สุจิตต์ วงษ์เทศ : ศาสนาไทยในโลกไม่เหมือนเดิม

ศรัทธานำปัญญาในระบบการศึกษาไทย วิชาเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา

ความเชื่อ มีทั่วโลก และมีก่อนศาสนา จะเรียกความเชื่อว่าศาสนาผีก็ได้ แต่การศึกษาไทยกีดกันความเชื่อศาสนาผี

ศาสนา มีความเป็นมายาวนานของแต่ละศาสนา กับมีทั้งประวัติศาสดาแต่ละองค์ ล้วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง สังคม

แต่การศึกษาไทยกีดกันอย่างอื่นออกหมด เหลือวิเศษสุดอย่างเดียวคือพุทธศาสนา ที่มีการเรียนการสอนหนักไปทางพุทธประวัติ

Advertisement

ผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาอย่างนั้น ตั้งแต่เข้าสู่ระบบโรงเรียน จนปัจจุบันยังถอนตัวไม่ขึ้น ไม่ตาสว่าง

ดังนั้น เมื่ออ่านข้อเขียนของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องรัฐกับการแบ่งนิกายของสงฆ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ (ตั้งแต่ฉบับ 15-21 กรกฎาคม 2559) จึงแทบบรรลุ (แต่ยัง) ก่อนบรรลัยลงหลุม

นิกายต่างๆ มีหลากหลายมากในคณะสงฆ์อินเดีย หลังพุทธปรินิพพาน และอาจมากกว่าศาสนาใดๆ ในโลก? มีนักวิชาการตะวันตกศึกษาพบว่าสายเถรวาทมีมากกว่า 100 นิกาย นี่ยังไม่นับสายมหายาน

เมื่อไทยเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ จนเป็นรัฐชาติแบบตะวันตก (เหมือนประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์) ศาสนาไม่มีบทบาทในการสื่อความเป็นสมัยใหม่เท่ากับรัฐและทุน ในที่สุดศาสนาในไทยก็ตกอยู่ในอุปถัมภ์ของรัฐ หรือเครื่องมือของรัฐ

องค์กรสงฆ์ไทยซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ก็มีขึ้นสมัย ร.5 “ไม่มีองค์กรศาสนาในชาติอุษาคเนย์ใดที่จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรัดกุมของรัฐยิ่งไปกว่าไทย”

แต่โลกไม่เหมือนเดิม อ.นิธิ บอกไว้ตอนท้ายว่าการจัดองค์กรคณะสงฆ์เพื่อให้รัฐสามารถกำกับควบคุมได้นั้น พอจะมองเห็นแล้วว่าจะไม่มีทางบรรลุวัตถุประสงค์อีกแล้ว

เพราะพระภิกษุสามารถติดต่อสื่อสารกับสังคมในรูปแบบอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น เกินกว่าที่รัฐหรือคณะสงฆ์จะดูแลได้ทั่วถึง

นิกายหรือสำนักอาจารย์ที่จะเกิดใหม่ในอนาคต ก็อาจไม่ได้มีลักษณะเหมือนเดิมอีกแล้ว เช่น เป็นสำนักอาจารย์บนไซเบอร์ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image