พิษจากพิษสวาท? ลอก-แรงบันดาลใจ-ยืมพล็อต หรือเพียงร่องรอยวรรณกรรมต่างแดนในวรรณกรรมไทย

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงไม่แพ้เรตติ้งละคร สำหรับ พิษสวาท บทประพันธ์ของ ทมยันตี หรือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ที่กำลังออกอากาศอยู่ทางช่องวัน

เรื่องราวในปี 2303 ของนางรำหลวงแห่งราชสำนักที่ถูกทหารเอกผู้เป็นสามีลงดาบสังหารเพื่อให้วิญญาณเธอทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าทรัพย์แผ่นดิน ก่อนที่ในอีกหลายร้อยปีต่อมา เธอจะปรากฏตัวในร่างจำแลงเพื่อทวงคืนความทรงจำของชายหนุ่มผู้เป็นคนรักในอดีตและเป็นทหารเอกที่สังหารเธอในโลกปัจจุบัน

ก็ด้วยเพราะงานกำกับอันละเอียดลออและการแสดงอันทรงพลังของนักแสดง ทำให้พิษสวาทกวาดเรตติ้ง 5.4% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ทีวีดิจิตอล

แต่ก็ใช่หรือไม่ว่า พล็อตเช่นนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจของหลายคน เพราะอุดมไปด้วยความจัดจ้านในทุกองคาพยพ ทั้งความตาย, การกลับมาแก้แค้น, ผีสางและความรักอันไม่อาจบรรจบกันได้

Advertisement

กระทั่งเมื่อพล็อตนี้ถูก พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี อาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า ทมยันตียืมโครงเรื่องของพิษสวาทมาจากเรื่อง Ziska ของมารี คอเรลลิ-นักเขียนชาวอังกฤษ (มีแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ กงเกวียน โดย อมราวดี)

โดยใน Ziska นั้น ตัวละครเอกเป็นนางระบำผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมในรัก ถูกสามีซึ่งเป็นแม่ทัพของฟาโรห์หลอกไปฟันคอตายในสุสานฟาโรห์เพื่อให้วิญญาณของหญิงสาวเฝ้าสมบัติกษัตริย์ วิญญาณอันโดดเดี่ยวของหล่อนจึงพยายามตามหาสามีที่กลับมาเกิดใหม่ในชาติภพต่อมา

ประเด็นการยืมพล็อตนี้ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดในกรณีนี้ แต่ในสังคมไทย นี่เป็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นมาแล้วในยุคก่อนๆ-พูดให้ละเอียดหน่อยอาจนับตั้งแต่วันที่โลกเริ่มไร้พรมแดนด้วยอินเตอร์เน็ตและผู้คนอ่านภาษาอังกฤษกันได้มากขึ้น เพราะวรรณกรรมไทยหลายต่อหลายเรื่อง มีลักษณะของการ “ยืมพล็อต” มาเล่าใหม่ให้เป็น “เนื้อดิน” แบบไทยๆ

Advertisement

ไล่เรียงย้อนถอยหลังกันไปตั้งแต่ สาวเครือฟ้า โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งแปลงมาจากบทละครเรื่อง Madame Butterfly ของจาโกโม ปุชชีนี คีตกวีชาวอิตาเลียน, กาเหว่าที่บางเพลง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จากนิยายเรื่อง The Midwich Cuckoos ของจอห์น วินแดม นักเขียนชาวอังกฤษ, ความพยาบาท โดยพระยาสุรินทราชา หรือแม่วัน ที่แปลงมาจาก Vendetta or the Story of One Forgotten โดยมารี คอเรลลิ อีกเช่นกัน

การยืมพล็อตเช่นนี้ แท้จริงแล้วนับเป็นอีกประเด็นที่ต้องมองในหลากมิติถึงยุคสมัย ค่านิยมและสังคมในเวลานั้น

ซึ่งอาจต้องคุยกันอีกยาว

 

