จาก”บางแสน21″ถึง”RunARAN” เปิดใจผู้จัดงานวิ่งที่ใครๆก็อยากไป รัฐ จิโรจน์วณิชชากร

ในบรรดางานวิ่งทั้งหลาย งานที่ได้รับเสียงชื่นชม ณ เวลานี้ว่าเป็นงานวิ่งที่ดีที่สุดในประเทศไทย มาตรฐานเทียบเท่าระดับนานาชาติคือ “บางแสน 21” (Bangsaen21)

ที่น่าสนใจคือ เป็นงานวิ่งเดียวที่ผู้จัดงานเป็น “มือใหม่” หัดจัด…เป็นครั้งแรก

ที่น่าสนใจคือ เป็นงานวิ่งเดียวที่ผู้จัดงานเป็น “มือใหม่” หัดจัด…เป็นครั้งแรก

แม้กระทั่งการเป็นนักวิ่งของเขาก็เพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อนหน้า จากมนุษย์เมืองกรุงผู้ไม่ชอบการออกกำลังกายสู่นักวิ่งมาราธอน 42 กม. เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่า “ถ้าตั้งใจทำอะไรแล้วไม่มีคำว่าทำไม่ได้”

Advertisement

เช่นเดียวกับ บริษัทไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด แวดวงคนจัดงานอีเวนต์ ประเภทงานไอที งานประชุมใหญ่ 500-1,000 คน รู้จักกันดี แต่กับนักวิ่งไม่มีใครรู้จัก

กระทั่งหลังงานวิ่งฮาล์ฟมาราธอน บางแสน 21 จบลงเมื่อปลายปีที่แล้ว เกิดกระแสในโลกโซเชียล

มากมาย ไม่เพียงเสียงชื่นชม ยังได้รับการโหวตให้เป็นงานวิ่งที่ดีที่สุดในประเทศไทย ตามมาด้วย

“เขาเขียว 10” (Khaokheow10) งานธีมรันนิ่งที่สนุกที่สุด พร้อมกับการสร้างนักวิ่งกลุ่มใหม่ “กลุ่มครอบครัว” และเพื่อนสนิท ให้ชวนกันมาเดิน-วิ่งกันในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งเพียงชั่วโมงแรกของการเปิดรับสมัครผ่านทางเฟซบุ๊กก็ทำเอาเว็บไซต์งานวิ่งล่ม

ระยะวิ่ง 10 กม. สำหรับนักวิ่งทั่วไปอาจใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว แต่สำหรับงานนี้ใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากนักวิ่งเพลิดเพลินไปกับเส้นทางวิ่งที่เป็นทางซิกแซ็กจากกรง (สัตว์) หนึ่งไปอีกกรงหนึ่ง มีความสุขกับการวิ่ง-เดิน-จับ/จูงมือกัน-รวมทั้งเข็นรถเด็กน้อยไปเซลฟี่ไป และพากันเข้าเส้นชัยด้วยรอยยิ้ม มีรางวัลเป็นตุ๊กตาผ้ารูปสัตว์คนละตัว

แน่นอนที่สุด เสียงร่ำร้องให้จัดอีกตามมา RunARAN ฮาล์ฟมาราธอน จึงเกิดขึ้น ครานี้ในคอนเซ็ปต์ที่ต่างไปอีก “เฟรนชิป บียอน ฟรอนเทียร์” งานวิ่งแรกบนเส้นทางสุดเขตแดนประเทศไทย-กัมพูชา ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2559 ณ เทศบาลเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

“อรัญฯเป็นเมืองที่ผมไม่เคยไป ตอนที่ทางเทศบาลติดต่อมา ผมยังนึกไม่ออกว่าอรัญประเทศอยู่ตรงไหนของแผนที่ (หัวเราะ) และคิดว่าไกลมาก แต่จริงๆ ไม่ไกลแค่ 200-300 กิโล…เป็นเมืองชายแดนบนรอยต่อของสองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ ที่เมืองอื่นไม่มี เราก็เอาสองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ และวัฒนธรรมอีก 5 ชนเผ่า ทั้งอาหารการกินการแต่งกายมา เพื่อจะย่อการท่องเที่ยวอรัญฯ ผ่านการวิ่งในระยะทาง 21 กิโลให้คนที่มารับรู้ถึงอารยธรรมวัฒนธรรมและประสบการณ์ในรูปแบบของการวิ่ง”

รัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ วัย 43 ปี ในฐานะผู้อำนวยการการจัดงานวิ่ง เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าอิ่มสุข

รัฐเป็นคนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 4 คนของ คุณพ่อสมชาย กับคุณแม่กานดา จิโรจน์วณิชชากร

การศึกษาตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม 5 ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ก่อนจะสอบเทียบเข้ามาใช้ชีวิตผจญภัยในเมืองกรุงคนเดียว และเอ็นทรานซ์เข้าไปเป็นนิสิตวิศวะเครื่องกล รั้วพระเกี้ยว ยังไม่ทันทำงานในสายที่เรียนมาก็รู้สึกว่า “ไม่ใช่” จึงหันไปศึกษาต่อหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ในมุมของวิศวะ ถ้าผิดนิดเดียวหมายถึงตึกพัง เครื่องยนต์ทำงานไม่ได้ ฯลฯ ขณะที่สายมาร์เก็ตติ้ง ไม่มีอะไรถูกผิด แล้วแต่สถานการณ์แล้วแต่เวลา มันมีปัจจัยอะไรอีกมาก ความสนุกตรงนี้มันมีวิธีที่ไม่ตายตัว อะไรที่คิดไม่เหมือนชาวบ้าน คิดไม่เหมือนครูไม่ผิด”

เขาให้เหตุผลถึงการตัดสินใจจับสายการตลาด และตั้งบริษัทตั้งแต่ยังเรียนเอ็มอีเอ ก่อนจะมีลูกค้ารายหนึ่งเสนอให้ลองทำงานอีเวนต์ จากงานเล็กๆ ความพึงพอใจที่ลูกค้าได้รับกลายเป็นคำบอกเล่าแนะนำกันปากต่อปาก กลายเป็นบริษัททำอีเวนต์เรื่อยมา นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 13 ปีที่แล้ว

ส่วนการก้าวเข้ามาเป็นผู้จัดงานวิ่งสุดฮิพที่ใครๆ ก็อยากไปเป็นอย่างไร? ตามไปฟังกัน…

จากคนไม่ชอบออกกำลังกาย อะไรเป็นจุดเปลี่ยน?

ต้องบอกว่าผมก็เหมือนชาวกรุงทั่วๆ ไป ไลฟ์สไตล์คนเมืองทำงานจันทร์ถึงศุกร์ พอทำงานเสร็จรู้สึกเหนื่อยจังเลยก็ไปกินสิครับ เสาร์ก็นอน ช้อปปิ้ง ขับรถเล่น ส่วนออกกำลังกายรู้ว่าดีแต่เราจัดไว้เป็นคิวท้ายๆ เลยไม่ได้ออกกำลังกายสักที

ผมรู้นะว่าการไม่ออกกำลังกายเป็นสิ่งไม่ดี และจากการใช้ชีวิตแบบนี้ กินแบบนี้ ไม่ออกกำลังกายแบบนี้ มีโอกาสที่จะอายุสั้น พอมีลูกผมก็รู้สึกว่าอยากจะเป็นเพื่อนเขานานๆ หน่อย คิดว่าตอนที่เขาอายุสัก 20-25 ปี เขาอาจจะอยากคุยอะไรกับพ่อสัก 1 คำถาม ณ วินาทีนั้นผมอยากจะตอบคำตอบเขาได้ ไม่ใช่อยู่ในสายยาง

สุขภาพยังแข็งแรง?

