การเมืองเรื่อง ‘ชาติ’ ‘รัก’ หรือ ‘ชัง’ ถ้อยคำในช่องว่าง ‘ถ้าการเมืองดี…’

การเมืองเรื่อง ‘ชาติ’ ‘รัก’ หรือ ‘ชัง’ถ้อยคำในช่องว่าง ‘ถ้าการเมืองดี...’“

“ชาติ” คืออะไร?
“ชาติ” เป็นของใคร?

คือคำถามที่เกิดขึ้นในหัวของเด็กรุ่นใหม่ก่อนจะสรุปออกมาเป็นวลีที่สั้น ง่าย ทว่าเปี่ยมไปด้วยพลัง

“ชาติคือประชาชน” เยาวชนตอบ หนักแน่น พร้อมเพรียง จนกลายเป็นคำฮิตติดปากทุกการชุมนุม ใช้กระตุกมโนสำนึกผู้มีอำนาจ โต้วาทกรรม “ชังชาติ” ที่ผู้ใหญ่ไม่ประสงค์ดีมอบให้ หวังทำลายล้างขบวนการภาคประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

“เยาวชนสมัยนี้เป็นคนชังชาติ” แต่น่าประหลาดที่ว่า ผู้กล่าวคำนี้ออกจากปาก กลับหันหลัง ไม่ฟังเสียงพวกเขาอย่างตั้งใจ

Advertisement

“ชาติ” เป็นเพียงประดิษฐกรรมทางการเมือง เกิดขึ้นจากการสถาปนาของชนชั้นนำที่มีสิทธิกำหนด ถูกต้อง-เหมาะสมในบริบทแรกเริ่ม เนื่องด้วยอดีต ไทยไม่มีแนวคิดเรื่องพลเมือง

ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ หรือขิม นักเรียนชั้น ม.6 จาก ร.ร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ความหมาย แนบท้ายด้วยความเห็นว่า ‘ชาติ ของชนชั้นนำในอดีต’ ไม่สามารถใช้ได้แล้วในบริบทปัจจุบัน ที่ประชาชนควรร่วมกำหนดความหมายได้

เหมือนงานกลุ่มที่ทำด้วยคนคนเดียว ผ่านการสร้างความหมายและวิธีคิดจากคนคนเดียว ดังนั้น ความหมายจึงไม่เหมาะกับคนอื่นๆ ในกลุ่ม แต่หากเป็นโปรเจ็กต์เรื่อง ‘ชาติในมุมประชาธิปไตย’ จะเป็นงานกลุ่มที่ทุกคนต้องร่วมกัน อาจใช้เวลานาน แต่ยั่งยืนแน่นอน”

Advertisement

คือปฐมบทของวงสนทนา จากแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี

ก่อนจะสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชวนเยาวชนสองขั้วอุดมการณ์ร่วมถกมุมมอง ในประเด็น #ถ้าการเมืองดี นักเรียน-นักศึกษาจะ ‘รักชาติ’ กันอย่างไร โดยมีร็อกสตาร์แห่งวงการรัฐศาสตร์ อย่าง ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ โยนคำถาม แงะหาแง่มุมและแนวคิดในแววตา “อนาคตของชาติ” อย่างเผ็ดร้อน

เน้นหน้าที่ กว่าสิทธิ
เหยื่อรัฐไทย ไร้ซึ่ง‘สวัสดิการ’

ธนาภรณ์ พรหมภัทร์

ธนาภรณ์ ยังยืนยันด้วยว่า “การเมืองและชาติเป็นเรื่องเดียวกัน”

“เปรียบการเมืองเหมือนคน การเมืองปัจจุบันคือคนนิสัยไม่ดี ขี้โกง กดขี่คนอื่น ใช้อำนาจบาตรใหญ่ เป็นคนที่ไม่น่ารัก ไม่ต้องพูดถึงบริบทคนรัก แค่เป็นเพื่อนเรายังไม่อยากคบค้าสมาคม

