อาศรมมิวสิก : เมื่อ John Williams เดินทางถึงกรุงเวียนนาในวัย 88 ปี ดนตรีประกอบภาพยนตร์จึงก้าวเข้าขั้น Classic

อาศรมมิวสิก : เมื่อ John Williams เดินทางถึงกรุงเวียนนาในวัย 88 ปี ดนตรีประกอบภาพยนตร์จึงก้าวเข้าขั้น Classic

อาศรมมิวสิก : เมื่อ John Williams
เดินทางถึงกรุงเวียนนาในวัย 88 ปี ดนตรีประกอบภาพยนตร์จึงก้าวเข้าขั้น Classic

แฟนๆ ดนตรีหลายๆ คนที่เคยชมบันทึกการแสดงดนตรีของวง “เวียนนาฟิลฮาร์โมนิก” (Vienna Philharmonic Orchestra) ไม่ว่าจะเป็นรายการแสดงดนตรีในวันขึ้นปีใหม่ (New Year’s Concert) ในหอการแสดงดนตรีคอนเสิร์ตสีทอง อันเป็นรายการที่แฟนๆ ดนตรีทั่วโลกรอคอยเป็นประจำทุกปี หรืออาจจะเป็นการแสดงอื่นๆ ในสถานที่อื่นๆ โดยวงออเคสตรา ที่จัดได้ว่าเก่าแก่และดีที่สุดในโลกวงหนึ่งวงนี้ จะได้เคยสังเกตกันบ้างไหมว่ามีเครื่องดนตรีหลายชนิด ที่วงดนตรีวงนี้เลือกใช้บรรเลงที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาแปลกไปกว่าเครื่องดนตรีที่วงออเคสตราอื่นๆ ใช้บรรเลงกัน (เช่น ปี่โอโบเวียนนา, แตรฮอร์นเวียนนา) ข้อสังเกตที่ว่านี้ ผู้เขียนได้เคยถามเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นชาวกรุงเวียนนาโดยกำเนิดซึ่งเขาและรัก, ภูมิใจในเมืองอันเป็นบ้านเกิดของเขามากนี้ว่า คุณรู้ไหมว่าวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกนั้นใช้เครื่องดนตรีหลายอย่างไม่เหมือนกับวงอื่นๆ เขาทำหน้างงๆ และสารภาพว่าเขาเองก็ไม่เคยสังเกตและไม่เคยรู้เรื่องนี้เหมือนกัน (ก็คงเหมือนตัวผู้เขียนเองที่ก็ยัง ไม่เคยรู้เรื่องราวทางดนตรีไทยอีกมากมาย) นอกจากเรื่องเครื่องดนตรีแล้ว วงดนตรีวงนี้ยังเต็มไปด้วยขนบ, จารีตประจำวงหลายอย่างอันเคร่งครัดซึ่งถ้าจะใช้แนวคิดมุมมองทางการเมืองพิจารณา เราอาจเรียกวงนี้ได้ว่าเป็น “วงออเคสตราแห่งจารีตนิยม” ก็ว่าได้ มีเรื่องราวในทำนองจารีตนิยมอันเป็นตำนานไม่น้อยที่เกิดขึ้นกับวงดนตรีอันเป็นเลิศวงนี้ ที่อาจสร้างความน่าหมั่นไส้เป็นอย่างมากให้กับผู้ที่ไม่เข้าใจในเกียรติภูมิทางดนตรีอันยิ่งใหญ่แบบเวียนนา

