ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ‘เบรนคลาวด์’ แก้ปัญหาการศึกษา เด็กไทยเรียนอังกฤษ ‘หนัก’ ทำไมสื่อสารไม่ได้

เรียกได้ว่าห่างหายไปจากพื้นที่สื่อพอสมควรสำหรับ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม หลังจากที่เคยโลดแล่นในสนามการเมืองในฐานะ ส.ส.ดาวรุ่ง

แต่แล้วด้วยวิกฤตการณ์ทางการเมือง 19 กันยายน 2549 เหล่านักการเมืองต่างต้องถูกเว้นวรรคไปถึง 5 ปีเต็ม เธอเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

ทว่า ณหทัยไม่ได้ปล่อยเวลา 5 ปีให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยพื้นฐานในฐานะ “ทิวไผ่งาม” รุ่นที่สองที่ต้องคลุกคลีกับการศึกษามาตลอด ผนวกรวมกับประสบการณ์การทำงานทางการเมืองที่ได้เห็นปัญหาด้านการศึกษาจากหลากพื้นที่ภายในประเทศ

เธอจึงตั้งเป้าหมายมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่

Advertisement

“…หากการศึกษาต้องการที่ก้าวล้ำกว่าที่เป็นอยู่จะต้องขึ้นอยู่กับวิทยาการการใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสาร ดังนั้น ทิศทางปัจจุบันของทิวไผ่งาม จึงเน้นไปในเรื่องการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้”

“ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่เป็นการสื่อสารข้ามสถานที่ข้ามเขตแดน แหล่งความรู้ต้องเชื่อมด้วยเทคโนโลยี…”

นั่นคือสิ่งที่เธอเคยให้สัมภาษณ์กับ “มติชนออนไลน์” ไว้เมื่อปี พ.ศ.2554

Advertisement

ทุกวันนี้ในปี พ.ศ.2559 ณหทัยได้ทำตามสิ่งที่เธอพูดเอาไว้ได้สำเร็จ ด้วยการผนึกกำลังร่วมกับนักธุรกิจจากประเทศแคนาดาก่อตั้งบริษัท เบรนคลาวด์ (ประเทศไทย) นำเข้าระบบ “เบรนคลาวด์” ระบบการศึกษาภาษาอังกฤษยุคใหม่

ระบบดังกล่าวเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตไร้สายที่สามารถพาครูเจ้าของภาษาข้ามพรมแดนมาใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน กับองค์ความรู้ในการสอนที่เน้นการศึกษาภาษาในแบบธรรมชาติ คือเริ่มจาก “ฟัง พูด อ่าน เขียน”

โดยได้เริ่มนำร่องไป 3 ปี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ชายขอบ

ทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาการศึกษา “ภาษาอังกฤษ” ของนักเรียนไทย ที่ต่างต้องเรียน “หนัก” แต่สุดท้ายกลับนำไปใช้ “สื่อสาร” ไม่ได้จริง

ที่มาของโครงการนี้?

คือเราสนใจด้านการศึกษาเริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานการเมืองและได้มีโอกาสเดินทางไปดูเรื่องการศึกษาทั่วประเทศ เวลารัฐมีนโยบายออกมาเราก็ศึกษาและเก็บสะสมข้อมูลต่างๆ เอาไว้ หลังจากที่แต่งงานและได้เดินทางไปยังประเทศแคนาดาก็เหมือนเป็นการจุดประกาย เราเห็นว่าทำไมคนที่นี่ถึงพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้เหมือนเป็นภาษาแม่ของตัวเองทั้งสองภาษา เขามีวิธีการเรียนการสอนอย่างไร

เราก็เริ่มศึกษาวิธีการของเขาก็มีโอกาสไปพบกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษากับกลุ่มที่ดูแลเรื่องการเรียนการสอนแบบออนไลน์และการเรียนภาษาอังกฤษที่พัฒนาไปตามสมอง คือ เขาจะไม่ไปบังคับเด็กให้เรียนไปมากกว่าช่วงอายุสมอง เรียนแบบธรรมชาติ ดูว่าสมองทำงานอย่างไรและสอนไปตามความสุขของสมอง เพื่อที่เด็กจะซึมซับในการพูดการฟังภาษาให้ได้มากที่สุด

