อาศรมมิวสิก : คอนเสิร์ตปิดสมัยกาลที่15 ของวงTPO วาทยกรสตรีเพศ,ความสัมพันธ์ของดนตรีกับชุมชน

อาศรมมิวสิก : คอนเสิร์ตปิดสมัยกาลที่15 ของวงTPO วาทยกรสตรีเพศ,ความสัมพันธ์ของดนตรีกับชุมชน

อาศรมมิวสิก : คอนเสิร์ตปิดสมัยกาลที่15 ของวงTPO

วาทยกรสตรีเพศ,ความสัมพันธ์ของดนตรีกับชุมชน

วง TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) ปิดสมัยกาลที่ 15 ไปแล้วในบ่ายวันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ.2563 ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร ด้วยรายการบทเพลงที่มิได้ยิ่งใหญ่อลังการนัก ผิดไปจากแผนเดิมที่ตั้งใจจะให้เป็นเทศกาลดนตรีย่อยๆ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 250 ปีเกิดของมหาดุริยกวี เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ด้วยการบรรเลงซิมโฟนีครบชุด 9 หมายเลข ถ้าเราจะพูดตามๆ กันว่า “ในวิกฤตย่อมมีโอกาส” โอกาสของวง TPO ในวิกฤตโควิด 19 นี้ (อันเป็นวิกฤตที่กระทบต่อวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกทั่วโลก) ก็คือการมอบโอกาสดีๆ ให้กับศิลปินชาวไทยด้วยกันให้ได้มีโอกาสสำแดงฝีมือในงานใหญ่ๆ ในฐานะ “ผู้นำทางดนตรี” (ทั้งในบทบาทผู้อำนวยเพลงและศิลปินเดี่ยว) ซึ่งถ้าไม่มีโควิด-19 แล้ว เราก็จะรู้ๆ กันอยู่ในทีที่ว่าโอกาสเหล่านี้จะตกไปอยู่ในมือของศิลปินต่างชาติรับเชิญเสียเป็นส่วนใหญ่ และบ่อยครั้งที่เมื่อบรรดา “ดาราใหญ่” เหล่านั้นได้พรากโอกาสผู้นำทางดนตรีไปอยู่ในมือแล้ว ก็แสดงออกได้ไม่สมราคาค่างวด เพราะตารางการแสดงรับเชิญอัดแน่นมากเกินไปจนไม่มีเวลาคิดทบทวน คนเรานั้นไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดถ้าหากว่า “บ้างาน” จนไม่มีเวลาพัก, ไม่มีเวลาหยุดคิดทบทวนในสิ่งที่ได้กระทำและลงมือปฏิบัติในช่วงเวลาที่ผ่านมา, ไม่มีเวลาตกตะกอนทางความคิดแล้วละก็ เขาเหล่านั้นไม่มีทางที่จะสร้างงาน (หรือ “ผลงาน”) ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพได้แน่นอน โดยเฉพาะถ้างานนั้นๆ เป็นงานที่เกี่ยวกับศิลปะ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