จารีตบางอย่างนี้ยังรวมไปถึงการยอมบรรเลงบทเพลงบางอย่างที่ทางวงถือว่าไม่ทรงคุณค่าพอ ซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าในสมัยก่อนวงดนตรีวงนี้ไม่ยอมบรรเลงบทเพลงวอลทซ์ (Waltz) และบทเพลงเต้นรำอื่นๆ ของดุริยกวีในตระกูลชเตราส์ (Strauss Dynasty) ด้วยตั้งข้อแม้ว่ายังเป็นเพียงเพลงที่ใช้ประกอบการเต้นรำ และไม่มีเนื้อหาทางดนตรีที่วิจิตรบรรจงพอแบบดนตรีซิมโฟนีทั้งหลาย (แต่ในปัจจุบันกลายเป็นบทเพลงแห่งความภาคภูมิใจของพวกเขาไปแล้ว!) ดังนั้น จึงนับเป็นเรื่องที่มีประเด็นและนัยอันสำคัญยิ่งทางดนตรี ที่ในปี พ.ศ.2563 นี้ ทางวงได้อ้าแขนรับบทเพลงประกอบภาพยนตร์อันเป็นตำนานแห่งศตวรรษที่ 20 ของ “จอห์น วิลเลียมส์” (John Williams) ไปบรรเลงเป็นครั้งแรก “อย่างเป็นทางการ” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ณ หอแสดงดนตรีสีทอง (Musikverein Grosser Saal) อันแทบจะเสมือนเป็น “เทวาลัย” แห่งดุริยางคศิลป์ ในสายตาของหลายๆ คนอาจมองเรื่องนี้เป็นเพียงแค่ผลประโยชน์ที่ลงตัว (ทางการทำเงิน) แต่ในเชิงเกียรติภูมิ (ของทั้งจอห์น วิลเลียมส์ และวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิก) นี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องการร่วมกันทำธุรกิจบันเทิง แต่มันคือการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่อ้าแขนยอมรับเอาดุริยางคนิพนธ์ ของจอห์น วิลเลียมส์ เข้าไปอยู่ในอ้อมอกของวง ในฐานะของการยอมรับว่าบทเพลงประกอบภาพยนตร์เหล่านี้ ทรงคุณค่าทางดนตรีซิมโฟนีมากเพียงพอ

เมื่อกล่าวถึง จอห์น วิลเลียมส์ แล้ว เขาคือตำนานแห่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด แห่งศตวรรษที่ 20 ด้วยเกียรติยศ รับประกันมากมาย อาทิ รางวัลออส
การ์ (Oscar) 5 ครั้ง และรางวัลแกรมมี่ (Grammy) อีก 25 รางวัล และอื่นๆ อีกมากมาย เกียรติยศ, ชื่อเสียงและเงินทอง หลั่งไหลมาสู่เขาตลอดชีวิต ในปัจฉิมวัย 88 ปี การได้รับการยอมรับจากวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกครั้งนี้ เสมือนการได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์อันทรงคุณค่าทางดนตรี ที่ทำให้เขาขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิต ซึ่งทั้งแฟนๆ เพลงแห่งกรุงเวียนนา และสมาชิกนักดนตรีในวงต่างก็แสดงการต้อนรับอย่างอบอุ่น เขาได้รับการลุกขึ้นยืนปรบมือโห่ร้องจากผู้ชมทั้งโรงอย่างดังกึกก้อง ก่อนที่คอนเสิร์ตจะเริ่มการแสดง

Advertisement

แน่นอนมันคือนัยแห่งการยอมรับและโอบกอดเอาผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ทั้งหลายของเขามารวมอยู่ในผลงานอันวิจิตร อย่างเบโธเฟน, บรามส์ หรือโยฮันน์ ชเตราส์ ผลงานดนตรีของเขาได้รับการอัญเชิญขึ้นหิ้งแล้ว

