นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ก่อนถึงการ ‘ประชามติ’

กระแสยิ่งแรง ยิ่งลึก และประเด็นเรื่องรับหรือไม่รับร่างนั้นก็เป็นที่พูดถึงแทบจะทุกวงสนทนา-อาจเพราะวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบสองปีที่ประชาชนไทยได้มีโอกาสใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองแสดงออกอย่างเต็มที่

และการประชามติที่จะถึงนี้ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ร้อนยิ่งกว่าเมื่อย้อนถอยหลังไปไม่กี่วัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่งออกมาแถลงจุดยืนว่า เขาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างแน่นอน

นี่จึงเป็นความน่าสนใจที่ปรากฏอยู่ในคำพูดนั้นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เอง ทั้งในฐานะจุดยืนที่ผ่านมาโดยตลอดของเจ้าตัวเองและภาวะความเป็น “ประชาธิปไตย 99 เปอร์เซ็นต์” ของประเทศไทยตามที่ผู้นำประเทศเคยอ้างถึง

กับสภาวะประชาธิปไตยไม่เต็มใบเช่นนี้นั้น คำตอบและทางออกอยู่ภายในงานเสวนา “พาสังคมไทยไปให้ถึง: ความเท่าเทียมแห่งชีวิต”

Advertisement

เศรษฐกิจ

เริ่มที่ฝั่งเศรษฐกิจ อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐศาสตร์ว่า ชั่วระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้คนชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างไต่ระดับขึ้นมาถึงคนชนชั้นกลางตอนบน ขณะเดียวกัน ชนชั้นสูงก็ทิ้งชนชั้นกลางตอนบนชนิดไล่ตามไม่ทัน

ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม-ชนชั้นกลางตอนบนรู้สึกว่าถูกบีบและถูกไล่กวดอย่างเลี่ยงไม่ได้

นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างคนในประเทศเป็นเรื่องที่ล่องลอยอยู่ในความเพ้อฝัน กระทั่งไม่อาจผลักดันโปรเจ็กต์ใหญ่ใดๆ ได้

Advertisement

อภิชาตให้ความเห็นถึงรากของปัญหาที่เกิดมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่นำเข้าระบบทุนนิยมจากโลกตะวันตกเข้ามาในไทยแบบไม่ครบถ้วน ขาดระบบประกันสังคมและสถาบันจัดการความขัดแย้งในสังคม

ยังไม่นับว่าสถาบันที่นำเข้ามานั้น ท้ายที่สุดถูกปรับให้เข้ากับ “เนื้อดิน” แบบไทยๆ และเดินไปข้างหน้าตามอุดมการณ์ของประชาธิปไตย

“การเมืองแบบมีส่วนร่วมเป็นกลไกและเป็นแม่แบบของการสร้างสถาบัน ทำหน้าที่ในทางเศรษฐศาสตร์โดยทำหน้าที่รวบรวมความเห็นและความคิดจากคนจำนวนมาก เมื่อสังคมมีประชาธิปไตยก็สามารถเปิดพื้นที่ให้คนแสดงความเห็น ซึ่งจะส่งผลต่อการรวบรวมความคิดจากประชาชนในแง่เศรษฐศาสตร์ได้”

หนึ่งในทางออกของปัญหาเหล่านี้ที่อภิชาตเสนอคือ รัฐต้องขยายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ทำให้สถาบันได้รับความเห็นจากคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง และทำให้ผู้คนหยุดพุ่งเข้ามาเล่นการเมืองส่วนกลางเพียงจุดเดียวแต่ไปลงเล่นการเมืองในระดับชุมชนเพื่อพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นมากขึ้น

“ไทยกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนความไม่เป็นธรรมสูงมากที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และส่งผลให้ความร่วมมือระหว่างชนชั้นหายไป การยกระดับจึงเกิดขึ้นได้ยาก”

“ดังนั้นระบบประกันสังคมแบบที่อาจารย์ป๋วยคาดหวังไว้ก็จะไม่เกิดขึ้น”

 

สังคมวิทยา

ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิงหมัดตรงถึงประเด็นร้อนอย่างการประชามติที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

โดยเฉพาะการออกมาแถลงจุดยืน “ไม่รับ” ของหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง (ซึ่งยุกติหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยชื่อ)

