คอลัมน์แทงก์ความคิด : มองต่างมีประโยชน์

คอลัมน์แทงก์ความคิด : มองต่างมีประโยชน์

คอลัมน์แทงก์ความคิด : มองต่างมีประโยชน์

แวะเวียนไปงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้รับคำแนะนำให้ชมภาพยนตร์ดีเรื่องหนึ่ง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สารคดี หลังจากได้รับคำแนะนำแล้ว
กลับไปเปิดดู เห็นว่าได้แง่คิดมากมาย จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

เผื่อใครสนใจจะได้ค้นหาและเข้าไปชม

Advertisement

ภาพยนตร์เรื่องที่กำลังพูดถึงมีชื่อว่า “The Social Dilemma” สร้างโดย Jeff Orlowski จาก Netflix

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการ “มองต่างมุม”

จากมุมมองที่เห็นเทคโนโลยีในแง่บวก เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนโลกอยู่ในขณะนี้

Advertisement

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กระทุ้งให้โลกมองเห็นแง่ลบที่เกิดจากเทคโนโลยี

มุมมองทำนองนี้เคยได้สัมผัสจากการอ่านหนังสือ ชื่อ “โฮโม ดีอุส” ของ ยูวาล โนอาห์ ฮาราวี รวมทั้งหนังสือชื่อ “21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 2” ของผู้เขียนเดียวกัน

มุมมองที่เห็นผลกระทบจากเทคโนโลยีที่สามารถจำแนกพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างแจ่มแจ้ง

ใช้คอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยี

ใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรม และเจาะลึกเข้าสู่เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนมุมมองทำนองนี้ออกมาให้เห็นเป็นภาพ

มีผู้เล่าเรื่องโดยผู้มีเชี่ยวชาญในแวดวงโซเชียลมีเดีย

ทั้งวิศวกร ทั้งอดีตผู้บริหาร แต่ละคนมีส่วนร่วมในช่วงการพัฒนาเฟซบุ๊ก พินเธอเรส กูเกิล ทวิตเตอร์ ยูทูบ

ผู้คนเหล่านั้นต่างออกมาสะท้อนผลกระทบจากการเสพสื่อออนไลน์อย่างลุ่มหลง

ภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดคำบอกเล่าจากปากของบุคคลเหล่านั้น พร้อมๆ กับสอดแทรกเรื่องราวการใช้ชีวิตของคนในครอบครัวหนึ่งในยุคปัจจุบันเข้าไปประกอบการอธิบาย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าธุรกิจหาเงินจากการจูงใจให้คนเข้าไปใช้โซเชียลมีเดียอย่างไร

ทุกคลิก ทุกไลค์ ทุกภาพที่เลื่อนดู สามารถตีเป็นตัวเงินได้ทั้งนั้น

ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลพฤติกรรมการใช้ รวมถึงผลวิเคราะห์จาก AI ล้วนมีค่าเป็นเงินมหาศาล

เมื่อจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียคือกำไร การเพิ่มอุปกรณ์ที่ทำให้คนเสพติดการใช้จึงจำเป็น

ในที่สุดการใช้โซเชียลมีเดียกลายเป็น “สิ่งเสพติด” ที่เลิกยาก

ผลจากการใช้โซเชียลมีเดียอย่าง “เสพติด” ทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อร่างกายและสังคม

ผลกระทบต่อร่างกายทำให้ผู้ใช้มีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นโรคซึมเศร้า และนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง

ผลกระทบต่อสังคม คือ การสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในโลกใบนี้

และแม้เทคโนโลยีและโลกออนไลน์จะมีข้อดีด้านความเร็ว ความจำ ความจุ และอื่นๆ มากมาย

แต่ข้อเสียของโลกออนไลน์คือ ไม่สามารถแยกแยะ “ของจริง” หรือ “ของปลอม” ได้

เห็นชัดๆ คือ ข่าวสารที่ปรากฏอยู่บนสื่อออนไลน์

ข่าวสารที่โพสต์ลงไปและแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วนั้น ยากที่จะยืนยันได้ว่าข่าวนั้นจริงหรือเท็จ

ที่ผ่านมาข่าวเท็จได้สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นอย่างน่าตกใจ

ปัญหานี้ทุกคนคงได้สัมผัสพิษสงกันมาแล้ว

แม้กระทั่งทุกวันนี้ “เฟคนิวส์” ก็ยังแผลงฤทธิ์ ปั่นป่วนความคิดผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ทุกวี่วัน

ช่วงท้ายของภาพยนตร์ได้แนะนำวิธีการรับมือกับการรุกคืบของโซเชียล
มีเดีย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีอะไรที่ให้คิดได้มากกว่าที่บรรยายมาอีกมาก จึงอยากแนะนำให้ไปดูกัน

ได้ดูแล้วอาจจะเห็นประโยชน์ของความเห็นต่าง

ได้เห็นประโยชน์จาก “เสียงเตือน”

อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้มีสติไม่สุดโต่ง มองเห็นอะไรอยู่มุมเดียว

เพราะเส้นทางสุดโต่งไม่ใช่ทางออกที่ดีของชีวิต

ทางสายกลางตามแบบพระพุทธองค์ต่างหากที่เป็นทางออกที่เหมาะสม

แม้แต่เทคโนโลยีที่ทันสมัยในโลกยุคปัจจุบันก็ยังต้องยึดหลักการนี้

นั่นคือ ผู้ใช้ต้องมีสติ ผู้ผลิตต้องมีความระมัดระวัง

เรื่องโซเชียลมีเดียนั้นมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและผู้ใช้ที่ต้องมีคุณธรรม

ไม่ทำให้กลไกที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติกลายเป็นเครื่องจักรทำลายล้าง

ช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มดีกรีความรุนแรง

เกิดความเห็นต่างในระดับชาติ ระดับชุมชน ระดับครอบครัว

เห็นต่างกันมาก ขัดแย้งกันมาก เกิดความเครียด

เลยแนะนำให้พักความเครียดมาดูภาพยนตร์ที่ให้แง่คิดดีๆ สักเรื่อง

เป็นภาพยนตร์ที่ได้ดูแล้วมีประโยชน์ แม้จะมีมุมมองที่เห็นต่างก็ตาม

 

โดย : นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image