อาศรมมิวสิก : ดนตรีอีสาน เพลงของผู้ใช้แรงงาน คุมตลาดเพลงไทยสมัยนิยม

อาศรมมิวสิก : ดนตรีอีสาน เพลงของผู้ใช้แรงงาน คุมตลาดเพลงไทยสมัยนิยม
คณะน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์

อาศรมมิวสิก : ดนตรีอีสาน เพลงของผู้ใช้แรงงาน
คุมตลาดเพลงไทยสมัยนิยม

ภาคอีสาน มีพื้นที่กว้างใหญ่ รวม 20 จังหวัด มีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ วัฒนธรรมดนตรีอีสานมีอยู่ 3 เผ่าพันธุ์ใหญ่ คือ กลุ่มเพลงภูไท กลุ่มเพลงลาว และกลุ่มเพลงเขมร ระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม พ.ศ.2563 ผมได้ออกสำรวจดนตรีในท้องถิ่นอีสาน มีวิทยากรคนสำคัญ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ ซึ่งเป็นนักวิชาการดนตรีอีสาน เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นศิลปินเล่นโหวด และมีวงโปงลางทำมาหากินอยู่ด้วย

หมอลำอังคนางค์ คุณไชย

กลุ่มดนตรีลาว ได้แก่ พื้นที่ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี เพลงสำคัญ เช่น ลำเพลิน เต้ย กาเต้นก้อน ลมพัดพร้าว ต้อนวัวขึ้นภู แมงภู่ตอมดอก ลายน้อย ลายใหญ่ ลายสุดสะแนน เป็นต้น เพลงลาวจะอยู่ในกลุ่มหมอลำ หมอแคน หมอพิณ เพราะเมื่อได้ยินเพลงหมอลำแล้ว ก็รู้สึกถึงความเป็นลาวขึ้นมาทันที กลุ่มดนตรีเขมร ได้แก่ พื้นที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เพลงสำคัญ เช่น เจรียง อาไย กันตรึม เป็นต้น ส่วนดนตรีของชาวภูไท มีที่กาฬสินธุ์ นครพนม เช่น ศรีโคตรบูร ลายภูไท ภูไทเลาะตูบ ภูไทสามเผ่า เป็นต้น

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2563 ได้บันทึกเสียงหมอลำอีสาน หมอลำฉลาด ส่งเสริม (ป. ฉลาดน้อย) กับอังคนางค์ คุณไชย บันทึกหมอลำพื้นกับหมอลำกลอน ซึ่งเป็นเพลงมาตรฐานของหมอลำ ต่อมาได้บันทึกเสียงพิณของคำเม้า (พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ) เป็นเพลงอีสานสมัยใหม่ ได้พัฒนาหนีไปจากเสียงพิณลายดั้งเดิม

Advertisement

วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2563 ไปบันทึกเสียงกันตรึมคณะน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ มีนักดนตรี 4 คน คือ สำรวม ดีสม (น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์) นักร้องชูโรง นายโฆษิต ดีสม หัวหน้าและผู้จัดการวง ทำหน้าที่ตีกลอง ซึ่งเป็นลูกชายครูปิ่น ดีสม ศิลปินกันตรึมจากหมู่บ้านดงมัน นายวิชา นิลกระยา เป็นนักซอเขมร นายสุวัฒน์ กะการดี เป็นหมอแคนกันตรึม ได้บันทึกเพลงเขมรโบราณเท่าที่วงยังรักษาเอาไว้

หมอพิณคำเม้า พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ

วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2563 บันทึกเสียงวงโปงลางอุบลฯ คณะทินกร อัตไพบูลย์ โดยมีศิลปินรุ่นใหม่เล่นเพลงของชาวภูไท ซึ่งเป็นวงโปงลางอาชีพ รับงานทำมาหากินในพื้นที่อีสาน เคยทำหน้าที่รับแขกบ้านแขกเมืองและไปแสดงต่างประเทศในฐานะตัวแทนของประเทศไทย

ดนตรีอีสานปรับตัวได้เร็วทันกับความเปลี่ยนแปลงและร่วมสมัย เปลี่ยนแปลงตามความรู้สึกในปัจจุบัน เพราะเป็นวิถีชีวิตและเพื่อความอยู่รอด ดนตรีอีสานเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่าดนตรีภาคไหนๆ เป็นการปรับตัวทั้งช่างทำเครื่องดนตรี ศิลปินที่สร้างงานใหม่ นักร้อง นักดนตรี และผู้ประพันธ์เพลง จุดเด่นของเพลงอีสานคือขายได้ ศิลปินสามารถประกอบอาชีพมีค่าจ้าง มีรายได้ และทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวอยู่ได้

