อาศรมมิวสิก : 100 ปี เจนนี่ เนลสัน เฮส์ 250 ปี เบโธเฟน โดยการแสดงของวงเซ็ปเต็ต

อาศรมมิวสิก : 100 ปี เจนนี่ เนลสัน เฮส์ 250 ปี เบโธเฟน โดยการแสดงของวงเซ็ปเต็ต

อาศรมมิวสิก : 100 ปี เจนนี่ เนลสัน เฮส์
250 ปี เบโธเฟน
โดยการแสดงของวงเซ็ปเต็ต

ท่ามกลางบรรยากาศความร้อนแรงของกระแสการเมือง ระหว่างการชุมนุมของเยาวชน ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2563 ก็ยังมีการแสดงดนตรีคลาสสิกให้ฟังกัน เป็นวงขนาดเล็กซึ่งมีนักดนตรี 7 คน (SEPTET) แสดงผลงานของเบโธเฟน มีผู้ฟังกลุ่มเล็กๆ 70-80 คน ที่ห้องสมุดเนลสัน เฮส์ ถนนสุรวงศ์ เป็นห้องสมุดที่ได้ตั้งขึ้นตามชื่อของเจนนี่ เนลสัน เฮส์ (Jennie Neilson Hays) ปีนี้เป็นปีที่เธอเสียชีวิตไป 100 ปีแล้ว ทั้งนี้ การแสดงดนตรีคลาสสิกครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้อ
หรือจัดขึ้นเพื่อรำลึกงานวันเสียชีวิตของเธอแต่อย่างใด แต่ได้จัดขึ้นเพื่อฉลองวันครบรอบการเสียชีวิตของเบโธเฟน 250 ปี พ.ศ.2313 หลังกรุงศรีอยุธยาแตก 2 ปี

ห้องสมุดเนลสัน เฮส์ ใช้ชื่อของเธอเพราะว่าสามีเธอสร้างห้องสมุดขึ้นเพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกความรักที่มีต่อเธอ เพราะเธอเป็นคนที่รักหนังสือมาก ความสำคัญของอาคารหลังนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ชิ้นงาม มีคุณค่า มีความหรูหรา และมีความหมายสำหรับสังคมไทยมาก

เจนนี่ เนลสัน เฮส์ เป็นภรรยาหมอโธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ (Thomas heyward Hays) เธอรักหนังสือและรักการอ่านหนังสือมาก เธอใช้บ้านเพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างชาวฝรั่งด้วยกันอาศัยกลุ่มผู้หญิงต่างชาติซึ่งรวมตัวกันมาก่อน 12 คน ตั้งแต่ พ.ศ.2411 มาแล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่าน อย่าลืมว่าแต่ก่อนนั้นหนังสือฝรั่งหายาก กว่าจะได้หนังสือจากยุโรปมาสักเล่มก็ต้องคอยเป็นปีๆ อ่านคนเดียวก็ไม่คุ้ม อ่านเสร็จก็อยากให้คนอื่นได้อ่าน เพราะการขนส่งหนังสือทางเรือช้ามาก ส่วนคนไทยก็ต้องบวชเรียนจึงได้อ่านใบลาน

Advertisement

บ้านหลังนี้ได้ออกแบบโดยสถาปนิกใหญ่ชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) ซึ่งผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น เมื่อห้องสมุดเนลสัน เฮส์ เป็นอาคารที่ตกอยู่ในความดูแลของฝรั่ง ทำให้อาคารสมบูรณ์ใช้งานได้ มีคนคอยปรับปรุง รวมทั้งการดูแลรักษา ทำให้อาคารห้องสมุดเนลสัน เฮส์ ยังคงเหลือและดำเนินกิจกรรมได้ อาคารห้องสมุดแห่งนี้บอกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต 100 ปี ในกรุงเทพฯ ถึงปัจจุบัน

เมื่อเจนนี่ เนลสัน เฮส์ เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ พ.ศ.2463 สามีของเธอเสียใจมากจึงได้สร้างอนุสรณ์เป็นอาคารเพื่ออุทิศให้กับความรักของสามีที่มีต่อเธอ เมื่อเธอเป็นคนที่รักหนังสือมาก ด้วยความรักของสามีจึงได้สร้างอาคารเป็นหอสมุดบนพื้นที่บริเวณบ้าน เพื่อมอบให้เป็นห้องสมุดสาธารณะ อาคารได้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2465 และใช้มากระทั่งปัจจุบัน ซึ่งไม่ต่างไปจากอนุสาวรีย์ความรักอย่างทัชมาฮาลแต่อย่างใด..