ก็เลยคิดว่าต้องรวมกลุ่มคนที่มีความรู้ตรงนี้และมีโอกาสไปคุยกับกลุ่มผู้ลงทุนซึ่งเขาเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน คือ ทำอย่างที่เราจะทำให้เยาวชนกลุ่มใหญ่สามารถเท่าทันประเทศสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว จึงคิดว่าต้องหาวิธีการเรียนรู้ที่เร็วที่สุด กระจายไปถึงเด็กให้ได้มากที่สุด แต่หัวใจสำคัญคือคงไว้ซึ่งคุณภาพ ซึ่งเป็นโจทย์สามที่พัฒนาและเขียนโปรแกรมเบรนคลาวด์ออกมาในที่สุด

ระบบเบรนคลาวด์?

จริงๆ แล้วเบรนคลาวด์แพลตฟอร์ม เป็นแค่เทคโนโลยีที่มาเสริมวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ถูกต้องตามแบบธรรมชาติ คือนอกเหนือจากการเอาเทคโนโลยีมาใช้ เอาแท็บเล็ตมาใช้ มันคือกระบวนการที่เราจะทำอย่างที่จะทำให้ครูเจ้าของภาษาสอนวิธีการพูดของเด็กได้อย่างถูกต้อง เริ่มจาก ฟัง พูด อ่าน และจึงมาเขียน เหมือนกับเด็กเล็กๆ คือ เราต้องเริ่มจากฟังพ่อแม่ก่อน แล้วจึงเริ่มพูด จากนั้นก็ค่อยอ่านและเขียนเป็นเรื่องเป็นราว คือจะต้องเป็นการพัฒนาการตามลำดับจึงจะทำให้การศึกษาภาษาทุกภาษานั้นเกิดประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพได้

โดยในแต่ละสัปดาห์ นอกจากการเรียนในห้องเรียนปกติ เด็กจะเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์เพิ่ม 4 วัน แบ่งเด็กในห้องเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ที่ต้องแบ่งเพราะการเรียนภาษาถ้าคนเยอะไม่มีทางสำเร็จ เพราะต้องการการฝึกฝนตอบโต้แลกเปลี่ยน ซึ่งให้เรียนแต่ละทักษะสลับวันกันไป โดยมีแท็บเล็ตและอุปกรณ์สื่อสารกับครูชาวต่างชาติที่สามารถพูดคุยและตอบโต้กันได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ แท็บเล็ตยังมีไว้เพื่อมอนิเตอร์การอ่าน การทำแบบฝึกหัดของเด็ก ว่าเด็กคนไหนไปเร็วหรือช้า แท็บเล็ตสามารถวัดได้เลยว่าเขาติดขัดเรื่องไหน ทุกอย่างอยู่บนคลาวด์ ทำให้ครูสามารถเลือกมาดูและติดตามผลของเด็กได้ หากสังเกตเกิดปัญหาการเรียนก็สามารถเข้าไปถามเด็กได้ทันที

ครูชาวต่างชาติที่มาสอนผ่านทางออนไลน์?

ครูของเราจะเป็นเจ้าของภาษาทุกคน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนจริงๆ และต้องผ่านการฝึกอบรมการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพราะพวกเขาต้องพูดคุยตอบโต้กับเด็กในระดับชั้นประถม ต้องใช้เทคนิควิธีการสอนที่แตกต่างจากการสอนหน้าชั้นเรียน คือจะต้องได้รับการฝึกฝนพิเศษจากทีมผู้พัฒนาจากประเทศแคนาดาด้วยเช่นกัน

แล้วครูชาวไทย?

