อาศรมมิวสิก : เพลงที่ปัตตานี : โดย สุกรี เจริญสุข

: โดย สุกรี เจริญสุข

อาศรมมิวสิก : เพลงที่ปัตตานี : โดย สุกรี เจริญสุข

ปัตตานี เป็นหัวเมืองสำคัญในภาคใต้ เคยเป็นเมืองท่าระดับนานาชาติมาก่อน อาทิ จีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ และยุโรป ซึ่งเดินทางโดยเรือสำเภาเลียบชายฝั่งทะเลมาถึงปัตตานี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองหลวง กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ การติดต่อกับชาวต่างชาติมีความสำคัญมาก เพราะว่าต่างชาติที่เดินทางเข้ามาพร้อมกับมีความรู้ เทคโนโลยี อาวุธที่ทันสมัย การฝึกกำลังที่เข้มแข็ง มีการจัดระเบียบ มีนวัตกรรม และมีประสบการณ์ในการเดินทาง ซึ่งเป็นพัฒนาการของสังคม คนเหล่านี้เดินทางเข้าเมืองสยามด้วยทางเรือและผ่านหัวเมืองปัตตานี

ปัตตานีเป็นเมืองท่า มีภูมิประเทศเป็นอ่าว เรือสำเภาสามารถพักหลบภัยหรือซ่อมเรือได้ เป้าหมายการเดินทางของชาวตะวันตกคือการค้าขายกับจีน เมื่อมีเมืองปัตตานีเป็นทางผ่าน ปัตตานีมีบทบาทสำคัญทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การค้า รวมทั้งศิลปวัฒนธรรม ปัตตานีมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส อังกฤษ อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ ชวา โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ เครื่องเทศ ทองคำ ฝ้าย ผ้าไหม เครื่องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น ปัตตานีเคยเป็นเมืองเอกราชในระยะสั้นๆ หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ต่อมาในรัชกาลที่ 1 ได้ผนวกเมืองปัตตานีอยู่ภายใต้กรุงรัตนโกสินทร์

ดนตรีและเพลงที่ปัตตานีมีความทันสมัยและแตกต่างไปจากดนตรีภาคกลาง เพราะดนตรีภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากจีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ และยุโรปโดยตรง เมื่อได้ผสมผสานกับดนตรีพื้นเมืองดั้งเดิมเป็นเวลายาวนาน ทำให้ดนตรีมีความลงตัวและกลมกลืน

Advertisement

แม้ว่ากาลเวลาผ่านไป รูปแบบดนตรีและบทเพลงใหม่ในปัตตานีก็ยังคงเหลือร่องรอยวัฒนธรรมที่มีกลิ่นความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ การค้นหาเรื่องราวของเพลงผ่านประวัติศาสตร์ วรรณคดี เสียงเพลง มองเห็นความแตกต่างของเครื่องดนตรี ดนตรีและเพลงมีบทบาทสำคัญที่สามารถตอบโจทย์ให้สังคมได้ เรื่องราวของเพลงและดนตรีจึงเป็นหุ้นส่วนที่น่าสนใจยิ่ง แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายร้อยปีแล้ว

เพลงสำเนียงใต้ที่รู้จักกันแพร่หลาย ทั้งเพลงไทยและเพลงไทยสากล อาทิ โยสลัม ตารีกีปัส น้ำตาโนราห์ บินหลา บุหงาปัตตานี บุหงาตันหยง บุหงารำไป บุหลันลอยเลื่อน บุหลันชกมวย สะระหม่า (ไหว้ครูมวย) บุหลันลันตู นกเขามะราปี ล่องใต้ เสน่ห์ยะลา ปักษ์ใต้บ้านเรา เป็นต้น ทำนองเพลงเหล่านี้มีหลักฐานที่เป็นวิญญาณเพลงโบราณ พลังและแรงบันดาลใจที่ศิลปินรุ่นใหม่ได้สร้างขึ้นมาจากรากเหง้าวัฒนธรรม

