แท็งก์ความคิด : การบ้านท้องถิ่น

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ส.อบจ. ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว

จากวันที่รับสมัครเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมาถึงบัดนี้เกือบ 1 เดือน

และยังเหลือเวลาหาเสียงอีกไม่กี่วันก่อนวันเลือกตั้ง 20 ธันวาคม

บรรดาผู้สมัครแข่งขันทั้ง 76 จังหวัด คงได้โชว์นโยบายของตัวเองมากันแล้วหลายรอบ

Advertisement

เชื่อว่าทุกไอเดียเป็นไปเพื่อจังหวัดของตัวเอง

เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอย่างสถาบันพระปกเกล้านั้นส่งเสริมมายาวนาน

ทุกปีมีการประชุมเวทีใหญ่ มีประเด็นให้ความรู้แก่ท้องถิ่นมาโดยตลอด

Advertisement

ปีนี้ก็เช่นกัน ในการประชุมทางวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ประจำปี 2563

งานในวันนั้นมีบรรดาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาให้ความเห็น และเสนอผลศึกษา

มีการแลกเปลี่ยนและสอบถามมากมาย

องค์ปาฐกถาพิเศษของงานที่ได้ฟังมาคือ นายศุภชัย พานิชภักดิ์

นายศุภชัยหรือที่บรรดานักข่าวเรียกกันว่า “ดอกเตอร์ซุป” ทั้งในด้านวิชาการ และด้านปฏิบัติเกี่ยวกับเศรษฐกิจ

เคยผ่านงานการเมือง ระดับรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี

เคยผ่านงานอย่างผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก

นายศุภชัยขึ้นเวทีเปิดเอกสารการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยเกือบร้อยประเทศทั่วโลกของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

สรุปว่า ขบวนการประชาธิปไตยในขณะนี้กำลังป่วย

สาเหตุเพราะเกิดปัญหาการว่างงานสูงมาก ตามมาด้วยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

และสุดท้ายคือความไม่เสมอภาค

ความไม่เสมอภาคหรือความเหลื่อมล้ำ

ในมุมมองของนายศุภชัยเรื่องความเหลื่อมล้ำตอนหนึ่งได้หยิบยกหนังสือของ “โทมัส พิเก็ตตี้” นักเศรษฐศาสตร์ ขึ้นมาประกอบการปาฐก

โทมัส พิเก็ตตี้ ได้สะท้อนภาพของเทรนด์ใหม่ของโลกที่เอื้อต่อการเกิดความเหลื่อมล้ำ

เทรนด์ของโลกดังกล่าว ประกอบด้วย

หนึ่ง คือ การเปิดเสรีทางด้านการค้า ทำให้ช่องว่างระหว่างบรรษัทข้ามชาติและบริษัททั่วไป

สอง คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้คนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีกับคนที่ไม่มีเทคโนโลยีแตกต่างกันมากขึ้น

สาม คือ การบริหารธุรกิจแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ที่แลดูเป็นเรื่องสร้างสรรค์ แต่กลับกลายเป็นกลไกที่ทำให้เกิดช่องว่าง

เทรนด์ของโลกที่เป็นเช่นนี้ ด้านหนึ่งทำให้โลกพัฒนา แต่อีกด้านหนึ่งได้สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น

ประเด็นคำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไรกับเทรนด์เหล่านี้

คำแนะนำจากนายศุภชัย คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกลุ่มที่เสียเปรียบ

ทำให้กลุ่มที่เสียเปรียบมีอำนาจไปต่อรองกับกลุ่มที่ได้เปรียบ

ถ้าทำได้ ความเหลื่อมล้ำจะลดช่องว่างให้แคบลง

ต้องลดเรื่อง “ยิ่งโลภมากยิ่งดี” แล้วเพิ่ม “คุณธรรม” เข้าไปแทนที่

ความพอเพียง จิตสาธารณะ ความเอื้ออาทร ยึดทางสายกลาง เป็นต้น

ยกตัวอย่างประเทศไทย เมื่อพูดถึงการลงทุน เอกชนบอกให้รัฐบาลลงทุน บอกว่าไม่กล้าลงทุนในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้

แต่เมื่อไปดูผลประกอบการ กลับเห็นว่าภาคเอกชนนั้นๆ กำไรเอากำไรเอา

สำหรับกลุ่มคนที่มีพลังน้อย ต้องรู้จักรวมตัวกัน และเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีต่างๆ

ยกตัวอย่างประเทศไทยต้องผนึกกับอาเซียน แล้วเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีโลก

พยายามผลักดันให้โลกเกิดการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน

สุดท้ายนายศุภชัยเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ประเทศไทย

หนึ่ง คือ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ประเทศ

ข้อแนะนำข้อแรก คือ ยืม “เศรษฐกิจชุมชน” จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

เราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจที่ทำให้ท้องถิ่นแข็งแกร่งขึ้น

ยกตัวอย่างการสร้างความเข้มแข็งของสาธารณสุข ด้วยการสร้าง อสม.ขึ้นมา

เข้มแข็งเพราะชุมชนสามารถ “คิดเองทำเอง” ตามที่ชุมชนต้องการ

ข้อแนะนำข้อที่สอง คือ ใช้ “การกระจาย” แทน “การขยาย” ตัวทางเศรษฐกิจ

เราจะทำอย่างไรให้เกิดการกระจาย

กระจายการศึกษา การกระจายรายได้ กระจายงบประมาณ ในท้องถิ่น

ข้อแนะนำข้อที่สาม คือ โอกาส หรือสร้างให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน

นายศุภชัยบอกว่า ผู้บริหารท้องถิ่นนี่แหละที่จะช่วยให้เกิดเรื่องพวกนี้ได้

ผู้บริหารท้องถิ่นต้องบอกได้ว่า ท้องถิ่นของตัวเองต้องการอะไร

ผู้บริหารท้องถิ่นต้องสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้ชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น ตั้งเป้าหมายว่า ทุกหมู่บ้านจะไม่มีแรงงานไร้ฝีมือ

เรื่องนี้มิได้ไกลเกินฝัน เพราะประเทศมาเลเซียทำมาแล้ว

และเชื่อว่าข้อแนะนำเหล่านี้ท้องถิ่นไทยสามารถทำได้

เรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ยากของประเทศไทยมานาน ส่วนกลางพยายามหาหนทางแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง

แต่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงแต่ส่วนกลางอีกต่อไป

หากท้องถิ่นมีเป้าหมายและความตั้งใจ

นี่คือความท้าทายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นี่คือการบ้านของ อบจ. รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ด้วย

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image