ฤาโครงการมา ถึงคราต้องไป ชุมชน‘ริมทางรถไฟ’ ในวันที่เมืองห่างเหิน ‘ความเป็นธรรม’?

ฤาโครงการมา ถึงคราต้องไป ชุมชน‘ริมทางรถไฟ’ ในวันที่เมืองห่างเหิน ‘ความเป็นธรรม’?

เมื่อพูดถึงราชเทวี เขตหนึ่งในใจกลางกรุง หนีไม่พ้นจะต้องนึกถึง พื้นที่แห่งความสะดวกสบายสำหรับคนเมือง ทว่า ระหว่างซอกหลืบแห่งความศิวิไลซ์ หลายชีวิตที่อยู่รอบข้างต่างกำลังเผชิญปัญหาอันเนื่องมาจากการพัฒนาเมือง

เมื่อนานาโครงการถาโถมเข้ามา

ไม่ว่าจะการก่อสร้างรถไฟที่ใกล้เข้ามาถึง ทั้งสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, รถไฟความเร็วสูง นครศรีธรรมราช-หนองคาย รถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-สงขลา ก็ถึงเวลาที่หลายชีวิตริมสองข้างทางรถไฟ ต้องหนีห่าง ขนย้ายสำมะโนครัว

เมื่อไม่นานมานี้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ จัดชุดโครงการเสวนา “สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง” ทิ้งท้ายด้วยประเด็น “วิถีทางชีวิตชุมชนริมทางรถไฟ: ฤาโครงการมา ถึงคราต้องไป” หวังชี้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเมือง ในแบบที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หรือจับโยนไป ลาดหลุมแก้ว หนองจอก มีนบุรี สุวินทวงศ์ ซึ่งเป็นสถานที่ห่างไกลจากการสร้างรายได้ตามวิถีชีวิต

Advertisement

จาก‘วิถี’ริมทางรถไฟ
สู่ ผู้ได้รับผลกระทบ ‘ชุมชนเมือง’

“เริ่มจาก 40-50 ปีที่แล้ว มีบ้านพักพนักงานการรถไฟ ต่อมา มีการต่อเติมเพื่อให้ญาติของพนักงานอยู่ร่วมด้วย จนเกิดเป็นชุมชน ซึ่งคนละแวกนั้นมองว่า บ้านพักของการรถไฟปลูกหรือต่อเติมได้ จึงมาปลูกร่วมด้วย

สมัยก่อนเป็นป่ารกร้าง ก็ถางทางเพื่อเข้ามาปลูกบ้านเพื่อพักอาศัย ไม่มีน้ำ-ไฟ ใช้วิธีจุดตะเกียง หรือไม่ ก็ต่อจากบ้านใกล้เคียง จากบ้านพักของการรถไฟ”

Advertisement

คือเสียงของ เชาวน์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร หรือ เพชรบุรีซอย 5 ตอบด้วยสถานะหนึ่งในเจ้าของเมือง เล่าที่มาที่ไป ไล่ย้อนถึงจุดกำเนิดของชุมชนริมทางรถไฟ ที่ด้วยความที่เป็นป่ารกร้าง มีการก่ออาชญากรรมบ่อยครั้ง แต่เมื่อบ้านเรือนขึ้นมาก ปัญหานั้นก็หมดไป

ต่อมามกราคม 2563 พนักงานการรถไฟลงสำรวจชุมชน ขอบัตรประชาชนเจ้าของบ้าน จดบันทึกจำนวนปีที่อยู่อาศัย และบอกว่า จะมีการรื้อถอนชุมชนภายใน 6 เดือน ชาวบ้านจึงประชุมและพูดคุยกับกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) หารือถึงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ว่าจะเข้า “โครงการบ้านมั่นคง” ได้หรือไม่

คือจุดเริ่มต้น ก่อนจะรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อบ้านมั่นคง สำรวจที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพในชุมชนโดยเขตราชเทวีมี 24 ชุมชน และมีผู้เดือดร้อนประมาณ 10 ชุมชน ต่อมาประชุมเครือข่ายผู้รับผลกระทบรถไฟ ร่วม 4 เขต ได้แก่ ราชเทวี จตุจักร บางซื่อ ห้วยขวาง และรวมตัวเป็นเครือข่าย ชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เพื่อผลักดันเรื่องที่อยู่อาศัย มีการประชุมกับคณะกรรมาธิการศาล พบรองผู้ว่าการการรถไฟ

