สุวรรณภูมิในอาเซียน : ไอ้ไข่’แห่งอาณาจักรไข่ทองแดง ‘ตามพรลิงค์’ จ.นครศรีธรรมราช

สุวรรณภูมิในอาเซียน : ไอ้ไข่’แห่งอาณาจักรไข่ทองแดง ‘ตามพรลิงค์’ จ.นครศรีธรรมราช รายงานโดย : อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม ปรับปรุงใหม่จากเอกสารประกอบการเสวนา ห้องมินิเธียเตอร์ อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2563

สุวรรณภูมิในอาเซียน : ไอ้ไข่’แห่งอาณาจักรไข่ทองแดง
‘ตามพรลิงค์’ จ.นครศรีธรรมราช

รายงานโดย : อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม
ปรับปรุงใหม่จากเอกสารประกอบการเสวนา
ห้องมินิเธียเตอร์ อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2563

ปรากฏการณ์ “ไอ้ไข่” สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดเจดีย์ หมู่ที่ 7 ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช คือปรากฏการณ์การผลิตซ้ำทางความเชื่อของการแสวงหาที่พึ่ง ที่มนุษย์ไปสัมพันธ์กับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า “ศาสนา” และเป็นศาสนาแบบไทยๆ ซึ่งเป็นส่วนผสมของศาสนาผี ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ที่อยู่คู่สังคมไทยมาแสนนาน ปะปนคลุกเคล้าจนแยกไม่ออกว่าตรงไหนผี ตรงไหนพราหมณ์ และตรงไหนพุทธ
ทำไมจึงเป็นนครศรีธรรมราช? จังหวัดนี้มีปัจจัยหรือความพร้อมอะไรที่ทำให้เป็นต้นกำเนิด/เจ้าตำรับ และเป็น “โรงงาน” ส่งออกปรากฏการณ์ทางความเชื่อที่โด่งดังจนกลายเป็นกระแสไปทั่วประเทศ ทั้งกระแส
จตุคามรามเทพเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว หรือแม้แต่กระแสไอ้ไข่ในเวลานี้?

ไอ้ไข่แห่งอาณาจักรไข่ทองแดง

Advertisement

นครศรีธรรมราช สืบสายมาจากอาณาจักรตามพรลิงค์

คำว่า “ตามพรลิงค์” แปลความหมายตรงตัวก็คือ “ไข่ทองแดง” (“ตามพ” เป็นภาษาบาลี แปลว่าทองแดง หรือสีแดง)

น่าจะได้มาจากชื่อในจดหมายเหตุของจีนว่า “ตันเหมยหลิง” หรือ “โพลิง” หรือ “โฮลิง” แปลว่าหัวแดง บ้างก็ว่าเรียก “เซียะโท้ว” ซึ่งแปลว่าดินแดง ส่วน “ลิงค์” หรือ “ลึงค์” คือสัญลักษณ์บ่งบอกเครื่องเพศของบุรุษ ซึ่งเรียกว่า “ไข่” ก็คงมิผิด ไอ้ไข่จึงอุบัติขึ้นภายในดินแดนที่มีต้นทุนทางชื่อที่สอดคล้องสัมพันธ์

Advertisement

นอกจากนี้ หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับไข่ (ลึงค์) ยังพบกระจัดกระจายเต็มไปหมด บริเวณวัดเจดีย์ เป็นส่วนหนึ่งของเขตที่ราบชายทะเล เกิดจากการกระทำของสันทรายเป็นทิวทอดยาวลงไป ตั้งแต่ อ.สิชลและท่าศาลา พบชุมชนโบราณใหญ่น้อยเรียงรายไปตลอด มีศาสนสถานของศาสนาฮินดูจำนวนมาก พบเทวรูปสวมหมวกแขก ศิวลึงค์และฐาน รวมทั้งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

