เปิดตัวหนังสือ ‘เมียนมา ระยะเปลี่ยนผ่าน’ ชี้ ทหารพม่ายอมถอย ไม่ยอมทิ้ง ฉายภาพ 10 ปีเผด็จการผสมปชต.

เปิดตัวหนังสือ ‘เมียนมา ระยะเปลี่ยนผ่าน’ ชี้ ทหารพม่ายอมถอย ไม่ยอมทิ้ง ฉายภาพ 10 ปีเผด็จการผสมปชต.

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘เมียนมา การเมืองการปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน’ ผลงาน ผศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช โดยมีวิทยากรได้แก่ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์, ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และรศ.ดร. นภดล ชาติประเสริฐ

ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า วันที่พม่าเลือกตั้ง คือ 8 พ.ย. สหรัฐอเมริกาก็กำลังนับคะแนนโดยมีแนวโน้มว่าไบเดนจะได้เป็นประธานาธิบดี วันเดียวกันการเมืองไทยก็ร้อนระอุที่สนามหลวง เชื่อว่าการมาบรรจบกันของเหตุการณ์เหล่านี้ มีนัยยะสำคัญในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย หรือการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในหลายแห่ง

สำหรับแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ตนสนใจการเมืองพม่ามานานแล้ว เคยคิดว่าเวลามองการเมืองพม่าจะหยิบมุมไหนมาพิจารณาในข้อวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ ทหารพม่าครองรัฐมานานหลาย 10 ปี กว่าจะกดปุ่มให้ทีการเลือกตั้งสู่ประชาธิปไตย ตนมานั่งคิดว่าพม่าก่อนปี 2010-2011 มีลักษณะเป็นรัฐชนิดใด และพม่าหลังจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญ เป็นรัฐชนิดใด ในหนังสือเล่มนี้ ตนระบุว่าในช่วงที่พม่ามีทหารครองรัฐ มีลักษณะเป็นรัฐเสนาธิปัตย์ คำนี้สื่อถึงการแทรกแซงทางการเมืองของทหารซึ่งพบเห็นในหลายประเทศ ตกอยู่ใต้อำนาจกองทัพที่ปกครองประเทศโดยตรง ต่อเนื่องและยาวนาน จึงทำให้น่าคิดต่อว่าหลังการเปลี่ยนผ่าน ทหารพม่ายังมีบทบาทเหมือนเดิมหรือไม่

“หนังสือเล่มนี้จะตอบโจทย์ที่ว่า ก่อนการเปลี่ยนผ่าน ถ้านำจุดเปลี่ยนคือปี 2011 โดยประมาณเป็นตัวตั้ง พม่าเป็นรัฐเสนาธิปัตย์ ทหารปกครองโดยตรงต่อเนื่องยาวนาน แต่มาวันนี้ ไม่ใช่อีกแล้ว ทหารพม่ากลายเป็นเพียงกลุ่มอำนาจหลักกลุ่มหนึ่งในระเบียบการเมืองใหม่ ดังเช่นที่ อ.สมฤทธิ์ ลือชัยใช้คำว่า ในทางการเมืองทหารพม่ายอมถอย แต่ไม่ยอมทิ้ง คือยอมลดบทบาทจากผู้ปกครองโดยตรง เปิดพื้นที่ให้พลเรือนมีสถาบันแบบประชาธิปไตยมากขึ้น มีบทบาทเป็นผู้ถ่วงดุลไกล่เกลี่ยในโครงสร้างรัฐสภา ซึ่งร้อยละ 25 เป็นทหารลากตั้งเข้าไปอย่างเหนียวแน่น เสียงไม่แตก อีกร้อยละ 75 เป็นสส.พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับพม่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย ทหารเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญปี 2008 อีกหนึ่งบทบาทคือเป็นผู้พิทักษ์รัฐระยะชั่วคราว”