คือเราไม่ได้ทิ้งครูที่โรงเรียน ถึงแม้ว่าจะมีครูต่างชาติที่สอนออนไลน์จากแคมปัสของเราไปยังโรงเรียนของเขา แต่เราแบ่งเป็น ฟัง พูด อ่าน เขียน กลุ่มละ 5-10 คน เราก็จะให้ครูประจำโรงเรียนคอยเดินดูเด็ก ซึ่งครูในระดับประถมส่วนใหญ่ต้องสอนทุกวิชา มีบางโรงเรียนเท่านั้นที่มีอัตราจ้างคุณครูภาษาอังกฤษก็ถือว่าโชคดีไป โดยครูชาวไทยสามารถเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนได้ เพราะหลังเลิกเรียน ครูของโรงเรียนสามารถสื่อสารกับครูต่างชาติผ่านทางเทคโนโลยีไลฟ์เพื่อสอบถามถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กว่ามีพัฒนาการแค่ไหน แล้วต้องเพิ่มเติมหรือกระตุ้นเด็กอย่างไร รวมถึงมีเด็กคนใดที่มีปัญหาและควรดูแลเป็นพิเศษ เป็นการร่วมมือกันพัฒนาการเรียนการสอนของครูทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดอบรมโดยทีมพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจากแคนาดาให้กับครูชาวไทยศึกษาการเรียนการสอนในแบบธรรมชาติเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนในคาบเรียนปกติได้

มองว่าการเรียนรู้ในแบบเบรนคลาวด์แตกต่างกับรูปแบบการศึกษาภาษาอังกฤษในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด?

คือเราคิดค้นระบบขึ้นมาใหม่เพื่อตอบสนองวิธีการเรียนการสอนที่บอกไป คือ เรียนรู้ได้รวดเร็ว ตอบสนองกับเด็กจำนวนมากได้และคงไว้ซึ่งคุณภาพ คือ เรียนภาษาอังกฤษอย่างไรแล้วเด็กพูดได้จริง เราจะเน้นเรื่องการสื่อสารเป็นหลักก่อน แล้วคำศัพท์มันจะถูกบันทึกเข้าไปในสมองเองในรูปของโครงสร้างประโยค มันจะถูกบันทึกเข้าไปโดยธรรมชาติ สมองคนมีความสามารถพิเศษในการทำแบบนี้อยู่แล้วโดยเฉพาะสมองเด็ก

แต่ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา เราเรียนภาษาอังกฤษแบบบังคับสมองให้ต้องจำ จำ จำ คือ จำทั้งคำศัพท์ จำทั้งแพตเทิร์น จำทั้งแกรมมา แต่ไม่รู้จะนำมาสื่อสารอย่างไร คือจำจนกลัวว่าถ้าพูดแบบนี้แล้วจะผิด ออกเสียงแบบนี้แล้วไม่ถูกต้อง แต่ก่อนเราต้องเข้าซาวด์แล็บออกเสียงกับคอมพิวเตอร์ให้ถูกต้องสุดท้ายมันไม่ได้เป็นการสื่อสาร แต่ของเราเป็นการไลฟ์ออนไลน์คือนอกจากจะเป็นการออกเสียงแล้วยังเป็นการสื่อสารกับครูเจ้าของภาษา

ดูจากรายละเอียดเห็นว่าเริ่มตั้งแต่เด็ก ป.1?

ใช่ค่ะ (ยิ้ม) คือเราเริ่มตั้งแต่ ป.1 เราอยากจะเน้นที่เด็กประถม การเรียนภาษานั้นยิ่งเล็กยิ่งดีเพราะจะทำให้เขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว การได้เจอกับชาวต่างชาติบ่อยๆ นั้นจะทำให้เด็กกล้าที่จะนำไปสื่อสารในชีวิตจริงเพราะเขาจะคุ้นชิน ที่สำคัญคือตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเรียนรู้วัฒนธรรมด้วย โดยวัฒนธรรมของชาวตะวันตกนั้นส่วนมากจะเน้นให้พูด ให้แสดงออก จะผิดจะถูกก็ให้พูดออกมาก่อน แล้วครูเหล่านี้จึงจะค่อยอธิบายค่อยปรับสร้างความเข้าใจ

มันคือการเรียนรู้วัฒนธรรมที่เรียนรู้การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมีเหตุผลของคนตะวันตก ซึ่งตรงนี้จะถูกซึมซับเข้าไปในเด็กทำให้เด็กกล้าคิดกล้าพูดแต่อยู่บนเหตุผลและความถูกต้อง

ผลการใช้งานเป็นอย่างไร?

