อาศรมมิวสิก : นวัตกรรมเสียงใหม่ อาศัยธรรมชาติ ความลงตัว และกลมกลืน

อาศรมมิวสิก : นวัตกรรมเสียงใหม่ อาศัยธรรมชาติ ความลงตัว และกลมกลืน

อาศรมมิวสิก : นวัตกรรมเสียงใหม่
อาศัยธรรมชาติ ความลงตัว และกลมกลืน

การค้นหาเสียงเก่าเพื่อจะนำเสนอเสียงใหม่ ซึ่งพบคำถามอยู่เสมอๆ ว่า ทำไมเพลงไทยจึงมีชื่อเป็นลาว พม่า ข่า ไทยใหญ่ เงี้ยว อาหม ไทยยอง เขมร ญวน แขก มอญ เป็นต้น มีตัวอย่างเพลงในยุคต้นรัตนโกสินทร์ อาทิ เพลง 12 ภาษา บอกถึงความเป็นนานาชาติ ความหลากหลาย และมีความเกี่ยวพันกัน

การลงพื้นที่เพื่อเก็บทำนองเพลงท้องถิ่นต่างๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากนักดนตรีชาวบ้าน โดยเริ่มจากพื้นที่เชียงราย น่าน ลำปาง และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเพลงใหญ่ การแสวงหาศิลปินชาวบ้านยากขึ้น เพราะคนเก่าล้มหายตายจากไป ที่เหลือก็แก่เฒ่าลง ส่วนคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเสียงเก่าเหล่านี้ เพราะเป็นเสียงเก่าที่นำไปทำมาหากินไม่ได้ คนแก่ที่เหลือก็ได้แต่โหยหาอดีต รำพึงรำพันถึงความรุ่งเรืองในอดีต

วัฒนธรรมเก่า เพลงไม่ใช่เรื่องเดียวเท่านั้น แต่ยังมีภาษาพูด สำเนียงเสียง ภาษาเขียน อาหารการกิน วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม เกี่ยวข้องกันหมด เพลงเป็นหุ้นส่วนหนึ่งที่บอกถึงความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมเมืองเหนือซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ เพราะเพลงทุกชุดจะเริ่มต้นที่ตั้งเชียงใหม่แล้วต่อด้วยตั้งเชียงแสน

Advertisement

การบันทึกเสียงเริ่มต้นที่แม่จัน เชียงราย มีพ่อหลวงหวิน (นครินทร์ ใจธรรม) แม่ทองสร้อย (สร้อยสุดา ภิราษร) เป็นช่างซอ เป็นพ่อเพลงแม่เพลง ช่างปี่จุม 3 เล่ม และช่างซึง 1 ตัว ใช้ห้องบันทึกเสียงที่แม่จัน (T&T Studio record & mastering) เพลงเริ่มจากตั้งเชียงใหม่ จะปุ ละม้าย เชียงแสน เงี้ยว ส่วนคำร้องนั้น เมื่อศิลปินไหว้ครูแล้วก็จะเริ่มด้นเพลง เนื้อหาแล้วแต่เจ้าภาพจะปรารถนา การเปลี่ยนทำนองจากเสียงใหญ่ซึ่งเป็นเสียงต่ำให้ผู้ชายร้อง ไปเป็นเสียงน้อยซึ่งเป็นเสียงสูงที่มีผู้หญิงร้อง จบด้วยการอวยพรให้เจ้าภาพได้มีความสุขความเจริญ พบว่าสิ่งที่กำลังจะตายไปคือ การด้นเพลงที่เป็นปฏิภาณกวีของศิลปิน

ออกจากแม่จันก็ไปที่ศูนย์ดนตรีกวีศิลป์ล้านนา นำโดย ดร.ศันสนีย์ อินสาร มีพิธีบายศรีสู่ขวัญขับซอกับดีดซึง พิธีบายศรีสู่ขวัญเหลืออยู่น้อยมาก ระหว่างพิธีนั้นมีช่างซอขับกล่อมด้วยซึง ในภาคกลางก็มีการทำขวัญนาค กล่อมขวัญนาค การสวมมงคลสมรสให้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน การสวมมงคลในพิธีไหว้ครูมวยและการถอดมงคลให้นักมวยก่อนชก พิธีไหว้ครูดนตรีไทย มีบายศรีสู่ขวัญ ใครจะมาก่อนมาหลังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่ลงตัวมากที่สุดก็คือ การบายศรีสู่ขวัญที่ช่างขับเล่นซึงของเมืองเหนือ ซึ่งน่าจะเก่ามีพัฒนาการสูง การดีดซึงผูกกับพิธีกรรม ช่างซอหรือหมอผีร้องเรียกขวัญให้กลับคืน ยังมีชีวิตและดำรงอยู่

