‘เราทำเหมือนกับฉากหนังดีๆฉากหนึ่ง’ สวนนงนุช พัทยา โฉมใหม่ในวันแห่งความเปลี่ยนแปลง

“เนิร์สเซอรี่กระบองเพชร เป็นเรือนกระจกใส เพื่อให้ไม่โดนฝน แต่ต้องได้แสงแดดเต็มที่ ผมทำมานานแล้ว แต่เรานำมาตั้งโชว์ วางให้ดูสวยงามแปลกตา กลายเป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบมาก

ล่าสุด เราจัดกระบองเพชรในถาด ในกระถางใหญ่ 4 เหลี่ยม เมตรคูณเมตร เป็นสวนถาดที่มีกระบองเพชรหลากหลาย คนกลับชอบมากขึ้นอีก

สับปะรดสี เราคัดสีสวยๆ มาเรียงเป็นหมวดหมู่

สิ่งเหล่านี้เราทำเหมือนกับเป็นฉากหนังดีๆ ฉากหนึ่ง

Advertisement

ไม่ใช่คำกล่าวของผู้สร้างภาพยนตร์คนใด หากแต่เป็นถ้อยคำจากใจ กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช พัทยา หลังการเนรมิตโฉมใหม่ให้สถานที่ท่องเที่ยวอันมีวลีต่อท้ายว่า ‘หนึ่งในสิบสวนสวยที่สุดในโลก’ จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ต่างประเทศ ยิ่งงดงามตระการตา โดยยึดหลักปรัชญา ‘อีกนิดหนึ่ง’ ในการฝ่าวิกฤต ‘โควิด’ ในห้วงเวลาที่สวนนงนุชซึ่งเคยเป็นแม่เหล็กพลังดึงดูดสูง ต้องปิดตัวลงชั่วคราวนานกว่า 2 เดือน กระทั่งกลับมาเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีการปรับโฉมด้วยแนวคิดน่าสนใจที่ว่า ต้องมีสวนใหม่ที่แปลกตา ไม่ใช่แค่สวนสวย

Advertisement

“ผมใช้คำว่า อีกนิดหนึ่ง คือเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ จุดไหนไม่น่าสนใจ ก็แก้ไขจุดนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราปรับปรุงสวน ในจุดที่คิดว่าจำเป็น โดยใช้เงินให้น้อยที่สุด ตอนนั้นสวนลอยฟ้าเสร็จแล้ว แต่ก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกด้วยการเปลี่ยนต้นไม้บางส่วน เพิ่มมุมถ่ายรูปให้มากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมีสวนใหม่ที่แปลก ไม่ใช่สวนสวย เพราะในสวนนงนุช เรามีสวนสวย 30 กว่าสวนแล้วถ้าจะทำสวนสวยต่อไป ก็จะเป็นแค่สวนสวยอีกแห่งหนึ่ง คนอาจไม่สนใจก็ได้ เลยตัดสินใจใช้เนิร์สเซอรี่ที่ทำอยู่แล้วมาโชว์ โดยให้เป็น
เส้นทางผ่านของรถชมวิว ทั้ง ปาล์ม ชวนชม สับปะรดสี กระถางปั้นและท้ายสุดคือ กระบองเพชร ซึ่งเมื่อเปิดตัวแล้วกลายเป็นสิ่งที่คนชอบมาก” หัวเรือใหญ่สวนนงนุชเล่าพร้อมรอยยิ้ม ก่อนแง้มว่า ที่รู้ฟีดแบ๊ก
อย่างจริงแท้ เพราะคนขับรถชมวิวคอยรายงานตลอดว่า ‘ท่านผู้ชมว่าอย่างไร’ สะท้อนความใส่ใจของสวนนงนุช ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงานทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับทุกเสียงของผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือน

เรียกได้ว่า หากเปรียบเป็นกองถ่ายทำภาพยนตร์ นี่คงเป็นทีมงานที่ทั้งแข็งแกร่ง และละเอียดลึกซึ้ง ตั้งแต่โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ จนถึงฝ่ายสวัสดิการ