Advertisement

วิถีชีวิตของคนอีสาน กินอาหารอีสาน ลาบ ส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง น้ำตก อาหารอีสานยกระดับเป็นอาหารคลาสสิกที่นิยมอย่างแพร่หลาย เป็นอาหารนานาชาติ ตามด้วยความนิยมเพลงอีสานซึ่งมีคนฟังจำนวนมาก กระทั่งเพลงอีสานยึดตลาดเพลงสมัยนิยม ไม่ว่าจะเป็น เพลงลูกทุ่งหมอลำ เพลงลูกกรุง เพลงร็อก เพลงแร็พภาษาอีสาน ตลาดเพลงวันนี้ต้องมีสำเนียงและภาษาอีสาน ทำนองเพลงอีสาน เครื่องดนตรีอีสาน เพลงอีสานกลายเป็นวัฒนธรรมเพลงสมัยนิยมในปัจจุบัน

ชีวิตชาวบ้านอีสานส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนาทำไร่ที่บ้านเกิด กระทั่งโตขึ้นโดยไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียน ครอบครัวมีฐานะยากจน วิถีอีสานได้หล่อหลอมจิตใจคน ห่อหุ้มด้วยประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน เมื่อมีเทศกาลงานบุญ ชีวิตอีสานได้ซึมซาบวัฒนธรรมท้องถิ่นและจารีตของสังคมชนบท ชาวอีสานกลายเป็นผู้ที่รักษาขนบประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้อย่างมั่นคงและเหนียวแน่นที่สุด เมื่อไม่ได้ไปเรียนหนังสือในโรงเรียน จึงรักษาวัฒนธรรมไว้ได้

มีคำกล่าวว่า “สงกรานต์ห้ามอะไรก็ได้ แต่ห้ามคนอีสานกลับบ้านไม่ได้”

ประชากรในภูมิภาคอื่นของประเทศ ได้ละทิ้งบ้านแล้วเข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียน อาจจะมีฐานะที่ดีกว่า ในขณะเดียวกันก็ไปเรียนรู้ขนบประเพณีและวัฒนธรรมใหม่ ได้รับการถ่ายทอดเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ที่โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิถีวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้ประชากรไทยส่วนใหญ่ที่ไปโรงเรียนได้ละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัว แล้วไปซึมซาบและยอมรับวัฒนธรรมตะวันตกผ่านกิจกรรมของโรงเรียนแทน คนไทยสมัยใหม่จึงสูญเสียราก
เนื่องจากระบบการศึกษาไทยไม่ตอบปัญหาสังคม ประกอบกับความยากจน ทำให้ชาวอีสานต้องขายแรงงานเป็นหลัก เป็นแรงงานที่ขาดทักษะ ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีแต่ความอดทน เรียนรู้เพื่ออยู่รอด แรงงานจากอีสานจึงเป็นแรงงานราคาต่ำและเป็นแรงงานรายวัน ไม่มีหลักประกันของสังคม เป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำ บางครั้งเป็นแรงงานที่หาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ โดยมีความกตัญญูและศิลปวัฒนธรรมห่อหุ้มจิตใจ

หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม

ทางเลือกอื่นของผู้ชายอีสานก็คือการบวชเรียนเป็นพระ เพื่อศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ ทำให้อีสานนั้นมีนักปราชญ์ราชบัณฑิต เกจิอาจารย์อยู่มาก อาทิ หลวงปู่เทสก์
เทสรังสี หลวงปู่สรวง ชาวบ้านเรียกว่าเทวดาเดินดิน อาศัยอยู่ตามป่าเขาแถบสุรินทร์ หลวงปู่เจียม อติสโย หลวงปู่ดุลย์ อตุโล หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล หลวงปู่เกลี้ยง เตชะธัมโม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ชา สุภัทโท หลวงปู่คำบุ คุตตจิตโต หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ทรงศีลและเป็นนักปราชญ์ผู้นำทางจิตวิญญาณไทย

กลับมาเรื่องเพลงพื้นบ้านอีสาน หมอลำพื้นเป็นการเล่านิทาน ลำคนเดียวโดยร้องลายเกริ่นกับลายเดิน ลายคือทำนอง หมอลำคู่นั้นเป็นหมอลำกลอนร้องโต้ตอบ มีทางเพลงอยู่ 3 ลาย คือ ทางสั้น ทางยาวหรือลำล่อง และลายเต้ย ในบริวารทำนองเต้ย มีทั้งเต้ยธรรมดา เต้ยพม่า เต้ยโขง และเต้ยหัวดอนตาล ส่วนหมอลำหมู่ บางทีเรียกว่าลิเกลาว ร้องลายลำเพลิน เน้นความสนุกสนาน หมอลำเวียง หมอลำกลอน หมอลำเรื่อง โบราณนิยมเล่นเรื่องนกกระยางขาวและเรื่องขุนช้างขุนแผน