จากการพัฒนา 2 ปี และเริ่มใช้งานจริงมาแล้ว 3 ปี ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่อื่นๆ ผลก็เป็นที่น่าพอใจอย่างมากเลยค่ะ (ยิ้ม) คือเด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะตอบโต้กับครูต่างชาติ หรือครูที่โรงเรียนเอง สองสามอาทิตย์แรกจะเห็นเลยว่าเด็กจะไม่เข้าใจว่าครูพูดอะไร แต่พอเริ่มอาทิตย์ที่สี่เด็กจะสามารถตอบโต้ได้เอง คือตรงนี้มันเป็นมิราเคิลออฟไลฟ์ของเด็กเยาวชน คือในทางทฤษฎีทุกคนทราบว่าการเรียนภาษาต้องเรียนแบบนี้ แต่ไม่รู้ทำไมว่าในโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังคงเรียนภาษาแบบเดิม เราจึงอยากปฏิรูปวิธีการเรียนภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษในวันนี้ เพราะเราเห็นความจำเป็นอันเร่งด่วนในการที่เราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ทำไมถึงเริ่มที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้?

เหตุผลก็คือทั้งประเทศไทย สถานที่ที่เราอยากจะพิสูจน์ให้คนเห็นคือเราอยากจะไปในที่ที่คนเข้าไม่ถึงแต่เราสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่แพ้เด็กในเมือง คือเรามองว่าพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้นั้นเป็นพื้นที่ที่ต้องการคุณครู ไม่ใช่แต่เฉพาะครูธรรมดา แต่รวมไปถึงคุณครูเจ้าของภาษา ดังนั้น วิธีการเบรนคลาวด์จะเป็นการอุดช่องว่างตรงนี้ได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีไลฟ์เรียลไทม์เข้ามาช่วย

ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาในการทำที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พิสูจน์แล้วว่าเราสามารถทำได้

คิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาภาษาอังกฤษได้มากน้อยแค่ไหน?

คือในระยะที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมาแล้ว เราเองก็อยากเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยและทำให้เด็กจำนวนมากได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องกับเจ้าของภาษา โดยไม่ต้องจ้างครูไปที่โรงเรียนให้เปลืองงบประมาณ เพราะปัจจุบันครูเจ้าของภาษาค่าใช้จ่ายขั้นต่ำก็เริ่มที่สี่หมื่นบาท ต้องตรวจสอบว่าเขามีวุฒิครูจริงหรือเปล่า มีวิธีการสอนที่ถูกต้องหรือไม่ แถมยังต้องมีคนเข้าไปติดตามดูแลว่าผลเป็นอย่างไร ไหนจะต้องคอยดูแลเรื่องวีซ่า เวิร์กเพอร์มิต

สิ่งที่เราทำคือการอุดช่องโหว่ทุกจุดที่มี เพราะจากประสบการณ์จากโรงเรียนทิวไผ่งามเราทำมาแล้วเรารู้ว่ามันเหนื่อยยากแค่ไหนเพื่อให้เกิดคุณภาพอย่างแท้จริงได้ เพราะฉะนั้นเราจึงตัดตอนไม่ให้โรงเรียนอื่นโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กต้องลำบาก เปรียบแล้วครูของเราเป็นเหมือนซาวด์แล็บที่มีชีวิตที่สามารถตอบโต้กับเด็กได้ ไม่ได้ไปทดแทนครูที่มีอยู่ แต่เป็นการสอนแบบทีมเวิร์ก สอนแบบช่วยกันสอน

ส่วนโรงเรียนที่ขาดเราก็สามารถเข้าไปเสริมได้ เพราะเราสามารถอบรมผู้ปกครองหรือคณะกรรมการสถานศึกษา ให้สามารถช่วยเข้ามาดูแลเด็กๆ ในห้อง เป็นการเชื่อมโยงกับชุมชน ผู้ปกครองเองก็สามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กในห้องได้

การพัฒนาต่อไปจากนี้?

