดนตรีทั้งโลกเอาไว้ ทั้งความรู้ที่ได้จากการอ่านและความรู้ที่ได้จากการฟัง มีหนังสือดนตรีทุกเล่ม มีเพลงเก่าเพลงใหม่ทุกเพลง มีดนตรีสดทันสมัยอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต สามารถเข้าถึงค้นคว้าหาความรู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเดินทางไปห้องสมุดอีกต่อไป มีศาสตราจารย์ ดร.กูเกิล ศาสตราจารย์ ดร.ยูทูบ ศาสตราจารย์ ดร.วิกิพีเดีย ที่คอยเพิ่มเติมให้ข้อมูลใหม่ตลอด

ในกรณีการศึกษาในประเทศไทยปัจจุบัน ที่เปิดสอนความรู้ดนตรีในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท/เอก) ซึ่งผู้เรียนนิยมไปเรียนอยู่ 3 สถาบันด้วยกัน กรณีวิชาดนตรีพื้นบ้าน นิยมไปมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดนตรีสากลก็นิยมไปเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนวิชาดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย นิยมไปเรียนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม เป้าหมายอยู่ที่เรียนแล้วได้ใบปริญญา

วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ได้ใบปริญญานั้น เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางเข้าประตูทำงานในระบบราชการ เป็นอาชีพรับราชการ หรือใช้ในการปรับวุฒิทางการศึกษาเพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น การวิจัยค้นคว้ามุ่งหาความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ได้ค้นหาความจริงแต่อย่างใด ความจริงกับความถูกต้องนั้นเดินทางเป็นคู่ขนานกัน สังคมไทยใช้ความถูกต้องในการตัดสิน เรียนเพื่อเงินเดือนและเพื่อตำแหน่ง รวมทั้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ขึ้นอยู่กับความถูกต้อง ส่วนความรู้ที่แท้จริงนั้นเป็นเป้าหมายรอง ศึกษาเพื่อความถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาค้นคว้าหาความจริง

Advertisement

ดนตรีเป็นเรื่องความสามารถและฝีมือ นักดนตรีอาชีพอยู่ที่ฝีมือ อาชีพดนตรีเปลี่ยนที่ทำกิน การแสดงดนตรีเปลี่ยนเวที ผู้ที่อยากเรียนอยากมีฝีมือทางดนตรี ตั้งแต่ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีสากล ก็ต้องหาครูผู้สอนที่ตรงกับจริตของตัวเอง ซึ่งเป็นครูดนตรีพิเศษ

ชอบครูคนไหนก็หาจากอินเตอร์เน็ต เรียนกับครูออนไลน์ ชอบเครื่องดนตรีชิ้นไหน ครูเป็นใคร เลือกครูได้ตามสะดวก เป็นครูดนตรีพิเศษเรียนเป็นรายชั่วโมง จ่ายค่าเล่าเรียนตามราคาของครู ซึ่งครูดนตรีที่มีฝีมือทั่วโลกไม่ได้อยู่ในสถานศึกษาอีกต่อไป แต่อยู่ในอินเตอร์เน็ต สามารถหาครูดนตรีเรียนได้ทุกเครื่องมือจากทั่วโลก

นักร้องเพลงสมัยนิยมของไทย มีนักดนตรีฝีมือดี วงดนตรีที่มีความสามารถสูง ให้ดูจากโทรทัศน์ช่อง 23 ของบริษัทเวิร์คพอยท์ (Workpoint) ซึ่งทำเพลงสมัยนิยม มีเพลงอดีตและเพลงปัจจุบันที่มีคุณภาพสูง ณ เวลานี้ มีวงดนตรีอาชีพที่หลากหลาย ส่วนนักดนตรีอาชีพในไนต์คลับ ภัตตาคาร ในโรงแรม ไม่มีงานแสดงอีกแล้ว วงดนตรีที่รับงานแสดงในเวทีต่างๆ ก็หมดอนาคตจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นักดนตรีอาชีพ วงดนตรีอาชีพตกงาน หอแสดงดนตรีร้าง ไม่มีผู้ฟัง นักดนตรีไม่มีงานและไม่มีรายได้อีกต่อไป

สำหรับบริษัทเวิร์คพอยท์ ผลิตงานดนตรีส่งผ่านโทรทัศน์ โดยรวบรวมผู้ที่มีฝีมือ ผลงานมีคุณภาพ เป็นดนตรีที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องคุณภาพ นักร้องนักดนตรีที่เคยอยู่ในงานวัด ในงานประกวด งานแสดงบนเวทีในท้องถิ่นต่างๆ ดนตรีในค่ายเพลง รายการแสดงในเวทีต่างๆ นักร้องเด่น นักดนตรีดัง วงดนตรีอาชีพ ต่างมุ่งหน้าสู่เวทีของเวิร์คพอยท์ทั้งสิ้น ซึ่งยุคนี้เป็นยุคทองของนักร้อง “ดังเพลงเดียว” ไม่ต้องสร้างงานเป็นชุด เพลงเดียวดังหรือเพลงเดียวดับ

นักร้องและนักดนตรีอาชีพที่เป็นต้นแบบคือประสบความสำเร็จ มีฝีมือ มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในสังคม เป็นต้นแบบความเป็นนักดนตรีมืออาชีพ เล่นดนตรีเป็นอาชีพ เล่นดนตรีทุกวัน เล่นดนตรีแล้วเลี้ยงชีพได้ นักดนตรีแถวหน้าก็มีธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ เป็นนักเป่าขลุ่ย มีงานเป่าขลุ่ยทุกวันและมีรายได้ทุกวัน เป่าขลุ่ยคนเดียว เป่ากับงานอะไรก็ได้ และมีคนจ้างงานเป่าขลุ่ยได้ทุกวัน บางวันก็มีหลายงาน ใช้เวลาเล่นดนตรีสั้น และได้ค่าตอบแทนเลี้ยงชีพได้