นำมาสู่คำถามว่าเหตุใดกระแสโหวตโนจึงแรงมากอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางบรรยากาศการปิดกั้นการแสดงออกเช่นนี้

เพราะใช่หรือไม่-ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ตอบโจทย์ของสังคมไทย

“มองว่าโจทย์ของสังคมไทยตอนนี้คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สะท้อนรากฐานทางวัฒนธรรมของประชาชนอย่างเพียงพอ ในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งมานานและเราเปลี่ยนหัวข้อการถกเถียงไปเรื่อยๆ”

ชวนให้ย้อนกลับไปมองว่า แล้วรัฐธรรมนูญปี 40 นั้น “ตอบโจทย์” อะไรคนไทย มากน้อยอย่างไร

“โจทย์ในตอนนั้นมันชัดเจน คือทำให้นักการเมืองมีอำนาจในการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย บริหารประเทศอย่างแท้จริง, มีการกระจายอำนาจอย่างจริงจังในการกระจายทรัพยากร ให้ท้องถิ่นเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่นมากขึ้น และการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระ ซึ่งทั้งสามข้อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างมหาศาล”

ขณะที่คมดาบอีกด้านของรัฐธรรมนูญปี 40 กลับบาดสังคมในเวลาต่อมา “เพราะมันได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 40 ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ที่ไปท้าทายอำนาจเก่าขึ้นมา”

เฉพาะในเวลานี้ที่สังคมมีโจทย์ใหม่ขึ้นมานั้น ยุกติระบุว่าสิ่งที่รัฐธรรมนูญต้องตอบให้ได้อยู่ 4 ข้อ โดยข้อแรกนั้นขอไม่กล่าวถึง

“โจทย์ที่รัฐธรรมนูญต้องตอบให้ได้ ประการแรก-รัฐธรรมนูญที่รอการลงประชามติเป็นร่างที่เชิดชูการปราบโกงและเน้นกลไกควบคุมนักการเมือง แต่กลับไม่พูดถึงปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลก กลับถูกมองข้ามไปเพื่อจะปราบโกงอย่างเดียว นี่คือโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะถ่วงดุลเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้”

“ประการที่สอง หลักการของการวางกรอบความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐควรจะอยู่ตรงไหน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ร่างนี้ถูกวิจารณ์หนักมากคือข้อประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพหายไป เพราะมักมีเงื่อนไขอยู่ภายใต้กำกับของความมั่นคง”

และประการสุดท้าย ยุกติกล่าวอ้างอิงถึงความบอบช้ำของสังคมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต่างผลัดกันเป็นเหยื่อและผลัดกันใช้ความรุนแรง ผลัดกันเป็นผู้ละเมิดประชาชนและผลัดกันเป็นประชาชนที่ถูกละเมิด

“ทำอย่างไรจึงจะก้าวข้ามกันได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีพูดถึงเรื่องนี้เลยว่าจะทำอย่างไรจึงจะเยียวยาเหยื่อทางการเมืองไม่ว่าจะจากเหตุการณ์ใด จะนำคนผิดมาลงโทษอย่างไร ถ้าโจทย์เหล่านี้ไม่ได้ถูกตอบ เราก็จะยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้งต่อไป”

(จากซ้าย) ยุกติ มุกดาวิจิตร, อภิชาต สถิตนิรามัย, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประจักษ์ ก้องกีรติ
(จากซ้าย) ยุกติ มุกดาวิจิตร, อภิชาต สถิตนิรามัย, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

นิติศาสตร์

ในมิติของกฎหมาย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ทะลวงระบอบการปกครองในสังคมไทยตั้งแต่หมัดแรก

“ระบอบที่เราอยู่เป็นระบอบชักเย่อกัน ต่อสู้กันโดยยังไปไม่ถึงคุณค่าที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้ระหว่างแนวคิดที่เป็นประชาธิปไตยกับแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ของประชาธิปไตย”

ด้วยภาวะเช่นนี้ วรเจตน์เห็นว่า จุดหมายประชาธิปไตยที่เป็นหนึ่งในแนวคิดของป๋วยนั้นอาจจะใช้เวลานานมาก-ยังไม่พูดถึงว่าเวลานี้ระบอบที่ใช้ปกครองก็ห่างไกลจากคำว่าประชาธิปไตยชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

