ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : นักเลงคีย์บอร์ด

โซเชียลมีเดียยุคนี้ ผู้ประกอบการเขาบอกว่าทั้งรักทั้งชัง

หล่นคำว่าโซเชียลมีเดียปุ๊บ โดยอัตโนมัติย่อมหมายถึงการใช้สื่อออนไลน์นั่นเอง ทั่นผู้ชมคะ บทบาทการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ถ้าใช้ให้เป็นพระมันก็เป็นพระ ถ้าใช้ให้เป็นมารมันก็เป็นมาร

วันนี้มีข้อมูลมาเล่าจากประสบการณ์ตรง ช่วงหนึ่งของชีวิตทุ่มเทความสนใจให้กับประเด็นเรื่อง “การร้องเรียนผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์ผ่านสื่อออนไลน์” เขียนให้เป็นวิชาการ แท้จริงจุดประสงค์ต้องการตรวจสอบว่าการร้องเรียน การบ่น การกระแทก การจิกตีโครงการโน้นโครงการนี้ บางครั้งและอาจจะหลายครั้งพัฒนาเลยเถิดเป็นการด่าประจานบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

อยากรู้ไหม เจ้าของยี่ห้อ เจ้าของโครงการ เขารู้สึกรู้สมบ้างหรือเปล่า?

Advertisement

ทำการบ้านมาให้แล้วค่ะ ขอเขาคุยมาตั้ง 7 บริษัท คละเคล้ากันไปตั้งแต่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ บริษัทขนาดกลางขนาดเล็ก มีทั้งอยู่ในตลาดหุ้น อยู่นอกตลาดหุ้น แต่ละรายทำมา 10-20 ปีทั้งนั้น เหตุผลเพราะต้องการคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ ผู้ประกอบการที่พัฒนาที่ดินเป็นอาชีพ ไม่ใช่พวกกาฝากหรือประเภทตีหัวเข้าบ้าน (พวกที่ลูกค้าซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้านนั่นเอง)

แนวคำถามก็ประมาณว่า หลังจากรับโอนบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียมไปแล้ว ทำไมแต่ละยี่ห้อโดนด่าบนโลกออนไลน์เยอะจัง บริหารจัดการกันยังไงมั่งเนี่ย

จะไม่ฟุ้งฝอยเยอะแยะนะคะเพราะข้อมูลแน่นมาก สรุปสาระสำคัญผ่านมุมมองผู้ประกอบการน้ำดีของวงการ เขามองพฤติกรรมคนใช้ออนไลน์เวลาจิกตีหรือแฉโน่นนี่ มีดังนี้

Advertisement

1.กลุ่มคนซื้อบ้านราคา 3 ล้านขึ้นไป คนซื้อมีหลายอาชีพ ตั้งแต่มนุษย์เงินเดือน ข้าราชการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ค้า อาชีพอิสระ ทนายความ คนเริ่มต้นครอบครัวใหม่ และต่างๆ นานา ปรากฏว่าบางบริษัทมีข้อมูลที่ทำให้ขำกลิ้งไปเลยคือ “ดารา+นักวิชาการ” มีพฤติกรรมชอบโพสต์ติชมมากที่สุด

2.อสังหาฯ ยี่ห้อยิ่งดัง ดูเหมือนจะยิ่งโดนด่าเยอะ (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แปลกเนาะ) พฤติกรรมการใช้ออนไลน์เน้นการด่าประจาน และหลายครั้งมีบุคคลที่ 3 ร่วมผสมโรงด้วย นิยามคำว่าบุคคลที่ 3 ก็คือ ไม่ใช่ผู้ซื้อและไม่ได้เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่รับโอน แต่เห็นเขาด่าแล้วคัน ถือโอกาสแสดงความคิดเห็นผสมโรงเข้ามาด้วย

3.กรณีที่เป็นคอนโดฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเรียนปัญหาการพักอาศัย ส่วนใหญ่จะโวยนิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลบ้านจัดสรรนั่นแหละ เช่น กฎเหล็กเขาห้ามนำเตาแก๊ส สัตว์เลี้ยงในคอนโดฯ แต่จะมีพวกชอบลองของแอบทำ เพื่อนบ้านขี้รำคาญไม่รู้จะสรรเสริญยังไงก็เลยมาระบายผ่านแป้นคีย์บอร์ดนี่แหละ บางทีก็เมาธ์มอยตอนกลางคืนเห็น รปภ.หลับยาม เขียนด่าเพื่อนบ้านเลี้ยงหมาแล้วให้มาถ่ายมูลหน้าบ้านคนอื่น เป็นต้น