โดยเฉพาะที่เขาคา และบ้านนาขอม พบ “ไข่” อันเป็นกลุ่มศิวลึงค์ หรือดงไข่พระศิวะขนาดต่างๆ อยู่เกลื่อนกลาด ทั้งขนาดจิ๋วที่ใช้ผ้าขาวม้าห่อได้ หรือขนาดสูงสัก
1 ศอก พอจะแบกติดตัวได้ เรื่องราวการพบไข่หรือศิวลึงค์นี้ มีบันทึกไว้ในสารคดีชื่อ “โบราณคดีพเนจร” เขียนโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ร่วมขบวนสำรวจหัวเมืองปักษ์ใต้เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยมีอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นที่ปรึกษา

แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลักฐานจำนวนมาก ถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว

ศิวลึงค์ พบที่บ้านนาขอม อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช (ภาพเมื่อ พ.ศ.2509)
[จากกหนังสือ อู่อารยธรรมแหลมทองคาบสมุทรไทย ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546 หน้า (72)]

ปาฏิหาริย์หรือเด็กปั้น? : กระบวนการสร้างไอ้ไข่

ผู้คนมาขอพรจากไอ้ไข่เนืองแน่น
(ภาพจาก https://www.prachachat.net/local-economy/news-523103)

ปรากฏการณ์ไอ้ไข่ ตั้งแต่ตั้งไข่จนเติบใหญ่เป็นเด็กวัดครองเมือง เกี่ยวข้องกับ 2 กระบวนการทางสังคมที่สำคัญมาก คือ ปฏิบัติการของตำนาน กับกระบวนการทำให้กลายเป็นเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ตำนาน (Myth) หมายถึง เรื่องราวที่เล่าต่อๆ กันมา ไม่อาจระบุเวลาได้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่หัวใจสำคัญของตำนานคือ คนที่รับรู้ เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ตำนานจึงทรงอิทธิพลและมีความสำคัญเทียบเท่ากับประวัติศาสตร์

แรกเริ่มเดิมทีเรื่องราวของไอ้ไข่ รับรู้กันในท้องถิ่นแคบๆ เล่าจากความทรงจำของคนในพื้นที่วัดเจดีย์และบริเวณใกล้เคียงแต่เพียงสั้นๆ ว่า มีวิญญาณของเด็กวัด ซึ่งน่าจะเคยเป็นลูกศิษย์ติดตามขรัวทองเจ้าอาวาส คอยวนเวียนปรากฏให้เห็นยามชาวบ้านเดือดร้อน เช่น วัวควายถูกขโมย หรือของหาย ไปบอกกล่าวบนบานก็มักจะได้ของคืน เด็กน้อยที่ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า
“ไอ้ไข่”—ซึ่งเป็นคำทั่วๆ ไปที่ชาวบ้านภาคใต้เรียกเด็กเล็กๆ ได้รับการจดจำในฐานะที่พึ่งประจำถิ่น คอยช่วยเหลือเรื่องจุกจิกในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องของหายเล็กๆ น้อยๆ