อย่าง ไต้หวัน การเมืองดี การเมืองน่ารัก สิ่งที่เกิดคือประชาชนรู้สึกปลอดภัย วางใจ ทำให้หวงแหนสิ่งต่างๆ ในประเทศไปโดยปริยาย”

เหล่านี้ คือเหตุผลที่ “ขิม” สะท้อนว่า ชาติคือประดิษฐกรรมทางการเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อยึดให้คนอยู่ร่วมกันได้ ความหมายของชาติเคลื่อนเสมอ เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและขบวนการทางสังคม จึงเป็นเพียงหนึ่งในมายาคติ

‘ที่ใดมีมายาคติกระแสหลัก จะมีกระแสต่อต้านเสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้’

ก่อนจะชำแหละว่า หนึ่งในผู้ผลิตมายาคติที่ใกล้ตัวนักเรียน คือ การศึกษา โฟกัสไปที่วิชาสังคมศึกษา รัฐเข้าแทรกแซงเพื่อให้เกิดพลเมืองที่ค่อนข้างเชื่อง

“เรียนจบไปคุณต้องเป็นแบบไหน ต้องรักอะไร วิชาสังคมศึกษาก็เป็นแบบท่องจำ การศึกษาในห้องเรียนจะมีกรอบความรู้แคบมากๆ ทั้งที่สิ่งสำคัญของรายวิชานี้ไม่ใช่สิ่งที่สอน แต่คือสิ่งที่ไม่สอน

‘หน้าที่’ ที่การศึกษาไทยทำได้ดีที่สุด คือจำกัดกรอบความคิดของนักเรียน ไม่ต้องสงสัย เรียนรู้ผ่านมิติเดียว ชี้นำ เชื่อฟัง และทำตาม

ไม่ได้เน้นให้รู้เรื่อง ‘สิทธิ’ เน้นเรื่อง ‘หน้าที่’ ว่าต้องทำอะไรบ้าง ไม่ได้สอนว่าการต่อสู้ทางการเมืองในอดีตมีอะไรบ้าง และท้ายที่สุด พยายามทำให้การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับเด็ก ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา กับเนื้อกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

“ทุกคนกลายเป็นเหยื่อหมด ลูกเป็นเหยื่อในฐานะถูกปักชนวนความหวังในคออย่างหนักหน่วง ยายก็เป็นเหยื่อ ที่ไม่มีหลักประกันว่าลูกหลานจะดูแลเราได้เพียงพอ แต่หากรัฐบาลมีสวัสดิการที่ดีพอ จะมั่นใจว่าแก่ตัวไปไม่ต้องคาดหวังกับคนอื่นๆ ทำให้ลูกหลานถูกปลดแอก ทำตามความหวังได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมีค่านิยมว่าต้องทำงานราชการ เพราะมีสวัสดิการที่ดี”ธนาภรณ์กล่าวทิ้งท้าย

ศาสนาค้ำจุนความคิด
เสรีภาพมากไป ไม่มีความ‘พอดี’

เกียรติวงศ์ สงบ

 

ในมุมของเยาวชนผู้รักชาติ เกียรติวงศ์ สงบ หรือลี ตัวแทนจากกลุ่มไทยภักดี ประเทศไทย มองคำว่าชังชาติ หรือรักชาติ ขึ้นอยู่กับบุคคลจะให้คำตอบ ก่อนจะเผยเบื้องหลังว่าเป็นเพียงเด็กชนบท ไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่นๆ แต่ได้สัมผัสชีวิตชนบทจากการทำงานอาสา

“คนชนบทเรามีกลิ่นอายเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน คือสิ่งที่ประทับใจและรักในตรงนี้ เห็นว่าการอยากจะได้อะไรต้องให้เขาก่อน เหมือนเรื่องประชาธิปไตยในความหมายที่หลายคนพยายามพูดถึง คือ สิทธิ เสรีภาพ ประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ ส่วนตัวมองและคิดว่า อะไรจะให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากกว่า

