‘จิตร ภูมิศักดิ์’ เกิด 2 ครั้ง ยังไม่ตาย

จิตร ภูมิศักดิ์ ใน 'พิพิธภัณฑ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย'

‘…จิตรนั้นเป็นผู้มีการก่อเกิด 2 ครั้ง

ครั้งแรกเขาเกิดและดับไปตามวิถีของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการ

ครั้งที่ 2 เป็นกำเนิดแห่งตำนานจิตร ภูมิศักดิ์

นับเป็นตำนานที่ได้รับการกล่าวขานจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

วันเกิดครั้งที่ 2 นี้อุบัติขึ้นในวันที่คนไทยลืมได้ยากคือ 14 ตุลาคม 2516…’

คือคำกล่าวของ เคร็ก เจย์ เรโนลด์ส ในโปรยปกหลังของหนังสือ ความคิดแหวกแนวของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์

ถ้อยคำเรื่องการเกิด 2 ครั้ง ‘จับใจ’ และแพร่หลายบนความรับรู้ของสังคมไทยในกลุ่มในสนใจผลงานและการต่อสู้ของปัญญาชนผู้ซึ่งจะมีอายุครบ 90 ปีหากยังมีลมหายใจมาถึงวันที่ 25 กันยายน พุทธศักราช 2563 ท่ามกลางอีกหนึ่งห้วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

Advertisement

แม้จิตร เกิด 2 ครั้งดังคำเปรียบเปรยของนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน จิตรก็ไม่เคยตาย หากแต่ยังมีชีวิตผ่านผลงานที่ถูกนำมาเผยแพร่ ผลิตซ้ำ ถกเถียง เห็นด้วย คัดค้าน

ยังมีบทบาทผ่านการเป็น ‘ไอดอล’ ด้านการต่อสู้ทางความคิด

ยังเป็นชายผู้ล่วงลับซึ่งมีผู้จัดงานรำลึกแทบทุกปีที่ ‘บ้านหนองกุง’ หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร สถานที่ซึ่งเสียงปืนดังขึ้นในชายป่า คร่าชีวิตนักเขียนคนสำคัญของไทยในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509

มีการสร้างอนุสาวรีย์ใกล้จุดเกิดเหตุ มีการมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ มีการทำบุญที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้ทั้งจิตร และผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ล่วงลับ แม้กระทั่งในปีนี้ที่ ‘โควิด’ บุกโลก วิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ก็ยังจัดรำลึกแบบ ‘ออนไลน์’ ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กจากหน้าอนุสาวรีย์ โดยงดเชิญชวนคนรวมตัว

เกิดใหม่ใน ‘เจน Z’ แสงดาวแห่งศรัทธา กระหึ่ม #แฟลชม็อบ

‘ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ

คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย

แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย

ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน

ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง’

ท่อนฮุก ท่อนฮิต จากเพลงดังของจิตร อย่าง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในปัญญาชนคนเดือนตุลาอย่างไม่ต้องเอ่ยลึกในความเป็นมาในรายละเอียด โดยช่วงหนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตการเมือง ส่งผลให้เพลงดังกล่าวในเวอร์ชั่นศิลปินเพื่อชีวิตชื่อดัง ‘ถูกแบน’ จากงานรำลึกจิตร ด้วยท่าทีของตัวศิลปินที่เจอถล่มไม่รู้กี่รอบหลังแสดงออกครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านเฟซบุ๊กซึ่งถูกมองว่าไม่ได้อยู่ข้างประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม แสงดาวแห่งศรัทธา กลับมากระหึ่มอีกครั้งในแฟลชม็อบมากมายที่ลงท้ายด้วยคำว่า #จะไม่ทน ของเยาวชนเจน Z ที่แม้ไม่คุ้นกับเพลงนี้เท่า ‘Do you hear the people sing?’ เช่น กิจกรรม ‘เสาหลักจะหักเผด็จการ’ โดยกลุ่ม ‘Spring Movement’ ที่ใต้ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นิสิตจุฬาฯ แอดมินเพจ ‘คณะจุฬา’ ขึ้นปราศรัย โดยมีการอ่านเนื้อเพลงของ จิตร อดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งต่อมาคือส่วนหนึ่งของเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’

ล่าสุด ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหว ยังชวนมวลชนในงานมินิคอนเสิร์ตและพีเพิลทอล์ค หัวข้อ “ประชาชนถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญ” ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เปิดแฟลชโยกตามจังหวะ ณ ลานครึ่งวงกลม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หลังเล่าถึงชีวิตและการต่อสู้

สิ่งที่น่าสนใจคือ เพลงนี้ถูกนำไปร้องในการชุมนุมแทบทุกครั้ง ทุกฝักฝ่าย ทั้งสายต้านเผด็จการ และสายเป่านกหวีด ดีใจเมื่อเกิดรัฐประหาร ชวนให้จินตนาการเล่นๆ ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ควรจะรู้สึกอย่างไร (ฮา)