แรงบันดาลใจกับการยืมพล็อต
รายละเอียดที่ต้องจำแนก

สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงประเด็นข้อถกเถียงอย่างการได้รับแรงบันดาลใจและการยืมพล็อตไว้อย่างกะทัดรัด

“ส่วนตัวแล้วก็จะคิดว่า แรงบันดาลใจคือการที่เราได้ไปอ่าน ไปดูอะไรมา แล้วเรื่องนั้น หรือบางประเด็นบางฉากในนั้นจุดประกายให้เราเกิดความรู้สึกอยากจะผลิตอะไรบางอย่างเป็นของตัวเราเอง ซึ่งมันอาจจะเหมือนกับฉากนั้นๆ หรือมีแนวคิดอะไรบางอย่างที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องนั้นๆ หรืออาจจะไม่เหมือนไปเลยก็ได้ เช่น อาจจะออกมาในแนวตรงกันข้าม ท้าทาย เราก็คิดว่าเรียกว่าแรงบันดาลใจได้ค่ะ”

ขณะที่การยืมพล็อตนั้นแตกต่างไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นการยืม “โครงเรื่อง” มาใช้ “ซึ่งแปลว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่กำกับเรื่องเล่าทั้งเรื่อง ให้มีลักษณะคล้ายคลึง ไปในทิศทางเดียวกันกับเรื่องต้นฉบับ แต่อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังโครงเรื่องก็อาจจะต่างกันไปด้วยก็ได้”

อาจารย์สาวไม่ได้ปฏิเสธถึงแรงบันดาลใจหรือ “กลิ่น” จากวรรณกรรมชิ้นอื่นๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่องานวรรณกรรมอีกชิ้น ในแง่รูปแบบการเขียน การเล่าเรื่อง การนำเสนอ กระทั่งการสร้างบรรยากาศ “หรือถ้าเป็นแนวให้ข้อคิดสอนใจ ตัวความคิดที่ว่า น่าจะสะท้อนค่านิยมของสังคมมากกว่าความเหมือนระหว่างผลงานจากนักเขียนคนละคนด้วยซ้ำ”

เว้นเสียแต่ว่า ถ้ากลิ่นหรือลักษณะเหล่านั้นให้ความรู้สึกว่าเหมือน ก็อาจเป็นอีกกรณีที่ต้องคุยกันอีกหลายยก ซึ่งก็อีกนั่นแหละที่แม้ในโลกปัจจุบันจะติดประเด็นลิขสิทธิ์ทางปัญญา แต่หมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน นักเขียนหลายคนก็คิดว่าการขอยืมพล็อตจากวรรณกรรมในต่างแดนมาเขียนเองเสียใหม่นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไปจนถึงขั้นเป็นปกติ

และกับกรณีพิษสวาทของทมยันตีที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นคำรบใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้ สุธิดาอธิบายภาพรวมว่า สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาน่าจะมาจากเรื่องการทำการตลาดแบบเน้นไสยศาสตร์

“หมายถึงแม้แต่การที่มีคนมาบอกว่าเขายืมพล็อตมา เราก็ไม่คิดว่าคนพูดจะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาในตัวเอง มากเท่ากับว่าถ้าคนเขียนแกยืมพล็อตมา เรื่องไสยศาสตร์มีผีมาหาทั้งคนเขียนทั้งทีมงานก็ดูจะเป็นจำอวดหน่อยๆ ที่คนอ่านหรือดูไม่ควรจะไปเชื่อตามอย่างงมงาย ถ้าคนอ่านจะรู้ทันอะไร ก็ควรเป็นเรื่องพวกนี้มากกว่าการตามจับผิดนักเขียนว่าลอกใครมา

“และแน่นอน มันโยงกับการ ‘รู้เท่าทันความเป็นไทย’ ด้วย เพราะเห็นชัดๆ ว่านี่คือกรณีการนำเอาความเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยมาใช้ประโยชน์ทางการตลาดค่ะ”

pra01080859p2

 

