อาศรมมิวสิก : ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เส้นทางของผู้กระหายความสำเร็จ

อาศรมมิวสิก : ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เส้นทางของผู้กระหายความสำเร็จ

อาศรมมิวสิก : ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ
เส้นทางของผู้กระหายความสำเร็จ

ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เกิดเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ.2537 เพื่อนๆ เรียกว่า “ชิน” เป็นนักกีตาร์คลาสสิกรุ่นใหม่ไฟแรงจนลุกท่วมตัว เริ่มเรียนดนตรีจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ต่อมาได้ศึกษาต่อหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2555 เรียนสาขาวิชาดนตรีตะวันตก เครื่องมือเอกกีตาร์คลาสสิก ซึ่งเรียนจบการศึกษาด้วยคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในรุ่น ได้รับรางวัลนักเรียนยอดเยี่ยมประจำปี
ต่อมาชินวัฒน์ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ระหว่างปีการศึกษา 2556-2560 แขนงวิชาดนตรีปฏิบัติ เครื่องมือกีตาร์คลาสสิก ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนจบด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ได้สอบคัดเลือกเพื่อชิงทุนการศึกษาไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยโมสาร์ท (Mozarteum University) สาขาวิชาการแสดงดนตรี ที่เมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) ประเทศออสเตรีย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 กระทั่งปัจจุบัน

ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ มีความใฝ่ฝันและกระหายที่จะเป็นนักกีตาร์ที่มีชื่อเสียง โดยการสมัครแข่งขัน สมัครเข้าประกวดกีตาร์ตลอดเวลา สมัครทุกเวทีที่มีความพร้อม ทุกลมหายใจเข้าออกก็มีแต่การแข่งขัน ทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ ซึ่งพบว่า
ชินวัฒน์เป็นนักกีตาร์คลาสสิกคนไทยที่ได้เข้าสู่สนามแข่งขันมากที่สุดคนหนึ่ง รวมแล้วชินวัฒน์ได้ลงแข่งขันไปแล้ว 53 รายการ ในช่วงเวลา 12 ปี เป็นรายการที่จัดประกวดกีตาร์คลาสสิกในประเทศไทย 26 รายการ เป็นรายการที่ไปประกวดในเวทีต่างประเทศ 27 รายการ

สำหรับรางวัลที่ได้รับจากการประกวดกีตาร์นั้น ชินวัฒน์ได้รับรางวัลที่หนึ่ง 14 ครั้ง ได้รางวัลที่สอง 9 ครั้ง ได้รางวัลที่สาม 10 ครั้ง ได้รางวัลที่สี่ 7 ครั้ง ซึ่งมีบางรายการที่ได้รับถึงสองรางวัล และยังได้รับรางวัลที่มีชื่อแตกต่างกันออกไป เป็นรางวัลที่ได้เหรียญทอง 1 ครั้ง รางวัลที่ได้เหรียญเงิน 2 ครั้ง ได้รับรางวัลพิเศษว่าเป็นการแสดงสุดยอด 3 ครั้ง อีกทั้งรายการที่ได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ และเข้ารอบรองชนะเลิศ 7 ครั้ง บนเวทีที่เข้าประกวดกีตาร์ในประเทศต่างๆ 13 ประเทศนั้น บางประเทศก็ได้เข้าประกวดหลายรายการ นอกจากประเทศไทย ประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมนี เบลเยียม สเปน เนเธอร์แลนด์
เอสโตเนีย สหรัฐอเมริกา และการประกวดออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะช่วงเวลาวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19

Advertisement

ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เป็นนักสร้างปรากฏการณ์ใหม่ชาวไทย เป็นคนไทยที่เข้าไปประกวดดนตรีในเวทีโลกได้มากสุดคนหนึ่ง อีกมิติหนึ่งในการประกวดแต่ละเวทีนั้น ชินวัฒน์จะต้องเตรียมตัว เตรียมการฝึกซ้อม ต้องฝึกบทเพลงใหม่ทุกรายการ ชินวัฒน์จะต้องทำงานหนัก และไม่ย่อท้อต่อการเข้าประกวด ทุกครั้งที่ลงประกวดก็จะมีชื่อติดลำดับต้นๆ เสมอ เป็นคนที่กระหายทั้งเวทีประกวดและกระหายรางวัล

