อาศรมมิวสิก : ยามยาก ดนตรีจะช่วยจรรโลงจิตใจคนได้อย่างไร

เมื่อถึงยามยาก ตั้งแต่ความแตกแยก ความเห็นที่แตกต่าง สังคมตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ไปกระทั่งบ้านแตกสาแหรกขาด ความอดอยากยากจน การฆ่าตัวตายของคนในสังคม เริ่มมีคำถามว่า “เราจะเดินต่อไปอย่างไร” ศิลปวัฒนธรรมดนตรีที่มีอยู่ในสังคมจะช่วยจรรโลงจิตใจและเตือนสติคนในสังคมได้อย่างไร เมื่อยังเชื่อว่า ดนตรีสามารถสร้างความสามัคคีให้แก่คนในสังคม แล้วดนตรีจะช่วยหล่อหลอมจิตใจคนในสังคมได้อย่างไร เริ่มต้นง่ายๆ ว่า “เมื่อเราทะเลาะเกี่ยวกับเรื่องเมื่อวานนี้ แล้วเราจะมีพรุ่งนี้ได้อย่างไร”

วันนี้ สังคมไม่ได้มีผู้นำคนเดียว มีผู้นำเกิดขึ้นมากมาย มีหลายก๊ก หลายกลุ่ม หลายพวก หลายเหล่า แต่ละกลุ่มแต่ละพวกต่างมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน มีวิธีคิด มีความเชื่อ มีกลยุทธ์ และมีวิธีดำเนินการที่แตกต่างกัน แต่ทุกกลุ่มก็มีเป้าหมายและมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ต้องการความร่มเย็นเป็นสุขของสังคมเหมือนกัน ต่างที่ทุกกลุ่มต่างเชื่อว่าวิธีของตัวนั้นดีที่สุด ผู้นำของทุกกลุ่มเชื่อว่าให้ตามข้าพเจ้ามาเพื่อความสุขอันยิ่งใหญ่ของสังคม ซึ่งยังเชื่อว่าทุกกลุ่มยังร้องเพลงชาติเพลงเดียวกัน

ดนตรีเป็นศิลปะของหัวใจและเป็นหัวใจของศิลปะทั้งมวล ดนตรีนั้นอยู่เหนือปรัชญาและปัญญา ดนตรีเป็นศิลปะของเสียง เสียงเป็นพลังงาน เสียงมีอำนาจสามารถสร้างความเคลื่อนไหว และความเคลื่อนไหวสร้างความเปลี่ยนแปลง ทุกความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา และการพัฒนาทำให้เกิดความเจริญ ที่สำคัญก็คือ ในทุกๆ กลุ่มต่างก็ร้องเพลงและเล่นดนตรีเพื่อจรรโลงและปลุกเร้าใจ หลอมหัวใจให้มีพลังด้วยเสียงดนตรี

เสียงดนตรีเป็นสัจนิยม ประกอบด้วย ความจริง ความดี ความงาม และความไพเราะ ยังรวมถึงความสะอาดและความมีระเบียบด้วย ดนตรีจึงเป็นเสียงที่ออกจากใจ พุ่งเข้าสู่จิตใจของผู้ฟัง เพราะเสียงที่สดใสออกจากใจที่สะอาด ทำให้เสียงดนตรีมีพลัง ดนตรีอาจจะเป็นทางเลือก เป็นทางออกของสังคมได้บ้าง

Advertisement

เวลานี้พระออกพรรษาแล้ว ผ่านงานลอยกระทงไปแล้ว ยังคงมีเทศกาลทอดกฐิน สิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้ คือ เทศกาลเทศน์มหาชาติ ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบด้านศิลปวัฒนธรรมชาติคือกระทรวงวัฒนธรรม สามารถจัดงานเทศน์มหาชาติได้ โดยมีวงดนตรีปี่พาทย์ วงดุริยางค์เครื่องเป่า วงซิมโฟนีออเคสตรา เล่นประกอบกัณฑ์เทศน์ เพื่อสร้างบรรยากาศทำให้เป็นมหรสพใหม่

ทําไมต้องเทศน์มหาชาติ เพราะเป็นชาดกเรื่องพระเวสสันดร ที่บรรจุพระบารมีของพระโพธิสัตว์ไว้ครบทั้ง 10 ประการ ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมม์ (การออกบวช) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา จึงเรียกว่า “มหาชาติ” สมัยพญาลิไท (ครองราชย์ พ.ศ.1890-1911) กรุงสุโขทัย เรียกว่าคาถาพัน เพราะบรรจุเอาไว้ 1,000 คาถา ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก วัตถุประสงค์เพื่อให้อาณาจักรและศาสนจักรอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