คอนเสิร์ตในครั้งนี้ต้องมีการเปลี่ยนรายการเพลง, ศิลปินเดี่ยว และผู้อำนวยเพลงมาเป็นศิลปินชาวไทย จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีเบโธเฟน เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 250 ปีเกิด ด้วยการบรรเลงซิมโฟนีของเขาครบทั้ง 9 บท เหลือเป็นเพียงซิมโฟนีหมายเลข 7 เพียงบทเดียว โดยมีบทเพลงประกอบรายการอีก 2 เพลง เพราะมาตรการปิดเมืองที่ยังไม่อนุญาตให้บรรดา “ดาราใหญ่” ทั้งหลายจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงานกับวงดนตรีในบ้านเราได้ เมื่อมองดูจากสายตาหรือมุมมองในเชิง “ภาพลักษณ์” (ที่แฝงความหมายลึกๆ ว่า “สร้างภาพ”) แล้ว นี่จึงอาจจะดูย่อมเยาไปบ้าง แต่ในเชิงคุณค่าทางศิลปะแล้วนั้น เรามักจะรู้ๆกันว่าในทางดนตรีคลาสสิกนั้น บางครั้ง “ภาพลักษณ์” กับ “เนื้อหา-คุณค่า” มิได้มีความสอดคล้องไปในทางเดียวกันเสมอไป บางครั้งบทเพลงใหญ่ๆ แบบมหึมาใช้วงออเคสตราเต็มอัตรา ผนวกกับวงขับร้องประสานเสียงขนาดใหญ่เต็มจนแทบจะล้นเวที แต่ถ้าการบรรเลงด้อยคุณภาพก็อาจจะกลายเป็นเพียง “ปาหี่” ในชั้นเชิงหรือเนื้อหาทางดนตรีก็ไม่ได้มีความแยบยลทางความคิดใดๆ และในทางตรงกันข้ามบทเพลงเชมเบอร์มิวสิก (Chamber Music) ที่บรรเลงด้วยนักเล่นเครื่องสายเพียง 4 คน อย่างสตริงควอเต็ท (String Quartet) 2 บทสุดท้ายของเบโธเฟนนั้น ก็กลับกลายเป็นหินลับสมองทางดนตรี ทั้งสำหรับศิลปินผู้บรรเลงและบรรดาผู้ฟังที่ “คอแก่” ต้องขบคิดทำความเข้าใจเพื่อการเข้าถึงอย่างไม่ง่ายดายนัก แนวความคิดเรื่อง “ภาพลักษณ์” กับ “เนื้อหา”ในทางดนตรีคลาสสิก จึงเป็นเรื่องที่เราต้องทบทวนกันอยู่บ้าง

Advertisement

เช่นเดียวกับคอนเสิร์ต TPO ปิดสมัยกาลที่ 15 ในครั้งนี้ที่การเปิดโอกาสให้กับศิลปินที่คู่ควร และได้รับรสชาติทางดนตรีที่เต็มอิ่มนั้นมิได้ทำให้คุณค่าอ่อนด้อยลงไปแต่ประการใด

“ภมรพรรณ โกมลภมร” เป็นวาทยกรสตรีที่ได้รับโอกาสอันสำคัญในครั้งนี้ จากหน้าที่-การงานในชีวิตปกติในฐานะอาจารย์สอนวิชาการอำนวยเพลง (ในห้องเรียน) ครั้งนี้เธอต้องก้าวออกมานอกห้องเรียนเพื่อพิสูจน์บทบาทในฐานะ “ศิลปิน” อย่างแท้จริง นี่เป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับเธอ การอำนวยเพลงในคอนเสิร์ตจริงโดยวาทยกรสตรีชาวไทย………..ผู้เขียนยังพยายามนึกย้อนหลังว่า เคยมีโอกาสชมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกในเมืองไทยที่มีผู้อำนวยเพลงเป็นสตรีเพศชาวไทยมาก่อนหรือไม่? หรือนี่อาจเป็นครั้งแรก ที่พวกเราแฟนๆ เพลงพากันมองข้ามประเด็นนี้ไป และถ้าจะว่ากันไปแล้วมิใช่เพียงเธอคนเดียวที่จะต้องก้าวข้ามอุปสรรค หรือเหน็ดเหนื่อยอะไรทางดนตรีมากเป็นพิเศษเพื่อพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้อำนวยเพลงสตรีเพศ ในวงการดนตรีระดับนานาชาติก็เช่นเดียวกัน การพิสูจน์ตัวเองในฐานะวาทยกรสตรีเพศ เพื่อการยอมรับในความเท่าเทียมกับวาทยกรบุรุษเพศ ดูจะเป็นเรื่องยากเย็นกว่ามากนัก ซึ่งในประเด็นนี้ ศิลปินเดี่ยวเครื่องดนตรี (Soloist) ดูว่าจะไม่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องเพศสภาพใดๆ แบบบทบาทหน้าที่วาทยกร ที่ต้องเผชิญ