และแล้ว…เรื่องเล่าตั้งต้นฉบับกะทัดรัดก็ผ่านกระบวนการแปรรูปเรื่อยมา หล่อหลอมจากเหตุการณ์ที่ค่อยๆ ส่งเสริมให้ไอ้ไข่มีตัวตน (form) และเริ่มเป็นที่รู้จัก (fame) นอกพื้นที่ โดยน่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2525 เมื่อ ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ (ฉายาเที่ยง หักเหล็ก) จอมอาคมทางคุณไสย ผู้โดเด่นด้วยวิชาหักเหล็กด้วยมือเปล่า แกะสลักรูปเด็กชายอายุราว 9-10 ขวบที่มาเข้าฝันจากไม้ตะเคียนคู่ถวายวัด และในปีถัดมา พ่อท่านเทิ่ม เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ในเวลานั้นก็สร้างเหรียญบูชา
ไอ้ไข่เพื่อหาทุนพัฒนาวัด เป็นรุ่นแรก (2526) ประจวบกับเวลานั้น พื้นที่แถบนี้มีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มี กองร้อยทหารพราน มาตั้งฐานปฏิบัติการชั่วคราวอยู่ที่วัดเจดีย์ พอตกกลางคืนก็ถูกรบกวนเป็นการวุ่นวาย โดนดึงแขนบ้าง ดึงขาบ้าง เอาปืนตีศีรษะบ้าง ล้มราวปืนบ้าง จนแทบไม่ได้หลับได้นอน ชาวบ้านที่ได้รับฟังความตอนรุ่งเช้าจึงได้เล่าเรื่องไอ้ไข่และแนะนำให้ทหารกลุ่มนี้แบ่งอาหารเป็นเครื่องเซ่นบอกกล่าวแก่ดวงวิญญาณเด็กน้อย ทำให้ไม่มีเหตุการณ์รบกวนการนอนอีกเลยในคืนต่อๆ มา เมื่อเรื่องของทหารพรานแพร่หลายออกไป ชื่อเสียงไอ้ไข่ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สถานภาพไอ้ไข่ได้รับการยกระดับอย่างก้าวกระโดด และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการไต่เต้าขึ้นสู่ความโด่งดังระดับชาติคือ การนำไอ้ไข่ไปเชื่อมโยงกับ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” หรือ “สมเด็จเจ้าพะโคะ” พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรม (Culture Hero) ที่คนใต้และทั่วประเทศเคารพสักการะ ผู้ที่เป็น Game Changer หรือตัวพลิกเกมในที่นี้ คือ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช จอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้ไปร่วมพิธีปลุกเสกจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อทวดที่วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และร่างทรงหลวงปู่ทวดได้ไถ่ถามถึง “สหาย” ที่อยู่ทางเหนือ รวมไปถึงเด็กวัดที่คอยติดตาม จากนั้นจึงเกิดการสืบค้น จนนำไปสู่การสรุปเชื่อมโยงถึงความเกี่ยวข้องระหว่างหลวงพ่อทวด ขรัวทอง และไอ้ไข่เด็กวัด จนกลายเป็นตำนานหรือ เรี่องเล่าแห่งความทรงจำร่วมกัน ของคนทั่วไป เท่าที่รับรู้อยู่ในขณะนี้ สรุปได้ว่ามี 2 สำนวน

สำนวนแรก ไอ้ไข่ดูจะเป็นคนสำคัญมากกว่าเรื่องเล่าอีกสำนวน เพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทวด หรือ “สมเด็จเจ้าพะโคะ” ดังที่ได้กล่าวไป ตามสำนวนนี้ ไอ้ไข่เป็นลูกศิษย์ติดตามหลวงปู่ทวด เมื่อครั้งเดินทางจากสงขลาไปยังพระนครศรีอยุธยา เมื่อธุดงค์มาถึงวัดร้าง และรับรู้ด้วยญาณว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาในภายภาคหน้า จึงบอกให้เด็กชาย
อยู่รับใช้ขรัวทอง ผู้เป็นสมภารวัด ครั้นเมื่อใกล้เวลาที่หลวงปู่ทวดจะเดินทางกลับจากอยุธยา ด้วยกลัวว่าพระอาจารย์จะพากลับถิ่นฐาน อีกทั้งเคยลั่นวาจารับปากว่าจะอยู่ดูแลวัดแห่งนี้ เด็กชายจึงเดินลงสระน้ำปลิดชีวิตตัวเอง เพื่อให้วิญญาณได้คอยปกปักรักษาวัดเจดีย์แห่งนี้

ส่วนอีกสำนวน ไอ้ไข่คือเด็กลูกชาวบ้าน เคยวิ่งเล่นตามประสาเด็กอยู่ละแวกนั้นตั้งแต่ครั้งยังเป็นวัดโบราณ ต่อมาประสบอุบัติเหตุตกน้ำเสียชีวิต วิญญาณของเด็กน้อยยังคงผูกพันกับสถานที่ จึงสิงสถิตอยู่ที่วัดแห่งนี้ตลอดมา

กระบวนการทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Deification)คือการยกระดับผีหรือวิญญาณธรรมดาให้กลายเป็นเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ หรือแม้แต่เป็นเทพเทวาก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ความเป็นสากลของกระบวนการนี้พบได้ทั่วไปในหลายสังคมวัฒนธรรม