ท่านประธาน กัมพล บอกด้วยว่า ดีใจกับผลตอบรับอย่างมาก โดยนอกเหนือจากเนิร์สเซอรี่ในเส้นทางผ่านของรถชมวิวแล้ว แน่นอนว่าอีกหนึ่งจุดที่คนให้ความสนใจอย่างมากมายคือ ‘สวนลอยฟ้า’ อันเป็นสวนใหม่เอี่ยมที่ตั้งใจสร้างสรรค์เพื่อประชันความงามกับ การ์เด้นส์ บาย เดอะ เบย์ (Gardens by the Bay) ของสิงคโปร์ โดยอาศัยสิ่งแปลกใหม่ ไม่ใช่ปริมาณเม็ดเงินที่ลงทุน เปิดตัวตั้งแต่ก่อนโควิด แล้วปรุงโฉมให้งามกว่าเดิม เพิ่มมุมกดชัตเตอร์ ดังที่กล่าวไปข้างต้น

“หลายคนบอกว่าสวยกว่าสิงคโปร์ก็ว่าได้นี่ไม่ใช่คนไทยพูด แต่เป็นต่างชาติ เขาบอกยูแข่งกับเขาได้เลย เราลงทุนน้อยกว่า แต่อาศัยสิ่งที่แปลกใหม่”

สวนลอยฟ้าตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 10 ไร่ แปลกตาด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ พืชอวบน้ำ และอีกมากมายที่ถูกจัดวางอย่างลงตัว มีทางเดินลอยฟ้าเชื่อมจุดต่างๆ ถึงกัน ความอ่อนหวานของไม้แขวนที่สร้างสรรค์เป็นรูปหัวใจปรากฏให้เห็นตลอดเส้นทาง เช่นเดียวกับซุ้มโค้งสำหรับบันทึกภาพประทับใจ อีกทั้งตุ๊กตาดินเผาหลากอารมณ์บนใบหน้า จนถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ท่ามกลางความเขียวขจีและอากาศฉ่ำเย็น

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าผู้ชมคงมีไฮไลต์ที่ให้คะแนนจุดต่างๆ ของสวนนงนุชไว้ในใจ ทว่า สำหรับเจ้าของอาณาจักร 1,700 ไร่ บอกว่า อยากให้มอง ‘ภาพรวม’ มากกว่า

“ไฮไลต์แนะนำยาก เพราะอยากให้ดูภาพรวมมากกว่า เรามีตั้ง 30 สวน ขอให้คุณให้เวลาแก่เราและดูสิ่งต่างๆ ที่เราสร้างไว้ วันเดียวดูไม่หมดหรอก แต่รับรองว่ามาแล้วจะมีความสุข ล่าสุด เราวาดรูปด้วยการใช้หินที่เก็บจากแม่น้ำ ติดกันเป็นภาพ คิดว่าจะทำทั่วสวน นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ให้คุณค่าแก่ประเทศชาติ คือการที่เด็กๆ ได้มาดูไดโนเสาร์ ซึ่งเรามีมากที่สุดในโลกที่นี่ 229 ชนิด รวม 800 กว่าตัว ทุกสวนพฤกษศาสตร์ในโลกและสวนสัตว์ มีหน้าที่ต้องอบรมเยาวชนให้รักธรรมชาติ รักสัตว์ เราได้ทำหน้าที่นี้แล้ว พวกสวนพฤกษศาสตร์ด้วยกัน เวลามาหาผม เขาถามคำแรกว่า รัฐบาลช่วยอะไรบ้าง ผมถามว่าทำไมถามอย่างนั้น เขาบอก อ้าว! ก็คุณทำหน้าที่ให้รัฐบาลได้อย่างเยี่ยม ดึงเด็กมาได้” ประธานสวนนงนุชเล่า

แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้คน โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน ยังเห็นได้แม้กระทั่งในสิ่งละอันพันละน้อย อย่างประติมากรรมรูปผลไม้ขนาดยักษ์ ที่จัดวางไว้ในจุดต่างๆ นั่นไม่ใช่แค่การตกแต่งติดตั้งอย่างปกติธรรมดา หากแต่จัดวางไว้ใต้ต้นไม้จริงของผลไม้ชนิดนั้นๆ เพราะคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในเมืองหลวงอาจเคยเห็นเพียงผลที่ถูกปลิดจากต้นสู่ท้องตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่เคยรู้ว่าไม้ผลเหล่านั้นหน้าตาลำต้น ดอกใบ เป็นอย่างไรกันแน่

