คอนเสิร์ตระดับโลก RSO Wien “ดนตรี”คลาสสิก”คุณภาพ ส่งตรงจากเวียนนา

สมาชิกวงเวียนนา เรดิโอ ซิมโฟนี ออเคสตรา

สําหรับผู้ชื่นชอบดนตรีคลาสสิก การเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตของ วงเวียนนา เรดิโอ ซิมโฟนี ออเคสตรา (Vienna Radio Symphony Orchestra) หรือ RSO Wien 1 ในวงออเคสตราที่มีชื่อเสียงจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ คงสร้างความตื่นเต้นมิใช่น้อย เพราะนั่นเท่ากับว่า ไม่ต้องตีตั๋วบินตรงไปยังกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย ไม่ต้องเสียค่าที่พัก ก็ได้ฟังดนตรีดีมีคุณภาพส่งตรงจากเมืองหลวงแห่งดนตรีคลาสสิกของโลก

คอนเสิร์ต “เรดิโอ ซิมโฟนี ออเคสตรา เวียนนา” จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทูตออสเตรียเปิดบ้านต้อนรับอบอุ่น

การแถลงข่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ณ บ้านพักของ มร.เอ็นโน่ โดรฟินิก เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย ซอยนันทา-โมสาร์ท เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดย จูริ เซกิ กูชิ-โดรฟินิก ภริยา เข้าครัวเตรียมอาหารจัดเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานด้วยตัวเอง

มร.เอ็นโน่เผยความรู้สึกว่า ยินดีมากที่วงอาร์เอสโอเดินทางมาเปิดการแสดงในประเทศไทย เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่วงออเคสตรา 1 ใน 4 วงยิ่งใหญ่ของออสเตรียมาแสดงที่กรุงเทพฯ

Advertisement

วงเวียนนา เรดิโอ ซิมโฟนี ออเคสตรา สังกัดองค์กรกระจายเสียงของออสเตรีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1969 เพื่อบรรเลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง ตั้งแต่การออกอากาศเป็นระบบอนาล็อกกระทั่งปัจจุบันที่ออกอากาศด้วยระบบดิจิตอล ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ฟังดนตรีดีๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นการใช้สื่อมวลชนส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ประชาชนตระหนักได้ว่าดนตรีสำคัญต่อชีวิตอย่างไร

อาร์เอสโอเป็นหนึ่งในสมาชิกกิตติมศักดิ์ของหอแสดงอันทรงคุณค่า 2 แห่งคือ Vienna Musikverein และ Wiener Konzerthaus และยังได้รับเชิญไปแสดงในเทศกาลดนตรีสำคัญๆ ทั้งในออสเตรียและระดับนานาชาติ และความต่างที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของวงคือ นิยมบรรเลงเพลงคลาสสิกของนักประพันธ์รุ่นใหม่

กล่าวได้ว่าอาร์เอสโอออกเดินทางทั่วโลกเพื่อเผยแพร่ความยิ่งใหญ่ ซึ่งฤดูกาลนี้นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังไปแสดงที่ไต้หวัน และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

Advertisement

“สิ่งหนึ่งที่ยืนยันความยิ่งใหญ่และฝีมือของวงคือ ในเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ เมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) บ้านเกิดของโมสาร์ทในออสเตรีย อาร์เอสโอคือ 1 ใน 2 วงออเคสตราที่ได้รับเกียรติให้แสดงเป็นประจำ”

“ในคอนเสิร์ตที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์นี้ คอนดักเตอร์ที่มาอำนวยเพลงคือ คอร์นีเลียส ไมยส์เตอร์ (Cornelius Meister) ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากในแวดวงดนตรีคลาสสิก ส่วนนักเปียโนที่จะมาบรรเลงเดี่ยวร่วมกับวงออเคสตราคือ มาเรีย ราดูทู (Maria Radutu) นักเปียโนชาวออสเตรียน-โรมาเนียน เจ้าของรางวัลมากมาย”

“เราเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ที่สร้างคีตกวีชื่อก้องโลก ทั้งไฮเดิน (Franz Joseph Haydn) เบโธเฟ่น (Ludwig van Beethoven) โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) จุดเด่นเหล่านี้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น กระทั่งปัจจุบัน” เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยกล่าวอย่างภูมิใจ

คอร์นีเลียส ไมยส์เตอร์
คอร์นีเลียส ไมยส์เตอร์

ครั้งแรกในไทย กับเพลงระดับมาสเตอร์พีซ

คอนเสิร์ตจัดขึ้น 2 รอบคือวันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ ทั้ง 2 รอบอำนวยเพลงโดยคอร์นีเลียส ไมยส์เตอร์ หัวหน้าวาทยกรและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของวงอาร์เอสโอ

การแสดงรอบแรก วันที่ 9 กุมภาพันธ์ มี 3 เพลง
Le nozze di Figaro, K.492 ผลงานของโมสาร์ท คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวออสเตรีย
Piano Concerto No.23 in A major, K.488 ผลงานของโมสาร์ท บรรเลงเดี่ยวโดย มาเรีย ราดูทู เจ้าของรางวัลรวมกว่า 20 รางวัล การันตีความสามารถด้วยการเป็นแขกรับเชิญให้กับเทศกาลสำคัญต่างๆ แทบทุกมุมโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงในงานเฉลิมฉลองปีแห่งโมสาร์ทที่กรุงเวียนนา และ คาร์เนกี้ ฮอลล์ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
Symphony No.1 ผลงานของบราห์มส์ (Johannes Brahms) คีตกวีชาวเยอรมัน ที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในกรุงเวียนนา

การแสดงรอบที่สอง วันที่ 10 กุมภาพันธ์ มี 3 เพลงเช่นกัน
Leonora Overture No.3, Op.72b ผลงานของเบโธเฟ่นคีตกวีชาวเยอรมัน
Cello Concerto No.1 in a minor Op.33 ประพันธ์โดยแซงต์-ซองส์ คีตกวีชาวฝรั่งเศส บรรเลงเดี่ยวร่วมกับวงออเคสตรา โดย ตปาลิน เจริญสุข นักเชลโลชาวไทยมากความสามารถ อาจารย์สาขาวิชาเครื่องสายสากลและดนตรีแชมเบอร์ (เชลโล) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล

ตปาลิน เป็นเจ้าของรางวัลชนะเลิศด้านเชลโลทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติหลายเวที อาทิ รางวัลเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 และรางวัล International Youth Chamber Music Competition หรือ ITCC ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งยังได้รับเกียรติเป็นแขกรับเชิญร่วมแสดงกับวงออเคสตราระดับโลกมากมาย ทั้งวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย, วง Orchestra Symphony Philharmonic Sudecka ประเทศโปแลนด์, วง Tubingen Kammerorchestra ประเทศเยอรมนี, คอนเสิร์ต The last night of the year in C Major โดย Joseph Haydn ร่วมกับวง Orchestra der Niederschlesischen Philharmonie

ภายใต้การอำนวยเพลงของ Maestro Dariusz Mikulski เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2558 ที่เมือง Jelenia Gora ประเทศโปแลนด์ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2558 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และในเดือนตุลาคม พ.ศ.2560 ได้รับเกียรติเป็นโซโลอิสต์กับวง Vienna Chamber Orchestra ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

และเพลงที่ 3 Symphony No.5 in C Minor, Op. 67 ผลงานสุดยิ่งใหญ่ของเบโธเฟ่น

ตปาลิน เจริญสุข
ตปาลิน เจริญสุข

เรื่องน่ารู้ของ ‘แซงต์-ซองส์’