ตัวอย่างที่พอจะเทียบเคียงได้ใกล้ตัวคือ เรื่องนัต (Nat) ซึ่งเป็นความเชื่อของศาสนาผีพื้นเมืองในประเทศพม่า ที่สืบเนื่องยาวนานและหยั่งรากลึกก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธ นักปราชญ์ชาวพม่าเชื่อว่านัต มาจากคำว่า นาถ หรือนารท ในภาษาบาลี หมายถึงผู้เป็นที่พึ่ง นัตที่เป็นภูตผีนี้จะมีฐานะกึ่งเทพกึ่งผี มีระดับสูงกว่าผีทั่วไป แต่มิอาจเอื้อมเทียบชั้นกับเทวดา จุดร่วมของผีนัตคือต้องเป็นผู้เสียชีวิตในลักษณะที่เรียกว่าตายร้ายหรือตายโหง ตายก่อนเวลาอย่างน่าสมเพชเวทนา เช่น เสือตะปบขบหัว ฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่า ตายด้วยพิษไข้ โรคบิด โรคเรื้อน พลัดตกชิงช้า เมาเหล้าตาย ฯลฯ

หากมองตามคำนิยามของผีนัตในประเทศเพื่อนบ้าน ไอ้ไข่ก็ดูจะขึ้นทำเนียบนัตได้ไม่ยาก เพราะเด็กน้อยเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการตั้งใจเดินลงน้ำปลิดชีพตัวเองเพื่อรักษาคำมั่นสัญญา หรือพลัดตกน้ำตายเองจนเป็นที่รับรู้ในท้องถิ่น เมื่อเวลาผ่านไป

จากการแต่งเติมของตำนานทั้งภายในและภายนอก ผสานกับเวทมนตร์ของกระบวนการทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ผีเด็กวัด (ตายโหง) ก็ได้รับการยกระดับเป็นกุมารเทพไอ้ไข่ ซึ่งขอบเขตการช่วยเหลือกว้างไกลเกินกว่าเรื่องเล็กๆ อย่างของหายควายถูกลัก และยิ่งพันธกิจของไอ้ไข่ผูกพันกับสิ่งที่เรียกว่า “ขอได้-ไหว้รับ” คือเมื่อขอแล้ว สามารถให้ได้อย่างไม่มีข้อแม้หรือไร้ขีดจำกัด ก็ยิ่งทำให้ไอ้ไข่ก้าวขึ้นสู่การเป็นที่พึ่งยอดนิยมไร้พรมแดน ดังจะเห็นได้จากการสร้างรูปไอ้ไข่ไว้ให้ผู้คนไปกราบไหว้ขอพรตามวัดต่างๆ นอกเขต จ.นครศรีธรรมราชเป็นจำนวนมาก และยังลุกลามไปนอกประเทศ ดังปรากฏเป็นข่าวว่ามีชาวต่างชาติ เช่นชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง ที่ขอพรแล้วสมปรารถนาเดินทางมาแก้บนอยู่เป็นประจำ

พุทธกลายเป็นพี่เลี้ยงผี

ความแตกต่างของศาสนาผีกับศาสนาพุทธอยู่ที่การยอมรับอำนาจหรือที่พึ่งจากภายนอก (ผี) หรือเข้าถึงอำนาจและบ่มเพาะที่พึ่งซึ่งมาจากภายใน (พุทธ) หากลานพิธีในวัดเจดีย์ ​(ไอ้ไข่)​ คือกระจกสะท้อนปรากฏการณ์ทางความเชื่อที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย พื้นที่แห่งนี้ก็กำลังบอกกล่าวกับเราว่า ศาสนาผีดูจะตอบสนองความต้องการของคนไทยในยุคเผชิญพิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 ในเวลานี้ได้ดีกว่าศาสนาพุทธ

ในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนาผีกับพุทธในเมืองไทย นักวิชาการทั่วไปมักถือเอาพุทธเป็นแกนกลางของศาสนาไทย โดยมีผีและพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้มอยู่บ้าง แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มองว่า จะเข้าใจศาสนาไทยได้ดีกว่า หากถือเอาศาสนาผีเป็นแกนกลาง โดยมีพุทธและพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้มอยู่ภายนอก