“ผมได้เล่นเพลงใหม่ในการแข่งทุกครั้ง ผมยังคงมีงานแข่งต่อๆ ไป จะพยายามเล่นให้เต็มที่ และเล่นดนตรีออกมาจากหัวใจจริงๆ ครับ… มีหลากหลายรางวัล หลากหลายรสชาติ ต่อให้แพ้สักกี่ครั้ง ผมก็ไม่หยุดแน่นอนครับ ผมเดินทางมาเส้นทางนี้ 12 ปีแล้ว (ดนตรี) ไม่เคยย่อท้อหรือเอนเอียงไปทางอื่นเลยครับ” เป็นคำยืนยันความเชื่อมั่นของชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ

หลังจากผ่านเวทีการประกวดมาอย่างโชกโชน ชิน
วัฒน์ เต็มคำขวัญ ได้รับเลือกเป็นศิลปินสำหรับการแสดง การแข่งขัน และการบันทึกเสียง โดยได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินกับบริษัทดนตรี (RC Strings) ซึ่งเป็นบริษัททำสายกีตาร์จากประเทศสเปน ระยะเวลา 1 ปี โดยมีโอกาสได้แสดงมากขึ้น แสดงในนามศิลปินของบริษัท ถือเป็นก้าวใหม่ของวงการดนตรีคลาสสิกโดยศิลปินคนไทย

Advertisement

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ คือหัวใจที่มีความมุ่งมั่น ความพยายาม ความขยันในการฝึกซ้อม และการทำงานหนัก ความกล้าหาญที่ต้องเผชิญชีวิตอย่างโดดเดี่ยว มีจิตวิญญาณที่หนักแน่น มีเป้าหมายที่ชัดเจน กำหนดเส้นทางชีวิตของตัว โดยพึ่งความสามารถของตัวเอง กำกับทางเดินไปในวิถีชีวิตที่ต้องการ เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตและเป็นต้นแบบให้แก่นักเรียนดนตรีในรุ่นต่อไป

ความสามารถและคุณภาพโดยวัดจากรางวัลของชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เป็นคุณภาพที่โลกต้องการ ซึ่งชินวัฒน์สามารถที่จะเลือกไปอยู่ที่ไหนในพื้นที่ของโลกใบนี้ก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องกลับมาอยู่ในประเทศไทย เท่ากับชินวัฒน์ได้เปลี่ยนชีวิตให้กลายเป็นประชากรของโลกที่มีคุณภาพไปแล้ว ในขณะที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิด ยังไม่มีพื้นที่รองรับคนอย่างชินวัฒน์แต่อย่างใด นอกเสียจากชินวัฒน์จะต้องสร้างพื้นที่หรือพัฒนาพื้นที่ขึ้นด้วยตัวเอง
จากวิธีคิด ความเชื่อ หรือปรัชญาที่ว่า พรสวรรค์สร้างได้โดยไม่ต้องคอยเทวดา หรืออัจฉริยะมาจากการฝึกนั้น เพราะการฝึกที่มีเป้าหมายจึงทำให้
ชินวัฒน์เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยสูง ชินวัฒน์เป็นตัวอย่างของความขยัน โดยมีความสำเร็จเป็นรางวัล ชินวัฒน์เป็นตัวอย่างที่สามารถพิสูจน์และติดตามได้ ทั้งนี้ ยังมีเรื่องอุดมการณ์ ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น รสนิยม จิตวิญญาณ ความรับผิดชอบ ความดี ความงาม ความจริง ซึ่งเป็นคุณสมบัติส่วนบุคคล ไม่สามารถสร้างได้จากการฝึกซ้อม แต่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกนึกคิด การซึมซับ และการอาศัยอยู่ในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ในกรณีของชินวัฒน์ เมื่อได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่พร้อมอย่างประเทศออสเตรีย ชินวัฒน์ได้ทำหน้าที่ฝึกซ้อมและเรียนดนตรี การเล่นดนตรีเป็นเป้าหมายที่สำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใดในชีวิต

บรรยากาศและรสนิยมทางดนตรี เป็นบริบทและบรรทัดฐานของสังคมที่มีความเจริญแล้ว ทุกคนในสังคมมีความเชื่อมั่นและเชื่อถือได้ โดยไม่ต้องตกใจหรือประหลาดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่พบเห็น เพราะความมั่นคงเป็นความแน่นอนและเป็นวิถีชีวิตประจำวัน ประชาชนทุกอาชีพสามารถตั้งหน้าตั้งตาทำงานได้อย่างมีเกียรติและเชื่อถือได้ นักเรียนดนตรีอย่างชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ก็ได้เรียนดนตรีฝึกซ้อมอย่างเต็มที่

