อ่าน ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ‘สื่อสารผ่านสายลม’ อีกหน้าประวัติศาสตร์สื่อสารไร้สาย

อ่าน ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ‘สื่อสารผ่านสายลม’ อีกหน้าประวัติศาสตร์สื่อสารไร้สาย

อ่าน ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’
‘สื่อสารผ่านสายลม’
อีกหน้าประวัติศาสตร์สื่อสารไร้สาย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือฤกษ์วันสื่อสารไทย 4 สิงหาคม 2563 เปิดตัวหนังสือ “สื่อสารผ่านสายลม” เล่มประวัติศาสตร์ของสำนักงาน กสทช.
“ฐากร” เล่าถึงที่มาของชื่อหนังสือว่า สื่อสารผ่านสายลม มาจากสำนักงาน กสทช. ตั้งอยู่ในซอยสายลม ประกอบกับฉายาของตัวเองใน กสทช. คือ สายลม 1 ซึ่งในบท 1-3 เล่าถึงประวัติส่วนตัว ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน กระทั่งแต่งงานกับภรรยา ตลอดจนพูดถึงครอบครัวที่คอยเป็นกำลังใจและให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด

ส่วนบทที่ 4-16 เล่าถึงประสบการณ์การทำงานตลอด 14 ปี จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และเปลี่ยนผ่านเป็นสำนักงาน กสทช. ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยทราบว่า สำนักงาน กทช.มีอดีตความเป็นมาอย่างไร ยากลำบากแค่ไหน ไม่มีรายได้ แม้เงินเดือนที่จะจ่ายพนักงานยังไม่มี กระทั่งเป็นสำนักงาน กสทช. ที่ภาพในปัจจุบันเห็นว่ามีเงินรายได้มาก และเป็นสำนักงานที่มีความร่ำรวย มีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ ทั้งในระบบ 3G ที่เคยล้มเหลว กระทั่งตอนนี้ประมูล 3G 4G และ 5G เสร็จสิ้น เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน

พร้อมทั้งเปิดมุมมอง เฉลยข้อสงสัย ในการฟันฝ่าปัญหา อุปสรรคต่างๆ ว่าผ่านมาได้อย่างไร

Advertisement

‘แจส’ทิ้งไลเซนส์คลื่น 4G

เหตุการณ์จากการประมูลคลื่นความถี่ระบบ 4G เป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัว บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือแจส ตัดสินใจทิ้งคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในระบบ 4G ที่ชนะประมูลได้ด้วยราคาสูง จนทำให้เกิดกระแสกันอย่างกว้างขวางว่า แจสเข้ามาเพื่อปั่นราคาการประมูลหรือไม่ ในตอนที่แจสเข้ามายื่นซองการประมูล ส่วนตัวรู้สึกถึงนิมิตหมายอันดีของการมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในธุรกิจโทรคมนาคม ประกอบกับได้สัมผัสกับความตั้งใจของผู้บริหารระดับสูงของแจสที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ดังนั้น ในมุมมองราคาที่แจสชนะการประมูลจึงเกิดจากความต้องการที่จะได้คลื่นความถี่อย่างแท้จริง อีกทั้งระหว่างการประมูล มีการเคาะราคาระหว่างแจสกับผู้ประมูลรายใหญ่อีกรายอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การที่แจสไม่สามารถชำระค่าคลื่นได้ คาดว่ามาจากการที่ราคาชนะคลื่นสูงกว่าที่บริษัทตกลงกับธนาคารผู้ให้สินเชื่อไว้ และปัญหาการสื่อสารภายในของแจส ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ กสทช.ต้องปรับตัวและคิดทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก หลังจากกรณีแจส ในการประมูลครั้งถัดไปได้เสนอให้เพิ่มค่าปรับคิดเป็น 15% ของราคาตั้งต้น หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้าประมูลมีความพร้อมทางการเงินที่จะชำระค่าประมูลได้จริง

Advertisement

ถอดบทเรียน 7 ปี‘ทีวีดิจิทัล’

ภาพบรรยากาศแห่งความยินดีหลังการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปลายปี 2556 ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญหน้าหนึ่งของการเปิดเสรีช่องทีวีในประเทศไทยไม่ทันจางหาย ผู้ประกอบการช่องรายการที่เดิมคาดหวังว่าจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเป็นเจ้าของช่องรายการเอง ประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากรายได้จากค่าโฆษณาที่เป็นรายได้หลักได้ถูกแบ่งไปให้กับแพลตฟอร์มอื่น เช่น เฟซบุ๊กและยูทูบ อีกทั้งมีจำนวนผู้ประกอบการช่องรายการมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า และต่างเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงเค้กค่าโฆษณาก้อนเดียวกันที่มีขนาดเล็กลงอีก จนกระทั่งผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลรวม 11 ราย ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง และมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาในที่สุด

จากการประชุมของทุกฝ่าย ทั้ง กสทช. ธุรกิจทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และรัฐบาล ได้ข้อสรุปว่าให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ บางส่วนมาให้ กสทช. และขยายเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็น 10 ปี หากรับเงื่อนไขที่จะเข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้รับคืนมาจากทีวีดิจิทัล

แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชนหรือไม่ ซึ่งแนวทางนี้ยึดผลประโยชน์ต่อประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่ต้องสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ เรียกว่าเป็น win-win-win solution นั่นคือ 1.ประชาชนสามารถดูทีวีดิจิทัลได้และยังมีบริการโทรคมนาคมที่ดีขึ้น 2.ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในส่วนที่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ออกจากธุรกิจ แม้ว่าจะได้เงินคืนไปบางส่วนจากเงินประมูลที่จ่ายไป แต่พวกเขาก็ได้จ่ายในช่วงเวลาที่ใช้ทรัพยากรนั้นไปแล้ว

และ 3.ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ขยายเวลาการชำระเงิน เพื่อจะได้มีเงินทุนไปขยายโครงข่ายและดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่น และได้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ไปเพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการให้บริการ แต่ต้องแลกด้วยการนำเงินมาจ่ายค่าคลื่นความถี่ดังกล่าวด้วย หากเราเลือกที่จะไม่ดำเนินการอะไร เราอาจจะได้เห็นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทยอยล้มหายตายจากเกิดหนี้เสียจำนวนมากในภาคธนาคาร ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอ่อนแอทางการเงิน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการได้รับบริการที่ดีในราคาที่เหมาะสม

“บทเรียนจากการประมูลทีวีดิจิทัลสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน คือ การคาดการณ์ผลของเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อแวดวงโทรคมนาคมและโทรทัศน์ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราจะนำความสำเร็จในอดีตของทีวีมาเป็นเครื่องการันตีอนาคตไม่ได้ แต่เมื่อเกิดความท้าทายแล้ว การใช้ความคิดสร้างสรรค์ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยยึดประโยชน์ของประชาชนจะพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้” ฐากรระบุ

‘ภารกิจ’พิชิตฝันประชาชน

นอกเหนือจากการประมูลคลื่นความถี่และทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ กสทช.แล้ว ยังได้ร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประชาชนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

1.การจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงดิน โดยปัจจุบันได้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารในเขต กทม. และปริมณฑลจำนวน 120 กม. และในต่างจังหวัดจำนวน 74 จังหวัด จำนวน 709 กม. สำหรับการนำสายลงดินดำเนินการไปแล้ว 160 กม. ในเขตพื้นที่ กทม.และในต่างจังหวัด น่าน พะเยา ลำปาง นครพนม และเชียงใหม่ จำนวน 80 กม. นอกจากนี้ ปัจจุบันกำลังพยายามขับเคลื่อนการจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงใต้ดินผ่านกลไกหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะทำให้การดำเนินการมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด

2.การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมซึ่งรวมถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สัญญาณไวไฟ ตลอดจนศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตฟรีพร้อมเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นเวลา
5 ปี ในทุกพื้นที่ตามตามโครงการยูโซ่เน็ต (เน็ตประชารัฐ) หวังอย่างยิ่งว่าประชาชนในพื้นที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากบริการอินเตอร์เน็ตได้เต็มศักยภาพ ทั้งการรักษาทางไกล การต่อยอดธุรกิจชุมชน การเรียนการสอนออนไลน์ต่างๆ และพัฒนาการใช้งานและให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

และ 3.ดำเนิน 4 โครงการที่สำคัญในช่วงโควิด ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนเงินให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศจากเงินงบประมาณของสำนักงาน กสทช. และเงินกองทุน กสทช. รวม 1,294 ล้านบาท โครงการเพิ่มเน็ต 10 กิกะไบต์ให้ประชาชนใช้ฟรี โครงการเพิ่มเน็ตบ้าน 100 เมกะไบต์ และโครงการโทรฟรี 100 นาที

ทุกความท้าทายมี‘โอกาส’ซ่อนอยู่

“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดธรรมดาคนหนึ่ง เริ่มต้นชีวิตรับราชการด้วยต้นทุนเพียงสองอย่าง คือ ความรู้และความต้องการที่จะเห็นการพัฒนาของประเทศไทย ผมเชื่อว่าคนเราถ้าตั้งมั่นจะทำอะไรสักอย่างแล้ว ต้องกัดไม่ปล่อย และทำให้สำเร็จไม่ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคความยากลำบากระหว่างทางใดก็ตาม ผมยึดมั่นหลักนี้เสมอในชีวิตรับราชการมาจนถึงวันนี้ ผมถือว่าตัวเองมาได้ไกลกว่าที่คาดหวังไว้มาก ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานที่มีความสำคัญต่อประเทศ และมีส่วนช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทย

ท่ามกลางความท้าทาย ข้อกังขา และแรงเสียดทานจากสังคมที่เราต้องเผชิญในหลายโอกาส โดยเฉพาะในช่วงแรกเริ่ม ผมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานและยึดหลักของ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีที่นำอังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ว่า Never waste a good crisis

ทุกความท้าทายมีโอกาสซ่อนอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะพยายามมองเห็นและเข้าไปจัดการกับวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสหรือไม่” ฐากร ปิดท้าย

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image