อาศรมมิวสิก : อารยธรรมดนตรีในท้องถิ่นอาเซียน

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ตั้งคำถามไว้ให้ตอบ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก ไทยเรานั้นจะพัฒนาและรักษาอารยธรรมดนตรีในท้องถิ่นได้อย่างไร เรื่องที่สอง สถาบันดนตรีระดับอุดมศึกษาของไทยจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร ซึ่งจะขอตอบและบันทึกเป็นหลักฐานไว้ ณ ที่นี้

เรื่องแรก อารยธรรมดนตรีพื้นบ้าน จะศึกษา ค้นคว้า พัฒนา และเผยแพร่ได้อย่างไร

จากประสบการณ์ภาคสนามที่ได้บันทึกเสียงเพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้และได้ความรู้มากขึ้น ก็พอจะตอบคำถามได้ ซึ่งเป็นความเห็นโดยส่วนตัวเท่านั้นว่า เนื่องจากดนตรีพื้นบ้านไม่มีเวที ไม่มีพื้นที่ ไม่มีที่ทำกิน เมื่อเวทีแสดงเปลี่ยนไป ทำให้ศิลปินชาวบ้านไม่มีอาชีพและไม่มีเงินรายได้ จึงไม่สามารถดำรงอาชีพดนตรีอย่างดั้งเดิมได้ ดนตรีพื้นบ้านไทยจึงตาย

ความสำคัญของดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีเป็นอารยธรรมที่สูงส่ง ดนตรีอยู่กับคนทุกกลุ่ม เพราะดนตรีเป็นศิลปะของหัวใจและเป็นหัวใจของศิลปะทั้งมวล ดนตรีเป็นสื่อร้อยรัดหัวใจของคนในชุมชนให้มีความร่วมมือกัน ดนตรีทำให้เกิดความอบอุ่นใจ ดนตรีคือประวัติศาสตร์ของชุมชน ดนตรีสร้างความสุขให้ทุกคนอยู่ร่วมกัน ดนตรีได้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความหวัง และสร้างความสามัคคีของปวงชน บางครั้งดนตรีเป็นอาวุธของผู้ปกครอง ผู้นำทางจิตวิญญาณใช้ดนตรีประกอบในพิธีกรรม ใช้ดนตรีเป็นสะพานเชื่อมกับอำนาจ เพราะเสียงมีอำนาจ นักปกครองจึงใช้เสียงดนตรีเป็นอาวุธและเป็นเครื่องมือในการรวบรวมฝูงชน ดนตรีจึงอยู่ในชีวิตมนุษย์ทุกมิติ

Advertisement

วันนี้ดนตรีพื้นบ้านในท้องถิ่นไทยตายเกือบหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ร่อแร่เต็มที ดนตรีในท้องถิ่นถูกตัดขาดจากวิถีชีวิต เพราะชีวิตในชุมชนสมัยใหม่เปลี่ยนไป หากว่า (ผม) มีโอกาสทำได้ในชีวิตนี้ ก็จะนำเพลงท้องถิ่นมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นดนตรีสำหรับวงซิมโฟนีออเคสตรา เพื่อทำให้เป็นต้นแบบ แล้วจัดการแสดงให้สังคมได้ชื่นชม (เดือนละครั้ง ทุกเดือนตลอดทั้งปี) เมื่อได้สร้างต้นแบบแล้ว คนรุ่นต่อๆ ไปก็จะได้เห็นเป็นตัวอย่าง ได้รักษาเพลงเก่า ส่วนคนรุ่นใหม่เขาจะทำตามแบบหรือไม่ หรือจะนำต้นแบบไปดัดแปลงต่อยอด ก็สามารถจะทำได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่การแหกคอกนอกครูหรือการขบถต่อขนบธรรมเนียมเดิมก็ตาม คนรุ่นใหม่ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดผีหรือผิดครู เพราะดนตรีเป็นศิลปะของความคิดสร้างสรรค์ ตราบเท่าที่สร้างผลงานด้วยฝีมือและทำจนสุดความสามารถแล้ว

เพลงท้องถิ่นของวงออเคสตรา จะเริ่มจากอารยธรรมดนตรีล้านนารวมไปถึงหลวงพระบาง ล้านนามีอารยธรรมดนตรีที่สำคัญอยู่ 3 เมืองด้วยกัน คือ ที่เมืองน่าน ที่เมืองเชียงใหม่ (รวมเชียงราย) และที่เมืองลำปาง ซึ่งเป็นกลุ่มเพลงลาวล้านนา มีเครื่องดนตรีที่โดดเด่นมาก คือ ปี่จุม ซึง และสะล้อ หากการนำเพลงล้านนามาเรียบเรียงใหม่ โดยมีเพลงร้อง (ช่างซอ) กับวงออเคสตรา หรือจะให้ปี่จุม ซึง หรือสะล้อ เล่นร่วมแบบคอนแชร์โต จะเป็นการต่อชีวิตเพลงอารยธรรมล้านนาให้ไปอยู่ในมิติโลกใหม่ นอกจากจะทำให้ของเก่าอยู่ได้ ยังมีของใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ส่วนอารยธรรมดนตรีในท้องถิ่นอีสาน สำเนียงลาวอีสานครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รวมไปถึงเวียงจันทน์ มีหมอลำ หมอแคน หมอพิณ เป็นสำเนียงอีสาน นำโดยดนตรีที่เมืองอุบลราชธานี ดนตรีชาวภูไทที่กาฬสินธุ์ และดนตรีเขมรที่สุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านที่สำคัญ