เพลงบุหงาปัตตานี คำร้องและทำนองโดย ศักดิ์ เกิดศิริ ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ทำนองเดิมนั้นเป็นเพลงรองเง็ง ใช้เป็นเพลงเล่นเพื่อเต้นระบำ เมื่อเอามาใส่เนื้อร้องใหม่เป็นภาษาไทยจนกลายเป็นเพลงไทยสากล สำเนียงออกไปทางแขกปัตตานี เป็นเพลงที่โด่งดังเป็นที่รู้จักสำหรับคนภาคกลาง
เพลงนกเขามะราปี ผลงานครูมนตรี ตราโมท (พ.ศ.2493) ได้แต่งเพลงระบำทำนองแขกอินโด ชื่อเพลงนกเขามะราปี มะราปีเป็นชื่อภูเขาไฟในอินโดนีเซีย ซึ่งทำนองเพลงระบำนกเขามะราปีมาจากทำนองเพลงรองเง็งในมาเลเซีย นักร้องชื่อดัง พี. รามลี (Tan Sri Rumah P. Ramlee) นักร้องคนสำคัญชาวมาเลเซียนำมาร้อง ชื่อเพลงเปสตา มูดามูดิ (Pesta Muda Mudi) ซึ่งมีทำนองเหมือนกัน

Advertisement

เพลงบุหงารำไป เป็นชื่อดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม มัดรวมดอกไม้หลากหลายชนิดไว้ด้วยกัน ตากให้แห้ง ซึ่งต้องมีเตยหอมรวมอยู่ด้วย ใช้ประดับในงานมงคลโดยเฉพาะพิธีแต่งงาน คณะรองเง็งนิยมเล่นเพลงนี้ ซึ่งทุกวงถือว่าเป็นเพลงครู ทั้งชื่อเพลงและทำนองมีความไพเราะมาก จึงนำชื่อมาใช้เป็นชุดเครื่องหอมชาววัง ชื่อบุหงารำไป ความจริงเป็นชื่อเพลงจับระบำในวังยะหริ่ง มีทำนองที่ไพเราะและสนุกสนาน

เพลงบุหงาตันหยง (Bunga Tanjung) เป็นชื่อดอกตันหยง หรือดอกพิกุล ทำนองเพลงเดิมมาจากต้นฉบับของมาเลเซีย นักร้องดังๆ หลายคนนำมาร้อง อาทิ ซารีฟะห์ ไอนี (Sharifah Aini) เอ็ดดี ซิลิตองกา (Eddy Silitonga) เพลงบุหงาตันหยงเป็นเพลงร้องทั้งผู้หญิงและผู้ชาย นิยมในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เพลงนี้มีร่องรอยจากยุโรป

บุหงาตันหยง ใส่เนื้อไทยโดย สง่า อารัมภีร ทำนองโดย กระจองงอง (นามแฝง) ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ครั้งที่ผู้เขียนได้เคยสัมภาษณ์ลูกชายพระเจนดุริยางค์ นาวาอากาศเอก ประกิต วาทยะกร (พ.ศ.2529) ท่านเล่าให้ฟังว่า “เมื่อท่านเขียนเพลงไทยสากลแล้ว ก็ไปขายให้กับนายห้าง ขายวิธีเหมา 3 เพลงร้อยบาท นักแต่งเพลงที่ขี้เกียจคอยนายห้าง ก็ฝากเพลงไปกับเพื่อน (สง่า อารัมภีร)” อาจเป็นไปได้ เมื่อนายห้างซื้อไปแล้วจำนวนมาก ไม่รู้ว่าเป็นเพลงของใครก็ใช้นามแฝง “กระจองงอง” แทน

ทำนองเพลงบุหงาตันหยงดั้งเดิมนิยมนำมาใส่เนื้อร้องใหม่ สำหรับพวกร้องเชียร์รำวง ก่อนที่จะมีบาร์สำหรับเต้นรำ ในภาคใต้ยุคหนึ่ง (พ.ศ.2510-2530) มีบาร์รำวงส่วนใหญ่ ทั้งหาดใหญ่และภูเก็ต

