อาศรมมิวสิก : Bangkok Metropolitan Orchestra วงน้องใหม่โดยหน่วยราชการแห่งเมืองหลวง

อาศรมมิวสิก : Bangkok Metropolitan Orchestra วงน้องใหม่โดยหน่วยราชการแห่งเมืองหลวง

อาศรมมิวสิก : Bangkok Metropolitan Orchestra
วงน้องใหม่โดยหน่วยราชการแห่งเมืองหลวง

เมื่อเย็นวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. มีการแสดงคอนเสิร์ตเปิดตัววงซิมโฟนี
ออเคสตรา วงใหม่วงหนึ่งของเมืองไทย นั่นก็คือวงดนตรีที่ใช้ชื่อว่า “Bangkok Metropolitan Orchestra” (ใช้ชื่อในภาษาไทยว่า “วงดุริยางค์กรุงเทพมหานคร”) ณ อาคารหอประชุมจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ถ้าจะว่าไปแล้วงานนี้อาจจะไม่ใช่งานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ ในเชิงภาพลักษณ์, มูลค่าทางการเงิน หรือความหรูหราในลักษณะงานสังคมใดๆ ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้ามนี่เป็นการแสดงซิมโฟนีคอนเสิร์ตที่เป็นไปในบรรยากาศ อบอุ่นเป็นกันเองในกลุ่มผู้ฟังที่มิได้มากมายในเชิงปริมาณแต่อย่างใด ผู้เขียนเองได้รับคำเชิญให้ไปร่วมชมการแสดงในครั้งนี้ด้วยความเต็มใจและกระตือรือร้นในฐานะที่ เป็นการเปิดตัววงออเคสตราวงใหม่ของบ้านเราอันเป็นวงในสังกัดหน่วยงานราชการของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการจัดตั้งวงซิมโฟนีออเคสตราด้วยงบประมาณที่จำกัด แต่หากเมื่อมองในเชิงวัตถุประสงค์ หรือเชิงสัญลักษณ์แล้วนี่เป็นความก้าวหน้าในทางดนตรีอีกขั้นหนึ่งของบ้านเรา ด้วยหัวจิตหัวใจอันยิ่งใหญ่ ในท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่จัดว่ากำลังซบเซา แต่ด้วยความตั้งใจอันดีและแน่วแน่ ไม่ต้องรอเวลา หรือคอยโอกาสทางการเงินอันมั่งคั่งใดๆ การเริ่มต้นดีๆ ทางดนตรีนี้จึงเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้เขียนเพ่งมองไปที่ความตั้งใจอันดีและแน่วแน่ ของการจัดตั้งวงออเคสตราน้องใหม่วงนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยปกติทั่วไปแล้ว (ยิ่งในยุคเศรษฐกิจยังเฟื่องฟูก่อนโควิด) การจัดตั้งวงออเคสตราเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก ด้วยการประกาศรับสมัครคัดเลือกนักดนตรี และถ้าหากวงนั้นมีเงินทุนอุปถัมภ์ที่มั่งคั่งก็สามารถประกาศรับสมัครคัดเลือกนักดนตรีไปได้ในระดับ “นานาชาติ” เพื่อให้นักดนตรีฝีมือดีๆ จากชาติต่างๆ ทั่วโลกเข้ามา
สอบคัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกนักดนตรีในวง แน่นอนที่สุดโอกาสในการคัดเลือกนักดนตรีในธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เราคุ้นชินกันไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคทุนนิยมที่เฟื่องฟูที่มุ่งเอาชนะและแสวงหาโอกาส อีกทั้งฟาดฟันแข่งขันความเป็นเลิศต่อกันด้วยการใช้เงินทุนเป็นปัจจัยหลัก ใครมีเงินทุนที่หนากว่า, สายป่านที่ยาวกว่า ก็จะได้รับบุคลากรและโอกาสในทางดนตรีที่สวยหรูกว่า โดยที่พวกเราอาจหลงลืมรากฐานเดิมของความสัมพันธ์เดิมอันอบอุ่นระหว่างดนตรีกับชุมชนกันไปหมดแล้ว วัตถุประสงค์ในฐานะที่จะใช้ดนตรีเป็นสื่อในการสร้างความอบอุ่นและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของผู้คนในชุมชน ที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปด้วยมุมมองในเชิงแข่งขันความเป็นเลิศและการบรรลุวัตถุประสงค์ความสำเร็จในทางดนตรีอย่างรวดเร็ว (ที่สุด) ด้วยการทุ่มเงินซื้อตัวบุคลากรดีๆ เพื่อมาสร้างภาพลักษณ์, ความสำเร็จแบบทันทีทันใด นี่จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำให้เราไม่อาจทนกับการรอคอยความสำเร็จอันมั่นคงผ่านการบ่มเพาะตามกาลเวลาใดๆ ได้ ทั้งหมดนี้เองจึงทำให้ผู้เขียนให้ความสำคัญกับงานดนตรีที่อาจไม่ใหญ่โตนักงานนี้ แต่เป็นงานที่ทำให้พวกเราผู้รักดนตรีต้องจับตามองกันไปนานๆ ถึงความเอาจริงเอาจังและแน่วแน่ขององค์กรทางดนตรีน้องใหม่นี้

