อาศรมมิวสิก : นวัตกรรมการเรียนดนตรี พัฒนาศักยภาพเด็กเป็นวาระแห่งชาติ

ความพยายามที่จะพัฒนาการศึกษาเด็กให้ได้เล่นดนตรีเพื่อเพิ่มศักยภาพความเป็นเลิศ “พรสวรรค์ศึกษา” ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 โดยจัดการศึกษาดนตรีให้เด็กได้เรียนเครื่องมือแบบตัวต่อตัว เรียนเป็นวงออเคสตรา ทั้งนี้ ได้เน้นการเรียนเครื่องสายสากล อาทิ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล และดับเบิลเบส ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงออเคสตรา ในบ้านเรานั้นยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร โดยตั้งใจว่าจะสร้างวงออเคสตราอาชีพขึ้น จึงต้องลงทุนสร้างนักดนตรีเครื่องสายสากลให้แข็งแรง โดยการเริ่มสร้างตั้งแต่เด็กตัวน้อยๆ

การลงทุนโดยใช้ลูกๆ 3 คนเป็นเครื่องทดลองให้เรียนเครื่องสายสากล พร้อมชักชวนลูกของเพื่อนและเพื่อนของลูกให้มาเล่นเครื่องสายสากลด้วย โดยหาครูเครื่องสายที่เก่งๆ จากเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี มาเป็นครูสอน เพื่อวางรากฐานความแม่นยำเรื่องเสียง มีวิธีเรียนแบบตัวต่อตัว สร้างฝีมือในการเล่นดนตรี และการพัฒนาพื้นฐานดนตรีที่ถูกต้อง เป้าหมายอยู่ที่คุณภาพ ซึ่งมาตรฐานนั้นต่อรองไม่ได้ ให้ดนตรีที่ดีได้ซึมซับเข้าไปในตัวเด็ก ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนดนตรี เชื่อว่าครูจากยุโรปเป็นครูเครื่องสายที่เก่ง ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ มีพื้นฐานที่ดีและมีมาตรฐาน ถือเป็นการวางรากฐานการศึกษาดนตรีใหม่ให้แก่เด็กไทย

เด็กๆ ได้ถูกสร้างให้เล่นเป็นวงออเคสตรา เมื่อมีพัฒนาการด้านเสียงดนตรีที่ดีและมีความก้าวหน้า ซึ่งพอจะอวดชาวบ้านได้แล้ว จึงได้รวมเด็กในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อไปเข้าค่ายวงออเคสตราที่ยุโรป เยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี โดยสับเปลี่ยนเวียนกันไปในแต่ละปี กระทั่งวงออเคสตราเด็กมีความสามารถสูงขึ้นได้ส่งเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2548 วงออเคสตราจากไทยได้รับรางวัลชนะเลิศที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้สร้างความเชื่อมั่นในการจัดตั้งวงออเคสตราอาชีพในเวลาต่อมา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า พรสวรรค์สร้างได้ ไม่ต้องคอยเทวดา โดยการทำงานหนักและทำอย่างจริงจังเท่านั้นที่ทำได้สำเร็จ

การต่อยอดโดยการสร้างวิทยาลัยดนตรีเพื่อพัฒนานักดนตรีอาชีพ ก่อตั้งวงออเคสตราอาชีพให้มีคุณภาพเสียงที่เป็นสากล ได้สร้างหอแสดงดนตรีที่มีคุณภาพเสียงรองรับวงออเคสตราในระดับนานาชาติ เพราะเชื่อว่าเมื่อคนได้สัมผัสกับเสียงมาตรฐานสากลแล้ว ผู้ฟังก็จะได้คำตอบเองโดยไม่ต้องอธิบาย