ยังไม่นับจุดเรียนรู้ต่างๆ เช่น การเผาถ่านในเตาหลากหลาย ตั้งแต่เตาแบบดั้งเดิม เตาบราซิล และเตาแบบญี่ปุ่น เป็นต้น โดยมีวิทยากรให้ความรู้อย่างเข้าใจง่าย นี่คืออีกหนึ่งความใส่ใจใน ‘วันพรุ่งนี้’ ของสังคมที่สวนนงนุชไม่เคยละเลย

“ท่านพาลูกหลานมา รับรองชอบแน่ ตัวเล็กๆ เห็นไดโนเสาร์ วิ่งเข้าไปถ่ายรูป ขี่คอได้ เหยียบต้นไม้ตาย ผมก็ไม่ว่า เพราะอยากให้เป็นภาพของความทรงจำที่เก็บไปได้” กัมพลกล่าว

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญไม่ถามไม่ได้ ในห้วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง นั่นคือสถานการณ์ปัจจุบันของสวนนงนุชซึ่งทราบกันดีว่ารายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ตอนแรกเราหารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวพัทยา ดังนั้น ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ คือต่างชาติ ปัจจุบันเรามีแค่คนไทยซึ่งเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ค่าใช้จ่ายตอนนี้ติดลบอยู่ทุกวัน แต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนกลับมาเที่ยว ไทยเที่ยวไทย ท่านต้องมาเที่ยวมาใช้เงิน ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากคนไทยด้วยกัน อยากให้ทุกท่าน ช่วยเหลือประเทศชาติของเรา เที่ยวให้เยอะๆ อย่าว่าแต่สวนนงนุชเลย แต่เที่ยวทั่วประเทศไทย”

ถามถึงคำแนะนำต่อรัฐบาลในฐานะผู้ประกอบการในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ประธานสวนนงนุช แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นกังวลกับแนวคิดเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในราชอาณาจักร

“สิ่งที่กลัวอย่างเดียวตอนนี้ คือเรากำลังจะเสี่ยงเปิดประเทศให้คนมาเที่ยว ในเมื่อเราเป็นประเทศที่หอมที่สุดในโลก เพราะได้ชื่อว่าปลอดเชื้อก็ว่าได้ แต่ถ้ารีบเปิดประเทศไป คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราแก้ไขสถานการณ์ไม่ทัน หรืออาจจะทำให้เละไปเลย เราอาจต้องอดทนรอ

ผมเองเป็นคนที่โดนหนักที่สุด เพราะเราพึ่งนักท่องเที่ยว 100 เปอร์เซ็นต์ อยากให้รัฐบาลคิดให้ดี ก่อนทำอะไรลงไป ต้องคิดถึงรากหญ้า ตอนนี้คนไทยเริ่มปรับตัวแล้ว หลายคนอยู่รอดได้ ไทยเที่ยวไทยที่รัฐบาลโปรโมตจะช่วยให้คนได้เที่ยว เสาร์ อาทิตย์ คนเต็มไปหมด เพราะขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศไกลๆ ไม่ได้ ส่วนคนที่กลับบ้านต่างจังหวัด ก็อยู่ตัวแล้ว เพราะบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เราอยู่กันได้ ดังนั้นห่วงว่า อย่าให้โควิดระลอก 2 หรือ 3 เกิดขึ้นกับประเทศเราเลย”

กัมพลปิดท้ายราวภาพยนตร์ภาคต่อที่ต้องรอลุ้นตอนจบ แต่ไม่ว่าอย่างไร สวนนงนุชคือฉากตระการตาที่มากด้วยสาระแหล่งเรียนรู้ เป็นความภูมิใจของคนไทยในพรมแดงท่ามกลางสวนสวยที่เคยมีขึ้นในโลกใบนี้

สวนนงนุชเปิดทุกวัน 08.00-18.00 น.
วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 9 จังหวัดภาคอีสาน และ 10 เขตในกทม. เข้าฟรี
สอบถามโทร. 081-919-2153 www.nongnoochtropicalgarden.com

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image