นักประพันธ์อัจฉริยะจากปารีส เขาเกิดในกรุงปารีสเมื่อปีค.ศ.1835 หรือ 181 ปีมาแล้ว ชาร์ลส์ กามีล์ แซงต์-ซองส์ ถูกเลี้ยงดูโดยแม่และป้า เนื่องจากพ่อของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังแบเบาะ ซึ่งป้าของเขานี่เองที่ทำให้เขาได้รู้จักเปียโน พร้อมสอนบทเรียนแรกให้ เขาเป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริง เพราะเล่นได้สมบูรณ์แบบตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบ หลังจากนั้นเมื่ออายุ 5 ขวบก็จัดแสดงคอนเสิร์ตเปียโนพร้อมกับงานไวโอลินโซนาต้าของเบโธเฟ่น

ได้รับการยกย่องจากลิซท์ แซงต์-ซองส์ในวัยเยาว์ เรียนออร์แกนและการประพันธ์ที่โรงเรียนสอนดนตรีแห่งปารีส เขาแทบจะกวาดรางวัลชนะเลิศจากทุกการประกวด กระทั่งถูกแนะนำให้รู้จักกับ ฟรานซ์ ลิซท์ คีตกวีและนักเปียโนชาวฮังกาเรียน ที่ภายหลังกลายเป็นเพื่อนสนิทอีกคนและผู้สนับสนุนคนสำคัญ ลิซท์บอกว่าแซงต์-ซองส์เป็น “นักออร์แกนที่ยิ่งใหญ่ของโลก”

ความคิดยอดเยี่ยม อัจฉริยภาพของเขาไม่ได้จำกัดแค่ด้านงานเพลงเท่านั้น แซงต์-ซองส์ยังมีความสนใจและรู้ลึกหลายเรื่อง อาทิ ธรณีวิทยา, พฤกษศาสตร์, ผีเสื้อ และคณิตศาสตร์ เขาสนุกกับการพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์เอกของยุโรปในยุคนั้น ทั้งยังเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับโสตศาสตร์มากมาย นอกจากนี้เขายังชอบเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ที่โปรดปรานที่สุดคือแอลจีเรียและอียิปต์

ค.ศ.1886 ปีแห่งผลงานเลื่องชื่อ ขณะที่แซงต์-ซองส์อายุ 51 ปี เขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงถึง 2 ชิ้น 1 คือ The Carnival of the Animals และ 2 คือ Symphony No.3 “Organ” ซึ่งอุทิศให้กับลิซท์ที่เสียชีวิต 1 ปีหลังจากนั้น ผลงานซิมโฟนีหมายเลข 3 นั้นถูกนำไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Babe เบ๊บ หมูน้อยหัวใจเทวดา และ Babe: Pig in the City 2 หมูน้อยหัวใจเทวดา ภาค 2

05
นางลินดา เชง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์, น.ส.ตปาลิน เจริญสุข, มร.เอ็นโน่ โดรฟินิก และนางจูริ เซกิกูชิ-โดรฟินิก ภริยา, ศ.บูค มุนด์ ผู้จัดการวงเรดิโอ ซิมโฟนี ออเคสตรา เวียนนา และนายสุกรี เจริญสุข
04
ตปาลินบรรเลงเดี่ยวเชลโลร่วมกับวงสตริงควอเต็ต
รศ.สุกรีพูดคุยกับ มร.เอ็นโน่ โดรฟินิก ก่อนเริ่มการแถลงข่าว
รศ.สุกรีพูดคุยกับ มร.เอ็นโน่ โดรฟินิก ก่อนเริ่มการแถลงข่าว
มาเรีย ราดูทู
มาเรีย ราดูทู

เวียนนา เรดิโอ ซิมโฟนี
ออเคสตราในไทย ‘ไม่ใช่เรื่องง่าย’

รศ.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล แสดงความขอบคุณ มร.เอ็นโน่ โดรฟินิก ที่เปิดบ้านและสนับสนุนคอนเสิร์ตครั้งนี้ “‘เวียนนาคือเมืองหลวงแห่งดนตรีคลาสสิก’ การนำวงเวียนนา เรดิโอ ซิมโฟนี ออเคสตรา มาแสดงในเมืองไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย”