จอห์น วิลเลียมส์ (ในฐานะวาทยกรที่อำนวยเพลงการแสดงผลงานดนตรีของตนเอง) เล่าให้ฟังว่า เขาร่วมซ้อมใหญ่ (Rehearsal) กับวงดนตรีวงนี้ 2 ครั้ง ในตอนจบของการซ้อมมีตัวแทนวงดนตรีเดินเข้ามาหาเขา และกล่าวขึ้นว่า “ถ้าพวกเราจะขอเล่นบทเพลง อิมพีเรียลมาร์ช (Imperial March) จากเรื่อง สตาร์วอส์ (Star Wars) จะได้ไหม?” จอห์น วิลเลียมส์ บอกว่า เขามิได้บรรจุบทเพลงนี้ไว้ในรายการแสดง เขาคิดในใจว่า เขาได้ให้สมาชิกนักเล่นเครื่องลมทองเหลือง (กลุ่มแตร) ของวงบรรเลงเพลงหนักๆ ของเขาไปมากพอแล้ว (วาทยกรที่ดีมักจะต้องรู้กันเป็นนัยๆ อย่างดีแล้วว่ากลุ่มแตรที่บรรเลงบทเพลงใหญ่ๆ หนักๆ จะต้องใช้พละกำลังมากมายในการบรรเลง) แต่นี่นักดนตรีเป็นฝ่ายเดินมาขอเอง เขาจึงตอบรับด้วยความยินดี และเมื่อเขาได้ยินบทเพลงนี้จากปลายปากกาของตัวเอง บรรเลงโดยวงดนตรีนี้ จอห์น วิลเลียมส์ ก็ไม่สงวนปาก, สงวนคำหรือสงวนความรู้สึกใดๆ ที่จะกล่าวออกมาว่า “…ผมขอบอกอย่างจริงใจว่า มันคือการบรรเลงบทเพลงมาร์ชนี้ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา…” และตัวผู้เขียนเองในฐานะแฟนดนตรีประกอบภาพยนตร์ของเขาก็เห็นพ้องไม่ต่างกัน (แม้จะเป็นเพียงการฟังผ่านแผ่นซีดี)

ผู้เขียนรู้สึกว่ามันเป็นการบรรเลงบทเพลงนี้ที่ทั้งหนักแน่น, สง่างาม, คลาสสิกและนุ่มนวล สมชื่อ “Imperial March” ซึ่งไม่บาดหู, ไม่ก้าวร้าวอวดเบ่ง แบบนักเลงโต แน่นอนเพราะมันมิใช่ “Gangster March” นั่นเอง ความสำเร็จส่วนหนึ่ง ย่อมมาจากขนบจารีต (Tradition) ทางดนตรีที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และปรัชญาการเล่นเครื่องลมทองเหลืองที่เปี่ยมด้วยรสนิยมอันดี “ริคาร์ด ชเตราส์” (Richard Strauss) ดุริยกวีแห่งปลายศตวรรษที่ 19 ผู้เลื่องชื่อในการเขียนแนวการบรรเลงเครื่องลมทองเหลืองอย่างกึกก้องดุเดือด เจิดจ้าในดนตรีพรรณนาเรื่องราวทั้งหลายของเขา ในยามที่ต้องมารับบทบาทเป็นวาทยกรควบคุมการบรรเลงบทเพลงที่ตัวเองแต่ง มักจะต้องคอยส่งสายตา หรือส่งสัญญาณมือ “ห้าม” กลุ่มเครื่องลมทองเหลืองอยู่เสมอๆ (บรรดานักดนตรีอาจรู้สึกอึดอัดใจ เพราะมองว่าถ้าอย่างนั้นคุณเขียนมันขึ้นมาอย่างดุเดือดเลือดพล่านทำไม?) ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า เสียงแตรใน “โลกของแบบ” ของ ริคาร์ด ชเตราส์ และจอห์น วิลเลียมส์ หรือดุริยกวีอีกหลายคน มันอาจไม่ใช่เสียงแตรในแบบที่พวกเรารู้สึกนึกคิดหรือเคยชินกัน ที่มักจะกระเดียดไปในเชิงห้าวโหด, หยาบหรือแม้แต่โอ่อวด

Advertisement

ดังนั้น เมื่อ จอห์น วิลเลียมส์ มาได้ยิน อิมพีเรียลมาร์ช จากการบรรเลงโดยเวียนนาฟิลฮาร์โมนิก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเขาจึงไม่ยั้งปากที่จะกล่าวว่า “ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา”

