คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : ชวนดูหนัง-ซีรีส์สไตล์อินเตอร์แอ๊กทีฟ ‘เราเลือกได้’

ภาพประกอบ Netflix , Tinder Southeast Asia

ไม่นานมานี้ปรากฏข่าวว่าแอพพลิเคชั่นหาคู่ หาเพื่อนชื่อดัง Tinder” ผลิตคอนเทนต์สร้างละครซีรีส์ขนาดสั้นขึ้นมา และจะเปิดตัวให้ได้ชมกัน 12 กันยายนนี้ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย ซีรีส์เรื่องที่ว่าชื่อ Swipe Night” เป็นรูปแบบ ซีรีส์อินเตอร์แอ๊กทีฟ (Interactive) มีความยาว 3 ตอน โดยเนื้อหามาในธีม “วันสิ้นโลก” หรือ Apocalypse

ความที่ใช้รูปแบบเล่าเรื่องอินเตอร์แอ๊กทีฟ หมายความว่า ต้องการให้เนื้อหานั้นเล่นกับการตัดสินใจของคนดู ให้คนดูมีส่วนกำหนดทิศทางและชะตากรรมของตัวละคร แน่นอนว่าจุดเด่นของแอพพลิเคชั่น Tinder คือ การ Swipe ปัดซ้าย-ปัดขวา ผู้ที่เข้าไปในแอพพ์นี้จะรู้ว่า เวลาเจอคนที่เข้าตาให้ปัดขวา เจอคนที่ไม่เข้าสเปกก็ให้ปัดซ้ายบนจอสมาร์ทโฟน ดังนั้นคำว่า Swipe ที่เป็นจุดขายของ Tinder จึงถูกนำมาเล่นกับคนดูซีรีส์เรื่องนี้ผ่านรูปแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟที่สมาชิกของ Tinder จะได้มีส่วนร่วมในการเลือกดำเนินเรื่องได้เองจากการปัดซ้ายปัดขวาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเนื้อหาของซีรีส์ Swipe Night ถูกระบุว่าจะเต็มไปด้วยเรื่องราวหักมุม เพื่อให้ผู้ชมหรือในอีกฐานะหนึ่งเปรียบเสมือนผู้เล่นเกมที่มีส่วนร่วมในการกำหนดเรื่องราวผ่านการปัดซ้ายปัดขวา

ถามว่าทำไมแอพพลิเคชั่นหาคู่อย่าง Tinder ต้องสร้างคอนเทนต์เป็นละครซีรีส์ขนาดสั้นขึ้นมา ในทางกลยุทธ์แล้วแน่นอนว่านี่เป็นวิธีดึงดูดเหล่าสมาชิก ไปจนถึงผู้ที่สนใจจะเข้ามาลองใช้ Tinder ผ่านความสนใจที่จะดูซีรีส์ ซึ่งเมื่อได้ดูและร่วมกำหนดเส้นเรื่องแล้ว ข้อมูลที่เราเลือกก็จะเชื่อมโยงกับข้อมูลหาคู่ ดังนั้นการปัดซ้ายขวาแต่ละครั้งที่จะทำให้เรื่องราวดำเนินต่อไปอย่างไร ก็จะผูกโยงด้วยว่าคนดูหรือผู้เล่นตัดสินใจในสถานการณ์ใดที่คล้ายคลึงกันเพื่อให้แต่ละคนมีโอกาสแมตช์กันได้ด้วยตามคอนเซ็ปต์แอพพลิเคชั่น

คอนเทนต์หนังหรือซีรีส์แบบอินเตอร์แอ๊กทีฟที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง มีตัวอย่างซีรีส์ดังอย่าง Black Mirror” ที่สร้างตอนพิเศษขึ้นมาที่ชื่อ Bandersnatch” เปิดให้ดูบนสตรีมมิ่งเน็ตฟลิกซ์ รูปแบบของตอนพิเศษนี้ คือให้คนดูกำหนดทิศทางและตอนจบของภาพยนตร์ได้เอง โดยระหว่างที่เรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ จะมีการหยุดถามคำถามกับคนดูเป็นระยะ ให้คนดูได้ตัดสินใจแทนตัวละครต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยภาพจะถูกหยุดนิ่งและมีคำตอบป๊อปอัพขึ้นมาคั่นให้เรากดเลือก จากนั้นเรื่องก็จะขยับตามคำตอบที่เราเลือกไปเรื่อยๆ