Advertisement

อารยธรรมดนตรีในท้องถิ่นภาคกลางนั้น ดินแดนของวัฒนธรรมสุพรรณภูมิ เริ่มจากดนตรีในเมืองหลวงที่ได้รับอิทธิพลของฝรั่งตะวันตก ตั้งแต่ดนตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดนตรีท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลจากแขก (เปอร์เซีย) เป็นเพลงแขก และดนตรีจีนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งผ่านการแสดงและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรีที่ยังดำรงอยู่ในวงดนตรีไทย

สำหรับอารยธรรมดนตรีในท้องถิ่นภาคใต้ เป็น กลุ่มดนตรีศรีวิชัย วงชาตรีของโนราและหนังตะลุงที่เมืองตรัง ถ้ามาจากตรัง “ไม่เป็นหนังก็โนรา” ซึ่งเป็นดนตรีภาคใต้ที่มีบทบาทสำคัญมาก ส่วนดนตรีในราชสำนักวังยะหริ่งที่เมืองปัตตานี และเพลงชาวเลในหมู่เกาะอันดามัน เป็นเพลงของพวกเร่ร่อน เป็นยิปซีทะเล สำหรับในเขตดินแดนสยาม มีที่เกาะลันตา ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของดนตรีรองเง็ง เป็นความบันเทิงของกลุ่มชาวเล เป็นวัฒนธรรมที่เกิดการสังวาสทางวัฒนธรรมที่ลงตัวและกลมกลืน มีเครื่องดนตรีเล่นทำนอง อาทิ ไวโอลิน แมนโดลิน แอ๊กคอเดียน ที่เป็นยุโรป มีกลองรำมะนาเป็นวัฒนธรรมเปอร์เซีย มีฆ้องหุ่ยเป็นเครื่องดนตรีในท้องถิ่น เพลงร้องใช้ภาษายาวี อูรักลาโว้ย และภาษาไทย เรื่องราวในเพลงเกี่ยวข้องกับธรรมชาติในทะเลและหมู่เกาะ การเต้นระบำยกเท้าสูงแบบยุโรป เสื้อผ้าที่ใช้เป็นแบบฉบับของการแต่งกายพื้นเมือง เป็นต้น

ในการจัดแสดงปีหนึ่ง 12 ครั้ง โดยนำวงออเคสตราออกไปแสดงตามภูมิภาค 4 ครั้ง ครั้งละเดือน เพื่อเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมและได้สัมผัสมิติใหม่ของวัฒนธรรมดนตรี ส่วนการแสดงอีก 8 ครั้ง ให้จัดการแสดงในพื้นที่กลางเมือง อาทิ หอแสดงดนตรีสยามยามาฮ่า สถานีรถไฟฟ้าปทุมวัน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยทุกครั้งต้องบันทึกและถ่ายทอดผ่านช่องยูทูบ เพราะสามารถเชื้อเชิญผู้คนชาวกรุง มิตรรักแฟนเพลง ชาวต่างชาติ และคณะทูตานุทูต ให้ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมดนตรีของท้องถิ่นไทย

เรื่องที่สอง สถาบันดนตรีระดับอุดมศึกษาของไทยเป็นอย่างไร

ข้อมูลเบื้องต้นนั้น มีสถาบันดนตรีในระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนดนตรีมากเพียงพอ (50 สถาบัน) เพียงแต่สถาบันดนตรีอุดมศึกษาของไทยตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีฝีมือ ไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ไม่มีพลัง และไม่มีความกระหายที่จะสร้างงานการศึกษา มีแต่ใบปริญญาที่ไร้การศึกษา สำหรับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งส่วนใหญ่ก็มีความสามารถไม่ถึง เป็นเสมียนรับเงินเดือนจากรัฐ เป็นกาฝากในวงการศึกษา บางสถาบันการศึกษา ดนตรีตกอยู่ในมือโจรสลัดมีหนวด เป็นพวกลิงได้แก้ว ไก่ได้พลอย หรือพวกคางคกขึ้นวอปานนั้น ทำให้การศึกษาดนตรีของไทยตกต่ำและไม่มีคุณภาพ