Advertisement

เป้าหมายลำดับต่อมาก็คือ การสร้างสถาบันวงออเคสตรา (Orchestra Academy) เพื่อให้เด็กไทยจะได้ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องดิ้นรนไปเข้าค่ายดนตรีในยุโรปกันอีก เมื่อมีสถาบันดนตรีที่ดีในประเทศแล้ว มีครูดนตรีที่เก่ง มีอาคารสถานที่พร้อม ก็สามารถพัฒนาการศึกษาดนตรีให้มีคุณภาพได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร

เมื่อถึงวันหนึ่ง คุณภาพที่สร้างเอาไว้ก็หายลับไปกับตาอย่างไม่น่าเชื่อ ฝีมือและราคาความน่าเชื่อถือก็สูญสิ้น วงออเคสตราอาชีพล่มสลาย นักดนตรีและครูดนตรีฝีมือดีต้องไปหาอาชีพอื่นทำ

ปลายปี พ.ศ.2561 ได้เริ่มโครงการพัฒนาการศึกษาดนตรีใหม่ คราวนี้ได้เริ่มพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิด (0-3 ขวบ) ใช้ระบบการศึกษาดนตรีของ “ซูซูกิ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ เป็นการเรียนดนตรีที่พลิกโฉมการเรียนดนตรีในญี่ปุ่นและชาวโลกมาแล้ว วันนี้มีนักดนตรีหัวดำในวงออเคสตราโลก ส่วนใหญ่ได้พื้นฐานการเรียนระบบซูซูกิ โดยปรัชญาเชื่อว่า เด็กจะเก่งได้ต้องบ่มเพาะตั้งแต่เล็ก ครูดนตรีที่เก่งต้องเป็นครูสอนเด็ก ในการพัฒนาดนตรีให้เด็กมีฝีมือต้องอาศัยปรัชญาและปัญญานำ ความเข้าใจของพ่อแม่เป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการเรียนดนตรีของเด็ก การทำซ้ำและการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีครูคอยชี้ผิดและบอกถูกให้

Advertisement

ครั้งนี้มีครูสอนเครื่องสายรุ่นใหม่ ได้คณะครูเครื่องสายจากรุ่นแรกที่เคยได้ผ่านการเข้าค่ายและการแข่งขันในยุโรปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจเป็นครูต้นแบบให้แก่เด็ก ครูเครื่องสายรุ่นใหม่นี้นอกจากเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีฝีมือดีแล้ว ยังมีประสบการณ์สูงในการเล่นกับวงออเคสตรา ที่สำคัญก็คือ เป็นครูที่ลงทุนไปเรียนวิธีสอนเครื่องสายในระบบซูซูกิเพิ่มเติมต่อ ซึ่งมีการจัดอบรมครูดนตรีซูซูกิทั่วโลก การจะเป็นครูดนตรีระบบซูซูกิจะต้องผ่านการฝึกอบรมจึงจะเป็นครูในระบบของซูซูกิได้ ครูดนตรีเหล่านี้ต้องมีฝีมือ เข้าใจปรัชญา รู้จิตวิทยา รู้ลำดับขั้นตอน และรู้จักใช้บทเพลงในการสอนเด็ก ครูระบบซูซูกิ นอกจากจะสอนเด็กแล้ว ครูต้องสอนพ่อแม่เด็กด้วย ซึ่งยากมาก แต่ก็เป็นเงื่อนไขที่พ่อแม่ต้องเรียนดนตรีไปพร้อมกับลูกด้วย

ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2563 เป็นการเข้าค่ายวงออเคสตราครั้งแรก ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ซึ่งจัดขึ้นทดแทนการเดินทางไปเข้าค่ายที่ยุโรป มีครูเครื่องสายรุ่นใหม่ ซึ่งได้ผ่านการฝึกอบรมในระบบการสอนดนตรีซูซูกิ ร่วมเข้าค่าย 12 คน มีเด็กเครื่องสายรุ่นใหม่ 45 คน อายุระหว่าง 5-15 ปี ที่สำคัญมีพ่อแม่ให้ความร่วมมือร่วมสังเกตการณ์ในค่ายอีก 110 คน ซึ่งทุกคนก็ตั้งใจมาก มีผู้ควบคุมวงออเคสตราที่มีประสบการณ์สูง พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์ ซึ่งเคยร่วมเข้าค่ายดนตรีเด็กในยุโรปมาก่อน