แข็งแรงครับ ไม่มีสัญญาณอะไร แต่ว่าลักษณะแบบนี้ เพื่อนผมที่อายุเท่ากันหัวใจวายเสียชีวิต รุ่นพี่ที่ใช้ชีวิตเหมือนกันก็เป็นมะเร็ง มันเริ่มมีความไม่ปกติเข้ามาในชีวิต โรคของคนอายุ 60 มาโผล่ในคนอายุ 40 และมากกว่า 1 คน มันก็เป็นอีก 1 ปัจจัย ปรากฏว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วผมไปอบรมหลักสูตรหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ชีวิต มีอยู่ประโยคหนึ่งที่บอกว่า

“สิ่งที่เราจะทำมันไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ” ผมก็เลยลองตั้งโจทย์ที่เอ็กซ์ตรีมขึ้นมาว่าจะทำได้มั้ย ณ วันนั้น ผมนึกถึง 2 อย่าง การปีนยอดเขาเอเวอร์เรสกับวิ่งมาราธอน 42.195 กม. เพราะตอนเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยเฟิร์มมากสุดวิ่งได้ 10 กม. ตอนนั้นอีก 4 เดือนข้างหน้าจะมีงานใหญ่คือ กรุงเทพมาราธอน ผมไปสมัครเลย

ไปซ้อมวิ่งวันแรก 1 กิโลก็จะตายแล้วครับ เหนื่อยมาก แต่ตอนนั้นก็คิดง่ายๆ ไม่คิดไปไกล ซ้อมตามตาราง ทำให้ดีที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำคือ เมื่อบอกว่าเราจะไปวิ่งมาราธอน เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เราประกาศไป คำว่า “ซ้อม” ของผมคือ ถ้าฝนตกผมก็วิ่ง บางวันคิดงานเสร็จตี 1 กลับบ้านผมก็วิ่งตี 2 หลายครั้งวิ่งสวนกับคนเมา (หัวเราะ) คือถ้าถึงเวลาต้องวิ่งก็ไม่มีข้ออ้าง

พอถึงงานวิ่ง ผมก็วิ่งไปตามเขา ไปกับน้องในออฟฟิศที่ไม่เคยออกกำลังกายเหมือนกัน พอวิ่งไปได้ 20 กิโลก็เริ่มบาดเจ็บ ผมวิ่งๆ เดินๆ กะเผลกกันไปใช้เวลา 7 ชั่วโมง ก็เข้าสู่เส้นชัย แทบจะปิดการแข่งขันอยู่แล้ว แต่ผมไม่เป็นไร ผมมาวิ่งตามที่ประกาศไว้ หลังจากนั้นก็รักษาอาการบาดเจ็บไป แล้วก็รู้เลยว่าความสนุกอยู่ตรงไหน

ความสนุกอยู่ตรงไหน?

การวิ่งไม่ได้สนุกมาก แต่สนุกที่เราได้อยู่กับตัวเอง ปกติเราต้องประชุม ต้องโทรศัพท์ ดูอีเมล์ มีอินฟอร์เมชั่นไหลเข้ามามากมาย การได้อยู่กับตัวเองยิ่งยาวผมว่ามันคล้ายกับการทำสมาธิอย่างหนึ่ง เพราะเวลาวิ่งผมไม่ฟังเพลง

และได้ไปวิ่งงานต่างๆ ก็สนุกอีกอย่างหนึ่งตรงที่ได้เจอเพื่อน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แล้วการวิ่งเหมือนการท่องเที่ยวชนิดหนึ่งสำหรับผม นำผมไปที่แปลกใหม่ อย่างสัตหีบผมก็ไม่เคยไป ผมตื่นตี 2 ขับรถไปวิ่ง ออกตัวสักตี 5 ครึ่ง วิ่งชั่วโมงเดียวแล้วก็ขับรถกลับ มันคือความสุข ถ้าไกลมากก็ไปค้างสัก 1 คืน

รัฐ งานวิ่ง02

ชวนคนที่บ้าน?

พอเริ่มออกกำลังกายก็พยายามชวนทุกคนรอบข้าง อย่างออฟฟิศผมเป็นออฟฟิศไม่ออกกำลังกาย เราก็เริ่มชวนคนโน้นคนนี้เริ่มชวนกึ่งบังคับ ล่าสุด มีงานวิ่งที่หนองใหญ่ ชลบุรี ชวนกันไปวิ่งเกือบ 20 คน แต่ก่อนการวิ่งเป็นเรื่องแปลกมากในกลุ่มเพื่อน พอผมวิ่งก็เริ่มโพสต์ในโซเชียล ก็เริ่มเป็นอิทธิพล ตอนนี้กลายเป็นว่าเรากลุ่มคนออกกำลังกายกลายเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายเป็นกลุ่มไม่ปกติ

สาเหตุที่มาจัดงานวิ่ง?