สมัยอยุธยา เรียกว่าสวดโอ้เอ้วิหารราย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ.1991-2031) ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งเวสสันดรชาดกเป็นคำหลวง สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ พ.ศ.2154-2171) แต่งเป็นกาพย์มหาชาติ ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 พระสงฆ์เทศนาในแต่ละกัณฑ์ มีการตกแต่งกัณฑ์เทศน์และมีเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ เริ่มพัฒนาเทศน์มหาชาติสู่ความเป็นมหรสพ ต่อมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พ.ศ.2406-2490) บรรจุเพลงประจำกัณฑ์ เพื่อให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เสริมด้วยวงปี่พาทย์ของชาวบ้านเพื่อความบันเทิง เทศน์มหาชาติจึงเป็นชาดกของผู้ปกครอง เป็นกลยุทธ์ของผู้นำที่ใช้สันติวิธี โดยใช้ธรรมนำสังคม

เทศน์มหาชาติ (1,000 คาถา) แบ่งการเทศน์ออกเป็น 13 กัณฑ์ ก่อนเทศน์มหาชาติ ดนตรีโหมโรงเทศน์เพลงสาธุการ เมื่อจบกัณฑ์ต่างๆ ดนตรีก็บรรเลง ดังนี้ กัณฑ์ทศพร-เพลงสาธุการ กัณฑ์หิมพานต์-เพลงตวงพระธาตุ กัณฑ์ทานกัณฑ์-เพลงพญาโศก กัณฑ์วนปเวสน์-เพลงพญาเดิน กัณฑ์ชูชก-เพลงเซ่นเหล้า กัณฑ์จุลพน-เพลงคุกพาทย์ กัณฑ์มหาพน-เพลงเชิดกลอง กัณฑ์กุมาร-เพลงโอดเชิดฉิ่ง กัณฑ์มัทรี-เพลงทยอยโอด กัณฑ์สักกบรรพ-เพลงเหาะ กัณฑ์มหาราช-เพลงกราวนอก กัณฑ์ฉกษัตริย์-เพลงตระนอน และกัณฑ์นครกัณฑ์-เพลงกลองโยน วงดนตรีที่ใช้บรรเลงประจำกัณฑ์ใช้ทั้งวงปี่พาทย์ วงดุริยางค์เครื่องเป่า วงซิมโฟนีออเคสตรา โดยให้เลือกตามสะดวก

การจัดเทศกาลเทศน์มหาชาติ เป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งควรใช้โรงละครแห่งชาติหรือศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยใช้วิธีถ่ายทอดผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้คนในสังคมทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งนี้ จะต้องนิมนต์พระที่มีความสามารถสุดยอดในการเทศน์แต่ละกัณฑ์มาเทศน์ หาวงดนตรีปี่พาทย์ที่เปรี้ยวที่สุด หาวงดุริยางค์เครื่องเป่าและวงซิมโฟนีออเคสตราที่ดีที่สุด มาบรรเลงในเทศกาลเทศน์มหาชาติครั้งนี้ เพื่อสมโภชแผ่นดินนี้
ให้บังเกิดความเจริญงดงามและคงอยู่ต่อไป

สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีวัฒนธรรมดนตรีที่แตกต่าง อาทิ การจัดเทศกาลดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ โดยหาวงสะล้อซอซึง วงปี่จุม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ ลำปาง เป็นต้น

จัดเทศกาลดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน โดยรวบรวมวงโปงลาง วงหมอลำ วงกันตรึม ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เป็นต้น

ส่วนเทศกาลดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ มีคณะวงรองเง็งชายฝั่งตะวันออก ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา มีคณะวงรองเง็งฝั่งตะวันตก ในพื้นที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล มีเทศกาลโนราห์ หนังตะลุง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา เป็นต้น

เทศกาลดนตรีพื้นบ้านเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้เต็มที่สำหรับการจัดเทศกาล โดยขอความร่วมมือไปยังสถาบันอุดมศึกษาเพื่อใช้พื้นที่ ใช้หอประชุม ในการจัดเทศกาลดนตรีพื้นบ้าน แล้วถ่ายทอดออนไลน์เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและดูซ้ำย้อนหลังได้