4.ร้องเรียนเกินข้อเท็จจริงของปัญหา อาทิ โพสต์สรรเสริญ (ด่า) ว่าทำไมนำพื้นที่สวนสาธารณะในโครงการมาสร้างบ้านขาย ปรากฏว่าเจ้าตัวรู้ไม่จริงเพราะมาซื้อทีหลัง คำชี้แจงของบริษัทเขาบอกว่าแปลงที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่จัดสรร ขออนุญาตแบ่งแปลงไว้กับกรมที่ดินอย่างเรียบร้อย แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ สร้างไม่พร้อมกันโอนไม่พร้อมกัน เห็นเป็นที่ว่างบริษัทก็เลยปรับพื้นที่เป็นสวนสาธารณะชั่วคราว พอใกล้หมดโครงการเขาก็ถมที่แล้วนำมาปลูกบ้านขาย ถูกกฎหมายทุกอย่าง เป๊ะ

5.เจรจากับบริษัทไม่ได้ข้อยุติ ก็เลยใช้วิธีนำออกไปสรรเสริญประจานผ่านสื่อสาธารณะซะเลย คำอธิบายของผู้ประกอบการเขาบอกว่าลูกค้าตรวจรับมอบบ้านเดี่ยว 2 ชั้น มีดีเฟ็กต์หรือจุดบกพร่องจากการก่อสร้าง 200-250 จุด บริษัทก็รับแก้ไข เขายกตัวอย่างฝาบ้าน 1 ฝามีดีเฟ็กต์ 17 จุด วิธีการแก้คือทาสีทับ ตวัดแปรงสี 2 ครั้ง ดีเฟ็กต์หายวับทันที

6.ผู้บริโภคไม่ได้คัดกรองข้อเท็จจริง เชื่อผู้บริโภคด้วยกันมากกว่าผู้ประกอบการ อืม…เรื่องนี้ขออนุญาตฟังหูไว้หูละกันค่ะ เพื่อนบ้านอาจมีทั้งรู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ขึ้นกับว่าประกอบอาชีพอะไร มีประสบการณ์อะไรมาบ้าง นานาจิตตัง

และ 7.อันนี้ถือว่าเป็นดาบสองคม เขาบอกว่ามีพฤติกรรม “คู่แข่งขัน” จ้องทำลายภาพลักษณ์ ก็เลยใช้วิธีปลอมตัวเนียนๆ เป็นผู้บริโภค โพสต์สรรเสริญเสียๆ หายๆ ตรงนี้ขึ้นกับคนอ่านแล้วล่ะค่ะว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ

จะเห็นว่ามีสารพัดรูปแบบ คำถามสำคัญคือจะรู้ได้ยังไงว่า “ใคร” เป็น “ลูกค้าตัวจริง” บริษัทจัดสรรเขาบอกว่า ง่ายนิดเดียว ถ้าเป็นลูกบ้านเขามีช่องทางดูแลพิเศษอยู่แล้ว เรียกว่ายิงสายตรงกันเลยทีเดียว เช่น มีกรุ๊ปไลน์เฉพาะกลุ่ม มีเบอร์ติดต่อเฉพาะตัว อ้างอิงแปลงบ้าน สภาพปัญหา การติดต่อ คนประสานงาน เป็นต้น

ประเด็นอยู่ที่ถ้าเป็นลูกบ้านก็แปลว่าซื้ออสังหาฯ ไปแล้ว รับโอนไปแล้ว แต่พวกที่ยังไม่ได้ซื้อไม่ได้โอนนี่สิ เราจะรู้ได้ยังไงว่าที่เขาโพสต์หรือแสดงความเห็นเป็นข้อเท็จจริง เป็นความบริสุทธิ์ใจ

นอกจากนี้ แม้แต่ลูกบ้านที่รับโอนไปแล้ว ก็เห็นมีนักเลงคีย์บอร์ดจำนวนมหาศาลที่ออกมาโพสต์ติชม ในฐานะคนกลางคงได้แต่บอกว่า การซื้อโครงการจัดสรรเป็นการซื้อความคาดหวัง อยู่วิมานรูหนูห้องชุด 1 ล้าน นั่งดูเขาโพสต์ในไลน์กลุ่มบ่นโน่นนี่ราวกับซื้อคอนโดฯ ราคา 5 ล้าน ก็ได้แต่เห็นใจทั้งคนซื้อและคนขายค่ะ

ก่อนจบฝากเป็นข้อมูลไว้ ทางผู้ประกอบการเขายืนยันตรงกันว่า การรับประกันตัวบ้านหรือห้องชุดมีกฎเหล็กข้อเดียวคือการต่อเติมโดยไม่ปรึกษาบริษัท เพราะมีโอกาสต่อเติมผิดแบบหรือต่อเติมไม่เหมาะสมกับโครงสร้างที่เขาทำไว้ให้ เรื่องแบบนี้เขาไม่รับผิดชอบให้ค่ะ

สำหรับข้อแนะนำผู้อ่านข้อติชมทั้งหลาย สิ่งที่เขาโพสต์นั้นเขียนบน “หลักการ” หรือใช้ “หลักกู” กันแน่ ใช้ดุลพินิจให้เยอะๆ ค่ะจะได้ไม่หลงทาง เด้อค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image