‘เม็ดพลาสติก’ พลิกชีวิต ‘ผู้พิการ’

พนักงานจิตอาสาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯออกหน่วยทำขาเทียมและบริการซ่อมแซมขาเทียมฟรี

ข้อมูลจากฐานทะเบียนกลางคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า คนพิการที่ยังคงมีชีวิตอยู่ มีถึง 1,606,267 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 777,224 ราย ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุด

สาเหตุความพิการมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1.โรคเรื้อรังที่คนไทยป่วยกันมาก 3 โรค นั่นคือเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 2.อุบัติเหตุจราจรจากการขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เมาแล้วขับ และ 3.จากการที่ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังประจำตัวและจะมีความพิการร่วมด้วย

จากสถิติพบว่ามีแนวโน้มจะมีผู้พิการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพิการจากอุบัติเหตุจราจร ทำให้หลายฝ่ายเป็นที่วิตกว่าอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในอนาคตได้ ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องวางแผนและเร่งป้องกัน โดยเฉพาะมาตรการลดการเกิดอุบัติเหตุและการป่วยเรื้อรัง

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตผู้พิการให้ดีขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

Advertisement

สำหรับผู้พิการทางขานั้น “ขาเทียม” เปรียบเสมือนหัวใจอีกดวงที่ทำให้เขาเคลื่อนไหวได้ พร้อมกันนี้ขาเทียมก็มีราคาแพงมาก ทำให้ผู้พิการทางขาที่ยากไร้ไม่มีโอกาสเข้าถึง “ขาเทียม” ได้

การผลิต “ขาเทียม” จำเป็นต้องใช้เม็ดพลาสติกเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ ซึ่ง บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร เข้ามาสานต่อเจตนารมณ์ของ มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยการบริจาคเม็ดพลาสติกที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ นำไปเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตขาเทียมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554

นอกจากนี้ ยังทำโครงการ “ซ่อม เสริม เติม สุข” ซึ่งเป็นโครงการจิตอาสา ออกหน่วยเคลื่อนที่ไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

Advertisement
(บน) พล.ต.อ.อดุลย์ เป็นประธานเปิดโครงการขาเทียมพระราชทาน (ล่าง) ผู้พิการใน จ.ระยองและ จ.ใกล้เคียง เข้ารับบริการ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่า การดำเนินงานโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศลครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากหน่วยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยร่วมกับจังหวัดระยอง มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559

โครงการดังกล่าวช่วยยกระดับชีวิตของผู้พิการให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ เหมือนบุคคลทั่วไปในสังคม และยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามขีดความสามารถของผู้พิการ

“แนวทางการผลิตขาเทียมครั้งนี้ นับเป็นโครงการที่สำคัญ จากการคิดค้นและพัฒนากระบวนการผลิตที่ทันสมัย ตรงตามหลักวิทยาการทางการแพทย์ เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยนำวัตถุดิบในประเทศมาผลิตเป็นอุปกรณ์ขาเทียม โดยไม่คิดมูลค่า หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทำขาเทียมให้กับผู้พิการ” พล.ต.อ.อดุลย์ระบุ

ด้าน สุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) แจกแจงรายละเอียดว่า โครงการออกหน่วยทำขาเทียมนี้ เป็นหนึ่งในโครงการซีเอสอาร์ ที่ไออาร์พีซีดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ดีขึ้น และมีความสุขในสังคมเท่าเทียมกับผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ทั่วไป

“ไออาร์พีซี ดำเนินการโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2554 โดยบริจาคเม็ดพลาสติกจากนวัตกรรมการผลิตของไออาร์พีซี ที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ ปีละ 20-25 ตัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตขาเทียม และยังนำผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ ออกหน่วยทำขาเทียม ทั้งบริการทำขาเทียม ซ่อมแซมขาเทียมที่ชำรุด โดยไม่คิดมูลค่าเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางขา ทุกเชื้อชาติศาสนา กลับมาดำเนินชีวิตได้ปกติดังเดิม สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

นอกจากนี้ ไออาร์พีซี ยังส่งมอบแผ่นพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกให้กับโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่มีการทำขาเทียมตามแบบของมูลนิธิขาเทียมฯ และโรงงานทำขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนที่มูลนิธิขาเทียมฯจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ กว่า 69 แห่ง

รวมทั้งยังส่งแผ่นพลาสติกดังกล่าวเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนนักเรียนชั้น ปวส. สาขากายอุปกรณ์ ของวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ และการเรียนการสอนหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการของมูลนิธิขาเทียมฯ นักกายภาพบำบัด แพทย์ และนักศึกษาโครงการฝึกอบรมนานาชาติด้วย

สุกฤตย์อธิบายเพิ่มเติมว่า เม็ดพลาสติกที่ไออาร์พีซีนำมาบริจาคเพื่อทำขาเทียมนั้น คือ “โพลีโพรพิลีน บล็อกโคโพลีเมอร์” (PP Block) ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ เป็นนวัตกรรมเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติทนแรงกระแทกสูง สามารถขึ้นรูปได้ง่าย โดยเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำ แต่ยังมีความคงรูปของชิ้นงานได้ดี ซึ่งมีความเหมาะสมในการนำไปผลิตเป็นขาเทียม นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กล่องแบตเตอรี่ ลังอุตสาหกรรม และถังสี

ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2558 ที่ “ไออาร์พีซี” สนับสนุนเม็ดพลาสติกทำขาเทียม พบว่าได้นำไปผลิตขาเทียมทั้งสิ้น 6,694 ขา ให้กับผู้พิการ 5,040 คน และในปี 2559 ซึ่งก้าวสู่ปีที่ 6 ได้บริจาคเม็ดพลาสติกให้กับมูลนิธิขาเทียมฯไปแล้ว 25 ตัน

เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไออาร์พีซีร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ และจังหวัดระยอง ออกหน่วยเพื่อทำขาเทียมพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559

รมว.พัฒนาสังคมฯออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทาน

โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน ที่สมาคมสโมสรไออาร์พีซี สปอร์ตคอมเพล็กซ์ จ.ระยอง โดยมีผู้พิการลงทะเบียนรับบริการ 220 ราย ขาเทียม 227 ขา

การออกหน่วยครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำขาเทียมเท่านั้น แต่ยังจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการระดับ 1 โดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดระยอง ช่างเหล่านี้บางคนเป็นผู้พิการที่มาทำงานเพื่อสังคม เมื่อผ่านการทดสอบก็จะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ตามวุฒิการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ นิทรรศการด้านนวัตกรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม การอบรมคนพิการและญาติเรื่องกายภาพบำบัดการดูแลขาเทียม โดยมูลนิธิขาเทียมฯ การอบรมอาชีพให้แก่คนพิการและญาติ โดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน

โครงการ “ซ่อม เสริม เติม สุข” นี้จึงนับเป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับคนพิการทางขาได้กลับมาก้าวเดินได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

แต่กระนั้นก็ยังมีผู้พิการทางขาที่ด้อยโอกาสอีกมาก รอความหวังที่จะมี “ขาเทียม” เพื่อจะดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองและสังคมให้ดีขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image