หมอลำยังทำหน้าที่พิธีกรรม (ผีไท้ ผีฟ้าตาแถน) เพื่อรักษาผู้ป่วย เป็นหมอลำท้องถิ่น อาทิ ลำภูไท ลำตังหวาย ลำผญา ลำสาละวัน เป็นต้น หมอลำเป็นเพลงพื้นบ้านอีสานที่นิยมทั่วไป ขึ้นชื่อว่าเป็นชาวอีสานแล้ว ทุกคนสามารถที่จะร้องหมอลำได้ คนอีสานได้ยินเสียงหมอลำแล้วรู้สึกเนื้อเต้น เพราะเสียงหมอลำเข้าไปในรูขุมขน

หมอลำสู่เพลงลูกทุ่ง กลายเป็นเพลงลูกทุ่งหมอลำ ได้รับความนิยมแพร่หลายสู่เมืองหลวง ลูกทุ่งหมอลำมีบทบาทในเพลงสมัยนิยมสูง เมื่อร้องหมอลำอย่างเดียวคนไม่ฟัง ก็หันไปร้องเพลงลูกทุ่งก็มีคนนิยมฟังมาก ในที่สุดหมอลำกับลูกทุ่งก็แยกจากกันไม่ออก ปัจจุบันมีวงลูกทุ่งหมอลำจำนวนมาก มีคนว่าจ้าง ทำให้มีอาชีพนักดนตรี มีนักแต่งเพลง และมีผู้ประกอบอาชีพลูกทุ่งหมอลำมากขึ้น

ลูกทุ่งหมอลำ เริ่มจากอาจารย์คำเกิ่ง ทองจันทร์ ได้เขียนเพลงให้สาธิต ทองจันทร์ กับเดือนเพ็ญ อำนวยพร ต่อมาเขียนเพลงให้พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย และเฉลิมพล มาลาคำ เป็นการบุกเบิกเพลงลูกทุ่งหมอลำ ซึ่งทำให้ตลาดเพลงลูกทุ่งหมอลำเปิดกว้างมากขึ้น นักดนตรีเล่นดนตรีในวงหมอลำ พื้นที่ภาคอีสานมีห้องบันทึกเสียงเพื่อให้บริการหมอลำเป็นหลัก เป็นความต้องการของตลาด มีธุรกิจรองรับ และเป็นสินค้าเพลงลูกทุ่งหมอลำ

ความยากจนในท้องถิ่นอีสาน ความแห้งแล้งจากธรรมชาติ ทำให้ชาวอีสานต้องต่อสู้ชีวิต คนวัยทำงานต้องจากบ้านไปหากินที่อื่น ไปยังเมืองใหญ่ ไปกรุงเทพฯ เพื่อไปขายแรงงานหลากอาชีพ อาทิ การก่อสร้าง ลูกเรือประมง โรงงานทอผ้า โรงงานอุตสาหกรรม ทำงานร้านอาหาร คนรับใช้ คนเลี้ยงเด็ก งานบริการในสถานบริการ หมอนวด ขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนรับส่งของ ช่างฝีมือ รวมทั้งแรงงานในต่างประเทศด้วย

เมื่อเพลงอีสานเป็นที่นิยม มีศิลปินอีสานโด่งดัง มีเพลงอีสานครองตลาดเพลงลูกทุ่ง มีศิลปินแห่งชาติ อาทิ ทองมาก จันทะลือ หมอลำถูทา พ.ศ.2529 เคน ดาเหลา หมอลำกลอน พ.ศ.2534 ฉวีวรรณ ดำเนิน หมอลำ พ.ศ.2536 บุญเพ็ง ไฝผิวชัย หมอลำ พ.ศ.2540 ฉลาด ส่งเสริม หรือหมอลำ ป.ฉลาดน้อย พ.ศ.2548 ทองคำ ไทกล้า หมอแคน รวมทั้งบานเย็น รากแก่น ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2556 เป็นต้น

เพลงอีสานในเพลงลูกกรุง เริ่มจาก “รำวงสาวบ้านแต้” พ.ศ.2502 ประพันธ์โดย ธรรมนูญ แสงรังษีได้เอาทำนองเพลงอีสาน ร้องเป็นภาษากลางปนอีสาน บอกวิถีชีวิตชุมชนอีสาน บันทึกโดยวงกรมประชาสัมพันธ์ พื้นที่บ้านแต้นั้นมีอยู่ในหลายจังหวัด ทั้งในอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ สำหรับผู้ประพันธ์เพลง หมายถึง บ้านแต้ที่ตำบลบ้านยาง ชัยภูมิ เพลงรำวงนิยมร้องในวันสงกรานต์ ลอยกระทง งานปีใหม่ และงานรื่นเริงอื่นๆ