Advertisement

ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวอีกว่า พม่าก่อนเปลี่ยนผ่าน เป็นเผด็จการทหารแต่มีการปกครองเป็นรัฐเดี่ยว มีรัฐบาลเดียว กองทัพพยายามที่จะรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง แม้ว่าอำนาจกองทัพไปไม่ถึงในบางพื้นที่ตามชายแดน แต่ที่น่าสนใจคือในช่วงเปลี่ยนผ่าน ราว 10 ปีมานี้ พม่ามีระบอบการปกครองที่เปลี่ยนไป จากรัฐเผด็จการเอกรัฐรวมศูนย์ กลายเป็นรัฐกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย กึ่งเอกรัฐกึ่งสหพันธรัฐ

“นี่คือลักษณะที่น่าสนใจมากในการเมืองพม่ายุคปัจจุบัน เพราะเป็นระบอบที่มีทั้งเผด็จการ ทั้งประชาธิปไตยดำรงอยู่ร่วมกัน ผสมผสานกัน แต่มีการกระทบกระแทก ทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง ประจันหน้าและชนกันบ้าง เป็นอย่างนี้มาประมาณ 10 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นพม่าเป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ นับแต่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เวลามองพม่าด้านนี้ เราสามารถหันกลับมาอ่านการเมืองไทยได้ เพราะการเมืองไทยทุกวันนี้เป็นแบบไฮบริดเหมือนกัน ตั้งต้นจากคสช.กดปุ่มให้เลือกตั้งสู่ประชาธิปไตย ทุกวันนี้เราไม่ใช่เผด็จการทหารเต็มๆ แต่เป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยไม่ค่อยมีเสถียรภาพ มีการแยกขั้วทางการเมือง มีการพุ่งชนโดยไม่รู้ว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือหมุนกลับสู่เผด็จการ มีการรัฐประหาร เรายังตอบตรงนี้ไม่ได้ แต่พม่ามีความชัดเจน นี่คือจุดที่น่าเปรียบเทียบ”

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า อีกกรณีหนึ่ง คือวันนี้พม่ามีรัฐบาล 2 ระดับขึ้นไป มีรัฐบาลประจำรัฐต่างๆ ในขณะที่ไทยมีรัฐบาลเดียว ไม่มีรัฐบาลประจำมลรัฐ หนังสือเล่มนี้จะฉายภาพให้เห็นว่าทำไมทหารพม่าตัดสินใจเปลี่ยนผ่านการเมือง ทำไมถึงยอมถอนตัวในบางมิติจากระเบียบการเมืองใหม่ เกิดอะไรขึ้นในระบบคิดของกองทัพพม่า

“แน่นอน เมื่อโลกเปลี่ยน พม่าก็ต้องเปลี่ยน แต่ผู้นำทหารเห็นว่า ขอให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในแนวทางที่ทหารสามารถควบคุมได้ นี่คือสิ่งที่พลเอกตาน ฉ่วย เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย นั่นคือ เผด็จการผสมประชาธิปไตย หนังสือเล่มนี้ ยังพูดถึงรัฐธรรมนูญพม่า และการจัดการปกครอง สถาบันการเมือง การเลือกตั้ง โดยนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาวิเคราะห์ สำหรับส่วนสุดท้ายในหนังสือ สำคัญที่สุด คือการใช้ทฤษฎีรัฐศาสตร์ทางการเมืองเปรียบเทียบเข้ามาอ่านการเมืองพม่า หากสนใจการเลือกตั้งของพม่าที่กำลังนับคะแนนอยู่ แล้วอยากรู้ว่ารูปร่างหน้าตาของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ขอสรุปสั้นๆว่า รอไปอีกหลายเดือน เพราะเมื่อเลือกตั้งเสร็จ นับคะแนน จากนั้นเปิดประชุมสภา กว่าจะโหวตเลือกประธานาธิบดี แล้วตั้งครม.ใหม่ ช่วงมีนาคม ถึงเมษายน” ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

รศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ

ด้าน รศ.ดร. นภดล กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาธิปไตยของพม่าล้มลุกคลุกคลาน การต่อสู้อย่างยาวนานยืดเยื้อของพม่า ตนมองว่าไม่ได้เป็นกรณีเฉพาะ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ในหลายๆที่ แต่แน่นอนว่ารายละเอียดต่างกันออกไป หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า เมียนมา การเมืองการปกครองในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นการใช้คำที่เหมาะสมมาก เพราะการต่อสู้ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการไม่เหมือนสวิตซ์ไฟที่เปิดก็ติด ปิดก็ดับในทันที แต่ระยะเปลี่ยนผ่านคือข่วงสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง ถ้าระยะเปลี่ยนผ่านมีอุปสรรค บางทีความเปลี่ยนแปลงอาจย้อนกลับ จะเห็นว่าในเกาหลีใต้ จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย มีช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญภายใต้การนำของ ‘โร แต วู’ หรือเรียกตามสำเนียงเกาหลีคือ ‘โน แท อู’ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นครั้งแรก แต่เป็นทหาร ดังนั้น โดยกรอบและรูปแบบแม้เป็นประชาธิปไตย แต่ตัวตนเชื่อมกับกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งทำให้กลุ่มอำนาจเดิมอุ่นใจในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้สามารถปรับตัว ขยับเครือข่ายต่างๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต่อไป ทหารนายนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ให้มีการกระทบกระทั่ง หรือเปลี่ยนแปลงฉับพลันเกินไป ในขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายเป็นเสรีมากขึ้น ด้วยการปล่อยนักโทษการเมือง ให้เสรีภาพสื่อ ทำให้พรรคเข้มแข็งขึ้น

“กรณีพม่า ช่วงเปลี่ยนผ่านก็เป็นโจทย์สำคัญ น่าสนใจว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านจะยาวแต่ไหน สำหรับประเทศที่มีรากฐานการปกครองแบบเผด็จการมาอย่างยาวนาน ช่วงเปลี่ยนผ่าน 10 ปีถือว่าไม่ยาว และมีพัฒนาการ” รศ.ดร.นภดลกล่าว

ศ.ดร.สุเนตร กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ เปลี่ยนผ่าน เป็นคีย์เวิร์ด เป็นการเปลี่ยนผ่านระบบที่ทหารคุมอำนาจนำ ไปสู่ระบบไฮบริด คือการผสมกลมกลืนระหว่างภาคพลเรือนกับทหาร จังหวะการเปลี่ยนผ่านตามข้อเสนอของ ผศ.ดร.ดุลยภาค เริ่มราว คศ.2011 แต่ค่อนข้างมีผลในปี 2015 คือช่วงรัฐบาลเอ็นแอลดีขึ้นมากุมอำนาจรัฐ หนังสือเล่มนี้ มีคำถามหลัก คือ 1. กองทัพคุมอำนาจในพม่าอย่างยาวนานมากถึง 50 ปี ทำไมวันดีคืนดีจึงอยากสร้างระบบการเมืองแบบไฮบริดขึ้นมา โดยเปิดพื้นที่ให้พลเรือนมีส่วนได้ส่วนเสียในการปกครองประเทศด้วย ทหารคิดอะไร มีอะไรอยู่ในหัว มีความจำเป็นและแรงกดดันอะไร หนังสือเล่มนี้พยายามตอบคำถามนี้

2. ประชาธิปไตยกับเผด็จการ อยู่ร่วมกันอย่างไร ข้อเสนอหลักในเล่มนี้ คือ การเปลี่ยนผ่านโดยผสมระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยซึ่งไม่น่าจะอยู่รวมกันได้ แต่กลับรวมกันได้ ทำไมเป็นเช่นนั้น แต่ผลจากการที่เผด็จการกับประชาธิปไตยมาอยู่รวมกัน ต้องเกิดองคาพยพตามมา อย่างน้อยที่สุดรองรับรูปแบบของรัฐแบบใหม่นี้ เช่น ต้องมีรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ ระบบบริหาร ตุลาการ การจัดการปกครอง ถ้าเป็นระบบปกติ เราไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะมีมาตรฐานและเกณฑ์ของมันอยู่ แต่นี่ไม่ปกติ เพราะเป็นระบบผสม กลไกต่างๆ ซึ่งผศ.ดร.ดุลยภาครวมเรียกว่าสถาบัน จะมีหน้าตาอย่างไร หน้าตาต้องไม่เหมือนที่อื่น