เพลงบุหลันลันตู บุหลันหมายถึงดวงจันทร์ บุหลันลันตูหมายถึงสาวงามแห่งเมืองลันตู ซึ่งอยู่ฝั่งมาเลเซียที่ผ่านทางสุไหงโก-ลก ใส่เนื้อร้องไทยโดย สง่า อารัมภีร ทำนองโดย กระจองงอง (นามแฝง) ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อครั้งครูมีแขกนำบทเพลงบุหลันลอยเลื่อนถวายการสอนให้รัชกาลที่ 2 บุหลันลอยเลื่อนก็คือเพลงสรรเสริญพระจันทร์ หรือเพลงทรงพระสุบิน ทรงฝึกซ้อมเพลงสีซอสามสายอย่างหนัก จนทำนองเพลงซึมไปเข้าสู่ฝัน ครูมีแขก (พระประดิษฐไพเราะ มี ดุริยางกูร) เป็นทายาทเชลยแขกปัตตานี การเป่าปี่ สีซอสามสาย (ระบับ) ของครูมีแขก เป็นมรดกที่สืบทอดจากแขกปัตตานี เข้ามาผสมกับวัฒนธรรมมโหรีปี่พาทย์ภาคกลาง กระทั่งปี่กลายเป็นเครื่องดนตรีสำคัญของเพลงราชสำนัก ปี่เป็นเครื่องดนตรีนำวงปี่พาทย์

เพลงบุหลันลันตู (Engkau Laksana Bulan) เพลงเดิมเป็นภาษามลายู ซึ่งขับร้องโดย พี. รามลี มาจากเพลงอิตาเลียน (Come Back to Sorrento / Torna a Surriento) ขับร้องโดยนักร้องดังมากมาย อย่างดีน มาร์ติน (Dean Martin) ซึ่งเพลงนี้ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ชอบผิวปากเมื่อทำงานปั้นต้นแบบศิลปะ

เพลงบูหรงกาก๊า (Burongkaka / Boeroeng Kaka / Burong Kaka Tuah) เพลงพื้นเมืองมาเลเซียซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย นิยมเล่นเป็นตัวแทนเพลงมาเลย์ มีนักร้องแอนนีกี กรอนลอห์ (Anneke Gronloh) นำมาขับร้องโด่งดังมาก ต่อมามีผู้นำเพลงไปประกอบการ์ตูนสำหรับเด็ก ทำให้เพลงบูหรงกาก๊าเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งมีรากเหง้าของทำนองเพลงรองเง็ง

เพลงบินหลา เป็นเพลงของวงแฮมเมอร์ ซึ่งเป็นเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงมากในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เนื้อเพลงกินใจ ทำนองนั้นเป็นเพลงของรองเง็ง ต้องฟังเพลงของตันสี พี. รามลี (พ.ศ.2472-2516) ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงของมาเลเซีย ก็จะบอกได้ว่าทำนองเพลงบินหลาและเพลงรองเง็งอื่นๆ ผสมกันอย่างไร อาทิ เพลงแขกเชิญเจ้า มีทำนองใกล้เคียงกับเพลงคีติปัง ปายุง (Ketipang Payung) เพลงมาลัมบุหลัน

ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับเพลงละติน อรีเวเดชิโรมา (Arrivederci Roma) ของดีน มาร์ติน เป็นต้น

ตารีกีปัส (Tari Kipas) เป็นระบำพื้นเมืองของชาวมาเลย์ “ตารี” แปลว่า “ระบำ” ส่วนคำว่า “กีปัส” แปลว่า “พัด” หมายถึงการฟ้อนรำที่ใช้พัดแสดงประกอบ สำหรับที่ปัตตานีนั้น อาจารย์สุนทร ปิยะวสันต์ ที่โรงเรียนยะหริ่ง นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย จัดชุดรำพัดเพื่อแสดงในงานเลี้ยงเกษียณครูของโรงเรียนยะหริ่งเมื่อปี พ.ศ.2518 ต่อมารำพัดก็ได้แพร่หลายเข้าสู่ภาคกลาง โดยเฉพาะวิทยาลัยนาฏศิลป ทำให้ระบำตารีกีปัสเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และเข้าใจว่าเป็นของวัฒนธรรมมลายู

วัฒนธรรมของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี มีระบำรำพัดมาก่อนด้วย ระหว่างจีนกับโปรตุเกส ใครจะใช้พัดก่อนกัน พัดทำด้วยไม้ไผ่หรือใบตาล (ใบจากหรือใบมะพร้าว) ซึ่งเป็นพืชเมืองร้อน เมื่ออากาศร้อนก็คิดพัดขึ้นมาใช้พัดวีก็น่าจะเป็นวัฒนธรรม จีนนั้นเข้ามาในภูมิภาคก่อนใคร อินเดียก็เป็นเมืองร้อน โอกาสทำพัดเพื่อขจัดความร้อนก็เป็นไปได้สูง เมื่อโปรตุเกสเข้ามาปกครองก็เอาอุปกรณ์พื้นเมืองคือพัด ใช้เป็นอาวุธในหนังกำลังภายใน หรือใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำ “จีนรำพัด” แทนการจับมือถือแขนอย่างฝรั่ง

