สุจิตต์ วงษ์เทศ : SOFT CULTURE

“soft culture” วีรพงษ์ รามางกูร แปลว่า วัฒนธรรมอ่อนละมุน แล้วเขียนอธิบายใน มติชนรายวัน (ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม 2559 หน้า 16) จะขอคัดสรุป ดังนี้

สังคมวัฒนธรรมอ่อนละมุน คือสังคมยืดหยุ่น ไม่ยึดมั่นในหลักการ ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ยืดหยุ่นไปตามกระแส ไม่ว่าจะเป็นกระแสของโลกหรือกระแสที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

บางทีก็ไม่ยึดมั่นในตรรกะและเหตุผล แต่เป็นไปตามอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อกระแสเช่นว่านั้นยุติลงความคิดความอ่านก็สิ้นสุดลงด้วย เป็นสังคมที่ไม่ยึดมั่นในคุณค่าสังคมอันใดอันหนึ่งอย่างมั่นคงแข็งแรง แต่จะอ่อนไหวไปตามสถานการณ์

สังคมวัฒนธรรมแข็ง ดร. โกร่ง วีรพงษ์ บอกว่าเป็นสังคมยึดมั่นในหลักการและเหตุผล เรียนรู้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ยึดมั่นอย่างมั่นคงในคุณค่าสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ยากที่จะเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องใช้เวลานาน หรือมีเหตุการณ์ที่มาบีบบังคับอย่างรุนแรง เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน, ยุโรปตะวันตก, อิสราเอล รวมทั้งชาติอาหรับ เป็นต้น

Advertisement

สังคมไทย ดร. โกร่ง วีรพงษ์ ย้ำว่า “ลู่ไปตามลม แล้วแต่ลมหรือพายุจะพัดไปทางไหน เป็น ‘สังคมที่รักษาตัวรอดเป็นยอดดี’ เป็นสังคมแบบ ‘ศรีธนญชัย’ เป็นสังคมเล่นลิ้น retheric ความเก่งของคนไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่การพูดประจบประแจงและถูกใจผู้มีอำนาจ ‘ความถูกใจ’ สำคัญกว่า ‘ความถูกต้อง’ ”

ทำไมเป็นอย่างนั้น? อาจารย์โกร่งไม่ได้บอก

แต่เคยมีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อธิบายว่าไม่ได้เป็นมาแต่ดั้งเดิม หากมีเหตุจากวัฒนธรรมไทยถูกสถาปนาโดยคนชั้นสูงในศตวรรษก่อน แล้วกล่อมเกลาครอบงำบังคับขู่เข็ญให้คนไทยหัวอ่อน ว่านอนสอนง่าย เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด “เป็นผู้น้อยคอยก้มประนมกร ลำบากก่อนจะสบายเมื่อปลายมือ” (แต่ไม่เคยสบายอีกเลย) ฯลฯ สืบจนปัจจุบัน ทำให้นักวิชาการนานาชาติพากันเรียกไทย soft culture

ระบบการศึกษาไทยเลยยอมจำนนอยู่แค่นี้ ไม่ยอมเป็นวัฒนธรรมแข็ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image