อาศรมมิวสิก โดย สุกรี เจริญสุข : แสงสว่างในความมืด นวัตกรรมดนตรีของคนตาบอด

นิล (นายยงสิทธิ์ ยงค์กมล) นักศึกษาเป่าแซกโซโฟนเป็นผู้พิการทางสายตา (ตาบอด) นิลเรียนเป่าแซกโซโฟนมาตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มเรียนเมื่ออายุ 12 ปี ซึ่งปัจจุบันนิลเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกดนตรีตาบอดคนแรกของระบบการศึกษาไทย นิลต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยตัวเองเกือบทั้งหมด เพราะไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะเอื้อให้คนตาบอดเรียนดนตรีได้ นิลต้องคิดต้องแสวงหาอุปกรณ์ในการคิดค้นเครื่องมือเพื่อใช้เรียนดนตรีให้ได้ง่ายขึ้นหรือเร็วขึ้นและเข้าถึงดนตรีได้ง่ายขึ้นด้วย

เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม และวันที่ 1 กันยายน 2562 นิลได้เปิดการแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชื่อรายการว่า “NIL’S VISION” เป็นงานที่ได้ร่วมแสดงกับเทศกาลศิลปะการแสดง (Performative Arts Festival 2019) ซึ่งเป็นการเล่าประวัติชีวิตส่วนตัวของนิลเอง นิลมีชีวิตเริ่มต้นจากคนที่ตาดีและแล้วสายตาก็ค่อยๆ มืดลง กระทั่งตามืดสนิท เรื่องราวการเรียนดนตรีของนิล ในฐานะนักศึกษาผู้ที่พิการมองไม่เห็น ดำเนินการเล่าเรื่องโดยใช้ดนตรีแสดงสด ผสมด้วยเสียงสังเคราะห์ นำเสนอภาพวิดีโอประกอบ เป็นมิติจากตาที่มองเห็น แล้วตาก็พร่ามัว ในที่สุดตาก็มืดบอดสนิทลง

การแสดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วงชีวิต โดยเริ่มจากช่วงวัยเด็กและครอบครัวที่โลกยังสดใส “ดีใจที่ได้อยู่กับคนที่รัก” สายตาของนิลยังมองเห็นอยู่ มองเห็นโลกที่สวยงาม ต่อมาในช่วงกลางของชีวิต เป็นช่วงเวลาที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคชีวิต เพราะเมื่อสายตาเริ่มพร่ามัว ในช่วงสุดท้าย เป็นช่วงเวลาที่ตามืดลงสนิท การเผชิญชีวิตในมิติใหม่ นิลต้องตั้งคำถามกับตัวเองมากมายว่า

“เราเกิดมาทำไม ทำไมต้องเป็นเรา อายุแค่ 20 ปี ตาก็มองไม่เห็นแล้ว ความสุขหายไป ความทุกข์เข้ามาแทน มีความเศร้า ความเหงา ความรู้สึกตรอมใจ ทุกคนที่อยู่ในบ้านและรอบตัวเครียด เวลาได้กลายเป็นความยากลำบาก ความเป็นความตายของชีวิตอยู่ที่มองไม่เห็น แต่นิลก็มีดนตรีที่ได้ช่วยชีวิตไว้ หากเราจะอยู่ถึงอายุ 80 ปี แล้วเราจะอยู่ต่อไปอย่างไร คำตอบนั้นก็คือ เป็นการมีชีวิตเพื่อคนอื่น การอยู่ที่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง” นี่คือสิ่งที่นิลถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดงดนตรี

Advertisement

ดำเนินรายการโดยใช้ดนตรีแสดงสด มีนิลเป็นผู้เล่าเรื่องราวชีวิต ดนตรีที่ใช้ประกอบเป็นการประพันธ์ดนตรีขึ้นใหม่ ผลงานของ อาจารย์กฤษดา เรเยส ซึ่งเป็นนักดนตรีที่เล่นคีย์บอร์ดด้วย กำกับการแสดงโดย อาจารย์นพีสี เรเยส มี นายเมธาวุฒิ พิมพะปะตัง เพื่อนผู้น้องที่ทำงานร่วมกับนิลมาตลอด นิลนั้นเล่นแซกโซโฟนและดำเนินรายการ กระทั่งเพลงสุดท้ายนิลก็เป็นคนเล่นแซกโซโฟน ทั้งหมดเป็นการนำเสนอเรื่องราวชีวิตผ่านการแสดงดนตรี เป็นรูปแบบใหม่ในการเล่าเรื่อง ซึ่งได้สร้างความน่า
ประทับใจยิ่ง