“ต้องแยกการเมืองกับนักการเมือง ระบบกับตัวบุคคล เป็นคนละเรื่อง เช่น ถ้าพูดถึงทหาร เราจะนึกถึงรัฐประหาร ต้องแยกกัน ถ้าการเมืองดีทุกอย่างจะดีไปด้วย แต่ทุกอย่างต้องพัฒนาจากคนไปก่อน” เกียรติวงศ์ตอบ

แม้ว่าจะเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากรัฐสวัสดิการโดยตรง แต่ไม่ได้เรียกร้องมาก ด้วยเชื่อว่าไม่มีรัฐไหนที่ดูแลประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ทุกคน ดังนั้น การเมืองที่คาดหวังขึ้นอยู่กับคนใช้ระบบมากกว่า

เกียรติวงศ์แนะนำว่า เราควรหันกลับไปมองศาสนา ค้ำจุนความคิดของเราให้สะอาด ไม่มีศาสนาไหนสอนให้เอาเปรียบ ถ้าเรารู้จักบาป บุญ นรก สวรรค์ว่ามีจริง คนจะไม่กล้าทำผิดบาป

“เมื่อคนไม่รู้จักศาสนา อะไรๆ เราก็อยากได้ อยากเอา ไม่รู้จักคำว่าพอดี ทำให้ทุกคนต่างออกมาเรียกร้อง ทำให้ทุกอย่างวุ่นวาย อะไรคือกรอบ คือคำว่าหน้าที่และขอบเขต ถ้าคุณไม่รู้จักหน้าที่ก็อย่าเรียกร้องสิทธิ ไร้ซึ่งหน้าที่ สิทธิจะมากจนเกินขอบเขต ถ้าเราปล่อยให้เสรีภาพเกินไป ก็ไม่ต่างจากอเมริกาตอนนี้ ที่โควิดติดเชื้อหลายล้าน” เกียรติวงศ์เล่าจากใจ ไร้ซึ่งสคริปต์ ก่อนจะกล่าวทิ้งท้าย ด้วยคำถาม

“อะไรคือกฎหมายที่ถูกใจ หากไม่มีมโนธรรม หากเรามีความรู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี เราจะรู้ได้ว่ากฎหมายเพื่อใคร เอื้อใคร”

ระบบดี คนจึงดี
การเมืองไม่ใช่เรื่องหวังพึ่งบุญ

อัครสร โอปิลันธน์

ด้าน อัครสร โอปิลันธน์ หรืออั่งอั๊ง คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Disrupt หญิงสาวที่ศึกษาในรั้วโรงเรียนนานาชาติมาโดยตลอด ตอบคำถามด้วยมุมมองก้าวหน้า อยากให้โรงเรียนเน้นการตั้งคำถามมากกว่าท่องจำ เพราะนั่นคือเหตุที่เราไม่ออกจากกรอบคิด เพื่อหาเหตุผลที่แท้จริง

คำว่า “การเมืองเป็นเรื่องสกปรก” คือการเมืองของคนรุ่นก่อน ที่หากเห็นต่าง อาจมีจุดจบไม่สวยงาม แต่ในฐานะคนรุ่นใหม่ เชื่อว่าจะสามารถทำให้สังคมการเมืองใสสะอาดได้

“ในฐานะเด็ก ม.5 จากที่อ่านข่าวสาร การเมืองที่เห็นตอนนี้คือการเมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม มีแต่การสิ้นหวัง คือการเมืองที่ชนชั้นบนหารายได้จากการทำนาบนหลังคน ธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถต่อสู้ทุนผูกขาดได้เลย

เราอยู่ในระบบที่คนไทยไม่เป็นไท จากระบอบอำนาจนิยม สังคมที่อยากเห็นคือสังคมที่เท่าเทียมกันในศักดิ์ ในศรี สังคมที่ทุกคนอยู่ใต้กฎหมาย”