‘เกียมอุดม’ แถลง ‘ปู่จิตร’ คือแรงบันดาลใจ ไม่ก้มหัวให้เผด็จการ

อีกเหตุการณ์น่าสนใจเช่นกัน นอกเหนือจากการที่นักเรียนมัธยมออกมาเคลื่อนไหวจี้กระทรวงศึกษาธิการให้ปฏิรูปการศึกษา ยังเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเยาวชนมัธยมศึกษาตั้งแต่ชั้นนุ่งขาสั้นผูกคอซองเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา รวมถึงลงชื่อกับ ‘ไอลอว์’ หรือโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด กลุ่ม ‘เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ’ ยังจัดรำลึก 90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ ในวันคล้ายวันเกิด 25 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนนักเรียนร่วมอ่านประวัติจิตร อ่านบทกลอน และยืนไว้อาลัย 1 นาที ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ฝั่งประตูพญาไท

กล่าวถ้อยคำจับใจ ย้อนเล่าประวัติ ‘รุ่นพี่’ ที่ต้องเรียกว่า ‘ปู่จิตร’ ตอนหนึ่งว่า

‘จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นชื่อที่ใครๆ ก็รู้จักในฐานะปัญญาชนฝ่ายซ้าย ในฐานะผู้มาก่อนกาล ในฐานะรุ่นพี่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ รั้วข้างๆ โรงเรียนของเรา ในฐานะรุ่นพี่เตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ 11 ในฐานะเจ้าของวันคล้ายวันเกิดวันนี้ หากจิตรยังไม่ถูกเผด็จการพรากลมหายใจ วันนี้เขาอาจเป็นปู่จิตรที่มีอายุ 90 ปีบริบูรณ์ อาจมีครอบครัวที่อบอุ่น อาจยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อาจเป็นปัญญาชนคนสำคัญในห้วงการเมืองหลายยุคสมัยที่มีคนจดจำ วันนี้ ต้นกล้าประชาธิปไตยได้ผลิแตกหน่ออ่อนแทงขึ้นมาจากผืนดิน ชื่อและเรื่องราวของเขาจะต้องได้รับการตีแผ่และสดุดีอีกครั้งหนึ่ง

จิตร เกิดและเติบโตมาในยุคนโยบายชาตินิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นโยบายดังกล่าวได้หล่อหลอมเขาในวัยเด็กให้กลายเป็นพวกชาตินิยมมาก่อน อาทิ การเปลี่ยนชื่อเดิมมาเป็น จิตร กรณีที่สร้างชื่อเสียงให้เขา พอๆ กับบาดแผลร้าวลึกในชีวิตขอเขาคือ การโยนบก ซ้ำร้าย จุฬาฯมิได้ลงโทษผู้โยนบกจิตรแต่อย่างใด กลับมีคำสั่งพักการเรียนจิตร พร้อมระบุว่าซ้ายเกินไป ปัจจุบัน จุฬาฯไม่เคยออกมาขอโทษจิตร และยังพยายามลบเลือนเรื่องราวของจิตรเหมือนเขาไม่เคยมีตัวตนอยู่ ส่วนผู้ลงโทษจิตรเติบโตในสายงานราชการทหาร รวมถึงได้รับการยกย่องจากจุฬาฯให้เป็นวิศวะจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น

ความตายของเขาหาใช่จุดสิ้นสุดไม่ เพราะเขาเป็นแรงบันดาลใจให้นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่มีจิตใจมุ่งมั่นในประชาธิปไตยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น่าเสียใจที่เขาโดนกำจัดทิ้งเพียงเพราะ 2 มือที่มุ่งมั่น สร้างสรรค์ผลงาน เผยแพร่อุดมการณ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่โลกหล้า วันนี้เรามารวมตัวกันเพื่อจดจำอดีตที่หลายคนอยากลบลืมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อสานต่ออุดมการณ์ ยืนหยัดความต่อสู้กับความอยุติธรรม ทวงคืนอำนาจประชาธิปไตยให้กลับสู่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง’

นักเรียนเตรียมอุดมฯ รำลึกจิตร ภูมิศักดิ์

‘อยุติธรรม’ 7 ทศวรรษ ‘สภานิสิตจุฬาฯ’ ขอโทษ จิตร ปม ‘โยนบก’

ข้ามรั้วติดกันไปเล็งฝั่งจุฬาฯ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ 25 กันยายน 2563 มีเนื้อความเล่าถึงประวัติและยกย่องคุณงามความดีทั้งในด้านวิชาการประวัติศาสตร์และการต่อสู้อย่างยึดมั่นอุดมการณ์ แต่ประเด็นหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง สอดคล้องถ้อยแถลงของกลุ่ม ‘เกียมอุดมฯ’ นั่นคือกรณีถูก ‘โยนบก’ ในจุฬาฯ เมื่อครั้งเป็นนิสิตจุฬาฯ แม้ต่อมาสร้างชื่อเสียงให้จุฬาฯ แต่ไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากจุฬาฯ

ความตอนหนึ่งว่า

‘คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนานัปการ จากการเป็นผู้มากความสามารถในด้านวิชาการทั้งด้านภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ เเละประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะผู้บุกเบิกการศึกษา ทางด้านอักษรศาสตร์ในประเทศไทยและแนวคิดสมัยใหม่หลายประการให้กับสังคมไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด ทางวิชาการที่ได้รับการอ้างอิงโดยทั่วไป รวมไปถึงในประชาคมจุฬาเองด้วย ตัวอย่างผลงานที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ เช่น “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม” และ “โองการแช่งน้ำ เเละข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เป็นต้น นับได้ว่าผลงานด้านวิชาการต่างๆ ของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางรากฐานการศึกษาด้านต่างๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย เเละในระดับประเทศ อีกทั้งคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ยังเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างเเรงกล้า และเป็นแรงบันดาลใจให้กับขบวนการนิสิตนักศึกษาในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยจวบจนปัจจุบัน

เเม้ว่า คุณจิตร ภูมิศักดิ์ จะสร้างคุณงามความดีให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดีคุณจิตร ภูมิศักดิ์กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมในฐานะนิสิตจุฬาคนหนึ่ง อาทิ จากการสอบสวนกรณี “โยนบก” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยนั้นไม่ได้ลงโทษผู้ที่กระทำการรุนเเรงเเก่ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซ้ำร้ายยังสั่งพักการศึกษาคุณจิตร ภูมิศักดิ์ และจากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น มิได้ปกป้องคุณจิตร ภูมิศักดิ์ จากการถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่ากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ดังนั้น สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะตัวเเทนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอกล่าวขอโทษคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ต่อความอยุติธรรมต่างๆ ที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ได้รับจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรณี โยนบก ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2496

ดังนั้นเนื่องในโอกาส 90 ปี ชาตกาลของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในนามของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมรับสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอกล่าวขอโทษคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ได้รับความอยุติธรรมต่างๆ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดเวลากว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ อย่างเป็นทางการ เเละขอใช้โอกาสนี้ยกย่องคุณจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นศิษย์เก่าคนสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบไป’

ในวันเดียวกัน ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ยังจัดเสวนา ‘ภาพลักษณ์จิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน’ ทั้งยัง ‘เป่าเค้ก’ ฉลองวันคล้ายวันเกิด นับเป็นมิติใหม่หลังจากสังคมไทยคุ้นเคยกับการรำลึกวันเสียชีวิต 5 พฤษภาคมมาอย่างยาวนาน

พิพิธภัณฑ์แห่งจุฬาฯ ยกย่อง ‘จิตร’ แต่องค์การบริหารนิสิต ไม่รับวาระ ‘สร้างอนุสาวรีย์’

แม้กล่าวกันว่า ที่ผ่านมาจิตร ไม่เคยได้รับการยกย่องจากจุฬาฯ ทว่า พิพิธภัณฑ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมฉลองในวาระแห่งการสถาปนาจุฬาฯ ครบ 100 ปี เมื่อ พ.ศ.2560 บนชั้น 4 ของพิพิธภัณฑ์ มีนิทรรศการถาวร ‘ร้อยเรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬา’ โดยในมุมหนึ่งซึ่งใช้ชื่อหัวข้อ ‘ยึดมั่นในอุดมการณ์’ เล่าถึงการต่อสู้ของนิสิตจุฬาฯ ในเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมือง หนึ่งในนั้น ปรากฏภาพและเรื่องราวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ขณะเป็นนิสิตจุฬาฯ การต่อสู้ กระทั่งเสียชีวิต

หยิบบทกวีที่จิตรแปลไว้ นำเสนออย่างโดดเด่น

‘เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ด้วยหฤหรรษ์

แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จะน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน’

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 กันยายน ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยสามัญครั้งที่ 4/2563 เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในฐานะหนึ่งในกรรมการบริหาร เข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วย นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอวาระให้มีการส่งหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อขอให้มีการดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ประชุมมีมติ ‘ไม่รับรอง’ ด้วยคะแนนเสียงรับรอง 5 เสียง ไม่รับรอง 11 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง จากทั้งหมด 26 เสียง

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งในชีวิตหลังความตายของจิตร ภูมิศักดิ์ กับ 90 ปีที่ไม่เคยสูญเปล่า

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ผู้เรียกร้องให้สร้างอนุสาวรีย์ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่จุฬาฯ ถ่ายภาพคู่ป้ายไฟโปรโมตงานรำลึก 90 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ที่สามย่านมิตรทาวน์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image