Advertisement

แม้รูปแบบหนังหรือซีรีส์แบบอินเตอร์แอ๊กทีฟจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการคอนเทนต์ เพราะการให้คนดูได้มีส่วนร่วมกำหนดการเลือกบางอย่างให้ตัวละคร เป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่ในคอนเทนต์ประเภทวิดีโอเกมแนว FMV” หรือ Full Movie Video” ที่ให้ผู้เล่นเกมเข้ามามีส่วนร่วมในเนื้อหาของเรื่องราวในเกม ซึ่ง FMV โดยมากจะเป็นวิดีโอเกมแบบกราฟิก และมีมานานหลายปีแล้ว แต่ไม่กี่ปีมานี้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง อาทิ เคยมีภาพยนตร์กึ่งเกมที่ชื่อ Late Shift” (ปี 2559) เป็นภาพยนตร์จริงๆ ที่ใช้คนแสดง และเปิดให้คนดูเล่นเกมไปพร้อมกับดูภาพยนตร์เรื่องนี้ไปด้วย วิธีเล่นกับคนดูคือ ให้เรามีสิทธิ “กดเลือกทางเลือก” ให้ตัวละครไปเรื่อยๆจนกระทั่งไปสู่ตอนจบของเรื่องที่มีทั้งหมด 7 แบบ แล้วแต่ใครจะกดเลือกและเล่นออกไปได้เนื้อหาตอนจบแบบไหน

อย่างไรก็ตามความที่  Black Mirror เป็นซีรีส์ดังติดหนึ่งในซีรีส์ขวัญใจมหาชน เมื่อมาลองทำตอนพิเศษ Bandersnatch แบบอินเตอร์แอ๊กทีฟก็นับได้ว่ายิ่งทำให้ผู้คนรู้จักหนัง-ซีรีส์ รูปแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟมากขึ้น เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้คนดูวงกว้าง

Advertisement

เฉกเช่นกรณีของ Tinder กับ Swipe Night ถือเป็นไอเดียการผลิตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงและนำข้อมูลของผู้ชม-ผู้เล่นมาต่อยอดกับรูปแบบธุรกิจของตัวเอง พ่วงด้วยเป็นการเพิ่มยอด User กระทั่งถึงการกระตุ้น User ให้เข้ามาสร้างกราฟิกมีส่วนร่วมปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่องในแอพพลิเคชั่น

ส่วนใครที่สนใจอยากดูหนัง-ซีรีส์รูปแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจาก Black Mirror : Bandersnatch แล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ Possibilia” เรื่องราวแนวความรักชีวิตคู่ของคนคู่หนึ่งที่กำลังใคร่ครวญว่าจะเลิกรากันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีจุดให้คนดูเข้ามามีส่วนตัดสินใจต่อเส้นเรื่องไม่ต่ำกว่า 16 รูปแบบเส้นเรื่อง อีกเรื่อง คือ Five Minutes” เป็นหนังเนื้อหาซอมบี้ที่ให้คนดูเข้ามามีส่วนร่วมในเส้นเรื่องอดีตและปัจจุบันของตัวละครไปจนถึงมีส่วนกำหนดการตัดสินใจที่ส่งผลต่อการกระทำต่อไปของตัวละคร

ขณะที่ A Week In The Life Of Milly” เป็นเรื่องราวหนังอินเตอร์แอ๊กทีฟที่หลายคนอยากลองชมพร้อมเล่นไปกับตัวละครหลักที่อยู่ในภาวะทางตันในชีวิต และหันมาพึ่งหนังสือแนว Self-help หรือหนังสือแนวจิตวิทยาที่ช่วยพัฒนาตัวเองที่วางขายแข่งกันเต็มชั้นหนังสือ โดยคนดูจะมีส่วนช่วยเลือกหนังสือเหล่านี้ว่าเล่มไหนจะเป็นเล่มแนะนำให้ตัวละครหลักนำไปทำตามและรับมือกับสถานการณ์ในชีวิต

นอกจากนี้ยังมีซีรีส์สารคดีผจญภัยแนวอินเตอร์แอ๊กทีฟอย่าง You vs. Wild” หาชมได้ในเน็ตฟลิกซ์ เนื้อหาแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟคือให้คนดูไปร่วมตัดสินใจในการผจญภัยกับพิธีกรนักผจญภัยชื่อดัง “แบร์ กริล” (Bear Grylls) ที่วางเนื้อเรื่องให้แบร์ กริล ต้องเข้าป่าเพื่อไปช่วยกู้ภัยให้ผู้ติดป่าโดยคนดูจะมีส่วนในการกำหนดทิศทางวิธีการเดินทางในป่า อุปกรณ์อาวุธอะไรที่นำไปได้ จะเลือกโหนเถาวัลย์ หรือไต่ขอนไม้ จะเดินลุยป่าทางราบหรือลุยน้ำไป เป็นต้น

เป็นตัวอย่างของหนัง ซีรีส์ และสารคดีประเภทอินเตอร์แอ๊กทีฟ ที่แม้จะไม่ใช่เทรนด์ฮิต แต่ก็มีการสร้างกันอย่างต่อเนื่องในฐานะที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และการดูคอนเทนต์ออนไลน์นิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความบันเทิงแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟถูกนำมาใช้เล่นสนุกกับคนดูมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ไม่รู้สึกซ้ำซากจำเจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image