ถ้าการเมืองดีเราสามารถเปลี่ยนค่านิยมนี้ได้ เราจะยึดค่านิยมประการเดียวคือ คนทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ในเมื่อคนเห็นปัญหาสังคม คนรุ่นใหม่ออกมาพูด เราถูกตีตราว่าชังชาติ

“ตอนนี้บ้านเราทรุดโทรมมาก คนที่อยู่ในบ้านมองออกแล้วว่า อยู่ในโครงสร้างที่ไม่มั่นคง แต่เวลาที่เราบอกกับคนที่มีอำนาจมากที่สุดในบ้านว่า ตอนนี้บ้านเราพัง ต้องซ่อม กลับหันหลังให้เราแล้วบอกว่า คุณคือคนชังบ้านชังเมือง โดยหารู้ไม่ ถ้าเขาไม่แก้ไข เขาก็ไม่สามารถอยู่ในบ้านหลังนี้ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะยืนจุดไหนทุกคนอยากให้ประเทศดีขึ้น” อัครสรย้ำ

ก่อนจะแย้งความเห็นของเยาวชนกลุ่มไทยภักดีด้วยว่า ส่วนตัวไม่ได้นับถือศาสนา เพราะเชื่อว่า “แม้เราจะทำบุญมากี่ชาติ แต่ชาติหน้าเราเกิดมาระบบการเมืองไม่เปลี่ยน รัฐธรรมนูญไม่เปลี่ยน เราจะเกิดมาในลูปของความจนไม่สามารถพึ่งบุญได้ในส่วนนี้

ระบบดี คนจึงเชื่อในระบบ จึงจะดีควบคู่กันไป

“ความรักชาติปลูกฝังได้จากใจ ทำไมต้องสอนให้เด็กท่องจำ เรามองประวัติศาสตร์ในแง่เดียวมาตลอด คนจับปากกาคือผู้ชนะ ถ้าการเมืองดีจริง เราจะรักชาติเอง ไม่ต้องมีใครมาบังคับ โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ”

เมื่อ‘ชาติ’ไม่สามารถสร้างผ่าน‘รัฐสภา’

“ชาตินี้ ชาวประชา ต้องเป็นผู้ชี้ทางชัด
เพราะชาตินี้ ต้องนิวัต ไม่ใช่มัวคัดหาแต่คนดี”

จักรธร ดาวแย้ม

จักรธร ดาวแย้ม หรือมะฮ์ดี นักศึกษาจากกลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งใน 31 รายชื่อที่ถูกหมายเรียก เปิดบทสนทนาด้วยบทกวี “ชาติไทยของใครกัน”

ก่อนจะสะท้อนมุมมองที่มีต่อคำว่า “ชาติ” โดยเห็นว่าความหมายของคำว่าชาติถูกแปรเปลี่ยนไปความหมายกว้างขึ้น รับต่อความหลากหลายภายในชาติมากขึ้น ชาติแบบใหม่กับแบบเก่าทำให้เกิดการต่อสู้ทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการก้าวไปข้างหน้าได้ ชาติก็เช่นกัน

“ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าการชังชาติหมายถึงอะไรต้องถามคนพูด ทุกคนก็รักชาติแต่เมื่อวาทกรรมชุดนี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อกีดกัน มีการตีความอีกอย่าง

ชาติที่ดีจะนำมาซึ่งการเมืองที่ดี การเมืองที่ดีมาจากระบบที่ดี ส่วนตัวไม่อยากผลักภาระไปที่ปัจเจก ว่า ระบบดี คนดี แล้วทุกอย่างจะดี เพราะทั้งคนและระบบเชื่อมโยงกันอย่างตัดไม่ขาด

“ที่ว่าไม่มีรัฐแบบไหนดูแลประชาชนได้ทั้งหมด ผมว่ามีรัฐหนึ่งคือรัฐสวัสดิการ” จักรธรเน้นย้ำ พร้อมตั้งโจทย์ว่า