ลานพิธี อันเป็นชุมนุมที่พึ่ง ไอ้ไข่สามารถยึดครองพื้นที่ตรงใจกลางลานได้อย่างสมภาคภูมิ ยืนเด่นเป็นสง่าท่ามกลางโต๊ะซึ่งเต็มไปด้วยของแก้บน ทั้งน้ำดื่ม น้ำแดง ของเล่น ตุ๊กตายอดมนุษย์ หนังสติ๊ก ชุดทหาร แต่ที่ดูจะมีมากเป็นพิเศษจนล้นออกไปภายนอกเบียดกำแพงวัดและลานจอดรถ คือ ไก่ชนขนาดต่างๆ ที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งโปรดปรานของไอ้ไข่ พอๆ กับประทัดที่จุดต่อเนื่องไปทั้งวัน พอกพูนขึ้นเป็นภูเขาแห่งศรัทธาลูกย่อมๆ

รอบๆ ลาน ที่มีไอ้ไข่เป็นศูนย์กลาง คือการประชุมกันของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นตัวแทนที่พึ่งของคนในสังคมยุคนี้ ในมุมหนึ่ง ไม้ตะเคียนขนาดเขื่องทอดยาว แวดล้อมไปด้วยผู้มาขูดขอหวย ต่อคิวกันเพื่อสาดแป้ง หวังเลขผุด แม่ตะเคียนคงดลบันดาลให้หลายคนสมหวังไปไม่น้อย เพราะดูจากของแก้บนที่เป็นชุดไทยเรียงรายแขวนป็นตับอยู่บนราวใกล้ๆ

ข้ามมาอีกฟากของลาน เป็นเขตปกครองของท้าวจตุคามรามเทพและเทพทางฮินดูอีก 2 องค์ ผู้มากราบไหว้มักมานั่งเสี่ยงเซียมซีกันอย่างคึกคัก ถัดบริเวณนี้ไปเล็กน้อยมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมพร้อมมังกรตั้งอยู่ ดูเป็นลานกึ่งพักผ่อนมากกว่าจะเป็นพื้นที่สักการะจริงจัง

ชุมนุมที่พึ่ง ณ ลานพิธีวัดเจดีย์นี้ มีความหลากหลายคล้ายอาหารบุฟเฟ่ต์ ใคร “คลิก” กับสิ่งใดก็เลือกเข้าหาสิ่งนั้นได้ตามจริตและอัธยาศัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการคัดกรองให้เข้ามามีสัดส่วนในพื้นที่แห่งนี้ ชี้ชัดว่าศาสนาในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่นับถือ มีศาสนาผีเป็นฐานราก หรือเป็นแกนหลักอันแข็งแกร่ง แล้วศาสนาผีก็เลือกสิ่งละอันพันละน้อยของพุทธกับพราหมณ์ฮินดู หรือแม้แต่ลัทธิจากจีนที่ไม่ขัดกับหลักผี เข้าไปประดับประดาหรือคลุมภายนอกเพื่อให้ศาสนาผีดูดีมีความทันสมัย เป็นการปรับตัวเพื่อโอบรับความหลากหลายและเพิ่มความแข็งแกร่งให้ศาสนาผี

อนาคตไอ้ไข่ : อมตะหรือจะลับลา

“ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์” ไม้แกะสลักรูปเด็กอายุ 10-12 ปี (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_493095)

ในขณะที่ “ไอ้ไข่”​ โด่งดังเป็นพลุแตก ก็เริ่มเกิดคำถามปนความวิตกกังวล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปั่นกระแสความเชื่อนี้ว่า ความเฟื่องฟูนี้จะยิงระยะได้ไกลแค่ไหน ทำอย่างไรจึงจะรักษาความเชื่อและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อไอ้ไข่ให้ยาวนานที่สุด และจะต้องเร่งหาวิธีจัดการ เพราะไม่ต้องการให้ไอ้ไข่จบเร็วหรือถึงจุดไร้ค่าแบบจตุคามรามเทพที่เงียบหายไปจากวงการวัตถุมงคล จนคาดว่าไม่น่าจะมีโอกาสกลับมาเป็นที่นิยมอีกแน่นอน