ในฐานะที่เป็นวงออเคสตราน้องใหม่ จึงยังอาจขาดความพร้อมในปัจจัยหลายๆ ด้านไปบ้าง การแสวงหาความร่วมมือในการจัดการภาคปฏิบัติจึงมีความจำเป็น ในครั้งนี้ทางวงจึงได้ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ คือภาควิชาดนตรีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในด้านสถานที่แสดง (และนักดนตรีในกลุ่มเครื่องสายบางส่วน) และองค์กรภาคเอกชนอิสระอย่างกลุ่มนิเวศน์
สุนทรีย์ (ที่ร่วมจัดกิจกรรมทางศิลปะในระหว่างการแสดงดนตรี) คอนเสิร์ตเปิดตัวนี้จึงเกิดขึ้นได้ ในด้านการกำหนดรายการบทเพลงจึงมีการพิจารณากันเป็นอย่างดีว่าจะต้องตอบสนองความเป็นเลิศทางดนตรีได้โดยที่ไม่ต้องใช้ทุนรอนมากนัก

Advertisement

เป็นรายการบทเพลงแบบมาตรฐานซิมโฟนีคอนเสิร์ตทั่วๆ ไป คือบทเพลงเปิดรายการในลักษณะโหมโรง, บทเพลงแสดงเดี่ยวแบบคอนแชร์โต และซิมโฟนีบทเพลงเอกปิดท้ายรายการ