ศูนย์ดนตรีกวีศิลป์ล้านนาได้สนับสนุนวงดนตรีชาวบ้านเล่นเพลงเหนือต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่สนามบินเชียงราย มีบทเพลงเก่า อาทิ ปราสาทไหว ฤๅษีหลงถ้ำ (ฤๅษีนั่งฟังเพลินจนลืมกลับถ้ำ) ล่องน่าน ล่องแม่ปิง จากนั้นก็ไปบันทึกวงแม่คำ ต้นตอโฟล์กซองคำเมือง ซึ่งมีแดนชัย รีอินทร์ กับขจร วงศ์ชัยพาณิชย์ ผู้เขียนเพลงสาวมอเตอร์ไซค์ ให้จรัล มโนเพ็ชร ขับร้อง ซึ่งทำนองเดิมมาจากเพลงคางคกปากสระในชื่อทางดนตรีไทย

Advertisement

จากเชียงรายก็ไปเมืองน่าน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในหุบเขา พื้นที่ของผีตองเหลืองคือมนุษย์เร่ร่อนปลูกเพิงพักอยู่โดยอาศัยใบตอง เมื่อใบตองแห้งแล้วใบตองก็จะเหลือง ที่เรียกว่าผีก็เพราะไม่ได้อยู่ในเมือง คืออยู่ในป่า ย้ายถิ่นฐานทำกินตามเวลาของใบตอง เพลงสำคัญของชุดล่องน่าน บางครั้งก็เรียกว่า ลับแล หรือลับแลง (อุตรดิตถ์) โดยมีศิลปินรุ่นใหญ่ที่ยังรักษาเพลงดั้งเดิมไว้ ช่างซอชายชื่ออินสน เดือนเป็ง ช่างซอผู้หญิงบุญเหลี่ยม เจียมอ่อน (ศรีพรรณ) ช่างซึงชื่ออินส่วย มูลทา ช่างสะล้อเกษมศักดิ์ ดีพิชัย บันทึกเสียงกลางแปลง ได้เสียงสดทั้งดนตรีและเสียงร้อง เพราะพื้นที่มีความเงียบเป็นธรรมชาติ คณะซอชุดนี้เป็นศิษย์ครูคำผาย นุปิ

ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ผู้เคยบันทึกเพลงเรื่อง “พระลอเดินดง” เอาไว้ก่อน

เพลงเริ่มจากกล่อมนางนอน แม่หม้ายก้อม (ชั่วคราว) แม่หม้ายเครือ (ถาวร) ต่อด้วยซอดาดน่าน ซึ่งทำนองเดียวกับเพลงหนุ่มลำปางตามเมีย ของสดใส รุ่งโพธิ์ทอง และยอดรัก สลักใจ นำมาขับร้องจนโด่งดัง ทั้งคนแต่งเพลงและคนร้องเพลงก็เสียชีวิตไปแล้ว เพลงเอกคือเพลงล่องน่าน และสุดท้ายเพลงปั่นฝ้าย เนื่องจากน่านรับอิทธิพลดนตรีจากเชียงรายและเชียงใหม่ วงที่เล่นไม่มีปี่จุม มีแต่สะล้อกับพิณเล่นคลอร้อง

ปี่จุมน่าจะเป็นพัฒนาการสูงสุด เพราะการทำลิ้นปี่ด้วยโลหะ ทุบโลหะให้แบนแล้วตัดเป็นลิ้น เสียบเข้ากับท่อไม้ซางเป็นเลาปี่ ใส่ปากเป่าให้เป็นเสียง ปิดเปิดรูปี่เพื่อเปลี่ยนเสียง มีเทคนิคทำเสียงให้ยาวต่อกันโดยการระบายลม ถือเป็นวิทยายุทธ์ขั้นเทพ ซึ่งเป็นพัฒนาการหลายร้อยปี พื้นที่ในป่าอย่างเมืองน่าน จึงไม่มีปี่จุมเป่า แต่ใช้สะล้อเล่นแทนปี่จุม

วันต่อมาได้ไปบันทึกเสียงเพลงที่ลำปาง โดยมีอาจารย์ศรชัย เต็งรัตน์ล้อม ดีดซึงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เนื่องจากหานักดนตรีพื้นบ้านที่เป็นวงยากแล้ว เหลือซึงคนเดียวที่ได้เพลง มีเพลงสำคัญ อาทิ ลาวลำปาง (หนุ่มนารอนาง ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ) ลำปางน้อย เพลงสร้อยลำปาง (แม่แล้ลำปาง/เพลงแล้งในอก ของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) เพลงช้างหรือพม่าเขว เพลงล่องแม่ปิง ลาวกระทบไม้ (ยอยศพระลอ โดยชินกร ไกรลาศ) ลาวเสี่ยงเทียน สร้อยแสงแดง ซึ่งพบเพลงในภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกที่พระเจนดุริยางค์ทำดนตรี อื่อเป็นทำนองไม่มีคำร้อง ก่ำเบ้อ (ลาวสมเด็จ) เตียวดง (สร้อยเชียงใหม่/เดินดง) ฤๅษีหลงถ้ำ ทำนองมอญและลาวปนกัน ส่วนปราสาทไหว เป็นเพลงที่มีทำนองซับซ้อนโดยการเปลี่ยนศูนย์เสียงในเพลง เป็นต้น