วันนี้สังคมมีโรคระบาดโควิด-19 มาเป็นตัวช่วย ทุกสถาบันดนตรีก็มีข้ออ้างว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะมีโรคโควิด-19 ระบาด แต่ในวันพรุ่งนี้มีวัคซีนแก้โรคโควิด-19 ออกมาแล้ว สังคมโลกพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป เมื่อสถาบันดนตรีอุดมศึกษาของไทยเปิดออกมาแล้ว ยังอยู่ในสภาพโกโรโกโสและร่อแร่คุณภาพต่ำ ก็คงไม่สามารถจะแก้ตัวหรืออ้างอะไรได้อีกต่อไป เพราะโลกต่อไปนี้เป็นโลกของคนที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะอยู่รอด ไม่สามารถที่จะสร้างผลงานด้วยน้ำลายอีกต่อไปได้

เพราะโลกที่เปิดมามีมิติใหม่แล้ว ชัยชนะและความสำเร็จไม่ได้มาเพราะความสามารถและฝีมือเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวใจด้วย เรื่องของวิสัยทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือ ความกระหายอยากทำให้สำเร็จ เป็นหัวใจของโลกใบใหม่

ช่องว่างของดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียนนั้น อาเซียนมีทรัพยากรอารยธรรมดนตรีที่ร่ำรวยและเป็นมรดกของภูมิภาค การสร้างและพัฒนามิวสิกมิวเซียม (Living Music Museum) ในสถาบันอุดมศึกษาดนตรีของไทย เพื่อสร้างพื้นที่ให้ดนตรีพื้นบ้านได้แสดง ได้สร้างสรรค์งาน มีรายได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางใหม่และเป็นทางออกของการศึกษาดนตรีในภูมิภาคด้วย ในภูมิภาคอาเซียนล้วนมีดนตรีท้องถิ่นทั้งสิ้น เป็นขุมทรัพย์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ หากใครลงมือทำก่อนก็จะกลายเป็นผู้นำ เพราะการส่งบุคลากรไปศึกษาดนตรีท้องถิ่นของตนในสถาบันอุดมศึกษาในยุโรปนั้น หมดยุคแล้ว หากสถาบันดนตรีอุดมศึกษาไทยสามารถจะจัดการศึกษาเรื่องดนตรีของอาเซียนได้ ก็จะเป็นผู้นำการศึกษาดนตรีในอาเซียนทันที

อย่าลืมว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนา (ยกเว้นสิงคโปร์) แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม แต่สิงคโปร์ไม่มีรากฐานของอารยธรรมดนตรีอาเซียน แถมยังดูถูกการศึกษาดนตรีในท้องถิ่นด้วยซ้ำไป ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ยังขาดเสน่ห์และขาดรสนิยม ไม่ได้เป็นที่พึ่งของอาเซียน

สถาบันอุดมศึกษาดนตรีของไทยควรผลิตคนดนตรีที่มีฝีมือและคุณภาพสูง เพื่อสร้างบุคลากรไปทำงานในโรงแรมชั้นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งต้องการนักดนตรีอาชีพไม่ต่ำกว่า 500 โรงแรม เมื่อประชาคมโลกสามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้ ความต้องการคนที่มีฝีมือดนตรีจะสูงมาก เพื่อไปทำงานรองรับการเปิดตัวนักท่องเที่ยว

อีกอาชีพหนึ่ง คือ ครูดนตรี ที่มีความสามารถสอนดนตรีในโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน เพราะเมื่อทุกประเทศต้องการพัฒนาการศึกษา ดนตรีเป็นวิชาพื้นฐานของชีวิตที่โรงเรียนนานาชาติทุกประเทศต้องการ ซึ่งวิชาดนตรีเป็นจุดเด่นของการศึกษา หากสถาบันดนตรีอุดมศึกษาของไทยที่สามารถผลิตบัณฑิตพูดได้ 5 ภาษา คือ ภาษาแม่ ภาษาอังกฤษ ภาษาเทคโนโลยี ภาษาดนตรี (ฝีมือ/รสนิยม) และภาษาทำมาหากิน ก็จะประกอบอาชีพเป็นครูสอนดนตรีในโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคอาเซียนได้ ซึ่งมีโรงเรียนนานาชาติไม่น้อยกว่า 500 โรงเรียน

ดนตรีท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องที่กระจอกๆ อีกต่อไป ดนตรีท้องถิ่นเป็นมรดกทางวัฒนธรรม หากสถาบันดนตรีอุดมศึกษาได้ทำหน้าที่นำเรื่องกระจอกๆ มาศึกษา พัฒนาให้โลกได้รู้จัก นำอารยธรรมดนตรีของท้องถิ่นมาสร้างให้เป็นสินค้าเพื่อขายโลก การศึกษาที่แท้จริงนั้น คือการขายความแตกต่างและความหลากหลายให้เด่นชัด แล้วอวดความแตกต่างที่หลากหลายนั้นให้โลกรู้จัก จึงเป็นบทบาทใหม่ของสถาบันดนตรีอุดมศึกษาไทย

สิ้นยุคชื่นชมความเป็นอื่น กับความเชื่อที่ว่า ทำตามเขาว่าเก่งทำเองว่าโง่ วันนี้เป็นยุคของการอวดความเป็นฉัน ชื่นชมความเป็นฉัน และขายความเป็นฉันให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image