แทงก์ความคิด : ทักษะหาความจริง

แทงก์ความคิด : ทักษะหาความจริง

แทงก์ความคิด : ทักษะหาความจริง

รัฐบาลมีความคิดจะปรับหลักสูตรนักเรียน โดยชูวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นมาให้โดดเด่น

ความจริงแล้ว ควรปรับหลักสูตรทั้งหมด เพราะโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยน

นอกจากนี้ โลกยุคปัจจุบัน คนทุกวัยสามารถแสวงหาความรู้ได้รอบตัว

Advertisement

สามารถหาข้อมูลในหนังสือ หาดูได้จากภาพยนตร์สารคดี หรือแวะไปค้นคว้าในออนไลน์

แหล่งข้อมูลต่างๆ ที่อยากรู้มิได้จำกัดเฉพาะอยู่แค่ในประเทศ

เมื่อท่องอินเตอร์เน็ต ทุกคนสามารถค้นหาข้อมูลจากที่ต่างๆ ทั่วโลกได้

เด็กสมัยใหม่ที่สนใจค้นคว้า จึงมีโอกาสรู้มากกว่าหลักสูตรที่ตัวเองเรียน

หลักสูตรใหม่ที่จะปรับ จึงต้องก้าวหน้าให้ทันเด็ก

วิชาประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะฟื้นฟูให้โดดเด่น เป็นวิชาที่น่าสนใจมาก

เพราะวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่แสวงหาความจริง

ไม่ทราบว่ารัฐบาลต้องการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อะไรหลังจากเรียนวิชาประวัติศาสตร์

แต่มุ่งหมายให้ผู้เรียนสดับฟัง ค้นหา ตรึกตรอง ข้อมูลหลักฐาน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง

วิชาประวัติศาสตร์ก็น่าเรียนไม่น้อย

เพราะธรรมดาแล้ว หลายเรื่องราวในประวัติศาสตร์มีความคลุมเครือ

ยิ่งประวัติศาสตร์ของไทย ยิ่งมีความคลุมเครือ

ยกตัวอย่าง ความเชื่อเดิมที่ระบุว่า “คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต”

ต่อมายืนยันกันชัดแล้วว่าเป็นไปไม่ได้

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อีกหลายเรื่องที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน

แตกต่างทั้งรายละเอียดของเหตุการณ์

แตกต่างทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่

เช่น ต้นเหตุของสงครามครั้งแรกระหว่างอโยธยากับพม่า

หรือ เหตุการณ์ยุทธหัตถีสมัยพระนเรศวร

หรือ เหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

เหตุการณ์เหล่านี้ หลักฐานของไทยว่าอย่างหนึ่ง หลักฐานของพม่าว่าไปอีกอย่างหนึ่ง

แล้วยังมีบันทึกชาวต่างชาติในห้วงเวลานั้นๆ ที่บันทึกแตกต่างกัน

ความแตกต่างเหล่านี้คือสีสันของประวัติศาสตร์

ดังนั้น จึงค้นหาความจริงในอดีต

และนี่คือความสนุกของวิชาประวัติศาสตร์

การศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีแหล่งข้อมูลแตกต่างหลากหลาย ทำให้ทุกคนไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นไปตามหลักฐานที่ได้พิสูจน์

ข้อพิสูจน์อาจปรับเปลี่ยนไปตามหลักฐานใหม่ที่ค้นพบ

ข้อพิสูจน์เมื่อวันก่อน อาจจะเก่าไปแล้ว เมื่อพบหลักฐานใหม่ขึ้นมา

และข้อพิสูจน์ของวันนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไปอีก หากอนาคตพบหลักฐานที่ใหม่กว่า น่าเชื่อถือกว่า

ดังนั้น คนที่เรียนประวัติศาสตร์ จึงถูกหล่อหลอมให้ค้นหาความจริงก่อนสรุป

หล่อหลอมให้ยอมรับความเห็นต่าง ยอมรับการโต้แย้งด้วยหลักฐาน

เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ ความจริง

นอกจากวิชาประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีอีกวิชาที่มุ่งเน้นค้นหาความจริง

นั่นคือ วิชาพุทธศาสนา

วิชาพุทธศาสตร์ แม้จะต้องร่ำเรียนประวัติพระพุทธองค์ ต้องท่องจำวันสำคัญทางศาสนา

แต่สิ่งสำคัญของวิชาพุทธศาสนา ที่ต้องศึกษา คือ พระธรรม

เมื่อได้เรียนแล้วอย่างน้อยผู้เรียนต้องรู้สิ่งที่พึงปฏิบัติ เพื่อให้พ้นทุกข์

รู้จักกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

รู้จักอริยสัจ 4 โดยทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

รู้เหตุที่มนุษย์ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา

รู้จักปฏิจจสมุปบาท รู้จักขันธ์ 5 รู้จักกายใจ และความสำคัญของกุศล

พร้อมทั้งมีโอกาสนำเอาสิ่งที่เรียนไปฝึกฝน

ได้นั่งสมาธิ ได้วิปัสสนา ได้รู้จักโลภ โกรธ หลง และวิธีรับมือ

วิชาประวัติศาสตร์ และวิชาพุทธศาสนา ล้วนแล้วแต่มุ่งหาความจริง

ประวัติศาสตร์มุ่งหาความจริงในอดีต

พุทธศาสนาหาความจริงในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์หาความจริงจากหลักฐาน จากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาสรุปความจริง

ส่วนพุทธศาสนาแสวงหาความจริงจากกายและใจ

เมื่อได้ร่ำเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาพุทธศาสตร์ ควรจะได้วิธีการค้นหาความจริง

ได้รับทราบว่าชีวิตกว่าจะทราบความจริงอะไรสักอย่างต้องฟันฝ่าอุปสรรค

ต้องฝ่ามรสุมความเห็นต่าง ผ่านการโต้แย้งด้วยเหตุผล

ต้องมีความอดทน และมีความมุ่งมั่นที่จะค้นหาความจริง

ถ้าผลจากการเรียน 2 วิชานี้ คือ ทำให้ไม่งมงาย หลงเชื่ออะไรง่ายๆ

มีความเพียรในการฟัง การอ่าน ค้นคว้าหาความจริง

มีใจเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น

มีหลักปฏิบัติสมาธิ มีวิธีวิปัสสนา มีขันติอดทน มีวิธีคิดที่เป็นกุศล

หากเรียนแล้วได้ผลสัมฤทธิ์เช่นนี้ อยากให้รีบดำเนินการปรับหลักสูตรการเรียนโดยเร็ว

เพราะไทยต้องการพลเมืองที่มีทักษะในการรับมือกับโลกยุคซับซ้อนซ่อนมายา

ต้องการพลเมืองที่มีสติ รู้จักแยกแยะและตรึกตรอง

ค้นหาว่า อะไรจริงอะไรเท็จ อะไรควรอะไรไม่ควร

อะไรคืออดีต อะไรคือปัจจุบัน อะไรคือสิ่งที่ควรทำเพื่ออนาคต

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมองเห็นความจริง

การศึกษาและฝึกฝนทักษะหาความจริงจึงเป็นสิ่งจำเป็น

การค้นหาความจริงที่คนไทยควรได้รับการปลูกฝังให้เป็นวิชาที่ติดตัวไปตลอดชีวิต

โดย : นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image