เมื่อมองชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว ประชาชนในสังคมสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ทุกรุ่น ความสำเร็จของเยาวชนเท่ากับการสร้างบุคลากรรุ่นต่อไปให้ทำหน้าที่และสืบทอดอาชีพดนตรีได้อย่างสง่างามถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนอย่างชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ไปจากประเทศไทยซึ่งโดยสภาพเป็นประเทศที่ยังด้อยพัฒนา ก็สร้างความประหลาดใจให้สังคมที่เจริญแล้วพอควร ประหลาดเพราะมาจากประเทศไทย ประหลาดว่ามีฝีมือและเก่งได้อย่างไร

ฐานะดนตรีของชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ กับประเทศไทยนั้น เป็นความประหลาดอย่างยิ่ง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มีคนที่เรียนดนตรีและมีโอกาสเก่งในระดับนานาชาติน้อย เป็นประชากรส่วนน้อย ยิ่งจะไปต่อสู้ในเวทีนานาชาติได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก หรือว่าเป็นไปไม่ได้เลย

ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ต้องดิ้นรนไปเรียนดนตรีเอง ต้องต่อสู้กับชีวิตเอง แม้ประสบความสำเร็จในวิถีของอาชีพแล้ว ยังต้องจัดการกับชีวิตและเส้นทางของอาชีพตัวเอง ไม่มีองค์กรของรัฐรองรับหรือมอบอาชีพให้ ไม่มีบริษัทในประเทศไทยไปรองรับเพื่อการทำงานและสร้างงานในอาชีพดนตรี ไม่มีสถาบันการศึกษาเห็นศักยภาพทางดนตรีเหล่านี้ อาจจะมีข่าวบ้างแต่ก็เป็นแบบข่าว “วัวสามขา ม้าสองหัว” เป็นสิ่งประหลาดเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นสำหรับสังคมไทย

“ความสำเร็จและชัยชนะไม่ได้มาเพราะความสามารถและฝีมือเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวใจ”

ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ จะทำอย่างไรกับการเป็นนักดนตรีอาชีพ และการรักษาฝีมือให้อยู่ในระดับอาชีพต่อไป เพราะว่าในประเทศไทยยังไม่มีพื้นที่ของนักดนตรีอาชีพ แถมพื้นที่อาชีพดนตรียังถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ โดยคนที่อวดรู้ สำหรับคนไทยที่มีฝีมือก็ต้องสร้างและพัฒนาพื้นที่ดนตรีขึ้นใหม่ในประเทศไทย

หากจะคิดว่า “คนมีฝีมือทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด” ก็จริง แต่คนมีฝีมือจะต้องลงทุนทำทุกอย่าง ลงแรง ลงเงิน ลงเวลา ทุ่มชีวิตไปทำในสิ่งไม่เกี่ยวกับฝีมือ ในที่สุด ฝีมือที่มีอยู่ก็สูญสิ้น การสร้างให้เกิดอาชีพดนตรีขึ้นในเมืองไทยนั้นยากมาก ซึ่งเป็นสังคมที่แวดล้อมด้วยอุปสรรค “ดิบถ่อยเถื่อน” การสูญเสียศักยภาพหรือถูกทำลายความเป็นเลิศในฝีมือดนตรีนั้นง่ายมาก แต่การจะได้ฝีมือมานั้นยากและใช้เวลาสร้างฝีมือที่นาน วันนี้ยังไม่สามารถพัฒนาพื้นที่และศักยภาพความเป็นเลิศให้เจริญก้าวหน้าในประเทศได้ ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่กลับมาสร้างความแตกต่างและพัฒนาพื้นที่ในประเทศให้เจริญขึ้น

ตัวอย่างเด็กไทยอย่างชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งยังมีอีกหลายคนต่อไป คนเก่งดนตรีเหล่านี้ มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความสามารถสูง มีความกระหายที่อยากได้ชัยชนะ ซึ่งเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ดนตรีให้มีคุณภาพ และทำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดย : สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image