การต่อชีวิตให้ไอ้ไข่ หากมุ่งไปที่การสร้างความนิยมผ่านวัตถุมงคลแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งเซียนพระและผู้เกี่ยวข้องก็อาจต้องพบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกทั้งก่อนหน้า “ขาลง” อาจต้องเหนื่อยกับการคิดค้นจุดขายให้ยิ่งแปลก ยิ่งใหม่ เพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูงลิบ ไม่ต่างกับกระแสของจตุคามรามเทพ ซึ่งเมื่อถึงจุดที่พากันสร้างรูปลอยตัวและเหรียญกันขึ้นอย่างเอิกเกริกแล้วนั้น พิธีปลุกเสก-ซึ่งเป็นหนึ่งใน “จุดขาย” ที่สำคัญ ก็เพิ่มระดับความพิสดารและยากขึ้นเรื่อยๆ จนกู่ไม่กลับ มีผู้บันทึกไว้ว่า มีการลอยเรือทำพิธีกลางทะเล เอาเครื่องบินไปปลุกเสกกันกลางอากาศ ให้เครื่องบินขับไล่บรรทุกมวลสารบินทะลุกำแพงเสียง หรือแม้แต่มวลสารก็ต้องเป็นของแปลกหายาก จนถึงขั้นไปเสาะหาผงฟอสซิลช้างแมมมอธ น้ำบริสุทธิ์จากขั้วโลกเหนือ หรือไททาเนียมจากปีกเครื่องบินเจ็ต เป็นต้น

แม้ความไม่แน่นอนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกสิ่ง แต่มวลศรัทธาที่ล้นหลามของมหาชนต่อไอ้ไข่ในเวลานี้ เปิด

ลานจุดประทัดที่วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_493095)

โอกาสให้กับการเริ่มต้นคิดใหม่ ทำใหม่ set new normal ที่จะทิ้งมรดกถาวรเอาไว้ได้มากมาย

หากไอ้ไข่สามารถจุดประกายให้เกิดชุดความเชื่อที่นำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้ เริ่มต้นจากการชวนกันทบทวน “ความร่ำรวย” ซึ่งผู้คนแสวงหา ว่าเป็นเรื่องปัจเจกแบบตัวใครตัวมัน ชี้วัดด้วยตัวเงินอย่างเดียว หรือความร่ำรวย (richness) ครอบคลุมถึงความบริบูรณ์ของทรัพยากร (abundance) และโอบรับเอาจิตสำนึกที่คำนึงถึงความอุดมของสิ่งแวดล้อมและความอยู่รอดของระบบนิเวศเข้าไว้ด้วย

หากเป็นเช่นนั้น ก็อาจต้องนำไปสู่การตั้งคำถามหรือสร้างกฎกติกาในการทำบุญหรือแก้บนขึ้นมาใหม่ เป็นไปได้ไหมที่จะแทนการทุ่มทรัพย์ซึ่งจะละลายไปกับของแก้บนที่เพิ่มขยะและมลพิษทางอากาศ ไปเป็นกิจกรรมที่สร้างความยั่งยืน (ความร่ำรวยที่แท้) ให้ธรรมชาติรอบตัว เช่น เดินเก็บขยะชายหาด ปลูกป่าทดแทน หรือลองกล้าเปล่งเสียงดังๆ (แทนการจุดประทัด) สนับสนุนโครงการที่จะยังประโยชน์ระยะยาวให้กับมนุษย์และโลก

ตราบที่ศาสนาและความเชื่อยังเป็นสิ่งจรรโลงและสร้างความมั่นคงให้มนุษย์ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม ไอ้ไข่จะไม่มีวันตาย เพราะแม้ปรากฏการณ์เฉพาะที่ชื่อ “ไอ้ไข่” จะลาลับ แต่จะมีปรากฏการณ์อื่นๆ ในทำนองเดียวกันขึ้นมาแทนที่อยู่เรื่อยๆ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ถัดจากรอบปฏิบัติการของกุมารไปแล้ว

สิ่งใดจะอุบัติขึ้นมาเป็นที่พึ่งรายต่อไป

ไก่ชนในวัดจำนวนมากที่คนนำมาแก้บน (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_780171)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image