ทั้งนี้ รองผู้ว่าการ บอกว่า “งบประมาณรื้อย้ายมี แต่จะไม่ให้คนที่บุกรุก ให้เฉพาะคนที่ถูกเวนคืนที่ดินเท่านั้น ทางสลัม 4 ภาค จึงนัดผู้ว่าการ มาพูดคุยเมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ว่าการรถไฟมีแนวทางการแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับสลัม 4 ภาคและชุมชนเพื่อหาทางออกร่วมกัน” ประธานชุมชน ย่านเพชรบุรีซอย 5 เผย

‘คนจนเมือง’
ผลผลิตแห่งความล้มเหลวจากการ ‘พัฒนา’

“พูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีใครอยากมาอยู่ชุมชนริมทางรถไฟแบบนี้ หรือมาอยู่ตามริมคลอง เขต กทม. ที่ต้องมาอยู่เพราะเป็นผลิตผลทางโครงสร้างของการพัฒนาประเทศที่รากฐานเดิมเป็นเกษตรกรรม แต่คนชนบทอยู่ไม่ได้” อัภยุทย์ จันทรพา จากกลุ่มปฏิบัติการคนจนเมือง เล่าสิ่งที่อยู่ในใจ โดยมองว่า คนจนเมือง คือ ผลิตผลที่ล้มเหลวจากการพัฒนาประเทศ ที่มักไม่ค่อยถูกรัฐพูดถึง

“สิ่งที่พูดคือ คุณมาบุกรุก ผิดกฎหมาย ทำไมคนเหล่านี้ต้องมาจากต่างจังหวัดมาอยู่ในสภาพแออัด ลำบากในกรุงเทพฯ ในเมืองหลวง สิ่งที่การรถไฟมีนโยบายไล่รื้อที่เมื่อ 20 ปีก่อน จึงเป็นแนวนโยบายที่ขัดต่อความรู้สึกพี่น้อง ที่ไม่ใช่ผู้บุกรุก ด้วยความจำเป็นต้องมาหาที่อยู่อาศัย หากินในเมืองเพื่อที่จะมีชีวิตที่ดี เมื่อมีการไล่รื้อ ควรจะมีการเจรจาว่าจะอยู่อย่างไร ทำไมให้คนรวยเช่าที่ได้ตลอด คนจนขอเช่าที่บ้างไม่ได้หรือ ทำไมเราจะต้องผิดกฎหมายตลอด ให้เราเช่าที่แบบถูกกฎหมายบ้าง เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของเมืองไปแล้ว เนื่องจากชนบทอยู่ไม่ได้ ต้องเข้ามาอยู่ในเมือง”

คือประเด็นในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา คือยุคใหม่ที่ชุมชนริมทางรถไฟกำลังเผชิญกับการไล่รื้อครั้งสำคัญ ช่วงปี 2541-2542 โดยเป้าหมายต้นๆ อยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะลามไปชนบท เกิดกระแสการรื้อ จากการรถไฟ กระทรวงคมนาคม ด้วยเหตุว่าเป็นผู้บุกรุก ผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการผลักไสออก เพื่อนำที่ดินไปประมูลหารายได้ ซึ่งสิ่งที่กล่าวหาไม่ตรงกับทัศนคติของชาวบ้าน ที่เข้ามาบุกเบิกเมื่อ 30-50 ปีก่อน

อัภยุทย์ยังเผยถึง การเคลื่อนไหวเพื่อขอเช่าที่ดินการรถไฟระยะยาว 30 ปี โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค พร้อมถอดบทเรียนเรื่องนี้ด้วยว่า

เมื่อก่อนการรถไฟไม่เคยให้เช่าที่ 30 ปี เต็มที่ก็ปีต่อปี ไม่มีความมั่นคงใดๆ ที่ผ่านมารัฐแก้ปัญหาด้วยทัศนคติ ที่ว่า “บุกรุก” วิธีการคือผลักออกจากพื้นที่ ไล่รื้ออย่างง่ายๆ ต่อมามีมาตรการเยียวยา เช่น หาพื้นที่นอกเมือง หรือสร้างแฟลตให้ ซึ่งอยู่ไม่ได้ เพราะที่นอกเมืองไกลมาก หากินลำบาก คนจนจึงต้องการอยู่ในเมือง ซึ่งแฟลตก็ไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและอาชีพ แนวทางแก้ปัญหาที่ไล่คนจนออกนอกเมือง หรือยัดขึ้นบนอาคารสูงจึงได้รับการปฏิเสธ

อย่างไรก็ดี อัภยุทย์มองว่า การส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ต้องใช้สิทธิบางประการ เพราะการส่งตัวแทนไปพูด รัฐบาลไม่ฟัง 7-8 มิถุนายน 2543 จึงใช้การชุมนุมอย่างสันติ ตามวิถีรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐธรรมนูญปี 40 ก้าวหน้ามาก

