คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ท้องถิ่นขอนแก่น

คอลัมน์แทงก์ความคิด : ท้องถิ่นเข้มแข็ง

คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ท้องถิ่นขอนแก่น

แวะเวียนไปขอนแก่นอีกครั้ง
ไปครั้งนี้เหมือนกับทุกครั้ง คือ ติดตามคณะกรรมการรางวัลพระปกเกล้าลงพื้นที่
คณะกรรมการชุดนี้ลงไปดูองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานโดดเด่น

บางแห่งโดดเด่น เรื่องโปร่งใส และมีส่วนร่วม
บางแห่งโดดเด่น เรื่องโปร่งใส และส่งเสริมการมีเครือข่าย
บางแห่งโดดเด่น เรื่องโปร่งใส และเสริมสร้างสันติสุข

ทุกปีจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. เสนอตัวเองเข้าประกวด

เพื่อเปิดให้ “คนนอก” เข้ามาเห็นความงอกงามของท้องถิ่นจากมือของคนในท้องถิ่น

Advertisement

ท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นจริง เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้วจะได้รับรางวัลพระปกเกล้า

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดได้รับรางวัล 2 ครั้งในระยะเวลา 5 ปี ทางสถาบันพระปกเกล้าจะลงพื้นที่ในปีถัดไปเพื่อดูการ “ต่อยอด” ของท้องถิ่นแห่งนั้น

ถ้าสามารถต่อยอดสิ่งที่โดดเด่นได้ก็มารับรางวัล “พระปกเกล้าทองคำ”

Advertisement

สำหรับ ปีนี้มีโควิด-19 ระบาด คณะกรรมการรางวัลพระปกเกล้าจึงมีมติ “เว้นวรรค” รางวัลพระปกเกล้า แต่รางวัลพระปกเกล้าทองคำนั้นยังเดินหน้าต่อ

วันที่เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการรางวัลพระปกเกล้าไปเยี่ยมชมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง

แห่งหนึ่ง คือ เทศบาลนครขอนแก่น มี นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ เป็นนายกเทศมนตรี
อีกแห่งหนึ่ง คือ เทศบาลตำบลบ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น มี ดร.ศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย เป็นนายกเทศมนตรี

ความแตกต่างที่ไปเยี่ยมชม คือ เทศบาลนครขอนแก่น ลุ้นรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ประเภทเสริมสร้างสันติสุข ส่วนเทศบาลตำบลบ้านแฮด ลุ้นรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ประเภทส่งเสริมเครือข่าย

ผลการตัดสินจะเป็นประการใดไม่ทราบได้ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดใหญ่

แต่สิ่งที่ประทับใจจากการเดินทางไปเยี่ยมชมครั้งนี้มีหลายประการ

ที่เทศบาลนครขอนแก่น ประทับใจการบริหารจัดการ “เด็กชายขอบ”

จัดการจนกระทั่งวัยรุ่นในตัวเมืองที่เคยก่อเรื่องวิวาทกันจนน่าเป็นห่วง

บัดนี้สถานการณ์คลี่คลายลงเรื่อยๆ

กระบวนการจัดการเริ่มตั้งแต่การ “ค้นหา” เยาวชนเหล่านั้นในพื้นที่

แล้วพูดคุยให้โอกาสสำหรับคนที่ต้องการจะพัฒนาคุณภาพชีวิต

ใครสนใจก็เข้าสู่กระบวนการ มีเครือข่ายทั้ง การศึกษา แพทย์ กรมพินิจ ตำรวจ ช่าง และอื่นๆ คอยให้ความรู้

ใช้เวลา 9 เดือนคลุกคลีอยู่ในศูนย์ หลังจากนั้นใครที่รู้เป้าหมายของตัวเองก็จะได้รับการส่งเสริม

คนอยากเรียนก็ได้เรียน คนที่อยากประกอบอาชีพก็มีอาชีพ

ใครที่ยังหาเป้าหมายไม่เจอก็อยู่ต่อ ขณะที่คนที่ป่วยรื้อรังจากยาเสพติดก็ต้องไปบำบัดกันก่อน

กระบวนการจัดการนี้ ทางเทศบาลนครขอนแก่นทำมานานแล้ว

ทำตั้งแต่จัดกิจกรรมหมู่เป็นร้อย แต่พบว่ามีประสิทธิภาพสู้การทำกิจกรรมจำกัดจำนวนคนเหลือแค่ 20 คนไม่ได้

ในที่สุดก็คัดเลือกเยาวชนมาปีละ 20 คน แล้วดำเนินการ

ผลที่ปรากฏ คือ ความขัดแย้งลดลง เยาวชนมีความหวัง มีคุณค่า มีอนาคตของตัวเอง

สำหรับเทศบาลตำบลบ้านแฮด ประทับใจการบูรณาการเครือข่าย

ที่นั่นโดดเด่นจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อม เรื่องปลอดขยะ เครือข่ายสาธารณสุข เรื่องดูแลผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ เครือข่ายด้านเศรษฐกิจ ที่เน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ต่อมา เทศบาลตำบลบ้านแฮดได้นำเอามิติเศรษฐกิจมาช่วยมิติสาธารณสุข

อาทิ ผู้สูงวัยเป็นอัมพาต หดหู่ อยากตาย เครือข่ายสาธารณสุขบูรณาการกับเครือข่ายเศรษฐกิจแก้ไขปัญหา โดยการสร้างอาชีพให้

ผู้สูงวัยนอนอยู่บนเตียง และสานตะกร้าพลาสติก โปรโมตทางออนไลน์ ชูจุดขาย “แฮนด์เมด” กระทั่งมีออเดอร์เข้ามา เกิดเป็นรายได้

บัดนี้ผู้สูงวัยเหล่านั้นไม่คิดฆ่าตัวตายแล้ว เพราะชีวิตมีหวัง การอยู่ต่อไปมีคุณค่า

ขณะเดียวกัน เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ยังทำเรื่องปลอดขยะได้ดี ทำให้หลายหน่วยงานขอมาดู

การดูงานแต่ละครั้ง ชาวชุมชนขอค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ จากคณะผู้มาเยือน

กลายเป็นรายได้ของชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า “แฮนด์เมด” อีกด้วย

ทุกคณะที่มาดูงาน มีโอกาสแวะช้อปผลผลิตของเครือข่ายเศรษฐกิจ

ทั้งตะกร้าพลาสติกสาน เสื้อลายผ้าขาวม้า ถุงผ้า รวมไปถึงสบู่ แชมพู จากสมุนไพรจากป่าในชุมชน

ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเหล่านี้ผ่านการกลั่นกรองและแนะนำทางการแพทย์มาแล้ว

ไปเยือนขอนแก่นเที่ยวนี้ เห็นความเข้มแข็งของท้องถิ่นที่ยังแข็งปั๋ง

แม้ที่ผ่านมา ท้องถิ่นจะตกเป็นจำเลย มีคนโจมตีเรื่องทุจริต

แต่หากจำแนกแยกแยะ ที่ร้ายก็ลงโทษ ที่ดีก็สนับสนุน

คนไทยทั่วประเทศก็จะมีโอกาสยืนด้วยตัวเองอย่างมั่นคงได้มากขึ้น

นี่คือความประทับใจจากการไปเยือน

เป็นความประทับใจท้องถิ่นตามความนิยมส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับผลพิจารณาของคณะกรรมการแต่อย่างใด

 

โดย นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image