ซึ่งในครั้งนี้ ถ้าจะกล่าวว่าความสำเร็จของเธออยู่ในขั้น “ปรากฏการณ์” นั่นก็ดูจะเป็นการกล่าวเกินเลยไปสักหน่อย แต่เธอได้พิสูจน์ตัวเองในครั้งนี้แล้วว่า ในยามที่เธอยืนอยู่บนเวทีแล้ว เธอปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยเพลงได้ดีทีเดียว ซึ่งงานการอำนวยเพลงของวาทยกร มีอะไรบางอย่างที่คล้ายกับบทบาทหน้าที่การงานของผู้นำ, ผู้บริหาร (ตรงนี้เองหรือไม่ที่งานอำนวยเพลงยังดูจะถูกผูกขาดโดยเพศชายเสียเป็นส่วนใหญ่) หรือแม้แต่อาจเปรียบได้คล้ายกับการขับรถ นั่นคือเป็นเรื่องของ การตัดสินใจที่เด็ดขาด, ชัดเจน ทำอะไรโดยไม่ยึกยัก-ลังเล มีความหนักแน่นแน่นอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เพศชายอาจได้เปรียบกว่าโดยธรรมชาติ แต่ ภมรพรรณ โกมลภมร พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าในยามที่เธอยืนอยู่หน้าวงออเคสตราบนเวที เธอมีคุณสมบัติในการเป็นผู้อำนวยเพลงได้อย่างน่าชื่นชม การตัดสินใจ, การสื่อสารทางดนตรีที่ชัดเจน (เมื่อมองจากมุมของผู้ชม) ซึ่งการสื่อสารที่ชัดเจนเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับวาทยกร

บทเพลง “เซเรเนด สำหรับวงเครื่องสาย” (Serenade for Strings) ผลงานการประพันธ์โดย “เอ็ดเวอร์ด เอลการ์” (Sir Edward Elgar) ฟังดูเรียบร้อยอบอุ่นตามลักษณะแนวคิดของดุริยางคนิพนธ์ประเภทนี้ นับเป็นการเลือกสรรบทเพลงที่เหมาะสมทีเดียว เพราะไม่ใช่ผลงานที่มุ่งอวดเทคนิคการบรรเลงที่ยากเย็น หากแต่เป็นผลงานที่มุ่งจะสื่อถึงความอบอุ่นเป็นมิตรใกล้ชิดเป็นกันเองกับผู้ชม และข้อที่ได้เปรียบอยู่บ้างอีกประการหนึ่งก็คือ วงTPO มีกลุ่มผู้เล่นเครื่องสายที่โดยเฉลี่ยแล้วถือได้ว่าเปี่ยมด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์

งานชิ้นนี้จึงสื่อสารอรรถรสกับผู้ฟังได้เต็มที่ เป็นการเปิดการบรรเลงโดยไม่ต้องบรรเลงบทโหมโรงที่กระหึ่ม, ตึงตังใดๆ แบบตามธรรมเนียมคอนเสิร์ตทั่วไป

บทเพลงคอนแชร์โต ในรายการครั้งนี้ก็เป็นผลงานที่มีลักษณะเรียบง่าย, ไพเราะ และอบอุ่นเช่นเดียวกัน นั่นคือ คอนแชร์โต สำหรับ ทรัมเป็ต (Trumpet) และวงออเคสตรา ผลงานของ “ฟรันซ์ โยเซฟ ไฮเดิน” (Franz Joseph Haydn) ดุริยกวีที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ป๋าใจดี” (Papa Haydn) แห่งศตวรรษที่18 ด้วยการเขียนดนตรีที่แฝงด้วยความอบอุ่น, ฟังสบายและอารมณ์ดีแจ่มใส หากแต่แฝงด้วยกลเม็ดและลูกล่อลูกชนชั้นสูงทางดนตรีที่สนุกและน่าตื่นเต้นมากเมื่อเราวิเคราะห์ผลงานของท่านในเชิงทฤษฎี คอนแชร์โตบทนี้กลายเป็น “เพลงครู” สำหรับนักเป่าทรัมเป็ตทุกคนในวงการดนตรีคลาสสิก จนแทบจะกลายเป็นเสมือนบทเพลงที่เล่นไม่ยากไปแล้ว (แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เพลงง่ายแน่นอน!) ศิลปินเดี่ยวทรัมเป็ตในครั้งนี้คือ “นิติภูมิ บำรุงบ้านทุ่ม” หัวหน้ากลุ่มทรัมเป็ตประจำวง TPO ที่ดูจะเป็นขวัญใจคนสำคัญของวงดนตรีวงนี้ทีเดียว ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะแนวการบรรเลงของเครื่องดนตรีบางอย่าง เช่นทรัมเป็ต หรือปี่โอโบ(Oboe) มักมีความเป็นผู้นำทางดนตรีแฝงอยู่ในตัว จึงเป็นจุดศูนย์รวมทางดนตรีอยู่บ่อยครั้ง