ผมไปวิ่งงานอื่นๆ ในมุมมองของนักจัดงาน (อีเวนต์ ออร์แกไนซ์) ดูแล้วรู้สึกว่างานแต่ละงานจะมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน งานนี้ข้าวไข่เจียวอร่อย งานนี้อาจจะมีกิมมิกเป็นวิวบ้าง มีสต๊าฟบ้าง แต่หลังๆ พอมีงานวิ่งมากขึ้น มันมีเรื่องมาตรฐานการจัดงาน หลายงานน้ำไม่พอ บางงานน้ำพอแก้วไม่พอ ต้องเอามือรองน้ำดื่ม บางงานน้ำพอแก้วพอแต่น้ำไม่เย็น ถามว่าน้ำเย็นมีผลมั้ย มีผล เพราะบ้านเราเมืองร้อน แล้วคนที่วิ่งช้าๆ แบบผม การได้กินน้ำเย็นช่วยได้เยอะ

บางงานวิ่ง 50 กม. ไม่ได้กินอะไรมา 10 ชม. ปรากฏว่าเราวิ่งช้า อาหารหมด เลยมานั่งคุยกับรุ่นน้องว่า เราน่าจะลองจัดสักงานให้มันสมบูรณ์ แบบว่าจบแล้วนักวิ่งมีความสุข

ลองหาแผนที่ประเทศไทย สะดุดที่หนึ่งคือ บางแสน ผมติดต่อเทศบาลเมืองแสนสุข นายกตุ้ย (ณรงค์ชัย คุณปลื้ม) บอกว่าเอาสิ กำลังอยากให้บางแสนเป็นเฮลตี้ซิตี้

วันที่ประกาศรับสมัคร งานวิ่งมาราธอนของเราแพงระดับเกือบท็อปของประเทศเลย คือผมไปเอาราคาตามงานวิ่งมาราธอนที่อื่น คนถามว่าบริษัทไมซ์คือใคร ไม่มีใครรู้จัก นอกจากวงการจัดงานประชุม (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่อะไร เพราะเราตั้งใจจะทำงานที่ดี งาน “บางแสน 21” จัดเมื่อ 6 ธันวาคมปีที่แล้ว มีคนสมัครประมาณ 3,600 คน พองานจบแล้ว กระแสโซเชียลแรงมาก บอกว่า นี่คืองานวิ่งที่ดีมาตรฐานระดับโลก

คำว่างานวิ่งที่ดีคืออะไร?

ผมคิดงานจากการที่ผมเป็นนักวิ่ง อย่างแรกระบบรับสมัครต้องรวดเร็วและเข้าใจง่าย ผมเลือกเสื้อไซซ์อะไรวันที่ผมไปวิ่งผมต้องได้ไซซ์นั้น เป็นสิ่งเล็กๆ ที่บางงานทำไม่ได้ ผมเลือกเสื้อไซซ์ L ผมไปรับช้าหน่อย สต๊าฟถามว่าผมจะเอา XXXL หรือจะเอา XS

ปกติงานวิ่งจะมีวันก่อนแข่งต้องไปรับเสื้อรับเบอร์วิ่ง บางงานผมต่อคิวอยู่ครึ่งชั่วโมง บางงาน 45 นาที พอวันที่เราจัดงาน ผมประกาศกับลูกน้องเลยว่า ผมให้คนละ 1 นาที เราแพคทุกอย่างไว้เรียบร้อย แค่เอาเอกสารมาแสดงตนแล้วรับไปเลย บางคนถึงกับถามย้ำว่าเสร็จแล้วหรือ