“เผด็จการไม่มีทางที่จะส่งมอบความเท่าเทียมได้ เพราะธรรมชาติของระบอบเผด็จการนั้นอำนาจถูกผูกให้รวมศูนย์”

ยิ่งเฉพาะกับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจัดทำอยู่นี้ ชัดเจนอย่างยิ่งว่ามีความกลัวองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งจะครอบงำองค์กรอื่น “ผมอยากถามกลับว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีมาตรา 279 ที่ระบุว่าบรรดาประกาศคำสั่งของคณะ คสช. หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้มีความชอบธรรมตั้งแต่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป

“คำถามคือ สมมุติว่าอีกหลายปีข้างหน้า มีคนสงสัยว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการทุจริตเกิดขึ้น อาจจะโดย คสช. หรือคนที่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. เราจะตรวจสอบการทุจริตได้หรือไม่ บทบัญญัติเช่นนี้จะปิดการตรวจสอบโดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่ แล้วจะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงได้อย่างไร ต้องตั้งคำถามไปว่าผู้ร่างฯนั้นมีจุดมุ่งหมายอย่างไร”

และท้ายที่สุด สิ่งหนึ่งที่วรเจตน์กังวลคือ ในฐานะที่เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดคุณสมบัตินักการเมืองไว้โดยไม่ให้คนที่ต้องโทษเข้ามาสมัคร หรือเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญปราบโกงจะกลายเป็นเครื่องมือในการกำจัดคนที่รัฐไม่ชอบไม่ให้เข้ามาในองค์กรรัฐเท่านั้น

ซึ่งต้องถามต่ออีกว่า-แล้วนี่ใช่จุดมุ่งหมายจริงๆ ที่ประชาชนต้องการหรือไม่

 

รัฐศาสตร์

ปิดท้ายกันที่ประเด็นในมุมมองของอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่าง ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่กล่าวโดยสรุปถึงสภาพของประชาธิปไตยในสังคมไทยได้อย่างเห็นภาพ-โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งผูกโยงกับความเท่าเทียมกันและประชาธิปไตยอย่างแนบแน่น

“จากสถิติประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมาก เพราะเราสนใจแต่ความสงบสุขที่จะเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งถ้าวัดกันที่ความสงบสุขแล้ว เกาหลีเหนือน่าจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก แต่ในความสงบนั้นมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างยิ่ง”

ยังไม่ต้องพูดไปถึงขั้นที่ว่า ความเกี่ยวเนื่องระหว่างความเหลื่อมล้ำและประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ล้วนแปรผันไปในทางเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบเผด็จการนั้นโดยตัวเองแล้วก็เป็นการผูกขาดอำนาจไว้โดยคนหยิบมือเดียว และไม่เปิดให้มีการตรวจสอบได้จากสื่อและประชาชน

“ซึ่งการใช้อำนาจตามอำเภอใจถือเป็นปกติธรรมชาติของเผด็จการอยู่แล้ว” อาจารย์หนุ่มกล่าว ก่อนขยายความถึงความบกพร่องที่เกิดขึ้นได้กับระบอบซึ่งพยายามทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างประชาธิปไตย

“ไม่ต้องโลกสวยกับระบอบประชาธิปไตยหรอก” เขากล่าว ก่อนอธิบายเพิ่มเติมถึงสภาวะหลังสงครามเย็นที่มีการรัฐประหารโดยกองทัพ 18 ครั้ง-ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าทุกประเทศเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าต่อให้ประชาธิปไตยบกพร่องอย่างไร-การรัฐประหารย่อมไม่ใช่ทางออก

“ไม่นับว่าเงื่อนไขในการรัฐประหารหลังยุคสงครามเย็นนั้นคล้ายคลึงกันทุกครั้งและทุกประเทศ ที่กองทัพมาพร้อมสัญญาว่าทำไปเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ถูกทำลายโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และจะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เพราะฉะนั้น ผมว่าเพลงที่ร้องว่า ‘เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน’ นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรหรอกครับ” เป็นประโยคที่มาพร้อมเสียงกลั้วหัวเราะทั้งจากคนพูดและคนฟัง

และตราบใดที่สังคมไทยยัง “ก้าวไปไม่พ้น” ในระบอบรัฐประหาร การกลับไปสู่สังคมประชาธิปไตยย่อมเป็นโจทย์ที่ทั้ง “ใหญ่และยาก”

“เพราะไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ ก็จะมีเนื้อหาเน้นตอบโจทย์ผู้มีอำนาจเป็นหลัก ไม่ต่างไปจากนี้เท่าไหร่”

ยังไม่นับว่า ในสภาพสังคมที่แตกออกเป็นสองข้างเช่นนี้ ระหว่างคนที่อยากและไม่อยากให้ทหารบริหารประเทศ-ย่อมทำให้ไม่มีฉันทามติใดให้ยึดถือไว้ร่วมกัน-ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการสร้างสังคมที่เท่าเทียม

ประจักษ์เสนอทางออกว่า หากอยากจะก้าวข้ามความสับสนและแผลลึกเหล่านี้ไปได้ จำเป็นจะต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้แข่งขันกันมากขึ้น, กระจายอำนาจ เพื่อลดการผูกขาดอำนาจจากรัฐส่วนกลาง, ให้เสรีภาพกับสื่อและประชาชนมากขึ้นเพื่อสร้างอำนาจในการตรวจสอบ และการสร้างระบบการเมืองที่มีการถ่วงดุลที่สมดุล

ซึ่งการจะบรรลุในประเด็นเหล่านี้ได้นั้น ต้องอาศัยกลไกอย่างน้อยสามประการ ได้แก่เปลี่ยนวัฒนธรรมความคิด, พลังทางสังคมและการสร้างกติกาที่ดี

“แต่ถ้ายังเปลี่ยนความคิดที่จะมองคนให้เท่ากันไม่ได้ก็ยากจะสร้างพลังทางสังคมและกติกาที่ดีได้”

“แค่สิทธิเลือกตั้งเรายังมาเถียงกันว่าหนึ่งคนควรมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากันหรือไม่ในการเลือกตั้ง”

ประจักษ์ขยายความถึงข้อดีประการเดียวของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือมันให้ความชัดเจนในแง่การเปลี่ยนย้ายอำนาจ ถ่ายโอนอำนาจไปสู้ข้าราชการรวมศูนย์-ซึ่งแน่นอนว่าไม่ตอบโจทย์เรื่องประชาธิปไตยและไม่แก้ปัญหาเรื่องการผูกขาดอำนาจ แต่เป็นการยกอำนาจที่ผูกขาดและข้าราชการรัฐรวมศูนย์ไปให้ชนชั้นนำอีกกลุ่มเท่านั้น

“ในสังคมไทยเราต้องตกลงกันให้ได้ก่อนว่าใครคือนักการเมือง คนที่ใช้อำนาจผ่านตำแหน่งสาธารณะและมีหลายยูนิฟอร์ม ใครก็ตามที่เข้ามาคุมอำนาจรัฐแล้วให้คุณให้โทษได้-ก็คือนักการเมือง”

ดังนั้นสำหรับเขาแล้ว นักการเมืองผู้หลอนหลอกสังคมจึงไม่ใช่เพียง ส.ส.หรือนักเลือกตั้ง แต่ยังมีทหาร มีนักแต่งตั้งที่มีอำนาจอันตรวจสอบได้ลำบากอีกด้วย

สองปี-นับจากการล้มกระดานเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประจักษ์แสดงความเห็นว่าสังคมไทยเดินหลงทางมาไกลมากจนกระทั่งทุกวันนี้ และยังควานหาทางออกไม่เจอ

“ถ้าจะมีความหวังเดียวคือมีฉันทามติใหม่ในสังคม ระหว่างพลังกลุ่มต่างๆ พรรคการเมือต่างๆ เสื้อสีต่างๆ ไม่ต้องเห็นด้วยกันทั้งหมด แต่ต้องมีฉันทามติว่าเราจะขัดแย้งและเจรจาต่อรองเพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีที่ทุกคนต่อสู้ร่วมกันโดยไม่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ถ้ายังไม่มีฉันทามติ เราก็จะยังวนอยู่เช่นนี้อีกหลายปี”

“และถ้าเรารักกองทัพ เราต้องเอากองทัพออกจากการเมือง เพราะจากประสบการณ์หลายๆ ประเทศ กองทัพซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาให้บริหารประเทศนั้น เมื่อเข้ามาเกี่ยวกับการเมืองมากๆ ก็ทำให้อ่อนแอในที่สุด”

เป็นคำทิ้งท้ายของ ประจักษ์ ที่ทรงพลังอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image