เทคนิค, ความสามารถของนิติภูมิ มีอยู่เต็มเปี่ยมเพียงพออยู่แล้วสำหรับตอบสนองความต้องการทางเทคนิคการบรรเลงของบทเพลงนี้ ตลอดระยะเวลาการร่วมงานกับวง TPO ของเขาพิสูจน์ระดับความสามารถเชิงเทคนิคมามากต่อมาก ซึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือเขาผ่านการแสดงเดี่ยวบทเพลงคอนแชร์โตระดับหินกว่านี้มากมาย อย่างผลงานร่วมสมัยของ “เจมส์ สตีเฟนสัน” (James Stephenson) นักประพันธ์ดนตรีร่วมสมัยชาวอเมริกัน (และยังเป็นนักทรัมเป็ต) ร่วมกับวง TPO ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว การบรรเลงของเขาทำให้ นักประพันธ์เจ้าของบทเพลงเขียนเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่นชม ความสามารถของนิติภูมิอย่างเต็มที่ ดังนั้นเมื่อต้องมาบรรเลงคอนแชร์โต ของไฮเดินในครั้งนี้ เขาจึงบรรเลงได้อย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ มีการแต่งเติมโน้ตประดับเข้าไปเองในบางช่วง-บางตอนอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งช่วงการบรรเลงเดี่ยวอวดฝีมือที่เรียกว่า “Cadenza” (โดยวงหยุดบรรเลง) นั้น แปลกและน่าฟังมาก เป็นช่วง “คาเด็นซา” ที่มีครบทั้งการอวดเทคนิคขั้นสูงและเนื้อหาทางดนตรีที่สร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจ

หากสถานการณ์ โควิด-19 ในฮ่องกง สงบลงเมื่อใด นิติภูมิจะต้องเดินทางไปเริ่มทดลองงานกับวง “ฮ่องกง ฟิลฮาร์โมนิก” (Hongkong Philharmonic Orchestra) เพราะเขาผ่านการสอบคัดเลือกรอบสุดท้ายในตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่ม” (Principal) ของวงดนตรีวงนี้ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากบททดสอบด้วยการบรรเลงต่อหน้า “Jaap van Zweeden” ผู้อำนวยการดนตรีของวง และ “หัวหน้ากลุ่ม” เครื่องดนตรีอื่นๆ อีก แน่นอนที่สุด
ฮ่องกงฟิลฮาร์โมนิก จัดเป็นวงออเคสตราชั้นนำวงหนึ่งในแถบภูมิภาคเอเชีย

ที่แม้แต่นักดนตรีอาชีพในโลกตะวันตกมากมายก็ต้องพากันเข้ามาสอบคัดเลือกแข่งขันเพื่อเป็นหนึ่งในสมาชิกของวงดนตรีนี้

บทเพลงเอกของรายการคือ ซิมโฟนี หมายเลข 7 ของเบโธเฟน ที่วาทยกรสตรีชาวไทยในครั้งนี้ เตรียมตัวและทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เรื่องรสนิยมและแนวทางดนตรีอาจเป็นเรื่องส่วนตัวที่มีทั้งผู้ที่ชื่นชอบ และไม่ชื่นชอบอันเป็นเรื่องธรรมดาทางดนตรี เรื่องความชอบหรือไม่ชอบแนวทางดนตรีเป็นเรื่องอัตวิสัย (Subjective) แต่เรื่องที่น่าจะตัดสินกันเป็นรูปธรรมที่ชี้ขาดได้ เห็นจะเป็นเรื่องของทิศทางในการตีความทางดนตรีที่แน่นอนและมีความชัดเจน ภมรพรรณแสดงให้เห็นว่าเธอมีความต้องการในแนวทางทางการบรรเลงในแต่ละท่อนอย่างไร ในท่อนแรกที่การนำเสนอแนวทำนองหลักมีการย้อนซ้ำ (Exposition Repeat) แบบธรรมเนียมในศตวรรษที่ 18 ในท่อนที่ 2 ซึ่งมีจังหวะค่อนข้างช้า (Allegretto) นั้น เธอสร้างความแตกต่างจากท่อนแรกได้อย่างโดดเด่น เต็มไปด้วยพลังอารมณ์ เธอสามารถสร้างอารมณ์ดนตรีที่แฝงความโศกเศร้าในท่อนนี้ได้อย่างมากจนราวกับว่ามัน “แทบจะ” กลายเป็นดนตรีพรรณนา (Program Music)