พ่อแม่ผู้ปกครองนั้น ต่างก็มีงานประจำทำอยู่ ต่างก็ลาหยุดงานเพื่อไปดูการเข้าค่ายออเคสตราของลูก โดยให้เหตุผลว่า “นี่คือวาระแห่งชาติ” เป็นการพัฒนาการศึกษาของลูกที่พ่อแม่จะต้องลงทุนและทุ่มเทร่วมกัน เพราะเชื่อว่า “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกันสร้าง” พ่อแม่ผู้ปกครองถึงกับน้ำตาซึม เมื่อได้ยินเสียงของวงออเคสตราที่เด็กๆ เล่น ไม่อยากเชื่อว่าลูกสามารถจะพัฒนาได้ถึงเพียงนี้

ปรัชญาของซูซูกินั้น ประเด็นหลัก คือ เด็กเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม เด็กเป็นอย่างไรเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างนั้น เด็กเรียนรู้โดยการเลียนแบบและทำซ้ำๆ แบบจะต้องดี ที่สำคัญก็คือ ครูและพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดีของเด็ก เสียงที่เด็กเล่นดนตรีจะบอกให้ผู้ฟังรู้ว่า “เสียงใสมาจากใจที่สะอาด” ดังนั้น ครูซูซูกิจึงต้องสอนพ่อแม่ให้เรียนดนตรีด้วย และสอนให้เด็กเล่นดนตรีให้มีเสียงที่ไพเราะงดงาม

ที่เป็นวาระแห่งชาติก็เพราะว่า เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กคือหัวใจของพ่อแม่ ทุกครอบครัวต้องช่วยพัฒนาศักยภาพของลูกให้เป็นคนดีและมีศักยภาพไปได้ไกลที่สุดเท่าที่พ่อแม่จะทำได้ พ่อแม่จึงต้องลงทุนเรื่องการศึกษาที่ดีที่สุดให้แก่ลูก เป็นวาระแห่งชาติเพราะเห็นว่าเมื่อเด็กอยู่ในประเทศไทยก็สามารถเรียนรู้ดนตรีได้ดี ไม่ต่างไปจากการส่งลูกไปเรียนในประเทศที่เจริญแล้ว

เมื่อโรงเรียนในยุโรปปิดลงเพราะได้รับผลกระทบโรคโควิด พ่อแม่ที่ส่งลูกไปเรียนในยุโรป ต้องกลับมาอยู่ในเมืองไทย ก็นำลูกมาเข้าค่ายดนตรีในครั้งนี้ด้วย ถึงกับอุทานว่า นี่เป็นวาระแห่งชาติ มีงานอะไรที่ต้องทำอยู่ก็ต้องหยุดหมดเพื่อใช้เวลาดูแลลูก ลืมไปว่าธรรมชาติของการศึกษาไทย ที่จัดขึ้นโดยคนไทย มีครูไทยเพื่อจะสอนเด็กไทยนั้น ไม่มีใครเชื่อถือเรื่องคุณภาพ วาระแห่งชาตินั้น คือการที่พัฒนาและสร้างคุณภาพในการสอนดนตรีให้เกิดขึ้น เป็นที่เชื่อถือของพ่อแม่ผู้ปกครองให้ได้

ในการเข้าค่ายดนตรีเด็ก มีวิชาเรียนตัวต่อตัว วิชารวมกลุ่มเครื่องมือเดียวกัน มีวิชาวงออเคสตรา วิชาขับร้องเพราะนักดนตรีจะต้องร้องให้ถูกเสียง มีการแสดงวันสุดท้ายโดยมีพ่อแม่และญาติมิตรเป็นผู้ชม