วันสุดท้ายไปบันทึกที่เชียงใหม่ มีคณะช่างซอพื้นบ้านแข็งแรงกว่าในพื้นที่อื่น มีองค์กรเพลงท้องถิ่นรับงานและแบ่งงานกันทำเพื่อแบ่งรายได้ เชียงใหม่จึงเป็นต้นแบบของเพลงท้องถิ่นทั้งดนตรีและการจัดการ นักดนตรีมีปี่จุม 3 เล่ม (หากเอาปี่จุมมัดรวมเสียบกับน้ำเต้าก็กลายเป็นแคน) และช่างซึง ภาณุพงศ์ ช่างปี่ก้อย ก๋วนดาเป่าปี่กลาง นามเป่าปี่ตัด และดีดซึงโดยสุรพงศ์ ช่างซอหญิง (เอื้องคำ) ช่างซอชาย (อินตา) วงเริ่มเพลงด้วยตั้งเชียงใหม่ จ้อยเชียงแสน (สั้น) จะปุ จ้อยตั้งเชียงแสน (ยาว) เงี้ยว ล่องน่านสำนวนเชียงใหม่ อื่อ ปราสาทไหว และจบด้วยฤๅษีหลงถ้ำ

เมื่อบันทึกเพลงท้องถิ่นภาคเหนือแล้ว พบว่าเสียงเก่าให้ความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่น ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ออกภาคสนามเพื่อบันทึกเสียงเก่าในท้องถิ่น เมื่อ 30 ปีก่อน เคยบันทึกเสียงเก่าแบบนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว ครูเพลงรุ่นเก่าเป็นศิลปินแห่งชาติก็ล้มหายตายจากไป ที่เหลือมีอยู่น้อย นักดนตรีรุ่นใหม่มีฝึกกันน้อย มีงานแสดงน้อยลง แม้ศิลปินพื้นบ้านจะเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง แต่มีรายได้น้อยหรือแทบไม่มีรายได้เลย คนรุ่นใหม่จึงไม่ต้องการสืบทอดรับมรดกเสียงเพลงเก่า เพราะเสียงเก่าหางานทำไม่ได้ นักดนตรีก็ผันตัวเองไปเป็นช่างทำเครื่องดนตรีแทน ขายให้โรงเรียนหรือขายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว

เสียงเก่าอยู่กับอดีต เมื่อสังคมเปลี่ยนไปไม่สามารถปรับเสียงให้เข้ากับสังคมใหม่ได้ การทดลองโดยนำเสียงเพลงดั้งเดิมมาเรียบเรียงเสียงขึ้นเป็นนวัตกรรมเสียงใหม่ สำหรับวงซิมโฟนีออเคสตรา อาจใช้นักร้องเก่าที่เป็นชาวบ้านขับร้องเพลงเดิม ใช้วงดนตรีที่มีเสียงใหม่ ห่อใหม่โดยวงซิมโฟนีออเคสตราเพื่อทำให้เสียงเพลงพื้นบ้านมีชีวิตขึ้นมาในมิติใหม่ เพลงเสียงใหม่เหล่านี้น่าจะอยู่ในสังคมที่มีบริบทใหม่ได้ อาทิ พื้นที่ในสนามบินท้องถิ่น เสียงบนเครื่องบิน ร้านอาหาร โรงแรม เทศกาลท้องถิ่น ศูนย์การค้าท้องถิ่น เสียงในมือถือ เป็นต้น ซึ่งต้องได้ความร่วมมือสนับสนุนจากองค์กรรัฐ อาทิ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับเสียงใหม่

ในระบบการศึกษา หากครูดนตรีได้นำทำนองเพลงของท้องถิ่นไปเรียบเรียงใหม่ ใช้กับวิชาดนตรีที่มีอยู่ในโรงเรียน อาทิ วงดนตรีพื้นบ้าน วงดนตรีไทย วงขับร้องประสานเสียง วงโยธวาทิต วงออเคสตรา ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการต่อชีวิตสืบทอดเพลงพื้นบ้านได้อย่างมั่นคง เสียงดนตรีของท้องถิ่นจะเข้าไปในจิตใจเด็กทุกคนผ่านโรงเรียน ทำให้เด็กได้ซึมซาบเสียงของท้องถิ่นและสืบทอดเสียงต่อไป ที่สำคัญคือ ได้รสนิยม บรรยากาศ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กลิ่นเสียงที่มีอยู่ในท้องถิ่นก็ได้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนกับเด็กสมัยใหม่ด้วย