นอกจากนี้การจราจรต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเทศบาลบางแสนทำได้ดีมาก และผมอยากเห็นงานวิ่งที่สะอาด งานบางแสน 21 เป็นงานแรกของประเทศที่ไม่มีแก้วตกบนพื้น ผู้จัดงานหรือบางคนอาจมองว่าก็แค่แก้ว ทิ้งขยะก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย แต่เรื่องบางเรื่องมันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบางคน ผมอยากเห็นอะไรผมทำหมด ผมการันตีกับนักวิ่งเลยว่า คุณวิ่งจนจบ น้ำเย็นทุกแก้ว ซึ่งนักวิ่งชอบมาก แล้วเรื่องของระยะวิ่งต้องตรง บอกว่า 10 กม.ก็ต้อง 10 ไม่ใช่ 11 ทุกอย่างต้องพร้อมตั้งแต่ออกจากจุดสตาร์ตจนวิ่งเข้าเส้นชัย เรื่องอาหารบริการนักวิ่ง งานนี้เข้าเร็ววิ่งสั้น ได้อิ่มไม่อั้นเหมือนบุฟเฟต์

คล้ายงานออร์แกไนซ์?

คล้ายครับ เพียงแต่จากลูกค้ากลุ่มองค์กรเป็นบุคคล ซึ่งแต่ละคนก็มีความเป็นปัจเจก ชอบไม่ชอบแตกต่างกัน การจะเอาใจคน 3,000 กว่าคนไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นต้องคิดละเอียด ต้องวางแผน 1-2-3 คิดแบบวิศวะทุกอย่างต้องเป๊ะ บวกกับวิธีนักการตลาด เราจะสื่อสารกันอย่างไร จบงานเขามีการโหวตกันผ่านเว็บไซต์วิ่งไหนดี งานบางแสน 21 เป็นงานแรกของประเทศไทยที่ได้ 5 ดาวเต็ม ขึ้นแรงก์อันดับ 1 เมื่อเทียบกับ 500 ของงานทั้งประเทศ

ตามมาด้วยงานที่ 2 “เขาเขียว 10”?

เกิดจากการที่ผมไปย่านนั้นแล้วพาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยรู้เลยว่าเรามีสวนสัตว์ชื่อเขาเขียว มารู้ทีหลังว่าเป็นสวนสัตว์เปิดอันดับ 1 ของเอเชีย เป็นแมสเซสที่คนไทยไม่รู้เลย ตอนที่ไปเที่ยวก็คิดตามประสานักวิ่งมองเส้นทางแล้วคิดว่าถ้าได้มาวิ่งคงจะดี เพราะนักวิ่งไม่ได้ต้องการอะไรเลย ต้องการสถานที่ใหม่ๆ ที่สวยงาม ยิ่งไม่เคยวิ่งยิ่งชอบเลย ฉะนั้นเลยลองครีเอต ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราอยากทำคือสร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ คือกลุ่มครอบครัว กลุ่มที่ไม่ค่อยวิ่ง แล้วครอบครัวคนไทยก็ไม่ค่อยได้จูงกันมาวิ่ง ผมอยากเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่สร้างให้เกิดกิจกรรม โดยเอาสวนสัตว์มาเป็นธีม ได้รับผลตอบรับดีมาก

เว็บไซต์ที่เราสร้างรองรับได้ 6,000 คน ปรากฏว่านาทีแรกคนสมัครเข้ามาเป็นหมื่นคน เลยเกิดปรากฏการณ์เว็บไซต์งานวิ่งล่ม

ไม่ง่ายเพราะมีเด็กด้วย?

