ย่ำไปในดงเพลง : แสงดาวแห่งศรัทธา ยังรอวัน-ฟ้ารุ่งราง

ย่ำไปในดงเพลง : แสงดาวแห่งศรัทธา ยังรอวัน-ฟ้ารุ่งราง

ย่ำไปในดงเพลง : แสงดาวแห่งศรัทธา
ยังรอวัน-ฟ้ารุ่งราง

อันที่จริงเคยเขียนแตะๆ ถึงเพลงที่แทบจะเป็นเพลงประจำของการชุมนุมในอดีตมาแล้วรอบหนึ่ง
แต่คราวก่อนพาดพิงพัวพันไปถึงหลายเพลง ไม่ได้เน้นที่
“แสงดาวแห่งศรัทธา” เท่าไหร่
มาหนนี้ ก่อนจะมีการชุมนุม 14 ตุลาคม ที่ยั่วล้อและย้อนรอยสันสำคัญในอดีตอย่าง 14 ตุลาฯ 2516
ที่คาดว่าน่าจะมีคนเข้าร่วมจำนวนมากอีกหนหนึ่ง
ในจำนวนนี้ไม่ได้มีแต่เยาวชน-คนรุ่นใหม่
แต่น่าจะมีนักเคลื่อนไหว-ผู้รักประชาธิปไตยอีกวัยอีกรุ่นหนึ่งมาสมทบด้วย
ยังไม่รู้หรอกว่า บนเวทีการแสดงจะมี “แสงดาวฯ” ด้วยหรือไม่
แต่สำหรับคนในวัน 14 และ 6 ตุลาฯ หรือไหลมาถึงพฤษภาคม 2535
บรรยากาศแบบนี้ชวนให้รำลึกถึงวันคืนในอดีต ที่มีเพลงนี้เกี่ยวข้องอยู่ด้วย

ตามประวัติที่บันทึกกันไว้ระบุว่า แสงดาวแห่งศรัทธา ประพันธ์ในช่วงปี 2503-2505 ขณะที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับขังอยู่ในคุกลาดยาว
โดยใช้นามปากกาในการประพันธ์ว่า “สุธรรม บุญรุ่ง”
“เรื่องเล่า” ที่มาควบคู่กับประวัติเพลงก็คือ ในที่คุมขังนักศึกษาประชาชนหลังเหตุการณ์ล้อมฆ่ากลางเมือง 6 ตุลาฯ 2519
มีคนจำนวนหนึ่งหนีเข้าป่า ไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
แต่มีนักศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยถูกจับกุมคุมขัง
วันหนึ่ง ในบรรยากาศกดดัน-อึมครึม มีนักศึกษาต้นเสียงคนหนึ่งเริ่มร้องเพลงนี้ขึ้นมา
โดยฉับพลัน ก็มีเสียงประสานดังขึ้นจากห้องคุมขังข้างๆ
จนเพลงนี้ดังกังวานไปทั่ว
ข้อเท็จจริงของเรื่องเล่านี้ตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะนักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากยังมีชีวิตอยู่

ที่ฉุกใจคิดว่า แสงดาวแห่งศรัทธาอาจจะกลับมาขึ้นเวทีการชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง
ก็เพราะมี 2-3 เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาชี้ชวนให้เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น
เหตุการณ์แรก ในการชุมนุม “เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” เมื่อวันที่ 25 กันยายน อันเป็นวันครบรอบวันเกิด 90 ปี ของ จิตร ภูมิศักดิ์-ถ้ายังมีชีวิตอยู่
น้องๆ นักเรียนเยาวชนร่วมรำลึกถึง “ปู่จิตร” รุ่นพี่อักษรศาสตร์ที่อยู่รั้วข้างๆ ในฐานะปัญญาชนคนสำคัญของยุคสมัย
และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักคิดนักเคลื่อนไหวในยุคหลัง
วันเดียวกัน สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ออกแถลงการณ์สดุดีอุดมการณ์และผลงานวิชาการของจิตรในวาระรำลึก 90 ปี เช่นเดียวกัน
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในแถลงการณ์ดังกล่าวได้ “ขอโทษ” จิตร ต่อเหตุการณ์ที่ถูก “โยนบก” ในหอประชุมมหาวิทยาลัย
โดยที่มหาวิทยาลัยไม่เคยปกป้องจิตรทั้งจากเหตุการณ์นี้
และจากความอยุติธรรมอื่นๆ ที่เคยได้รับ

Advertisement

อีกวันหนึ่งถัดมา ในงานมินิคอนเสิร์ตและพีเพิลทอล์ก หัวข้อ “ประชาชนถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนิน
“จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หนึ่งในผู้ร่วมดำเนินรายการ ชักชวนให้ผู้ฟังปราศรัยร่วมกันร้องแสงดาวแห่งศรัทธา
และได้รับการตอบสนองจากคนบนลานพระจันทร์เสี้ยว เปิดแฟลชจากโทรศัพท์มือถือ และโยกตัวตามจังหวะเพลง
เหมือนคอเพลงที่ “อิน” ในบรรยากาศคอนเสิร์ต
หรือผู้มีความศรัทธาเชื่อมั่นเดียวกันที่เข้าร่วมพิธีกรรมหลอมรวมใจ

ซึ่งไม่น่าสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ใครที่รู้จักและร้องเพลงนี้ได้ ก็จะรู้ว่าเนื้อเพลงนั้นมี “พลัง”
ให้ความหวัง ให้ศรัทธา ให้ความเชื่อมั่น
ปลุกปลอบใจคนที่เหนื่อยล้าท้อแท้ ให้กลับมามีกำลังใจที่จะลุกขึ้นสู้ต่อไป
จึงไม่น่าแปลกใจอีกเหมือนกันว่า ทำไมเพลงนี้ถึงเป็นขวัญใจของการชุมนุมในอดีต
แม้กระทั่งกับกลุ่มคนที่ไม่รู้จัก หรือไม่เชื่อ (จนกระทั่งคิดตรงข้าม) ในอุดมการณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์
ก็ยังเอาเพลงนี้ไปขับร้องได้ไม่ขัดไม่เขิน
รอดูกันว่า ในการชุมนุมที่สืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ
แสงดาวแห่งศรัทธาจะมีบทบาทอย่างไร

อ้อ วันนี้เลือกเวอร์ชั่นการร้องและบรรเลงของคณะดุริยางคศิลป์ มหิดล ที่เขาจัดคอนเสิร์ตรำลึก “เพลงแห่งการต่อสู้” เมื่อหลายปีก่อนมานำเสนอ
เพราะดนตรีเขามีพลัง
และชอบที่ให้น้องๆ รุ่นใหม่เป็นผู้มาสืบทอดและถ่ายทอดเพลงนี้
ระหว่างฟังไปก็ดูเนื้อตามข้างล่างนี้แล้วร้องคลอไปด้วย

พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทองผ่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัยส่องนำจากห้วงทุกข์ทน

Advertisement

พายุฟ้าครืน ข่มคุกคาม
เดือนลับยามแผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย

ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยาก
ขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง

แสงดาวแห่งศรัทธา

โดย เขบ็ดหัวโต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image