เพลงอีสานและเครื่องดนตรีอีสาน ใช้ในเพลงไทยสากลได้รับความนิยมสูงมาก ผลงานเพลงของสมัย อ่อนวงศ์ (พ.ศ.2476-2539) ขุนพลแคนที่อยู่นอกอีสาน อาทิ เสียงพิณเสียงแคน เวียงจันทน์เวียงใจ บ่เป็นหยังดอก แคนสวาท นักร้องคนสำคัญ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ศิลปินจากเมืองอุบลฯ ร้องเพลงผู้ใหญ่ลี ผลงานของพิพัฒน์ บริบูรณ์ พ.ศ.2504 สร้างชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย..

นักประพันธ์เพลงอีสานคนสำคัญ คือ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2557 สร้างเพลงอีสานจนโด่งดัง พร้อมได้สร้างนักร้อง นักดนตรี ได้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างพลังให้แก่ศิลปินอีสานในรุ่นต่อมา อาทิ ทองใส ทับถนน เฉลิมพล มาลาคำ
นพดล ดวงพร (เพชร พิณทอง) หนุ่ม ภูไท สลา คุณวุฒิ ดอกอ้อ ทุ่งทอง ก้านตอง ทุ่งเงิน นกน้อย อุไรพร เป็นต้น มีเพลงอีสานลูกทุ่งยอดนิยม อาทิ สาวอีสานรอรัก รักสาวขอนแก่น

นักดนตรีอีสานคนสำคัญ คำเม้า เปิดถนน (พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นล้อเลียนหมอพิณชื่อดังรุ่นก่อน (ทองใส ทับถนน) คำเม้าเป็นหมอพิณสมัยใหม่ มีฝีมือจัดและมีความสามารถสูง โดยเล่นร่วมกับศิลปินนานาชาติ เล่นกับหมอลำวงไหนวงดนตรีอะไรก็ได้ คำเม้ามีประสบการณ์ในการแสดงดนตรีในทุกรูปแบบ เดินทางไปแสดงในยุโรปหลายประเทศกับวงเดอะพาราไดซ์บางกอก เป็นนักดนตรีผู้เป็นตำนานที่คนรุ่นใหม่รู้จัก

คำเม้าเป็นช่างทำพิณใช้เองและทำพิณไว้ขาย พ่อของหมอพิณคำเม้าเป็นช่างทำพิณและเป็นหมอพิณโบราณ คำเม้ารับเอาความรู้การทำพิณและเรียนรู้เพลงพิณจากพ่อ จนสามารถสร้างพิณของตัวเองได้ คำเม้ามีประสบการณ์แสดงสูงและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ทำให้คำเม้าเป็นหมอพิณและเป็นช่างทำพิณที่มีผลงานแห่งสมัย

วัฒนธรรมประดิษฐ์ลายพิณใหม่ของคำเม้า บนทำนองเก่ามาต่อเติมพัฒนาใหม่ โดยอาศัยฝีมือในการเล่นพิณ สามารถเล่นได้ลื่นไหล เป็นวัฒนธรรมประดิษฐ์ทั้งลายพิณ ตัวพิณ การแสดงวิธีใหม่ของหมอพิณอีสาน คำเม้าได้ประดิษฐ์ลายพิณที่อาศัยลายดั้งเดิม อาทิ สุดสะแนน กล่อมลูก แมงภู่ตอมดอก ลายสั่งลาสาว หยอกสาวภูไท พิณมวยไทย ล่องแพท้าวก่ำกาดำ ลำเพลินตุ้มเติ่น เป็นต้น

ความยากจนและการไม่ได้เรียนหนังสือ ทำให้ชาวอีสานรักษาวัฒนธรรม วิถีชีวิต และเพลงอีสานเอาไว้ได้ วันนี้เพลงอีสานยิ่งใหญ่ พี่น้องชาวอีสานทั้งหลายที่ดั้นด้นแสวงหาสู้ชีวิตใหม่ อาศัยรากเหง้าและจิตวิญญาณที่เข้มแข็งของตัว ทำให้รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งไม่แตกต่างจากดนตรีแจ๊ซของพวกทาสในอเมริกา

เพลงอีสานเป็นดนตรีของผู้ใช้แรงงาน เป็นชัยชนะทางวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน ดนตรีอีสานคนอีสาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image