ตอนนี้เรามีโรงเรียนที่เข้าร่วมเบรนคลาวด์กว่า 16 โรงเรียน เด็กประมาณ 3,500 คน แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 9 แห่ง โรงเรียนที่อยู่ในเทศบาลนครยะลา 6 แห่ง โรงเรียนเอกชนใน จ.สิงห์บุรี 2 แห่ง และกำลังขยายไปยัง จ.ฉะเชิงเทรา โดยครู 1 คน สามารถสอนเด็กได้ 500-700 คนต่อ 1 ภาคการศึกษา ตอนนี้เรามีครู 21 คน คาดว่าปีหน้าน่าจะเพิ่มจำนวนครูได้เท่าตัว สอดรับกับเด็กที่เลื่อนชั้นก็จะทำให้มีเด็กรวม 6,000-7,000 คน

โดยหลังจากนี้อยากจะเน้นที่จังหวัดชายขอบทั้งหมดเลยที่ขาดแคลนทั้งครูชาวไทยและครูต่างชาติ คือเราสามารถที่จะไปช่วยตรงนั้นได้ แต่ทั้งนี้เราได้ยึดบรรทัดฐานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นแนว แต่มาประยุกต์กับวิธีการเรียนการสอนจากประเทศแคนาดาที่ทำให้คนแคนาดาสามารถเรียนรู้และพูดสองภาษาได้เหมือนกับภาษาแม่ทั้ง 2 ภาษา

เป้าหมายสูงสุดของเบรนคลาวด์ใประเทศไทย?

ก็อยากจะมีโอกาสช่วยพัฒนาเด็กในระดับประถมในประเทศไทย เพราะเราวางแผนไว้แล้วว่าสเกลการทำงานของเราสามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว

ที่สุดแล้วภาพที่อยากเห็นคือ เด็กประถม 1-6 ทุกคนในประเทศสามารถที่จะกล้าพูดภาษาอังกฤษสื่อสารกับชาวต่างชาติได้อย่างชัดเจน มีความสุข และไม่กลัวที่จะสื่อสารอีกต่อไป (ยิ้ม)

ณหทัย ทิวไผ่งาม

ประสบการณ์กับเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

กับเทคโนโลยีในการศึกษาที่ไม่หยุดนิ่ง

ถือเป็นหนึ่งในความประทับใจของ ดร.ณหทัย กับประสบการณ์สามปีกับเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นพื้นที่นำร่องในการใช้เบรนคลาวด์

“เราอยากเห็นและอยากจะช่วยเหลือเด็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าดีเป็นอย่างยิ่ง

“เวลาเราเห็นเขาพูดจะรู้สึกว่าเด็กๆ น่ารักกันมาก” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ตลอด 3 ปี ดร.ณหทัยได้ติดตามการพัฒนาของเด็กๆ มาโดยตลอดและเห็นว่าเด็กในพื้นที่มีการเรียนรู้ที่รวดเร็วกว่าเด็กในเมือง

“ด้วยภาษาใต้และภาษาพื้นเมืองที่เขาพูดอยู่เป็นประจำ มีคำศัพท์และการออกเสียงที่ใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นลิ้นของเขาจึงเอื้ออำนวยในการเรียนภาษามาก

“อย่างตัว ‘อาร์’ เขาสามารถออกเสียงได้อย่างรวดเร็ว คล่องแคล่ว สิ่งนี้ถือเป็นพรสวรรค์ของเด็กภาคใต้” ดร.ณหทัยเล่าด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข

ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเบรนคลาวด์ ซึ่งนับว่าเป็นระบบการเรียนรู้แบบใหม่ กระนั้นเอง ดร.ณหทัยยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการศึกษาเสมอ

“เราก็ติดตามเทคโนโลยีตลอด อย่างทุกวันนี้ก็มีเรื่องเวอร์ชวลเรียลิตี้ ที่ได้เริ่มมีการทำแว่นออกมาใช้งานกับเกมต่างๆ เราเองก็คิดว่าอนาคตอาจไม่ต้องมีทีวี คุณครูสามารถที่จะปรากฏกายได้เหมือนอยู่กับเด็ก ได้เหมือนอย่างหนังสตาร์วอร์

“หรืออาจจะพัฒนาให้ฉากรอบตัวในห้องเรียนปรับเปลี่ยนได้ เช่น หากเราเรียนเรื่องของสวน ฉากรอบห้องก็จะเปลี่ยนเป็นสวนได้

“สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงความฝัน นั่นคืออนาคตที่จะเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นแน่” ดร.ณหทัยย้ำ

ด้วยน้ำเสียงที่เชื่อมั่น-มุ่งหวังที่จะพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image