การยืมพล็อต
ความซับซ้อนในฐานะวิธีคิดและกระบวนการ

กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ หัวหน้าโครงการวรรณกรรมไม่จำกัด ให้ความเห็นว่า เพราะนักเขียนไทยไม่ได้แปล แต่เน้นแปลงความมากกว่า

“อย่างภูมิประเทศเราก็ปรับให้เป็นอย่างไทย ซึ่งมันก็ไม่ใช่การแปลแล้วแต่เป็นการแปลง จากที่หนึ่งมาอีกที่หนึ่ง”

ฉะนั้น สำหรับกิตติพลแล้ว ในฐานะที่เขาเองเป็นคนหนึ่งที่เป็นนักเขียน-นี่อาจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ “เคลมยาก”

“ต่อให้เราคิดว่าเราลอกงานชิ้นหนึ่งมาด้วยความสนใจ ดัดแปลงนิดหน่อยแล้วใส่ชื่อเราลงไป คำถามในเชิงปรัชญาคือ แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่างานที่เราลอกเป็นออริจินอล”

เพราะถึงอย่างไร งานเขียนคือหนึ่งในผลลัพธ์ที่ออกมาจากครรภ์ของสังคมและสภาพแวดล้อม รวมถึงความสนใจอื่นใดของผู้เขียนที่เอาเข้าจริงๆ ก็ใช่หรือไม่ว่ายากจะระบุถึงความเป็น “ตัวต้นแบบ”

“ข้างในงานที่เราลอกมาอาจมีโรเมโอและจูเลียตของวิลเลียม เชกสเปียร์ หรือมีงานของเซร์บันเตส นักเขียนชาวสเปน แล้วยังมีงานใครในนั้นอีกไหม หรือจริงๆ แล้วเรื่องการเคลมความเป็น Author หรือความเป็นผู้ประพันธ์อาจซับซ้อนกว่าที่เราพูดกัน”

กิตติพลไม่ปฏิเสธว่าคนลงลายเซ็นรับผิดชอบสิ่งที่ตนเขียนนั้นคือการแสดงออกว่าเป็นผู้ประพันธ์ แต่ในงานเขียนชิ้นนั้น ก็อีกนั่นแหละว่า ใช่ไหม-ที่มีงานอื่นๆ อยู่ข้างในด้วย

“การลอกเชิงวิชาการคือการลอกวิทยานิพนธ์ เพราะมันไม่ได้เขียนลอยๆ มันทำเพื่อใบปริญญาบัตรหรือเพื่อบางสิ่งบางอย่าง การเขียนลอกก็ทำเพื่อบางสิ่งเหมือนกัน และแน่นอนว่ามันมีผลประโยชน์ตามมา การเสียประโยชน์ที่ปฏิเสธไม่ได้มันต้องมีอยู่แล้ว”

แต่ในแง่ประเด็นการหยิบยืมพล็อตมาแล้วไม่ได้บอกนั้น แง่หนึ่งอาจต้องถามผู้ประพันธ์ว่า ท้ายที่สุดแล้วมาตรฐานต่อไปของกรณีเช่นนี้คืออะไร

“คำถามคือ ในกรณีของคุณทมยันตี ถ้ามีคนยืมพล็อต งานเขียนของเธอไปเขียนหรือปรากฏในงานอื่น เธอจะรับได้หรือไม่ จะใช้มาตรฐานอย่างไรในการมองกรณีเช่นนี้

“นี่จึงเป็นโจทย์ในตัวมันเอง”

สำหรับกิตติพลแล้ว นี่จึงเป็นเรื่องพื้นฐานว่าเราคิดกับกรณีการ “ยืมพล็อต” นี้อย่างไร และจริงจังกับสิ่งที่ทำมากแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าโจทย์เช่นนี้ของเขาย่อมเรียกร้องให้กลับไปถามหาความสัตย์จริงและซื่อตรงต่อสิ่งที่พูดและแสดงออกของตัวผู้ประพันธ์เองในที่สุด

 

แม่แบบที่ถูกยืม
วรรณกรรมชั้นสองจากแดนผู้ดี?