วิธีการแสดงครั้งนั้นเป็นแนวคิดใหม่ เป็นการเล่าเรื่องตัวเอง การต่อสู้กับตัวเอง จิตใจที่วุ่นวาย โดยอาศัยดนตรีเป็นเพื่อน ชีวิตของนิลนั้นเป็นหนังสือเล่มงามที่สำคัญของการศึกษาดนตรี โดยผู้พิการทางสายตาอย่างนิล หูนั้นนอกจากจะทำหน้าที่เป็นหูแล้ว นิลยังต้องใช้หูแทนตาด้วย ต้องศึกษาภาษาใหม่คือภาษาอักษรนูนซึ่งเป็นภาษาของคนตาบอด ต้องเปลี่ยนโน้ตเพลงสากลให้สามารถอ่านได้ด้วยตัวอักษรเบรล (Braille) แล้วจึงจดจำและฝึกซ้อมแซกโซโฟน

ผู้เขียนได้สอนนิลเป่าแซกโซโฟนมาตั้งแต่อายุ 12 ปี กระทั่งปัจจุบัน ได้เห็นพัฒนาการของนิลอย่างต่อเนื่อง นิลเป็นคนที่น่ารักมาก อัธยาศัยดี อารมณ์ดี เป็นมิตรกับทุกคน ที่สำคัญนิลเป็นคนมีอารมณ์ขัน ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานใกล้ชิด ได้เรียนรู้จากนิลอย่างมาก เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก จึงได้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วย ได้เห็นพัฒนาการและความพยายาม ซึ่งนิลได้เลือกเรื่องศึกษาการสร้างอักษรเบรล เขียนโน้ตดนตรีสำหรับนักเรียนดนตรีที่ตาบอด เพื่อให้คนตาบอดเรียนรู้ดนตรีได้เร็วขึ้น ทำให้คนตาบอดสามารถเขียนเพลงจากเสียงที่ได้ยินในหัวออกมาเป็นกระดาษเพื่อให้คนตาดีเล่นเพลงของคนตาบอดได้ หากเมื่อทำสำเร็จแล้วก็น่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ในระบบการศึกษาดนตรีและระบบการศึกษา
ของไทย

Advertisement

วันที่ 31 สิงหาคม 2563 นิลได้นำนวัตกรรมอักษรเบรลมาทดสอบผลงาน โดยทดลองสอนดนตรีให้กับคนตาบอด 6 คน ที่มีความรู้ด้านดนตรี แล้วให้ทุกคนได้เรียบเรียงเสียงประสานเป็นโน้ตอักษรนูนอักษรเบรล (Braille) และแปลงให้เป็นโน้ตสากลเพื่อให้นักดนตรีคนตาดีเล่น โดยเขียนเพลงสำหรับวงเครื่องสาย 4 ชิ้น (String Quartet) ทุกคนตื่นเต้นมากเพราะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของทุกคน

การศึกษาของนิลเพื่อทดลองว่า คนตาบอดสามารถอาศัยเทคโนโลยีเพื่อทำเพลง ประพันธ์เพลง และเรียบเรียงเสียงประสานได้หรือไม่ หากทำได้ ก็จะเป็นนวัตกรรมใหม่ของการศึกษาดนตรีและการเรียนรู้ดนตรีของคนตาบอด เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนตาบอดให้เรียนรู้ดนตรีง่ายขึ้น ได้มากขึ้น และรวดเร็วขึ้นด้วย ทั้งนี้ นิลได้เชิญคณะกรรมการ 3 คน มาเป็นผู้วิจารณ์และเป็นสักขีพยานในการเขียนเพลงของคนตาบอดด้วย

คณะกรรมการสักขีพยานประกอบด้วย อาจารย์ปิยะวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ ซึ่งเป็นนักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ อาจารย์วิวรรธน์ สุทธิแย้ม เป็นอาจารย์สอนวิชาการประพันธ์เพลงที่สถาบันดนตรี และ อาจารย์ณรงค์พัชร์ โตษยานนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนดนตรีคนตาบอดที่เชียงใหม่ ทั้ง 3 คนเดินทางมาเป็นสักขีผู้ฟัง เป็นผู้วิจารณ์งาน และเป็นพยานการประพันธ์เพลงของคนตาบอดด้วย

ส่วนนักดนตรีวงเครื่องสาย 4 ชิ้น (String Quartet) เป็นนักดนตรีอาชีพทุกคนมีสายตาดี (มองเห็น) มีไวโอลิน 2 คน วิโอลา และเชลโล วงเอื้อมอารีย์สตริงควอเท็ต เพื่อไม่ให้การแสดงติดขัดหรือการเล่นไม่เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนองานของคนตาบอด และนักดนตรีสามารถบอกให้ผู้ประพันธ์เพลงได้รู้ว่า ควรเขียนอย่างไรให้สะดวกต่อการอ่าน หรือดีกว่าและง่ายกว่า แต่ได้เสียงดนตรีเหมือนเดิม

นักประพันธ์ตาบอด 6 คน ทุกคนเรียบเรียงเสียงประสานดนตรีเป็นครั้งแรกในชีวิต เริ่มโดย คุณกฤษฎา กานุมาร เขียนเพลงนกไทรบินข้ามทุ่ง เป็นเพลงพื้นบ้านอีสาน การเรียบเรียงเพลงนั้นสั้นมาก แค่ 1 นาที เพลงจบเร็วไปหน่อย ผู้ฟังยังไม่ทันตั้งตัว คณะกรรมการก็ให้ข้อเสนอแนะว่า ผู้ประพันธ์เพลงยังขาดความรู้เรื่องการเขียนสัญลักษณ์ (ความดังเบาของเพลง) หรือการให้อารมณ์เพลงผ่านเครื่องหมายหรือตัวโน้ต ทำให้เพลงมีอารมณ์เดียว เป็นต้น