ตารีกีปัสเป็นรำพัดของแขกมลายู รำพัดปัตตานี รำพัดแบบจีน รำพัดอินเดีย (กัว) หรือเป็นรำพัดของโปรตุเกส ก็ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ก็คือ รำพัดเป็นระบำที่นิยมแพร่หลาย

ร่องรอยเพลงปัตตานี ทำนองเพลง การเล่นเครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบเพลง เป็นรากฐานของยุโรป หากจะเอาทำนองร้องหลักของลิเกฮูลูเป็นทำนองดั้งเดิมของโปรตุเกส เมื่อเวลาผ่านไป การอยู่รอดของเพลง การดัดแปลงเพลง ทำให้เข้าใจว่าเป็นเพลงท้องถิ่น หากได้เจาะเข้าไปก็จะพบการผสมผสานและความกลมกลืนที่เป็นเนื้อเดียวกัน

วัฒนธรรมเพลงที่ปัตตานีเป็นการสังวาสทางวัฒนธรรมที่ลงตัว เมื่อคนเดินทางไปที่ไหน วัฒนธรรมก็ตามคนไปอยู่ที่นั่น เมื่อมีคนอยู่รวมกันนานๆ ก็เกิดนวัตกรรมทางวัฒนธรรมขึ้น ผู้ที่มีความเจริญกว่าก็จะเป็นผู้นำทางวัฒนธรรม เมื่อคนเดินทางเคลื่อนย้ายไปที่อื่นๆ ก็จะนำศิลปวัฒนธรรมติดตัวไปด้วย รวมทั้งอาหารการกิน ความเชื่อ วิถีชีวิต การละเล่น บทเพลง และดนตรี
เครื่องดนตรีที่เล่นเป็นทำนองของพวกยุโรป อาทิ ไวโอลิน (Violin) ซิตเทิร์น (Cittern) กีตาร์โบราณของโปรตุเกส แอ๊กคอเดียน (Accordion) หีบเพลงชัก ฮาร์โมนิกา (Harmonica) แมนโดลิน (Mandolin) กัมบุส (Gambus) เครื่องดนตรีโบราณเหล่านี้ เดินทำนองเพลง (Melody) ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมปัตตานี

เครื่องประกอบจังหวะนั้นผสมกันหลายวัฒนธรรม อาทิ รำมะนาจากเปอร์เซีย มะรากัส (Maracus) จากยุโรป ฉิ่งและฆ้องจากสุวรรณภูมิ จังหวะเป็นของวัฒนธรรมท้องถิ่น เนื้อเพลง คำร้อง และเรื่องราวของเพลง เป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นทั้งหมด ส่วนวิธีการเล่นดนตรีขึ้นอยู่กับความสามารถของนักดนตรีท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2563 มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานเพื่อมอบรางวัลเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการส่งเสริมดนตรี “รางวัลสุกรี เจริญสุข” ประจำปี 2562 ให้แก่ ครูเบเย็ง เซ็ง อาบู มีวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลาเล่นเพลงของวัฒนธรรมปัตตานี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายกเทศมนตรีนครยะลา และผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ที่อาคารพระเศวตสุรคชาธาร สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา ทั้งนี้ มีนักร้องกิตติมศักดิ์ ดร.กฤษฎา เสกตระกูล กรรมการมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นนักร้องรับเชิญ

เสน่ห์ของงานคือ มีวงรองเง็งลูกศิษย์ของครูเบเย็ง เซ็ง อาบู วงโรงเรียนเทศบาล 3 บ้านปากน้ำ วงโรงเรียนวัดสุวรรณากร มีวงจันทร์แรมซึ่งเป็นนักดนตรีอาชีพ และวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา และทุกวงต่างก็เล่นเพลงปัตตานี เล่นในรูปแบบของแต่ละวง แต่ละยุคสมัย ตามพัฒนาการของวงดนตรี ทำให้มองเห็นมิติของวงดนตรี มิติของเพลง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคมอีกรูปแบบหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image