หนึ่ง จักรวาล นักดนตรีในสังกัดบริษัทเวิร์คพอยท์ มีโอกาสสร้างผลงานตลอดเวลา มีผลงานโดดเด่น กลายเป็นต้นแบบของนักดนตรีอาชีพ มีความสามารถรอบตัว เป็นนักดนตรี นักเรียบเรียงเพลง สามารถคุมวงดนตรี นำวงดนตรี เป็นกรรมการให้ความเห็น มีรายได้สูง สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของนักดนตรีที่มีความสามารถในปัจจุบัน เป็นนักดนตรีอาชีพที่มีทั้งความสามารถและมีฐานะดีจากดนตรีคนหนึ่ง

แอ๊ด คาราบาว นักร้องนักดนตรีเพื่อชีวิต เป็นศิลปินแห่งชาติ มีมิตรรักแฟนเพลงและมีผู้ติดตามผลงานจำนวนมาก กระทั่งกลายเป็นดารายอดนิยมในฐานะนักร้องนักดนตรีอาชีพ สามารถสร้างผลงานและสร้างรายได้ เป็นผู้บริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย 50 ล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีนักดนตรีอาชีพหรือนักร้องอาชีพคนไหนทำได้มาก่อน ไม่เคยมีนักดนตรีอาชีพที่สามารถสร้างงานได้ยาวนาน ซึ่งเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีรายได้สูงคนหนึ่ง นอกจากเป็นนักดนตรีอาชีพแล้วก็ยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ตูน บอดี้สแลม เป็นนักร้องที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จสูง เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นต้นแบบที่เสียสละ วิ่งเพื่อหาเงินบริจาคช่วยโรงพยาบาล ทำให้อาชีพนักร้องกลายเป็นผู้มีจิตใจสาธารณะ มีผู้บริจาคเงินจำนวนมาก ตูนเป็นบุคคลที่มีพลังมหาศาล ใช้อาชีพดนตรี อาชีพนักร้อง เป็นอุปกรณ์ที่นำชีวิต ทำให้ดนตรีเป็นอาชีพของคนที่มีความสามารถ ไม่ได้เป็นอาชีพข้างถนนของขอทานอีกต่อไป

ตูนทำให้ฐานะของนักร้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง เป็นคนที่มีเกียรติ มีราคาความน่าเชื่อถือ ตูนเป็นนักร้องที่มีงานโฆษณาสินค้าราคาสูง และเป็นนักร้องในดวงใจ สร้างพลังให้แก่คนรุ่นใหม่อยากเลียนแบบเป็นอาชีพนักร้อง

สําหรับการศึกษาดนตรีเด็กเล็ก มีโครงการพัฒนาเด็กให้เรียนดนตรี ตั้งแต่อายุ 0-3 ขวบ ได้เริ่มขึ้นที่โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 120 ครอบครัว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการศึกษาดนตรี การใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก พัฒนาทั้งศักยภาพด้านดนตรีและพัฒนาบุคลิกภาพเด็กในเวลาเดียวกัน ใช้ดนตรีเพื่อสร้างวินัยให้แก่เด็ก พัฒนาความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ

เมื่อเด็กโตขึ้น การสอนดนตรีปฏิบัติในโรงเรียนนานาชาติประสบความสำเร็จสุด ขณะที่มีโรงเรียนนานาชาติในประเทศกว่า 200 โรงเรียน เมื่อเด็กจะเรียนดนตรี ก็เรียนดนตรีจากครูพิเศษ เมื่อจะเรียนในโรงเรียนในระดับที่สูงขึ้น เล่นดนตรีเป็นวงออเคสตรา วงในโรงเรียนนานาชาติมีคุณภาพและมาตรฐานสูง ปัจจุบันหากเด็กไทยที่ตั้งใจเลือกเรียนดนตรีเป็นอาชีพ ส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศแทนการศึกษาดนตรีในมหาวิทยาลัยไทย การเรียนดนตรีกลายเป็นเส้นแบ่งชนชั้นโดยธรรมชาติอย่างไม่รู้ตัว

สำหรับดนตรีที่มาแรงแซงดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่เดิม ก็คือ ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ดนตรีที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ ดนตรีประกอบเกม ดนตรีประกอบการ์ตูน ดนตรีประกอบแอนิเมชั่น และดนตรีประกอบอี-สปอต ซึ่งดนตรีเหล่านี้ซ่อนอยู่ในสื่อสมัยใหม่ เสียงอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำเสียงได้ทุกชนิด มีผู้เล่นคนเดียว ทำคนเดียว มีผู้ชมและผู้ติดตามที่เป็นชุมชนเฉพาะ มีรายได้สูง ไม่ต้องการพื้นที่เวที ซึ่งดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อาจจะเป็นทั้งดนตรีในปัจจุบันและเป็นดนตรีในโลกอนาคตด้วย

เสียงดนตรีธรรมชาติ เสียงดนตรีจริง ดนตรีออกจากใจพุ่งเข้าสู่หัวใจ ถูกสร้างเป็นเสียงใหม่ทดแทนโดยเสียงอิเล็กทรอนิกส์ มีเสียงดนตรีในความหมายใหม่ ดนตรีในความต้องการใหม่ ดนตรีในบริบทใหม่ เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน ความต้องการก็เปลี่ยน ดนตรีเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้รู้สึกแยแสกับคนรุ่นลุงอีกต่อไป คนรุ่นลุงนั้นฟังเสียงปี่เสียงซอ และฟังเสียงนกเสียงกา ส่วนคนรุ่นใหม่เขาฟังเสียงอิเล็กทรอนิกส์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image