ผู้คลุกคลีกับวงการวรรณกรรมไทยในระดับเข้าเส้นเลือดอย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้ความเห็นอย่างเข้าอกเข้าใจถึงประเด็นอันละเอียดอ่อนนี้ รวมถึงอิทธิพลอันล้นเหลือของนักเขียนอย่างมารี คอเรลลิ และเซอร์ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด-นักเขียนชาวอังกฤษอีกคนที่เป็นต้นแบบแรงบันดาลใจในงานวรรณกรรมเชิงผจญภัย

“มารี คอเรลลิ และเซอร์ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด คือนักเขียนที่เป็นที่นิยมมากๆ ประเทศอังกฤษเมื่อศตวรรษที่ 19 ซึ่งผมคิดว่างานเขียนของพวกเขาคือวรรณกรรมของวิคทอเรียชั้นสองของอังกฤษ-ผมตั้งเป็นข้อสังเกตนะครับ อย่าโทษกันเลย” ลงท้ายประโยคด้วยปลายเสียงเขินๆ และสุภาพอย่างที่สิงห์สนามหลวงอย่างเขาเป็นเสมอมา

ข้อสังเกตที่บรรณาธิการใหญ่ได้ถ่อมตัวนั้น มีที่มาน่าสนใจอยู่หลายประการ อย่างแรก-นักแปลเป็นนักเรียนนอก อันได้แก่พระยาสุรินทราชา, หลวงวิลาศปริวัตร หรือครูเหลี่ยม ที่เขียนเรื่อง สาวสองพันปี จากเรื่อง She: A History of Adventure โดยเซอร์ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด

“นักแปลของเราไม่ได้หยิบเอาวรรณกรรมชั้นหนึ่งของยุคนั้นในประเทศอังกฤษมา คือวรรณกรรมเหล่านั้นมาไม่ถึง อาจเพราะความสนใจหรือเรื่องของภาษาก็เป็นไปได้”

สำหรับสุชาติ เรื่องและรสอย่างงานเขียนจากมารี คอเรลลิ หรือเซอร์ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด ย่อมต้องตาต้องใจและเป็นที่นิยมของผู้แปลมากกว่า ซึ่งเขาย้ำแล้วย้ำอีกระหว่างบทสนทนาว่า “ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย”

และเรื่องแบบคอเรลลิหรือแฮ็กการ์ดเอง ท้ายที่สุดเป็นดุจ “ขนบ” ของงานเขียนไทยยุคหนึ่ง เพราะพ้นไปจากแม่วันหรือพระยาสุรินทราชา ยังมีนักแปลอย่างมาลัย ชูพินิจ ในนามปากกาแม่อนงค์ ที่แปลวรรณกรรมที่มีกลิ่นและรสเช่นนี้ในเวลาต่อๆ มา

“ผมสนใจประเด็นเรื่องที่ว่า นักอ่านที่อ่านภาษาอังกฤษออก หยิบเอาจากงานจากตะวันตก งานของฝรั่งมาแปล และถ้าหากถามความเห็นส่วนตัว งานแบบมารี คอเรลลิ เป็นตัวแบบชั้นสอง ตรงนี้เองที่ให้ตัวแบบเชิงอิทธิพลกับประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยในเวลาที่ผ่านมาใช่หรือไม่”

เพราะท้ายที่สุด กระทั่งทุกวันนี้ งานเขียนไทยยังอยู่ในวังวนของเรื่องแนวคอเรลลิ

“พูดไปแบบนี้คนที่ชอบมารี คอเรลลิ อาจโกรธผมก็ได้” เขาพูดต่อด้วยความสุภาพ “แต่ในรุ่นที่เราหยิบเอางานจากต่างประเทศมาแปล เราไม่ได้หยิบเอางานวรรณกรรมชั้นหนึ่งมา เราจึงไปไม่ถึงชาร์ลส์ ดิกคินส์, โจเซฟ คอนราด, เอช. จี. เวลส์ แต่ได้มารี คอเรลลิ กับเซอร์ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด มา ซึ่งทั้งสองท่านมีอิทธิพลในเชิงความบันดาลใจไม่ทางตรงก็ทางอ้อมให้นักเขียนไทยในภายหลัง”