คอนเสิร์ตครั้งนี้เปิดรายการด้วยบทเพลงโนโพเอ็ม (Tone Poem) ที่มีชื่อว่า “ฟินแลนเดีย” (Finlandia), ผลงานลำดับที่ 26 ของ “ฌอง ซิเบลิอุส” (Jean Sibelius) นักประพันธ์ดนตรีชาวฟินแลนด์แห่งยุคโรแมนติก อันเป็นผลงานยอดนิยมที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ข้อสังเกตอย่างแรกที่ได้สังเกตเห็นเล็กๆ น้อยๆ อย่างหนึ่งในการเปิดตัวบทเพลงแรกนี้ก็คือ การรู้จักปรับตัว, ปรับการบรรเลงให้เข้ากับสถานที่บรรเลงและสภาพแวดล้อมของนักดนตรี ซึ่งนี่เป็นการชี้ให้เห็นถึงความมีประสบการณ์สูงส่วนหนึ่งของนักดนตรี โดยเฉพาะกลุ่มนักเล่นเครื่องลมทองเหลือง (Brass Instrument) ลักษณะอาคารแสดงดนตรีที่ หอประชุมจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ มีขนาดที่ไม่ใหญ่โตนักจุผู้ชมได้ราวๆ 200 ที่นั่ง จึงจัดได้ว่าเล็กกว่าหอแสดงดนตรีซิมโฟนีคอนเสิร์ตทั่วๆ ไป การบรรเลงบทเพลงที่มีการใช้ความดังของเสียงมากๆ แบบดนตรีในศตวรรษที่19 ย่อมอาจก่อปัญหาการบรรเลงที่ดังเกินไปได้โดยง่าย แต่ศิลปินดนตรีในวง BMO (Bangkok Metropolitan Orchestra) สามารถปรับวิธีการบรรเลงของพวกเขาให้เข้ากับสภาพ, เงื่อนไข ของหอแสดงดนตรีได้เป็นอย่างดี กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (แตร) ที่มีจำนวนเต็มอัตราในครั้งนี้ไม่ใช้การบรรเลงแบบตะเบ็งเซ็งแซ่ แต่มีทักษะในการฟังซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ใช้ความดังอย่างพอเหมาะหอดีในการบรรเลงให้เข้ากับกลุ่มเครื่องสายได้อย่างสมดุล
ความดีในประเด็นนี้เราไม่อาจมองข้ามวาทยกรมือใหม่ในครั้งนี้อย่าง “สรพจน์ วรแสง” ไปได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอายใดๆ ที่จะบอกว่านี่คือประสบการณ์การอำนวยเพลงให้กับวงซิมโฟนีออเคสตราเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา โดยปกติเขาเป็นนักเป่าทรอมโบนที่สูงด้วยประสบการณ์มายาวนาน (เขาเป็นหนึ่งในทีมทรอมโบนของวง “Royal Bangkok Symphony Orchestra”) ประสบการณ์การเล่นดนตรีในวงออเคสตรามายาวนาน ย่อมสอนวิชาการอำนวยเพลงภาคปฏิบัติในทางอ้อมให้กับเขาอย่างแน่นอน การได้เล่นดนตรีภายใต้การกำกับวงของผู้อำนวยเพลงชั้นดีมายาวนาน ย่อมทำให้เขาได้ศึกษาเรียนรู้การเป็นผู้นำทางดนตรีและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการบรรเลงของวงออเคสตราได้เป็นอย่างดี และได้นำประสบการณ์อันยาวนานนั้นมาปรับใช้ในฐานะบทบาทผู้อำนวยเพลงในครั้งนี้ การสร้างสมดุลแห่งการบรรเลงในบทเพลง Finlandia เปิดรายการนี้ย่อมเป็นผลมาจากประสบการณ์อันยาวนานของเขาผสานกับความร่วมมืออันเป็นอย่างดีของสมาชิกนักดนตรีภายในวง

บทเพลงแสดงเดี่ยวแบบคอนแชร์โต ในครั้งนี้เลือกบทเพลงทรัมเป็ตคอนแชร์โต ของ “อเล็กซานดรา พัคมูโตวา” (Alexandra Pakhmutova) ดุริยกวีหญิงร่วมสมัย (วัย 91 ปี) ชาวรัสเซีย มาบรรเลงเป็นบทเพลงที่สอง การคัดเลือกบทเพลงนี้มีความเหมาะสมในหลายด้าน ในประการแรกศิลปินเดี่ยวทรัมเป็ตในครั้งนี้คือ “ดร.สุรสีห์ ชานกสกุล” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการในฐานะศิลปินและอาจารย์สอนทรัมเป็ตในระดับที่จัดได้ว่าอาวุโส ของบ้านเรา มีประสบการณ์ในการเป็นหัวหน้ากลุ่มให้กับวง TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) มาอย่างยาวนาน อีกทั้งประสบการณ์ในการบรรเลงเดี่ยวอีกไม่น้อยทีเดียว เขาเป็นบุคลากรที่ใกล้ชิดกับวงการมีจิตใจที่พร้อมช่วยเหลืองานดนตรีอย่างมากอยู่แล้ว จึงทำให้วงน้องใหม่อย่าง BMO นี้ไม่ต้องแบกปัญหาเรื่องการหาดาราใหญ่ค่าตัวสูงๆ มาสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมในข้อนี้ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือบทเพลงในลักษณะที่เต็มไปด้วยพลังทางดนตรีและมโนทัศน์ทางดนตรีที่ใหญ่โตแบบศตวรรษที่ 20 นี้ ดูจะถูกจริตถูกทางกับ สุรสีห์ โดยธรรมชาติอยู่แล้ว บทเพลงเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยสีสันและพลังทางดนตรีแบบสำนักรัสเซียตะวันออกในศตวรรษที่ 20 อย่าง คาชาทูเรียน (Aram Khachaturian) แต่ก็เต็มไปด้วยความคมคายและสีสันอันเจิดจ้าสำหรับเครื่องดนตรีอย่างทรัมเป็ตที่ฟังดูว่าเธอ (A.Pakhmutova) ได้เรียนรู้สำนวนดนตรีเฉพาะทางสำหรับเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นอย่างดี แนวทางการบรรเลงของสุรสีห์ ชานกสกุล ค่อนข้างออกไปในแนวทางยิ่งใหญ่อยู่แล้วจึงเหมาะกับบทเพลงนี้ เขาทำให้เราคิดไปถึงศิลปินทรัมเป็ตรุ่นใหญ่ของรัสเซียในตำนานนาม “ทิโมฟาย ด็อกชิเซอร์” (Timofei Dokshizer) ที่มีแนวทางการบรรเลงที่ยิ่งใหญ่ น่าตื่นเต้น

