เริงโลกด้วยจิตรื่น : อันเป็นที่รัก

หากติดตามความเป็นไปของผู้คนในโลกนี้อย่างพินิจพิจารณา จะพบว่าเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เคยจบเคยสิ้นคือ “ความรัก”

เริ่มต้นด้วยความหอมหวาน “ความรัก” เป็นทั้งตัวกำหนดชี้เป้าหมายที่ดีงาม และเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตให้ไปสู่เป้าหมายนั้น

“ความรัก” เป็นเช่นนั้น เป็นสิ่งวิเศษ

แต่เมื่อเวลาผ่านเลยมาช่วงหนึ่ง มีคนจำนวนมาก ดูจะเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำที่รับรู้ว่า “ความรักเป็นความเจ็บปวด”

Advertisement

ทำให้รู้สึกว่าต้องเป็นอยู่อย่างเลวร้าย เป็นเครื่องบั่นทอนพลังที่จะต้องใช้ขับเคลื่อนชีวิต

แม้จะมีไม่น้อยที่จะอยู่ในสภาวะนั้นต่อไปเพราะมีความอดทนเพียงพอ แต่มีไม่น้อยที่จะเลิกร้าง ลาจาก ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

สัมผัสและรับรู้ “ความรัก” ในอารมณ์ตรมตรอม ขื่นขม อ่อนล้า เบื่อหน่ายที่ต้องรักษาไว้

Advertisement

ที่เป็นเช่นนั้น หากมองให้ละเอียดแล้ว เป็นเพราะยังไม่แยก “ความรัก” ออกจาก “สิ่งอันเป็นที่รัก”

“ความรัก” นั้นเป็นความรู้สึกรูปแบบหนึ่ง เป็น “นามธรรม”

ขณะที่ “สิ่งอันเป็นที่รัก” นั้น เป็น “รูปธรรม” อาจจะเป็น “คนคนหนึ่ง สิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง ข้าวของอย่างหนึ่ง” คือหลายสิ่ง หลายอย่าง

คนเราปกติทั่วไป ไม่ค่อยมีใครไปแยกแยะ “นาม” กับ “รูป”

“ความรัก” กับ “สิ่งที่รัก” มักหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน

“ความรักกับคนรัก” หรือ “ความรักกับของรัก” หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอ

เมื่อ “รัก” เสียแล้ว คนนั้น สิ่งนั้นก็เป็นหนึ่งเดียวกับความรัก

แต่ “อันเป็นที่รัก” กับ “ความรัก” แท้จริงแล้ว มีธรรมชาติคนละแบบกัน

“ธรรมชาติ” หมายถึงสภาวะที่เกิดจากการประกอบกันขึ้นของสิ่งต่างๆ ปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่คุณสมบัติของธาตุ ที่่มีปฏิกิริยาต่อคลื่นแม่แหล็กอันเป็นพลังขับเคลื่อนโลก คลื่นแสง จนถึงดินฟ้าอากาศ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ที่ประกอบขึ้นมาเป็น “ความรัก” ในความหมายของ “ปรารถนาดีงาม” และ “พลังขับเคลื่อนให้ไปถึงปรารถนานั้น” มีความแน่นอน เป็นอย่างไรเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ขึ้นกับกาลเวลา สภาวะใดๆ

แต่ “สิ่งอันเป็นที่รัก” เป็นแต่รูปธรรมที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา

“คนที่รัก” ประกอบด้วบพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษยาวนาน เปลี่ยนแปลงตามการผสมผสานใหม่ เกิดจากการหล่อหลอมด้วยคำสั่ง วิธีสอน ระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรมครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ

“สิ่งที่รัก” ถูกสร้างขึ้น ด้วยความมุ่งหวังของคนที่ผลิต ประกอบ และตัดแปลง ปรุงแต่ด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลไกที่ซับซ้อน

“ความรัก” มีคุณสมบัติเป็นสากล ขับเคลื่อนชีวิตไปสู่ความดีงาม

แต่ “อันป็นที่รัก” นั้น เข้าใจได้ยากยิ่ง เพราะ “ผู้ที่เข้าไปรัก” ไม่ได้เป็น “ผู้สร้างขึ้นมา” ไม่มีความรู้ ที่จดจำความได้ว่าองค์ประกอบ หรือปัจจัยที่จำมาสร้างนั้นมีอะไรบ้าง ก่อเกิดกลไกอย่างไร

ความเข้าใจที่มีอยู่บ้างนั้นแค่ “ผิวเผิน”

จะหวังเข้าใจทั้งหมด ดูจะเป็นไปไม่ได้

ขณะที่ “ความรัก”เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น คงอยู่ในฐานะพลังขับเคลื่อนที่ดีงามตลอดกาล

แต่ “สิ่งอันเป็นที่รัก” เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จากความไม่แน่นอนของการรับพลังสามแม่เหล็ก ความไม่คงที่ของสภาวะแวดล้อม เสื่อมจากรูปรอยที่เคยเป็นไปตามเงื่อนไขของเวลา

นี่คือธรรมชาติที่แตกต่าง ของ “ความรัก” กับ “สิ่งอันเป็นที่รัก”

ด้วยเหตุที่ว่ามาแล้วคือมนุษย์เรามักเชื่อมรวม “ความรัก” กับ “สิ่งอันเป็นที่รัก” เป็นหนึ่งเดียว ทำให้เกิดการให้ความหมายของ “สิ่งที่รัก” ด้วยนิยามของ “ความรัก”

รับรู้ “สิ่งที่ไม่แน่นอน และไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ถ่องแท้” ด้วยความเชื่อแบบเดียวกัน “สิ่งที่มีความแน่นอน และรับรู้ได้ด้วยแค่อาศัยสัมผัสด้วยความรู้สึกที่เป็นพื้นฐานของหัวใจ”

ความสับสนนี้ จึงเกิดความเข้าใจผิดขึ้น

“ความเจ็บปวด” ซึ่งเกิดจาก “สิ่งอันเป็นที่รัก” ซึ่งมีธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง ที่เกินกว่าจะเรียนรู้ได้แจ้งชัด ถูกยึดถือด้วยความรู้สึกที่มีต่อ “ความรัก”

ความไม่เข้าใจ ผิดหวัง จนถึงสิ้นหวังจึงเกิดขึ้น

จนกว่าวันหนึ่ง ชีวิตจะยอมรับว่า “สิ่งอันเป็นที่รัก” กับ “ความรัก” นั้นเป็นคนละส่วนกัน

ธรรมชาติของ “สิ่งอันเป็นที่รัก” มีความเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ เรารักสิ่งเราไม่มีทางเข้าใจมาตั้งแต่ต้น เป็นสิ่งเราคิดเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วหากสอบทานให้ลึกลงไปอีก เป็นเรารับรู้แค่ในส่วนที่เราชอบเราอยากให้เป็นซึ่งประกอบอยู่บ้างใน “สิ่งอันเป็นที่รัก”

และละเลยที่จะรับรู้สิ่งอื่นนอกเหนือจากที่เราชอบ ทั้งที่สิ่งอื่นเหล่านั้นประกอบอยู่ใน “สิ่งอันเป็นที่รัก” มากมายตั้งแต่ต้น แค่เราเลือกที่จะไม่เห็น ไม่ทำความเข้าใจเท่านั้น

ดังนั้น ความเบิกบานของชีวิตคือ

อยู่กับ “ความรัก”

และเข้าใจธรรมชาติของ “สิ่งอันเป็นที่รัก” ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไป อย่างยากที่จะเข้าใจ เป็นปกติ

จันทร์รอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image