ศ.ดร. สุเนตรกล่าวต่อไปว่า ผลงานของ ผศ.ดร.ดุลยภาคชิ้นนี้ ปูพื้นฐานของประวัติศาสตร์การเมืองพม่าในยุคสมัยใหม่ ว่ามีการคลี่คลายอย่างไร เราจะเข้าใจว่าทำไมกองทัพต้องตัดสินใจถ่ายโอนอำนาจส่วนหนึ่งให้ภาคพลเรือน นอกจากนี้ยังวิเคราะห์สถาบันการเมือง ซี่งอยู่ในบทที่ 2 ของเล่ม

“หนังสือเล่มนี้คือ งานเขียนสำคัญที่เป็นภาษาไทยที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพม่านับตั้งแต่ได้รับเอกสารมาถึงปัจจุบัน ซึ่งหายากทากที่จะมีงานที่ครอบคลุมกรอบเวลา มิติทางประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองในลักษณะนี้ในตลาดหนังสือไทย ผู้เขียนได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงการเมืองพม่า สถาบันการเมือง ประเด็นการเมืองโดยเฉพาะหลัง คศ.2011 ตรงนี้ต้องบอกว่า ผู้เขียนกล้าหาญและลุ่มลึก เพราะมันยาก ทำไมยาก เพราะมันมีพลวัตรสูง การเมืองพม่า มีพลวัตรอยู่แล้วอย่างน้อยที่สุดนับจากปี 1988 แต่หลัง 2011 มีพลวัตรมาก ทำให้เกิดอาการไท่สะเด็ดน้ำ คือ ตกลงจะไปทางไหน จะไปกันอย่างไร” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ศ.พิเศษดร. ชาญวิทย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้น หนังสือเล่มนี้คล้ายเป็นตำราทางรัฐศาสตร์ ตนอ่านแล้วมองว่ามีความเป็นรัฐศาสตร์มากกว่าประวัติศาสตร์ ถ้าใครไม่ค่อยมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพม่า ตัองอ่าน เพราะมีประโยชน์มาก เมื่อตนถูกเกณฑ์ให้เขียนคำนิยมของหนังสือ ตอนแรกเข้าใจผิด คิดว่าให้เขียนคำนำ เพราะตนเขียนคำนำเป็นอาชีพ สำหรับคำว่า เปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่แค่พม่า แต่ไทยก็กำลังเปลี่ยนผ่าน ตนกำลังสงสัยว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในพม่า กับไทย ใครจะเปลี่ยนผ่านก่อนกัน

“เมื่อคืนนี้แว่บไปดูม็อบเดินขบวนก่อนตำรวจฉีดน้ำ ผมไปดูการชุมนุม 2-3 ครั้ง คิดว่าเผลอๆ การเปลี่ยนผ่านในไทยอาจจะมาก่อนพม่า ผมสนใจพม่ามากๆ กรณีไฮบริดทางการเมืองที่พม่า ผมมองว่าไม่ลงตัว ช่วง พ.ศ.2520-2540 พม่าน่าสงสารมาก เป็นฤาษีแห่งเอเชีย นักวิชาการคนหนึ่งบอกว่า การเมืองพม่าตีบตัน ไปต่อไม่ได้ เราเคยสงสารเขา แต่ตอนนี้มาคิดดู ว่าใครตีบตันกันแน่ระหว่างพม่ากับไทย หากพิจารณาเปรียบเทียบ รู้สึกว่าเราหรือเปล่าที่ตัน (หัวเราะ) พม่าเลือกตั้งเมื่อวานนี้ ถึงจะทำท่าเหมือนไม่ไปไหน แต่ก็ไป ในขณะที่เรากำลังบอกว่า เอ๊ะ! จะไปทางไหน ระหว่างรัฐประหาร กับสมานฉันท์ หรือจะไปทางตัน เพราะทำท่าเหมือนจะไปไหนไม่ได้” ศ.พิเศษดร. ชาญวิทย์กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image