สถาบันอุดมศึกษาดนตรีในพื้นที่ อาทิ ราชภัฏเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง นาฏศิลปเชียงใหม่ ต้องเป็นหลักในการศึกษาค้นคว้าอนุรักษ์เสียงเก่า พัฒนาเป็นเสียงใหม่ เปิดพื้นที่ดนตรีท้องถิ่นให้มั่นคงอยู่ในสถาบัน อุดมศึกษาต้องจ้างศาสตราจารย์ศิลปินท้องถิ่น เมื่อมีเงิน มีคน มีพื้นที่ มีอุปกรณ์ ก็จะสามารถสร้างงานได้ พัฒนาเสียงเก่าให้อยู่กับเสียงใหม่ พัฒนาคนให้เล่นดนตรีให้เก่ง พัฒนาเสียงให้ทันสมัย ให้เป็นความรู้ที่สำคัญของชาติ

เสียงดนตรีเมืองเหนือนั้นร่ำรวยเป็นทุนอยู่แล้ว หากได้สร้างนวัตกรรมเสียงดนตรีใหม่ โดยใช้ธรรมชาติพัฒนาให้ลงตัวและกลมกลืนกับเสียงเก่า ก็จะเป็นรากฐานของสังคมใหม่ต่อไป

การลงภาคสนามครั้งนี้ จะนำความรู้มาเขียนเป็นงานวิชาการโดยมีอาจารย์ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ นักวิชาการดนตรีภาคเหนือ อธิบายเสียงพร้อมตัวอย่างเพลงสำคัญ แล้วนำทำนองไปเรียบเรียงสำหรับวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา นำทำนองที่มีทั้งเสียงร้องและเสียงดนตรีดั้งเดิมห่อด้วยเสียงใหม่ เพื่อสร้างเสียงของท้องถิ่นให้มีชีวิตใหม่ เชื่อว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะต่อชีวิตเพลงได้ แน่นอนจะไม่มีแค่คำตอบเดียว

นักประพันธ์เพลงได้นำเสียงพื้นบ้านเมืองเหนือไปทำเป็นเพลงสมัยนิยมมาแล้ว มอบให้นักร้องชื่อดังขับร้อง เป็นการสืบทอดมรดกเพลงท้องถิ่นเอาไว้ อาทิ เพลงหนุ่มนารอนาง (ลาวลำปาง) ยอยศพระลอ (ลาวกระทบไม้) แล้งในอก/สาวตางาม (สร้อยลำปาง) ลาวดวงดอกไม้ บ่าวเคิ้น (ทำนองปั่นฝ้าย) ตำนานหนองสะเลียม (ซอพม่า) ของดีบ้านเฮา หนุ่มลำปางตามเมีย (ดาดน่าน) สาวมอเตอร์ไซค์ จะเลือกไผดี บ้องกัญชา (กาเหว่า เสียงทอง/ไวพจน์ เพชรสุพรรณ) เปิดใจสาวแต เป็นต้น เพลงดังเหล่านี้ ดังได้เร็วก็เพราะมีเสียงเก่าที่คุ้นหูผู้ฟังอยู่แล้ว เมื่อนำเนื้อร้องที่แทนใจได้ ขับร้องโดยนักร้องที่เสียงดี จึงทำให้เพลงดั้งเดิมเสียงเก่ากลับมามีชีวิตและต่ออายุเพลงได้อีกครั้ง

การนำร่องรอยเสียงเพลงเก่าที่บอกความเป็นมา นำเพลงเก่ามาสร้างชีวิตในมิติของสังคมใหม่ เป็นการเปิดพื้นที่ความรู้สึกใหม่ขึ้นในสังคม เสียงดนตรีนั้นมีพลังมหาศาล หากทำนองที่ได้เรียบเรียงใหม่ได้เล่นโดยนักดนตรีที่มีฝีมือ ได้แสดงให้สังคมรับรู้ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจจะเป็นช่องทางเลือกให้ดนตรีในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง เพลงเก่าในรูปลักษณ์ใหม่หากได้นำไปประกอบศิลปะการแสดงใหม่ ละคร การ์ตูน แอนิเมชั่น เพลงประกอบสารคดีท้องถิ่น เพลงประกอบภาพยนตร์ เสียงเก่าในอดีตนั้นจะเป็นรากฐานสำคัญของสังคม เพราะความมั่นคงของสังคมอยู่ที่รากเหง้าของท้องถิ่นนั้นๆ

โดย : สุกรี เจริญสุข

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image