Advertisement

และถ้าจะพูดหรือตั้งคำถามด้วยสำนวนเก๋ๆ ว่า “ใครกันนะที่เหมาะแก่ฉายา Dokshizer ของเมืองไทย” ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็น ดร.สุรสีห์ ชานกสกุลผู้นี้แน่นอน

บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) อันเป็นเพลงเอกที่เลือกมาปิดท้ายรายการ เป็นผลงานที่แฟนๆ เพลงรู้จักและฟังกันมายาวนาน เรื่องการฟังบทเพลงคลาสสิกซ้ำกันมายาวนาน (หรือแม้แต่การบรรเลงบทเพลงเดียวกันซ้ำๆ กันอย่างยาวนานของศิลปิน) นี้คงเหมือนการรับประทานอาหาร การได้กินแกงเขียวหวานไก่ มายาวนานตลอดชีวิตนับครั้งไม่ถ้วน ไม่น่าจะทำให้เราเบื่ออาหารชนิดนั้นๆ เพราะแกงเขียวหวานในการปรุงแต่ละครั้งก็คงให้ความพิเศษในการลิ้มรสที่แตกต่างกันไป อุปมาก็เช่นเดียวกับการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกีในครั้งนี้ ที่เราได้เห็นความสดใหม่, พลังเสียงดนตรีแห่งความตั้งอกตั้งใจของศิลปินที่อาจจะยังไม่สูงด้วยประสบการณ์ แต่สูงด้วยความปรารถนาที่จะมอบพลังทางดนตรีให้กับผู้ฟังของพวกเขา ศิลปินดนตรีหลายคนในวง MPO นี้อยู่ในระดับคร่ำหวอด แต่อีกหลายคนก็ยังเป็นมือใหม่ที่กำลังใฝ่หาประสบการณ์ดนตรีดีๆ จากบรรดารุ่นพี่เหล่านี้ เราจึงได้สังเกตเห็นการเรียนรู้ด้วยกันเป็นอย่างดีในการบรรเลงครั้งนี้

ประการแรกสุดต้องขอชมเชยกลุ่มคลาริเน็ต (Clarinet) ที่บรรเลงแนวทำนองหลักอันลึกลับที่เปิดการบรรเลงขึ้นมา อย่างมืดมนและคุกคาม นี่ถ้าให้หลับตาฟังและไม่รู้จักว่านี่คือกลุ่มนักคลาริเน็ตที่ยังไม่จัดว่าสูงประสบการณ์ก็คงจะนึกว่า นี่เป็นทีมคลาริเน็ตที่สูงประสบการณ์มาแล้ว เป็นการเปิดทำนองหลักที่ฟังดูลึกลับ, อึมครึมสมกับตัวบทที่ไชคอฟสกีเขียนมาเป็นอย่างดี ทั้งประโยคเพลงและบุคลิกตัวทำนองเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนนับเป็นการเปิดการบรรเลงที่งดงามทีเดียว สำหรับผู้เขียนเองนั้นคิดว่าในบรรดาซิมโฟนีทั้ง 6 บทของไชคอฟสกีนั้น หมายเลข 5 บทนี้เป็นบทที่สร้างความแตกต่างในการบรรเลงได้ยากที่สุด ทุกๆ องค์ประกอบดูจะถูกเขียนกำหนดไว้อย่างตายตัว มองดูเหมือนว่ามีพื้นที่ว่างแห่งการตีความดนตรีน้อยมากเมื่อเทียบกับอีก 5 บทที่เหลือของเขา นี่แหละประเด็นที่น่าวิตกโดยเฉพาะกับวงออเคสตราและวาทยกรที่จัดว่าเป็นมือใหม่