ก่อนที่จะพูดถึงดนตรีของเบโธเฟนที่แสดงในคืนนั้น ขอนำเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้องกันเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาปนิกใหญ่ชาวอิตาเลียน มาริโอ ตามัญโญ ผู้ออกแบบอาคาร กับครูดนตรีคลาสสิก อัลเบอร์โต นาซารี (Alberto Nazzari) ศิลปินใหญ่มาจากเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ได้เข้ามาเมืองไทย พ.ศ.2454 เพื่อพัฒนาวงเครื่องสายฝรั่งหลวง สมัยรัชกาลที่ 6 ออกแสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2456

Advertisement

ถือเป็นจุดกำเนิดวงออเคสตราดนตรีคลาสสิกในสยาม โดยจัดแสดงโอเปร่าขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องประโลมโลก คาวาล์เลอเรีย รูสติกานา (Cavalleria Rusticana) ผลงานของมัสกัญญี (Pietro Mascagni) เรื่องราวคล้ายกับเรื่องขุนช้างขุนแผนของไทย คือพระเอกเป็นทหารไปออกรบ มีข่าวลือว่าพระเอกได้ตายในสนามรบ เมื่อพระเอกยังไม่ตายกลับมา นางเอกก็ไปแต่งงานกับตัวโกงเสียแล้ว ถ่านไฟเก่าลุกโชน นางเอกกับพระเอกแอบเจอกัน จนตัวโกงซึ่งเป็นสามีจับได้ พระเอกกับตัวโกงก็นัดดวลฟันดาบกัน พระเอกถูกฆ่าตาย นางเอกก็ร้องไห้คร่ำครวญ เรื่องก็จบลงแค่นั้น

ที่เกี่ยวข้องด้วยคือ ครูนาซารีคนนี้ เป็นนักดนตรีที่สนิทกับมาริโอ ตามัญโญ ชวนกันไปพายเรือในคลองสาทร เรือล่ม นาซารีจมน้ำ ต่อมาตายด้วยโรคปอดบวมที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ สาทร พ.ศ.2462

การแสดงดนตรีคลาสสิกวงเล็ก มีนักดนตรี 7 คน (SEPTET) วันนั้น ใช้ผลงานของเบโธเฟน ซึ่งปีนี้ครบ 250 ปี ครบวันตายของเบโธเฟน โดยได้จัดแสดงขึ้นที่ห้องสมุดเนลสัน เฮส์ วัตถุประสงค์จริงในการแสดงดนตรีคลาสสิกครั้งนี้ เป็นความพยายามของนักดนตรีรุ่นใหม่ เพื่อผู้รักเพลงคลาสสิก และเพราะนักดนตรีเองก็อยากเล่นมาก ในช่วงที่มีโรคระบาดโควิดมีการปิดประเทศ ทำให้นักดนตรีเดินทางไปไหนไม่ได้ แสดงดนตรีก็ไม่ได้ ซึ่งเป็นความยากลำบากของชีวิตนักดนตรี เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ความพยายามของนักดนตรีที่อยากเล่น ประกอบกับความสามารถของนักดนตรีที่มีฝีมือดีพอที่จะเล่นเพลงคลาสสิกได้ดี มีผู้ฟังที่สนใจซื้อตั๋วไปฟังเพลง มีผู้ให้การสนับสนุนในการจัดแสดง ทำให้มีพื้นที่ ได้สร้างบรรยากาศดนตรีคลาสสิก

ห้องสมุดเนลสัน เฮส์ มีความเหมาะที่จะแสดงดนตรีวงเล็ก มีพื้นที่สำหรับวงที่ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง ค่าใช้จ่ายไม่แพง เป็นวัตถุประสงค์ที่ร่วมกันจัดแสดงดนตรีคลาสสิก เป็นห้องที่มีเสียงที่ดีพอควร รูปลักษณ์ของห้องสมุดเนลสัน เฮส์ ดูสวยงามมาก เพียงแต่มีที่จอดรถน้อย เพราะเมื่อ 100 ปีที่แล้ว สถาปนิกไม่ได้คิดว่าที่จอดรถจะเป็นปัจจัยสำคัญและมีความจำเป็นมากอย่างในปัจจุบัน สมัยก่อนคนเขาเดินเอา