มิติใหม่นี้ เป็นพลังของความมุ่งมั่นของครูดนตรีระบบซูซูกิรุ่นใหม่ ครูดนตรีที่มีพลังบวก ครูดนตรีที่ได้สัมผัสคุณภาพและมองเห็นอนาคต มีความเชื่อมั่นในเรื่องการสร้างและการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กได้โดยอาศัยการเรียนดนตรี ครูดนตรีเหล่านี้เชื่อมั่นในความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นอุดมการณ์ร่วมที่ทำให้คนรุ่นใหม่รวมตัวกัน ครูเครื่องสายรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์เหล่านี้ มีความมุ่งมั่น มีพลังในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เป้าหมายอยู่ที่คุณภาพของการศึกษา เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ใหม่ให้มีศักยภาพและมีคุณภาพที่เป็นสากล

เมื่อครูดนตรีระบบซูซูกิเชื่อมั่นในฝีมือและเชื่อมั่นในการพัฒนาเด็ก ทำให้พ่อแม่เชื่อมั่นในการเรียนดนตรีของเด็กอย่างมีเป้าหมายชัดเจน ในที่สุดผลลัพธ์ของการเข้าค่ายและอยู่ร่วมกันเพียง 3 วัน ทำให้เด็กสามารถสร้างเสียงของวงออเคสตราได้อย่างไพเราะงดงาม แม้พ่อแม่เด็กเองก็ไม่อยากเชื่อ แต่ต้องยอมรับเพราะได้สัมผัสจริงด้วยตนเอง เสียงดนตรีของวงออเคสตราเด็กออกมาดี มีความพร้อมเพรียง ผ่านการฝึกซ้อมที่มุ่งมั่น ทำให้เด็กทุกคนมีความเชื่อมั่นในอนาคต

นวัตกรรมของการเรียนดนตรีของเด็กคือ ครูดนตรีเก่งสร้างให้เด็กเก่ง การเรียนของเด็กได้เรียนกับครูตัวต่อตัว การเรียนดนตรีอย่างจริงจังโดยมีพ่อแม่ร่วมเรียนด้วย เพื่อช่วยให้พ่อแม่ได้เข้าใจความยากลำบากในการเรียนดนตรีและต้องฝึกซ้อม โดยพ่อแม่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนและให้กำลังใจลูก

การรวมวงออเคสตราเป็นความจำเป็น เพราะการเรียนรวมวงทำให้เด็กเข้าใจในการทำงานร่วมกัน เป็นความสามัคคีโดยอาศัยเสียงดนตรีเป็นตัวเชื่อม ซึ่งความไพเราะนั้นเกิดขึ้นจากเด็กทุกคนทำหน้าที่อย่างดี พลังเสียงดนตรีของเด็กสามารถขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้ไปข้างหน้าได้ ความภูมิใจที่เกิดขึ้นในตัวเด็กนั้นปีติและจดจำไม่รู้ลืม เด็กจำนวนหนึ่งไม่อยากกลับบ้าน เมื่อค่ายดนตรีจบลง

พ่อแม่ผู้ปกครองดีใจและอยากให้ผู้ใหญ่หรือสื่อมวลชนในสังคมได้เห็นและได้ยิน ก็ได้แต่ตอบไปว่า การที่พ่อแม่ผู้ปกครองได้ยินเสียงที่ไพเราะของลูก แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะว่าความไพเราะของเสียงดนตรีนั้น จะต้องได้สัมผัสความไพเราะด้วยตนเอง จะให้ไปบอกใครหรือยัดเยียดให้ใครฟังดนตรีคงไม่สำเร็จ สุภาษิตโบราณบอกว่า “ฆ้องดีไม่ต้องตีก็ดัง ฆ้องไม่ดีตีให้ตายก็ไม่ดัง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image