เมื่อพูดถึงดนตรีประกอบภาพยนตร์แนวมหากาพย์ของจอห์น วิลเลียมส์ กับขนบ, จารีต การบรรเลงดนตรีของกลุ่มเครื่องลมทองเหลืองอันแสนจะคลาสสิกแห่งกรุงเวียนนาแล้ว ก็คงจะต้องเล่าต่อไปอีกนิดว่า กลุ่มเครื่องลมทองเหลืองในลีลา (Style) แบบเวียนนานั้น นอกจากมาจากขนบจารีตที่สืบทอดกันมาแบบรุ่นสู่รุ่นแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรี (แตร) ที่พวกเขาใช้อยู่ด้วย ตัวเครื่องดนตรีที่พวกเขาใช้กันมักจะมีท่อลมที่ออกจะเล็กกว่าที่วงดนตรีทั่วๆ ไปใช้กัน ที่ให้น้ำเสียงออกมาไม่ดังหนัก หรือแผดโดยสรีระของตัวเครื่องเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแตรฮอร์น (Horn) นั้นวงดนตรีอื่นๆ ล้วนใช้แต่ “ฮอร์นฝรั่งเศส” ที่เรียกกันว่า “French Horn” แต่วงดนตรีวงนี้จะใช้ “ฮอร์นเวียนนา” (Vienna Horn หรือ Viennese Horn) ที่มีท่อลมแตกต่างออกไป อีกทั้งยังมีเครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องประกอบจังหวะ (Percussion) แบบเวียนนาโดยเฉพาะอีกด้วย

เรื่องราวของดนตรีประกอบภาพยนตร์มหากาพย์ของจอห์น วิลเลียมส์ ที่เพิ่งจะเดินทางมาถึงกรุงเวียนนาในปี พ.ศ.2563 นี้ คิดไปก็น่าแปลก มันต้องใช้เวลาถึงราวครึ่งศตวรรษในการเป็นที่ยอมรับว่าทรงคุณค่าทางซิมโฟนิกมากพอที่จะได้รับเกียรติให้มาบรรเลงอย่างเป็นทางการ ในเมืองอันเป็นหมุดหมายทางดนตรีอันสำคัญของยุโรปและของโลกเมืองนี้ เรื่องนี้ชวนให้ผู้เขียนนึกไปถึงเรื่องราวของวงดนตรีวงนี้กับตระกูลนักดนตรี-นักแต่งเพลง “ชเตราส์” (Strauss Dynasty) แห่งศตวรรษที่ 19 ซึ่งเราเรียกกันได้อย่างไม่เคอะเขินในทุกวันนี้ว่าเป็น “ดนตรีแห่งเวียนนา” (Viennese Music) อันสูงด้วยรสนิยม แต่เราอาจไม่รู้ว่าในสมัยที่โยฮันน์ ชเตราส์ (Johann Strauss) ยังมีชีวิตอยู่นั้น บรรดาบทเพลงเต้นรำเหล่านี้ยังอยู่ในอีกวรรณะหนึ่งทางดนตรี มันคือดนตรีเบาสมอง (Light Music = ไร้มิวสิก = ปราศจากคุณค่าทางดนตรี) ในยุคนั้น วงดนตรีแห่งราชสำนักวงนี้จึงไม่แตะต้องผลงานดนตรีเหล่านี้ พิธีแบบติสต์ทางดนตรีมีขึ้นในงานเฉลิมฉลองพิธีอภิเษกสมรสอันยิ่งใหญ่ระหว่าง “อาร์คดัชเชส กิเซลา ลุยส์ มาริอา” (Archduchess Gisela Louis Maria) พระธิดาแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ ฟรันซ์ โยเซฟ (Franz Joseph) แห่งออสเตรียกับ เจ้าชายเลโอโปลด์ (Prince Leopold) แห่งแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) ในปี ค.ศ.1873 ในการจัดงานเฉลิมฉลองนั้นมีการจัดงานลีลาศแห่งราชสำนักขึ้น โดยมีวงดนตรีลีลาศประจำงานก็คือวงดนตรีตระกูลชเตราส์ที่ครั้งนั้นอำนวยเพลงโดย “เอดูอาร์ด
ชเตราส์” (Eduard Strauss) และในครึ่งหลังจึงมีการบรรเลงโดยวงดนตรีประจำโรงอุปรากรแห่งราชสำนัก (ซึ่งก็คือ “เวียนนาฟิลฮาร์โมนิก” นี่เอง) โดยมีการปล่อยทีเด็ดของงานที่สร้างความประหลาดใจอันยิ่งใหญ่นั่นก็คือ โยฮันน์ ชเตราส์ ได้ก้าวขึ้นมาบนแท่น และอำนวยเพลงให้กับวงแห่งราชสำนักวงนี้ ในบทเพลงใหม่ที่เขาเพิ่งประพันธ์เสร็จและยังไม่เคยนำออกบรรเลงที่ไหนมาก่อนนั่นก็คือบทเพลง “สายเลือดแห่งเวียนนา” (Vienna Blood) ผลงานลำดับที่ 354 นั่นจึงเป็นครั้งแรกสุดที่วงดนตรีแห่งราชสำนักวงนี้ยอมรับผลงานดนตรีแห่งตระกูลชเตราส์มาสู่อ้อมอก ในฐานะบทเพลงที่อยู่ในคลังบทเพลง (Repertory) ประจำวง นับแต่นั้นต่อมาบทเพลงเต้นรำและบทเพลงเกร็ดทั้งหลายของตระกูลชเตราส์จึงกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปโดยปริยาย

มันเป็นเสมือนลมหายใจเดียวกันที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ทั้งหมดนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดคอนเสิร์ตบทเพลงประกอบภาพยนตร์มหากาพย์ของจอห์น วิลเลียมส์ โดยวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิก โดย จอห์น วิลเลียมส์ อำนวยเพลงด้วยตนเองจึงทรงความหมายยิ่งในโลกดนตรี และเต็มไปด้วยนัยเชิงสัญลักษณ์ จากนี้เป็นต้นไป ดนตรีประกอบภาพยนตร์จะได้รับการยอมรับในความรู้สึกอย่างเต็มหัวใจได้ไหมว่ามันคู่ควรแก่คำว่า “คลาสสิก” ยิ่งเมื่อย้อนดูกลับไปในเรื่องประวัติศาสตร์ของดนตรีประกอบภาพยนตร์แล้ว มันได้สืบสานแนวคิดมาจาก “Leitmotif” (ดนตรีเชิงสัญลักษณ์ในอุปรากร) ของ “ริคาร์ด วากเนอร์” (Richard Wagner) อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพียงแค่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป สื่อและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ละครอุปรากรที่แสดงกันบนเวทีจึงถูกถ่ายทอดมาสู่แผ่นฟิล์มผนวกเสียงดนตรีเข้าไปเสร็จสรรพ แต่พิจารณากันด้วยเนื้อหา, วัตถุประสงค์แล้ว มันก็มิได้แตกต่างกันเลย “แม็กซ์ สไตเนอร์” (Max Steiner) นักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์คนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 จึงได้กล่าวว่า ถ้าวากเนอร์ยังคงมีชีวิตอยู่ เขาคือนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์มือหนึ่งของฮอลลีวู้ดอย่างแน่นอน

ดนตรีและศิลปะมีความบริสุทธิ์อยู่ในตัวเอง มันแสดง, บอกความหมายเล่าเรื่องราวต่างๆ สู่ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ และก็มนุษย์นั่นเองที่ได้แบ่งแยกชนชั้นวรรณะให้กับพวกมัน (ด้วยวัตถุประสงค์ทางการรับรู้บางอย่าง) แต่ท้ายที่สุดแล้ว ศิลปินผู้สร้างงานก็มักจะเรียกร้องให้ผู้ชมงานศิลปะเปิดใจให้กว้างโดยไม่คำนึงถึงเรื่องชนิด, สถานะหรือปรัชญาแนวคิดใดๆ (ที่สร้างขึ้นมาอธิบายและจำแนกศิลปะในภายหลัง) ดนตรีประกอบภาพยนตร์ของจอห์น วิลเลียมส์ ดูจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งพวกเราแฟนเพลง (โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก) อาจลืมไปแล้วก็ได้ว่า จอห์น วิลเลียมส์ สตาร์วอส์ คนเดียวกันนี้เองที่ยังได้แต่งเพลง คอนแชร์โต, ซิมโฟนี และบทเพลงอื่นๆ ที่เราเรียกกันว่า “เพลงคลาสสิก” เอาไว้อีกไม่น้อยเลยทีเดียว มนุษย์เจ็บปวดกับการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะมายาวนาน (และก็ยังต้องเจ็บปวดกันอีกยาวนานต่อไป) พวกเรา (ผู้รักดนตรีและศิลปะ) มาเลิกแบ่งแยกวรรณะทางดนตรีและศิลปะกันจะดีกว่าไหม?

จงมาเปิดใจรับชม-รับฟังกันด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์เถิด

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image