คนที่สอง คุณพรพิทักษ์ มโนจิต เขียนเพลงลาลา (Lala Song) เป็นเพลงที่เขียนขึ้นใหม่ เป็นผลงานของตนเอง ซึ่งออกมาดีมากทีเดียว เสียงประสานอาจจะน้อยไปหน่อย และที่สำคัญก็คือ ผู้ประพันธ์ตั้งใจให้เพลงจบแบบอารมณ์ค้าง คือไม่ลงตัวจบ ความจริงงานศิลปะขึ้นอยู่กับผู้สร้างงาน การจบงานแล้วทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ค้างติดหัวกลับบ้าน เป็นความจำที่ลืมได้ยาก แบบเพลงจบแล้ว อารมณ์ยังไม่จบ มีเรื่องเล่ากันว่า พระเจนดุริยางค์ที่มีปากเสียงกับหลวงวิจิตรวาทการและต้องแยกทางกันในที่สุด โดยที่พระเจนดุริยางค์ต้องออกจากกรมศิลปากรไปอยู่กองทัพอากาศ ก็เพราะเพลงของหลวงวิจิตรวาทการลงจบด้วยอารมณ์ค้าง พระเจนดุริยางค์แนะนำให้เปลี่ยน ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนนักดนตรีแทน

ศิลปินคนที่สาม คุณบุญโชค ต๊ะนัย เขียนเพลงแมงมุมลายตัวนั้น ซึ่งเขียนได้ไพเราะงดงาม แต่ว่าเพลงเขียนมาสั้นไป ผู้ฟังยังไม่อิ่ม ทำท่าว่าจะฟัง เพลงก็จบเสียแล้ว ศิลปินคนที่สี่ คุณพีร์ม นาคขวัญ ได้เขียนเพลงยาวที่สุดที่มี ชื่อเพลงแพ้ใจ สามารถสร้างเสียงประสานได้อย่างน่าฟังยิ่ง คุณพิมพ์ดีใจที่มีงานที่ได้ช่วยเหลือคนตาบอดได้เล่นดนตรีแบบนี้ ปรารถนาอยากได้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ดีกว่าที่มีอยู่ เพื่อนำไปใช้ทำเพลงให้มากขึ้น เพื่อจะมีประสบการณ์ที่ดีกว่า

ศิลปินตาบอดคนที่ห้า คุณณัฐวิทย์ พูนนวล นำเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” เรียกเสียงฮือฮาพร้อมปรบมือ 3 นิ้วของคนตาบอด คุณณัฐวิทย์บอกว่า ดีใจที่สุดในชีวิตที่ได้เอาเสียงที่ได้ยินในหัวออกมาได้ แล้วให้นักดนตรีตาดีเล่นให้ฟังด้วย เพื่อตรวจทานว่า สิ่งที่ได้ยินในหัวกับสิ่งที่ได้ยินจากหู แตกต่างกันหรือไม่ คุณณัฐวิทย์ยังพูดแซวอีกว่า หวังว่าท่านนายกฯจะชอบด้วย ความน่าทึ่งของคนตาบอดก็คือ เขียนเสียงที่ได้ยิน ให้เล่นเป็นเสียงนอกหัวได้

ศิลปินคนที่หก คุณอิทธิพล พิมพ์ทอง เขียนเพลงเพื่อนกันฉันรักเธอ (Friends I Love You) ซึ่งคุณอิทธิพลเป็นนักเปียโนอยู่แล้ว ได้ยินเสียงดนตรีผ่านการเล่นเปียโน เมื่อมีความรู้การเรียบเรียงเสียงประสาน มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ มีโปรแกรมการทำโน้ตให้เขียนออกมาได้ก็เป็นความสุขที่สุด

เมื่อเห็นคนตาบอดทำงาน ช่วยตัวเองได้ ดำรงชีวิตอยู่ได้ มีโอกาสสร้างอาชีพและสร้างชีวิตที่ดีได้ จึงทำให้มองเห็นอนาคต มองเห็นแสงสว่างจากความมืด ซึ่งเป็นความพยายามของนิลที่เรียนดนตรี ศึกษาดนตรี คิดค้นเครื่องที่จะต้องใช้กับตัวเอง แล้วแบ่งบันไปให้เพื่อนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ทำให้เกิดเห็นแสงสว่างไสวขึ้นในหัวใจทุกคน

นิล ยงสิทธิ์ ยงค์กมล แม้จะศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ประกอบการศึกษาก็ตาม แต่นิลได้สร้างนวัตกรรมใหม่ให้แก่คนตาบอด ทำให้คนตาบอดทั้งหลายมีโอกาสเรียนดนตรี เข้าสู่อาชีพดนตรีได้ง่ายขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image