“กว่าเราจะมีหอแสดงดนตรีที่ดีที่สุดในประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้ ‘หอประชุมมหิดลสิทธิคาร’ ถือว่าดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระบบอะคูสติกที่ดีมาก ไม่ว่านั่งตรงไหนจะได้อรรถรสในการฟังไม่ต่างกัน”

“ค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้งบก้อนโตในการนำวงออเคสตราที่มีชื่อเสียงระดับโลก ประกอบด้วยนักดนตรีและทีมงานกว่าร้อยชีวิต ก็ยากเหมือนกัน แต่เราก็ก้าวข้ามมาได้” รศ.สุกรีอธิบายอุปสรรคที่ก้าวข้ามมาได้

สิ่งที่ผู้ฟังจะได้นั้น รศ.สุกรีบอกว่า คือการได้ชมคอนเสิร์ตของวงระดับโลกโดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้หาตั๋วไม่ง่ายแล้ว

“อยากให้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ความศิวิไลซ์’ ที่มีในยุโรปหรือที่ต่างๆ สังคมที่ศิวิไลซ์ต้องมีดนตรี ซึ่งดนตรีก็เป็นตัวสะท้อนระดับสติปัญญาของผู้คน”

ทำความรู้จัก ‘แซงต์-ซองส์’
โดย ตปาลิน เจริญสุข

ในงานแถลงข่าว ตปาลิน เจริญสุข ได้บรรเลงเดี่ยวเชลโลร่วมกับวงสตริงควอเต็ตจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เพลงแรกคือ The Swan ในชุด The Carnival of the Animals เพลงที่สองคือ Allegro appassionato, Op.43 ทั้งสองเพลงเป็นผลงานประพันธ์ของแซงต์-ซองส์

ตปาลินบอกว่า ชอบแซงต์-ซองส์เพราะเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในยุคโรแมนติก นอกจากชอบสไตล์เพลงแล้ว เหตุผลที่เลือกงานของเขามาเล่น เพื่อให้ผู้ฟังรู้อารมณ์เพลงว่าเป็นอย่างไร เป็นน้ำจิ้มก่อนคอนเสิร์ตจริง

สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้ ตปาลินบอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีระดับโลก เหมือนความฝันวัยเด็กที่ไม่เคยคาดหวังให้เป็นจริงได้เป็นความจริงขึ้นมา

เช้ามืดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตปาลินเดินทางไปซ้อมร่วมกับวงอาร์เอสโอ ณ กรุงเวียนนา ก่อนเดินทางมาไทยพร้อมกันในวันที่ 7 เพื่อให้คอนเสิร์ตในวันที่ 9 และ 10 สมบูรณ์แบบที่สุด

“เลือกเพลง Cello Concerto No.1 in A minor Op.33 เพราะเป็นเพลงสำหรับเชลโลที่มีชื่อเสียงในยุคโรแมนติก เพลงแบบนี้มีไม่เยอะ ทั้งยังยาก จึงต้องซ้อมทุกวัน” อาจารย์สาวกล่าวอย่างตื่นเต้น ก่อนเล่าย้อนว่า เคยเล่นคอนแชร์โตบทนี้ร่วมกับวงดุริยางฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ครั้งนั้นต้องเตรียมตัวซ้อมนานถึง 6 เดือนเพราะไม่เคยเล่นเพลงนี้มาก่อน แม้ครั้งนี้เป็นการเล่นร่วมกับวงออเคสตราอีกครั้ง แต่ต้องทบทวน ขัดเกลาให้ดีกว่าเดิม ซึ่งไม่ได้ยากลดลงเลย

“อยากให้คนไทยมาชม เพราะเป็นวงระดับโลก” ตปาลินทิ้งท้าย

สะท้อนเหตุผลที่คนไทยไม่ควรพลาดคอนเสิร์ตครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image