เซอร์ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด เองท้ายที่สุดก็เป็นแรงบันดาลใจให้งานเขียนเชิงผจญภัยหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ราชินีบอด โดยสุวัฒน์ วรดิลก ที่ได้อิทธิพลมาในเชิงน้ำเสียง บรรยากาศ และตัวแบบทางเนื้อหาโดยไม่ได้ลอกเลียนจากเรื่อง She: A History of Adventure โดยเซอร์ไรเดอร์

“เราเองก็ได้อิทธิพลจากวรรณกรรมชั้นหนึ่งของอังกฤษมา-แต่ก็ช้า อาจจะ 50 ปี หรือ 100 ปี ถ้าเทียบกับรุ่นเดียวกัน เพราะสมัยรัชกาลที่ 5 ของเรากับยุคเมจิในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเราได้อิทธิพลจากงานนักเขียนต่างประเทศมาในช่วงนั้น โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศอังกฤษ”

กับความ “ป๊อป” หรือความเป็นกระแสหลักของวรรณกรรมนั้น สุชาติยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพียงแต่การที่นักเขียนไทยมุ่งนั้นแปลความมาจากวรรณกรรมเช่นนี้ (ซึ่งสุชาติมองว่าเป็นวรรณกรรมรอง) ย่อมทำให้ไม่ได้หัวใจจริงๆ ของวรรณกรรมชั้นหนึ่งจากอังกฤษมา

ยิ่งกับนักเขียนรุ่นราวคราวเดียวหรือร่วมสมัยกับมารี คอเรลลิ นั้น สุชาติยังแจงให้เห็นว่ามีทั้งเวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนหญิงที่เขียนงานแนวกระแสสำนึก, เจมส์ จอยซ์ เจ้าของงาน Ulysses หรือฟรานซ์ คาฟคา

“เราไม่ได้ตัวแบบชั้นหนึ่งมา แต่ญี่ปุ่นเขาได้ เขาแปลจากงานนักเขียนต่างชาติและภาคพื้นยุโรปด้วย และมีเข็มในการแปลว่าจะเลือกเอาหัวใจของงานเขียนจากตะวันตกมาให้นักอ่านประเทศเขาได้อ่าน รวมทั้งมีนโยบายในระดับต้องการให้คนญี่ปุ่นสมัยเมจิรู้ว่างานเขียนชั้นเลิศของตะวันตกเป็นอย่างไร แต่ของเรานี่ค่อนข้างจะส่วนตัวหน่อย คือใครอ่านเรื่องไหนแล้วชอบก็แปล”

สิงห์สนามหลวงเว้นระยะ ก่อนจะกล่าวปิดท้าย “เสียดาย ถ้าเราได้วรรณกรรมตัวแบบชั้นหนึ่งมา เช่น เจมส์ จอยซ์, ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี แบบนี้ก็น่าจะทำให้โฉมหน้าของวรรณกรรมไทยเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่นี่ก็เป็นเพียงสมมุติฐานของผมเท่านั้นนะ”

“เข้าใจว่าคุณทมยันตีก็เป็นคนหนึ่งและมีนักเขียนคนอื่นๆ อีกที่เขียนเรื่องเป็นตอนๆ แล้วมีลักษณะการใช้น้ำเสียง บรรยากาศ วนเวียนในลักษณะที่ได้อิทธิพลทางอ้อมมาจากคอเรลลิ”

เหล่านี้อาจเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยเถียงกันต่อไปบนสังเวียนของเหตุและผล
กับโฉมหน้าและความเป็นไปในวงการวรรณกรรมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image