“ปี 2515 ก็เจอกับโครงการโครงการรถไฟเวนคืนที่ มีกระแสขับไล่ขนานใหญ่ เกิดการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะอยู่ในเมือง ในยุคนั้นหารือกับผู้ใหญ่การรถไฟ เดินขบวน ต่อต้านในชุมชน ล้อมกระทรวงก็ทำมาแล้ว หลายรูปแบบ ใช้เวลาอยู่ 2 ปี ท้ายที่สุดเกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนแนวความคิดนำมาสู่ข้อสรุปร่วมกันว่า

“แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด น่าจะเป็นลักษณะแบ่งปันที่ดิน เพื่อให้คนจนมีที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย และสอดคล้องกับวิถีชีวิต

โครงการที่ผ่านมาไม่เคยออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนจน ล้มเหลว หรือหากปรับปรุงไม่ได้ ชุมชนจะขยับออกจากพื้นที่ตรงนั้น โดยจะต้องมีการจัดที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทำมาหากินจากถิ่นฐานเดิม

“ปัญหาคนจนในเมืองคือ ปัญหาสังคมทางโครงสร้างประเภทหนึ่งที่รัฐบาลควรจะต้องให้การดูแล ทางออกที่สันติ คือ ถอยกันคนละก้าว โครงการรัฐก็พัฒนาได้ คนจนก็มีที่อยู่อาศัยในเมือง วิถีชีวิตก็ไม่ถูกกระทบ แถมยังเป็นฐานการพัฒนาในด้านอื่น

“ช่วงโควิด ชุมชนหลักหก แถว ม.รังสิต ซึ่งสถานีรถไฟสายสีแดงย้ายไปอยู่ใกล้ๆ 2 กิโลเมตรตามแนวทางมติบอร์ด ให้เช่าที่ 30 ปี ช่วงโควิดระบาด ชุมชนหลักหกเป็นโรงครัวกลางของพี่น้องในย่านนั้น คนมาต่อแถวยาวเกือบกิโล ทำอาหารแจกคน นี่คือฐานการพัฒนา เมื่อชุมชนอยู่ที่เดิมได้เป็นหลักเป็นแหล่ง ก็ต่อยอดการพัฒนา คิดถึงคนอื่น แต่วันนี้การรถไฟจะกลับไปใช้วิธีเดิมอีก เป็นภาระของคนจนริมทางรถไฟรุ่นใหม่ ชมฟ.จะต้องผลักดันต่อ ให้แนวทางมติปี 2543 ถูกขยายไปยังชุมชนอื่นๆ เพราะพิสูจน์แล้วว่า เรากับรัฐไม่ต้องทะเลาะกัน”

คือ หนึ่งตัวอย่างของการใช้ ‘สิทธิ’ เจรจาอย่าง ‘สันติ’ คือภาพการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันของภาคประชาชน

ท้าทายตรรกะทุนนิยม
เมืองของ ‘ผู้คน’ ใช่เพื่อค้ากำไร

ด้าน ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ พาสำรวจวิถีของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเมือง

พร้อมอธิบายว่า ทำไมคนริมทางรถไฟจึงต้องมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง

“ชีวิตของผู้คนริมทางรถไฟ สัมพันธ์กับชีวิตเมือง เพชรบุรีซอย 5 หรือกิ่งเพชร มีทางรถไฟที่ขนานกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ชุมชนเรียงรายเรียกว่าเครือข่ายราชเทวี ซึ่งมีปลายทาง กม.11 และหมอชิต ซึ่งเพชรบุรีซอย 5 ย่านราชเทวี เราจะนึกถึงตึกสูง ห้างสรรพสินค้า ถ้าเดินจากปากซอยเข้าไป จะเต็มไปด้วยรถเข็นขายของอพาร์ตเมนต์ นักศึกษาจากต่างจังหวัดที่มาหาหอพักแถวนี้ เพื่อไปติวแถวมาบุญครอง สอบเอนทรานซ์” ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าว ก่อนจะฉายภาพให้เห็น

ร้านกาแฟพี่นี

เริ่มจากต้นซอย ขายก๋วยเตี๋ยว กลางซอย ขายลูกชิ้น เดินทะลุไปอีกนิด คือชุมชนริมทางรถไฟ ซึ่งจากการลงพื้นที่ อาชีพที่คนจนประกอบ ส่วนมากคือ ค้าขาย หาบเร่ โดยเฉพาะย่านนี้ที่ค้าขายดีมาก ขายของให้กับคนจำนวนมากที่มีชีวิตแบบ ไม่ได้กินฟู้ดคอร์ต หรือศูนย์อาหารทุกวัน

