ย่ำไปในดงเพลง : Wind Of Change สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

ย่ำไปในดงเพลง : Wind Of Change สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

Wind Of Change สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

เมื่อสักประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ไอ้ตัวใหญ่ยังเป็นไอ้ตัวเล็กน่ารัก
สถานที่ท่องเที่ยวที่ “มัน” (ขออภัยที่ไม่สุภาพ เรียกลูกชายจะให้เรียกว่าคุณท่านก็จะประหลาดไปหน่อย) ชอบที่สุดแห่งหนึ่งก็คือ เชียงใหม่
ขอให้พาไปเถอะ จากนั้นจะตระเวนไหว้พระ 7 วัด 7 วา พาไปกินของแปลกที่เด็ก 3-4 ขวบ ไม่รู้จักก็ไม่บ่น
ตอนนั้นโรงแรมประจำที่ไปพักชื่อ “สวนดอยเฮ้าส์” (ตอนนี้เขาก็ยังเปิดบริการอยู่นะครับ)
เป็นโรงแรมเล็กๆ ใกล้แยกรินคำ ผลุบเข้าไปในซอย ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่
แต่ที่ไอ้ตัวเล็กชอบมากที่สุดก็คือนกขุนทองที่เขาเลี้ยงอยู่ในสวนกลางโรงแรม
เจ้าขุนทองตัวนี้แทนที่จะร้องทักแขกว่า สวัสดีครับ-สวัสดีค่ะ เหมือนนกตัวอื่น
เจ้าของโรงแรมเขาสอนให้มันร้อง Wind Of Change ครับ
ท่อนผิวปากเริ่มต้นกับจบเพลงนั่นแหละ
ใครไปใครมาก็ชอบใจ ไปยืนจ้องให้มันร้องเพลง
ขุนทองก็เหมือนดารา มีคนมาจ้องก็ร้องให้ฟัง
ฟังกันทั้งวันจนติดหู
ก็เดือดร้อนละสิ จะหาเพลงเต็มๆ ให้ลูกชายฟังยังไง
สมัยนั้นยูทูบก็ยังไม่มี อินเตอร์เน็ตก็ยังไม่มา
กลับถึงกรุงเทพฯต้องไปรื้อห้องค้นซีดี หาเพลงนี้มาให้ได้

ที่นึกถึงเพลงนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะว่าไปเจอนกขุนทอง หรือคิดถึงเชียงใหม่
แต่เป็นอารมณ์ร่วมของคนจำนวนมากในวันนี้
ที่รู้สึกได้ว่า “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” โบกสะบัดแรงขึ้นตามเวลา
ถึงจะมีบางคนบางส่วนแอบภาวนาอยู่ในใจว่า สายลมนี้จะค่อยๆ แผ่วลง
แต่ความเป็นจริงดูเหมือนจะเป็นตรงข้าม
กลายเป็นว่ายิ่งกดยิ่งปราม ยิ่งเหมือนยั่วให้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก่อตัวเป็นพายุ
ไม่ใช่แค่ “แรงขึ้น” เท่านั้น
แต่ยัง “กว้างขวางขึ้น” ครอบคลุมไปแทบทุกพื้นที่
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

Wind Of Change เป็นผลงานแต่งและเรียบเรียงเสียงประสานของ Klaus Meine นักร้องนำของ วง Scorpions หนึ่งในสุดยอดวงร็อกจากเยอรมัน
โดยได้แรงบันดาลใจจากการไปร่วมงานเทศกาลดนตรีมอสโคว์ มิวสิค พีซ เฟสติวัล เมื่อเดือนสิงหาคม 1989
ซึ่งมีอิทธิพลของเหตุการณ์ใหญ่สองเรื่องเป็นฉากหลัง
เหตุการณ์แรกคือกระแสการการเตรียมทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน (ซึ่งทลายลงจริงในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน)
เหตุการณ์ที่สองคือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสหภาพโซเวียต (ก่อนจะแตกย่อยออกเป็นรัสเซีย และอีก 15 ประเทศในอีกไม่กี่ปีต่อมา)
เมื่อ ประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ เสนอแนวทางกลาสนอสต์และเปเรสตอยก้า (โปร่งใสและปฏิรูป) เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งสองเหตุการณ์สะท้อนบรรยากาศเดียวกัน
บรรยากาศของความเปลี่ยนแปลง

Advertisement

Wind Of Change อยู่ในอัลบั้ม Crazy World ที่เป็นอัลบั้มอันดับ 11 ของวง วางจำหน่ายในช่วงต้นปี 1990
ก่อนจะตัดออกเป็นแผ่นซิงเกิ้ลในเวลาไล่เลี่ยกัน
และกลายเป็นแผ่นซิงเกิ้ลที่ขายดีที่สุดตลอดกาลด้วยสถิติ 14 ล้านแผ่น
รวมทั้งทำสถิติเป็นแผ่นซิงเกิ้ลของศิลปินเยอรมันที่ขายดีที่สุด
พอถึงปี 1991 Scorpions เลยทำแผ่นเสียงทองคำจำลอง และมอบเงินค่าลิขสิทธิ์ของเพลงนี้อีก 70,000 เหรียญสหรัฐให้ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ
ในฐานะหนึ่งในผู้สร้างแรงบันดาลใจ
เพลงขึ้นอันดับหนึ่งในชาร์ตของ 10 ประเทศ
และติดอันดับ 2 บนเกาะอังกฤษ
อันดับ 4 บนบิลบอร์ดของสหรัฐ
และยังคงความอมตะอยู่ในจนถึงปัจจุบัน

อย่างที่บอกว่ามีมิตรสหายหลายท่านเริ่มผิวปากเป็นเพลงนี้กันแล้ว
เพราะแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงนั้นชัดเจนขึ้นทุกขณะจิต
ส่วนจะมาในแบบสายลมธรรมดา หรือว่าเป็นพายุกวาดทุกอย่างที่ขวางหน้า
ก็อยู่ที่ปฏิกิริยาตอบสนองของ “พลังอนุรักษ์” ว่าจะออกมาในรูปไหน
แต่จะปฏิรูป-ปฏิวัติหรืออย่างไรก็ตามที ผลสรุปสุดท้ายก็ยังเป็นไปตามทฤษฎีวิภาษวิธีของ เฮเกล นักปราชญ์เยอรมัน ที่ว่า
เมื่อ Thesis (บทเสนอ) ปะทะกับ Antithesis (บทแย้ง)
จะนำไปสู่ Synthesis (บทสรุปใหม่) เสมอ
อะไรจะเป็นบทสรุปใหม่ของสังคมไทยหลังเหตุการณ์นี้ผ่านไป
น่าสนใจ น่าติดตามค้นหาคำตอบยิ่ง

The future’s in the air
I can feel it everywhere
Blowing with the wind of change
Take me to the magic of the moment
On a glory night
Where the children of tomorrow dream away (dream away)
In the wind of change
Walking down the street
Distant memories
Are buried in the past forever

Wind of Change

โดย : เขบ็ดหัวโต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image