อีกกิจกรรมหนึ่งที่ศิลปินในสังคมสามารถทำได้ดี เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 การเว้นระยะห่าง ทำให้วงดนตรีขนาดใหญ่รวมตัวยาก สามารถจัดเป็นวงดนตรีขนาดเล็ก (Chamber) เกิดขึ้นและทำได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่ 2-12 คน การรวมวงขนาดเล็ก (Small Ensemble) ทั้งวงดนตรีสากลและวงดนตรีไทย ซึ่งมีหอแสดงขนาดเล็กๆ อาทิ สถาบันวัฒนธรรมเกอเธ่ หอประชุมเล็ก โรงละครเล็ก ห้องสมุดเนลสัน เฮส์ ฯลฯ

การจัดประกวดวงดนตรีขนาดเล็ก เปิดโอกาสให้นักดนตรีรวมตัวกันเป็นวง (Acoustic) ใช้เครื่องดนตรีจริงที่อาศัยเสียงธรรมชาติ ทั้งวงดนตรีไทยและวงดนตรีสากล แต่ละวงนำเพลงพื้นบ้าน เพลงไทย เพลงสากล หรือเพลงนานาชาติ มาเรียบเรียงให้เหมาะกับความสามารถ ทั้งเครื่องดนตรีและวงดนตรี ทั้งในรูปแบบเพลงบรรเลงและเพลงร้อง ใช้ดนตรีเป็นเวทีรวมจิตใจคนในสังคม สำหรับเยาวชนศิลปินที่เล่นเดี่ยวหรือเล่นคนเดียว สามารถที่จะเล่นได้จากที่บ้านส่งผ่านสื่อออนไลน์

เวทีศิลปินเยาวชนเล่นเครื่องดนตรีเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีสากล เครื่องดนตรีนานาชาติ โดยเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เยาวชนส่งผลงานการเล่นดนตรีผ่านสื่อออนไลน์ ความยาว 3-5 นาที ผู้ที่มีความสามารถผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการศิลปินแห่งชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรมมอบรางวัลให้จำนวน 1,000 คน ได้รับรางวัล 1,000 บาท ข้าวสาร 10 กิโลกรัม และปลากระป๋อง 1 ลัง ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศที่สดชื่น ลดปัญหาและความรู้สึกยากจนลงบ้าง ให้ทุกคนมีโอกาสใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาของตน

งานเผาศพที่วัด ซึ่งมีเกือบทุกวัดและมีทุกวัน วันนี้ไม่มีวงปี่พาทย์ประโคมศพ วงปี่พาทย์เป็นวงดนตรีประจำชาติ มีหน้าที่ส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์ งานศพเป็นพิธีกรรมสุดท้ายของชีวิต ในขณะที่วงปี่พาทย์ไม่มีงานทำและนักปี่พาทย์ก็ตกงาน หากจะนับวัดในประเทศไทยที่มีอยู่ 42,468 วัด (ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) เมื่องานศพที่เผาในวัดไม่มีวงปี่พาทย์ประโคม ดวงวิญญาณกลายเป็นสัมภเวสีหรือเปรต ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมอาจเลือกวัดต้นแบบ 2-3 วัด เพื่อทำพิธีกรรมงานเผาศพที่มีวงปี่พาทย์บรรเลงตลอดทั้งปี ส่งดวงวิญญาณสู่สวรรค์

กระทรวงวัฒนธรรมได้งบประมาณแผ่นดินปีละ 8,000 ล้าน ควรเอาเงินออกมาทำกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อจะจรรโลงจิตใจของคนในสังคมให้อบอุ่นขึ้น ยามยากอย่างที่สังคมเป็นอยู่ทุกวันนี้ เสียงดนตรีเป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะทุกคนฟังดนตรี ดนตรีไม่มีสี ดนตรีไม่มีกลิ่น ดนตรีเป็นของทุกคน ดนตรีทุกชนิดสามารถที่จะกล่อมจิตใจให้สงบลงได้ ดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชน เพียงแต่จะนำดนตรีอะไรไปใช้เมื่อใดเท่านั้น

หากกระทรวงวัฒนธรรมยังนึกอะไรไม่ออก ก็ลองใช้ตัวอย่างเหล่านี้ไปก่อนได้ โดยไม่สงวนสิทธิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image