ทำอย่างไรให้เราสามารถประสานความขัดแย้งทางความคิดได้อย่างลงตัว ทุกคนทำตามจุดยืนได้ การต่อสู้ทางความคิดเคยทำในระบบ ไม่มีใครอยากลงถนน หากสามารถสร้างชาติผ่านระบบรัฐสภาได้ ซึ่งไม่ได้ ก็ต้องลงมาสู่ถนน

“ในอนาคตถ้าเขายังไม่ฟังเสียงที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง การบาดเจ็บล้มตายจะเกิดขึ้นหรือไหม ทำไม่รู้ไม่ชี้ แล้วปล่อยผ่านไป แต่ความคิดใหม่ก็จะกลับมา” หนุ่มแม่โดมมองอย่างนั้น

หวงแหนชาติแน่
ขอแค่‘การเมืองดี’

เบญจมาภรณ์ นิวาส

“ชาติสำหรับบางคนอาจหมายถึงประชาชนผู้ทรงสิทธิ บางคนอาจหมายถึงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ไม่ได้เกิดบนแผ่นดินนี้”

คือมุมมองของ เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือพลอย ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว ผู้เคยโต้วาจากับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อย่างดุเดือด เด็กหญิงคนนี้บอกด้วยว่า เราเฝ้าฝันสังคมแบบไหน ระบบการเมืองแบบไหน พลเมืองในประเทศเป็นคนแบบไหน ก็ต้องผลักดันให้การศึกษาสนับสนุนการสร้างพลเมืองให้เป็นแบบนั้น

การเมืองคือเรื่องของทุกคน แม้แต่เด็กอายุ 1 วัน การเมืองก็เข้ามามีส่วนแล้ว ถ้าการเมืองดี เด็กจะมีคุณภาพขีวิตที่ดีกว่านี้มากๆ แต่การเมืองมีปัญหา ประชาชนจะรู้สึกว่าเขาถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้รับความเป็นธรรม คุณภาพชีวิตแย่ จึงเกิดการออกมาเรียกร้องเพื่อปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่พบเจอในชีวิต ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะเราอยู่ในสังคมที่หลากหลาย จึงต้องการการจัดระเบียบสังคมอย่างมีอารยะ” คือมุมมองของเยาวชนที่แจกแจงถึงความหมายของคำสำคัญ ที่พลเมืองควรรับทราบ

สิทธิ-อำนาจ หรือผลประโยชน์ ที่ได้รับการคุ้มครอง
เสรีภาพ-ความมีอิสระของบุคคล ภายใต้กฎหมาย
หน้าที่-ภาระรับผิดชอบที่จะต้องปฏิบัติ

“ถ้านักเรียนรู้จักหน้าที่ สิทธิจะมีเอง ดังนั้น หน้าที่ของเราคือการเรียน แต่การเรียนในระบบการศึกษามีปัญหากับเรา ระบบกำลังละเมิดสิทธิบางอย่าง เช่น ทรงผม ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าการตัดผมสั้นเท่าติ่งหูจะทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้ตรงไหน จึงออกมาเรียกร้องเพื่อให้ปรับปรุง ในขณะที่เราทำหน้าที่เรียนได้ต่อไป”

พลอยบอกว่า “เราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราไม่พอใจระบบการศึกษาที่ลิดรอนสิทธิ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ว่าเราจะสามารถเรียนต่อได้หรือไม่ ไม่พอใจฟุตปาธที่ไม่เรียบ ไม่พอใจที่ต้องเห็นประชาชนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจ นักเรียนฆ่าตัวตายเพราะระบบที่ห่วยแตก เราต้องเรียกร้องเพื่อให้มีรัฐสวัสดิการที่ดี และภูมิใจที่ได้เกิดมาในประเทศนี้

“ถ้าการเมืองดี เราจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เป็นเจ้าของชาติ จะรัก ห่วง ภูมิใจ และพัฒนาต่อไปให้ดีโดยไม่ต้องปลูกฝังอะไรในแบบเรียนให้เด็กท่องจำเลย” นักเรียนเลวย้ำ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image