ใช่ครับ แต่ก็มีความสุขมากเลย ได้เห็นเด็กตัวเล็กๆ เห็นตั้งแต่ระดับนอนมาในรถเข็น ผมเคยมีโมเมนต์นั้นถามว่าลูกจำได้มั้ย จำไม่ได้ แต่เขาจำความสุขนั้นได้ ได้เห็นตายายคู่หนึ่งเดินจูงมือกัน งานนี้ที่ 1 ไม่มีรางวัลให้ ทุกคนเข้าเส้นชัยได้ตุ๊กตาสัตว์ที่ระลึกเหมือนกัน สิ่งที่เราสร้างคือสร้างให้เกิดโมเมนต์การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมของครอบครัว และผองเพื่อน

พอจัดเป็นงานที่ 2 เริ่มรู้สึกสนุกแล้ว จากที่คิดว่าปีหนึ่งจัดสัก 1-2 งาน พอจบงานที่ 2 กลุ่มแฟนคลับส่งแมสเซสมาเมื่อไหร่จะจัดอีกๆ เพราะปกติการจัดงาน 1 งานต้องคิดคอนเซ็ปต์ประมาณ 3 เดือน ก็เลยเริ่มมองหา ได้งานที่ 3 เป็น “รันอรัญ” (RunARAN) วันที่ 21 สิงหาคมนี้

จริงๆ งานวิ่งที่เป็นเสน่ห์และยังทำไม่ได้คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่น อย่างคนมักมองว่างานวิ่งไปเบียดเบียนชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ทำให้เขาออกจากบ้านไม่ได้ มีการปิดถนนกั้นจราจร แต่จริงๆ แล้วงานในระดับโลกเหล่านี้คนท้องถิ่นเสมือนเจ้าบ้าน ที่ญี่ปุ่นทำขนมแจกด้วย พอแจกจบก็เชียร์ต่อ คนไม่ไปไหนพอรู้ว่ามีงานก็ออกมาเชียร์ที่หน้าบ้าน เพราะมันคือเทศกาลหนึ่งของท้องที่เขา

สร้างเทศกาลใหม่ให้กับท้องถิ่น?

ครับ ผมพยายามปลุกเรื่องนี้ให้เกิดในท้องถิ่นให้ได้ คือนักวิ่งมาแฮปปี้ คนท้องที่ก็ต้อนรับอย่างแฮปปี้ พอมันเกิดเป็นเทศกาลวิ่งขึ้นมาแล้ว คนทั้งประเทศมา ต่อไปมันจะอยู่ในแผนที่โลกของนักวิ่ง มันยากที่นักท่องเที่ยวคนหนึ่งจะมาไทยแล้วจะไปอรัญฯ แต่ไม่ยากที่นักวิ่งคนหนึ่งมาจากต่างประเทศแล้วจะมาวิ่งที่อรัญฯถ้างานอรัญฯจะเป็นงานวิ่งระดับโลกขึ้นมา

วันนี้การวิ่งไม่ได้เป็นแค่กระแส?

ครับ อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ทุกอย่างมีขึ้นก็มีลง ตอนนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังไต่ขึ้น ซึ่งมีผลต่อนักวิ่ง เวลาที่วิ่งแล้วถ่ายรูปมาลง เป็นการสร้างอิทธิพลต่อคนรอบข้าง เพราะคนที่เหมือนจะวิ่งไม่ได้ พอวิ่งสำเร็จเมื่อไหร่ จะสร้างอิมแพคสูงมาก อย่างรุ่นน้อง น้ำหนัก 108 กิโล วิ่งแล้วตอนนี้เหลือ 60 กิโล หล่อมาก เหล่านี้เป็นการสร้างอิมแพคที่แรงมาก ต่อคนรอบข้าง ต่อเพื่อน และต่อคนที่ไม่รู้จักด้วย แต่หลังจากนั้นแล้วจะเริ่มยังไง ผมจึงสร้างกิมมิกใหม่ๆ

ในแง่ของการทำงาน ผมสนุกที่ได้ครีเอตงาน ได้ทำ ได้ทดสอบสิ่งที่เราคิด แต่ไม่ได้วิ่ง ซึ่งเป็นความทุกข์อย่างเดียว

วิธีคิดงานวิ่งของเรา ไม่ได้เอาธุรกิจนำ ทุกครั้งที่เราจัดจะเริ่มจากเราอยากทำอะไร แล้วค่อยบริหารจัดการให้อยู่ในต้นทุน เราต้องการทำให้สมบูรณ์แบบก่อน เราเชื่อว่ามันจะดึงทุกสิ่งกลับมา รวมทั้งเป็นกำไรความสุขด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image