แต่นอกจากแนวทำนองหลักที่เปิดตัวได้อย่างงดงามโดยกลุ่มคลาริเน็ตแล้ว ทั้งสรพจน์ วรแสง, วาทยกรและสมาชิกนักดนตรีก็สามารถแสดงความมุ่งมั่นในทางดนตรีของพวกเขาให้เป็นที่ประจักษ์ได้อย่างชัดเจน ความน่าชมเชยประการหนึ่งของวาทยกรมือใหม่ อย่างสรพจน์ ก็คือการไม่อวดโอ่ว่า “ข้าจำสกอร์ (Score) ได้หมดแล้ว” ในทางตรงกันข้ามเขาตั้งสกอร์โน้ตไว้บนแท่นวางโน้ต และใช้สายตาก้มหน้า พลิกโน้ต อย่างจดจ่อโดยตลอดทั้ง 4 ท่อน (แต่ก็ไม่พลาดในหน้าที่พื้นฐานคือการสบตานักดนตรีให้คิวในช่วงต่างๆ โดยตลอดเช่นกัน) ในเรื่องนี้มันส่อถึงประเด็นในเรื่องความโอ่อวดคึกคะนอง และของวาทยกรโดยเฉพาะมือใหม่บางคน ซึ่งเรื่องนี้มีประเด็นให้อภิปรายถึงกันได้อีกยาว

และหากจะพูดถึงในด้านบทบาทการตีความแล้ว เขามีการเตรียมการล่วงหน้ามาแน่นอน การบรรเลงที่สร้างความพิเศษในหลายจุดที่ทำให้เราตระหนักว่านี่คือการบรรเลงดนตรีสดๆ ที่ไม่แห้งแล้ง โดยเฉพาะในท่อนสุดท้ายที่ร้อนแรง, มีชีวิตชีวาแบบคนหนุ่ม-สาวโดยแท้จริง เสียงดนตรีสดๆ ที่ทำให้เราได้รับพลังชีวิตอันสดชื่นแจ่มใส

ผู้เขียนนั้นชอบเปรียบดนตรีเสมือนชีวิตเสมอๆ ซึ่งในประเด็นนี้ BMO ก็เปรียบเสมือนองค์กร, บริษัท
เล็กๆ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ (แบบที่ชอบเรียกกันอย่างโก้หรู
ว่า “Start Up”) ด้วยเงินทุนที่จำกัด เมื่อเงินทุนจำกัดแล้วสิ่งที่ต้องชดเชยตามมาเพื่อการดำรงอยู่ก็คือ สิ่งที่เรียกกันว่า “สปิริต” หรือหัวจิตหัวใจอันมุ่งมั่น อันเป็นแก่นแท้ของดนตรีและศิลปะทั้งปวง BMO เป็นวงน้องใหม่ที่ให้โอกาสทางดนตรีแก่ศิลปินดนตรีที่ยังใฝ่หาประสบการณ์ สำหรับศิลปินบางคนการได้ขยับตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้ากลุ่มในวงนี้จากที่เคยเป็นนักดนตรีมือรองในวงอื่นๆ มาก่อน หรือแม้แต่วาทยกรที่กล้าหาญยอมรับอย่างเปิดเผยว่านี่คือประสบการณ์อำนวยเพลงวงออเคสตราเป็นครั้งแรก ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าการได้รับโอกาสนั้นมีความสำคัญในชีวิตอย่างไร? ในชีวิตจริงก็เช่นเดียวกัน นี่คืออีกบทพิสูจน์หนึ่งในการริเริ่ม, ท้าทายในการสร้างสรรค์งานดนตรีที่ได้ชื่อว่าใช้เงินทุนและทรัพยากรอย่างสูงในการดำเนินงาน อันเป็นการริเริ่มกันเองภายในองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็น “หน่วยราชการ” อย่างกรุงเทพมหานคร (ซึ่งความจริงน่าจะได้เริ่มงานศิลปะดนตรีเพื่อประชาชนแบบนี้ได้ตั้งนานมาแล้ว) นี่เป็นคอนเสิร์ตเปิดตัวเชิงสัญลักษณ์ที่น่าให้โอกาสและน่าติดตามอย่างแท้จริง

ส่วนบทพิสูจน์ที่เหลือเป็นเรื่องของความจริงจังต่อเนื่องในภายภาคหน้าที่ยังไม่อาจหาบทสรุปได้ ณ ที่นี้

โดย : บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image