นักดนตรี 7 คน ประกอบด้วย คิม (Hayne Kim) นักดนตรีชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี เธอทำงานเป็นอาจารย์สอนไวโอลินที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา อ้อมพร โฆวินทะ นักวิโอลา ซึ่งเธอเป็นทั้งนักดนตรีที่ขยันและเปิดโรงเรียนสอนไวโอลินเด็กโดยใช้ระบบของซูซูกิ ตปาลิน เจริญสุข นักเชลโล เธอเป็นผู้บริหารโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ ฤธวัฐร์ สินธุเทพรัตน์ นักดับเบิลเบส ธันยวัฒน์ ดิลกคุณานันท์ นักคลาริเน็ต ซึ่งเป็นโต้โผ เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดแสดง เป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวอยู่ในโลกดนตรี ปัจจุบันได้เป็นอาจารย์สอนคลาริเน็ตอยู่ที่ประเทศจีน

กิตติมา โมลีย์ เป็นนักบาสซูน สอนเครื่องบาสซูน อยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคมสัน ดิลกคุณานันท์ เป็นนักเป่าฮอร์น นอกจากทำหน้าที่เป็นคณบดีสำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาแล้ว ยังเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงแถม (Fr Elise) ผลงานของเบโธเฟนได้ไพเราะงดงามอีกด้วย..

ในการแสดงคืนนั้น ได้สะท้อนว่าสังคมไทยพัฒนาเปลี่ยนไปมากแล้ว ในขณะที่มีเรื่องวุ่นวายทางการเมืองอยู่นั้น ผู้แทนเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยไปนั่งฟังเพลงเพราะเป็นงานฉลอง 250 ปี ของเบโธเฟน ผู้ฟังนั่งแน่นห้องสมุดเนลสัน เฮส์ แม้จะเป็นกลุ่มเล็กแต่ก็มีคุณภาพสูง นักดนตรีเป็นคนไทยรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเฉพาะตัวสูงมาก คนเก่งดนตรีชาวต่างชาติก็เข้ามาประกอบอาชีพดนตรีในเมืองไทยได้ จากยุคดนตรีที่มีฝรั่งเล่น มาถึงยุคดนตรีคลาสสิกที่คนไทยเล่นได้อย่างไพเราะงดงาม

ขณะที่ผู้นำสังคมไทยยังอยู่ในยุคกลางที่มีเจ้าชีวิต ดนตรีของเบโธเฟน ได้นำเสนอความเสมอภาคของสังคม โดยเขียนเพลงให้นักดนตรีทุกคนได้ใช้ความสามารถที่มีร่วมเล่นด้วยกัน ทุกคนเป็นได้ทั้งผู้นำที่เล่นเดี่ยวได้ ทุกคนเป็นผู้ตามที่ดีเล่นประกอบได้ ทุกคนมีอิสรภาพ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม และที่สำคัญก็คือ มีคุณภาพสูง

อย่างน้อยฝีมือของนักดนตรีชาวไทยได้ตอบโจทย์ของสังคมว่า เราได้พัฒนาฝีมือ (คุณภาพคน) ไปได้ไกลมากแล้ว นักดนตรีเหล่านี้จะต้องรักษาเนื้อ รักษาตัว รักษาฝีมือเอาไว้ให้มั่นคง “แม้ว่าความยุติธรรมจะลำเอียง แต่สามัญสำนึกจะต้องรักษาไว้ให้เที่ยง” เบโธเฟนได้พูดไว้ว่า “มีเจ้าชายเป็นร้อยเป็นพันในโลกนี้ แต่มีเบโธเฟนเพียงคนเดียว” ดนตรีของเบโธเฟนจึงยังดำรงอยู่ได้ ประกาศเสียงสัจจะออกมาอย่างสง่างาม

วงดนตรี 7 คน (SEPTET) เล่นเพลงซึ่งเป็นผลงานของเบโธเฟน ในเมืองไทยไม่ค่อยได้ยินนัก เพราะหาคนเล่นยาก วันนี้นักดนตรีไทยสามารถที่จะรวมตัวกันขึ้นเฉพาะกิจ ไม่ได้เป็นวงดนตรีที่อยู่อย่างถาวร แต่ก็รวมตัวและซ้อมกันเพียง 3 ครั้ง แสดงว่านักดนตรีมีฝีมือสูงเป็นทุน มีผู้ให้การสนับสนุนในการจัดจำนวนมาก (ดูจากสูจิบัตร) มีผู้ชมแน่นห้องแสดง สถานทูตเยอรมันให้การยอมรับว่าเป็นการฉลองวันเสียชีวิต 250 ปี ของเบโธเฟน ผู้ชมทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนต่างซื้อตั๋วเข้าชม เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจยิ่ง

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ รัฐบาลเยอรมันและชาวโลกเขายกย่องศิลปิน จัดงานเฉลิมฉลองวันตายของศิลปินอย่างเบโธเฟน 250 ปี ศิลปินผู้ให้แสงสว่างทางปัญญาแก่คนรุ่นต่อๆ ไป..

โดย : สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image