ดนตรีในท่อนที่ 3 ในลักษณะสแกร์โซ (Scherzo) ที่รวดเร็วหุนหันนั้น ภมรพรรณทำให้เราลืมไปชั่วขณะว่าเธอเป็นสตรีเพศ ด้วยความแม่นยำ, เด็ดขาดในการให้คิวการบรรเลง สัญญาณไม้สัญญาณมือที่ดูชัดเจนไม่ลังเลหรือโลเลใดๆ ทั้งสิ้น ในช่วงทำนองที่สอง (Tio) ที่ช้ายืดยาดแสดงความแตกต่างจากทำนองหลัก (Scherzo) ได้อย่างน่าสนใจราวกับสีขาว-ดำ ตามลักษณะแนวคิดดนตรีประเภทนี้ ในท่อนสุดท้ายที่เป็นจังหวะเร็ว (คำกำกับจังหวะบอกว่า “Allegro con brio”) ภมรพรรณขับเคลื่อนมันอย่างเต็มไปด้วยพลังความเร็วจังหวะที่อาจจะเรียกได้ว่าเร็วจี๋ แต่ดูว่านักดนตรีตามการนำและการสื่อสารของเธอได้ดี ความเร็วอันน่าใจหายของดนตรีในท่อนสุดท้ายนี้จึงไม่มีอะไรให้ฟังดูลุ้นให้อึดอัดใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับสร้างความร้อนแรงในแบบโรแมนติกได้อย่างมีชีวิตชีวา

อย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความ นี่อาจไม่ใช่ความสำเร็จในแบบที่เราจะต้องใช้คำว่า “ปรากฏการณ์” หากแต่เป็นความสำเร็จในบทบาทของวาทยกร ที่ทำงานได้อย่างเรียบร้อย, ครบถ้วนตามหน้าที่วาทยกรที่ควรจะเป็น นั่นคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์บนเวทีให้ได้ว่า เธอ (หรือเขา) ต้องทำการบ้าน, ศึกษาเตรียมการมาเป็นอย่างดี และสื่อความต้องการนั้นผ่านการบรรเลงให้ได้เป็นที่ประจักษ์ มีมุมมองทางการตีความดนตรีที่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ภมรพรรณ พิสูจน์ตัวเองได้แล้วในครั้งนี้ อย่างที่บอกไว้แล้วว่า บทบาทของวาทยกรหรือผู้นำสตรี ต้องการความเด็ดขาด, ชัดเจนในการตัดสินใจ หากบุรุษเพศทำได้ดี ก็นับเป็นที่น่าชื่นชมอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นสตรีเพศที่สำแดงคุณสมบัติเหล่านี้ได้ไม่แพ้เพศชาย จึงคู่ควรแก่การชื่นชมที่มากขึ้นไปอีก

เมื่อมองด้วยสายตาที่ประเมินในเชิงภาพลักษณ์ TPO อาจปิดสมัยกาลที่ 15 ที่อาจจะดูธรรมดาเกินไป แต่เมื่อประเมินในด้านคุณค่าทางดนตรีและการให้โอกาสทางดนตรีกับศิลปินชาวไทยด้วยกัน นี่จึงมิได้เป็นความอ่อนด้อยในเชิงศิลปะใดๆ เลย บางทีพวกเราก็อาจลืมๆ กันไปแล้วว่า แท้จริงวงออเคสตรานั้นคือ หน่วยหนึ่งแห่งความเป็นชุมชนท้องถิ่น วัฒนธรรมบริโภคนิยม ด้วยการซื้อตัวคนเก่ง, ซื้อตัวดาราใหญ่มาเป็นแม่เหล็ก ด้วยแนวคิดแบบทุนนิยม ได้ทำลายความสัมพันธ์ทางดนตรีอันอบอุ่นกับความเป็นชุมชนท้องถิ่นของเราไปโดยไม่รู้ตัว

ในวิกฤตโควิด-19 ด้วยภาวะจำยอมนี้แหละ ที่อาจทำให้เราต้องหันมาทบทวนเรื่องความสัมพันธ์ของวงออเคสตรากับชุมชนกันให้มากขึ้น

โดย : บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image