“เมื่อเดินลึกเข้าไปข้างทางจะเห็นรถขายของเป็นส่วนใหญ่ ผมเคยซ้อนมอเตอร์ไซค์วินลุงตี๋ ซึ่งเป็นประธานชุมชน ออกมาหน้าซอย ระหว่างทางมีคนตะโกน ‘พี่ตี๋ฝากซื้อข้าวหน่อย’ เขารู้ว่าบ้านนี้อยู่ซอยไหน จะเห็นภาพนี้สองข้างทาง”

ผศ.ดร.บุญเลิศเล่าด้วยว่า ภาพที่เราเห็นคนขายของแถวตึกใบหยก ความจริงเข็นรถออกมาจากชุมชนทางรถไฟ คุณป้าขายกาแฟตอนเช้า ตอนเย็นจะเห็นนั่งอยู่หน้าบ้าน คนเหล่านี้ประกอบอาชีพเลี้ยงเมือง แต่คุณภาพชีวิตอยู่ริมทางรถไฟ ขายของมือไม้สะอาด แต่คล้อยหลังไปเรารู้หรือไม่ว่าเขามีคุณภาพชีวิตแบบไหน

“อาชีพหาบเร่แผงลอยเป็นส่วนใหญ่ของคนในชุมชน ยังมีอาชีพอื่นเช่นแม่บ้านที่ทำงานในตึกแถวพญาไท แต่รายได้ไม่มาก ต้องทำงานที่ใกล้บ้าน ซักรีด ทำผม ขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนเย็บสูทที่อยู่บนแพลทินัม ก็คือคนที่อยู่ในชุมชนรับงานมาเย็บที่บ้าน คือชีวิตที่อยากให้เห็นภาพว่า อาชีพของคนในชุมชนสัมพันธ์กับเมืองอย่างไร ไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีแรงงานราคาถูก ใครจะเป็นคนขายอาหารราคาถูกให้คนที่ทำงานพอจะได้ซื้อกินอยู่ได้” ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าว และเล่าต่อว่า

เมืองเจริญไม่ได้ ถ้าปราศจากคนจน ทวีศักดิ์ แสงอาทิตย์ คนในชุมชนคลองไผ่สิงห์โต ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับหอประชุมแห่งชาติฯ เคยกล่าวไว้

ตัดภาพมายังโครงการที่ภาคเอกชนเร่งรัดให้มีการส่งมอบพื้นที่อย่างรวดเร็ว เช่น พญาไท ดอนเมือง ส่งมอบวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งหมายความว่า อีกไม่กี่เดือน หากจริงตามนั้น ก็เร็วมาก จนชาวบ้านไม่มีเวลาตั้งตัว

“บางทีถ้าคิดจะชนะว่าทำอย่างไรให้สำเร็จ ย้ายได้ จะใช้วิธีการฟ้องหรือให้เงิน ก็ไม่ยั่งยืน ในความหมายที่ว่า ไม่ได้ช่วยให้คนย้ายเข้าไปหาที่รองรับ และมีคุณภาพที่ดีในระยะยาวได้ พอเอาเข้าจริงแล้วชุมชนไม่ได้ไปไหน อยู่แถวๆ นั้น กลายเป็นคุณย้ายที่ 1 ก็ไปผุดเป็นสลัมอีกที่ อีกฝั่งหนึ่ง

ปัจจุบัน สิทธิในการกำหนดเมือง ตกอยู่ในมือของเอกชน หรือกึ่งเอกชน ใช้ทรัพยากรเพื่อเอื้อทุนใหญ่ คือ การพัฒนาเมืองที่คนรวยได้ประโยชน์”

“การพัฒนาเมืองแนวใหม่ ต้องท้าทายตรรกะทุนนิยม ไม่เพียงการมีส่วนร่วมกลวงๆ ไม่ใช่ใครมีสตางค์เยอะก็ประมูลได้ไป ซึ่งไม่ควรคิดแบบนี้ ควรจะให้ใครใช้ประโยชน์ แล้วได้ประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่า เมืองต้องเป็นเมืองของผู้คน ไม่ใช่เมืองเพื่อค้ากำไรเท่านั้น” ผศ.ดร.บุญเลิศย้ำ พร้อมหยิบยกคำกล่าว ของ Susan Fainstien มาอ้างอิงปิดท้าย

“เมืองที่เป็นธรรม ที่อยู่อาศัยเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งถึงความเป็นธรรม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image