คุ้มครอง หรือปิดกั้น? เหรียญอีกด้าน… ร่าง พ.ร.บ.คุมโฆษณาอาหารทารกและเด็กเล็ก

การเตรียมผลักดันร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. … ของกระทรวงสาธารณสุข กำลังส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้หญิงในยุคปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มีบทบาททั้งการเป็นแม่และเป็นคนทำงานหารายได้จุนเจือครอบครัว

ข้อมูลจากชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทยระบุว่า อาหารหลักและดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดถึง 6 เดือนคือ “นมแม่” ซึ่งมีประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ ให้ทารกได้ และมีการวิจัยสารอาหารในน้ำนมแม่พบแล้วมากกว่า 200 ชนิดที่มีคุณค่าต่อลูกและยังไม่มีอาหารใดทดแทนได้ จึงมีการส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก หลังจากนั้นให้เด็กบริโภคอาหารตามวัยและเสริมด้วยนมแม่ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

สำหรับคุณแม่มือใหม่ สิ่งสำคัญในการอุ้มชูดูแลสมาชิกใหม่ของครอบครัวคือ การศึกษาหาข้อมูลรอบด้านเพื่อตัดสินใจเลือกวิธีการที่ดีและสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก การรับข้อมูลของคุณแม่จึงมาจากหลายช่องทาง และปฏิเสธไม่ได้ว่าโฆษณาเป็นสื่อการตลาดทางหนึ่งที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วทั้งทางโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์

อภิรดา จิตธรรมา คุณแม่ลูกสอง เธอเป็นผู้หญิงทำงานคนหนึ่งที่มีความตั้งใจสูงมากในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ แม้มีความจำเป็นต้องกลับไปทำงานหลังจากลาคลอดได้เพียง 45 วัน เธอก็พยายามปั๊มนมแม่จากที่ทำงานนำกลับมาให้ลูกกิน แต่ปริมาณน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ ด้วยการให้คำปรึกษาจากแพทย์เธอยังพยายามต่อ แต่การต้องทนมองลูกร้องหิวนมย่อมไม่ใช่วิสัยของแม่ เธอตัดสินใจใช้นมผงเป็นอาหารสำหรับทารกร่วมกับการให้นมแม่ แต่ปัญหาก็เกิดตามมาเพราะลูกมีอาการแพ้นมวัว เธอปรึกษากุมารแพทย์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนมพิเศษซึ่งเป็นอาหารทางเลือกสำหรับทารกที่แพ้นมวัว

Advertisement

“ดิฉันรู้จักนมสำหรับทารกที่แพ้นมวัวจากโฆษณา แต่ยังไม่คิดว่าจะเลือกใช้เพราะยังไม่รู้จริงๆ ว่านมชนิดนี้มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะกับทารกจริงหรือเปล่า และไม่ทำให้เกิดการแพ้เหมือนที่ลูกแพ้นมวัว สิ่งที่ทำต่อมาคือการเข้าไปพูดคุยกับชุมชนคนเป็นแม่ในสื่อออนไลน์ มีห้องแชตรูมมีการแบ่งปันประสบการณ์จากแม่ๆ จากคุณหมอ จากผู้เชี่ยวชาญ มันเป็นการยืนยันข้อมูลที่เรารับรู้มาจากโฆษณา จากสื่อแผ่นพับที่ได้รับ แต่กว่าจะตัดสินใจให้ลูกกินนมที่เป็นอีกทางเลือกนี้เพราะนมแม่เราไม่เพียงพอ เรายังต้องขอความรู้ยืนยันจากกุมารแพทย์ที่ไปพบเป็นประจำก่อนอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก”

อภิรดาเชื่อว่าแม่ทุกคนมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอันดับแรกเสมอ แต่ไม่ใช่แม่ทุกคนจะทำได้สำเร็จ จึงควรมีทางเลือกให้คุณแม่ที่อาจเจอปัญหาคล้ายกับเธอ หรืออาจเกิดเจ็บป่วยเรื้อรังรุนแรงไม่สามารถให้นมแม่กับลูกได้ในช่วง 6 เดือนแรกของลูก ให้แม่เหล่านั้นได้เปิดโลกข้อมูลข่าวสารให้มากที่สุด เธอบอกว่าผู้หญิงมีวิจารณญาณมากพอที่จะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดีสำหรับลูก

“ข้อมูลเรื่องผลิตภัณฑ์และคำแนะนำในการเลี้ยงดูทารกจากผู้ผลิตเป็นเรื่องที่ดี ช่วยเปิดโลกข้อมูลให้แม่มือใหม่ โดยเฉพาะข้อมูลโภชนาการนมสำหรับทารก โดยส่วนตัวคิดว่าแคมเปญการตลาดของสินค้าทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ แต่มันยังไม่มีผลต่อการตัดสินใจใช้สินค้านั้นในทันที แม่สมัยนี้ต้องมีข้อมูลในมือ ต้องคิดต้องศึกษาข้อมูลมากเลยค่ะถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับลูก”

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของคุณแม่ยุคใหม่ที่เป็นผู้หญิงทำงาน และใส่ใจกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับลูก จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคุณแม่จากสื่อต่างๆ ส่งผลต่อการทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้นเท่านั้น ผู้หญิงที่เป็นแม่ทุกคนยังต้องการความคิดเห็น ต้องการข้อเท็จจริงจากคนรอบข้างและจากผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ

แล้วร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. … ที่กล่าวไว้ข้างต้นกระทบกับวิถีชีวิตสตรีและคุณแม่ยุคนี้อย่างไร?

ในงานสัมมนาเชิงวิชาการว่าด้วยเรื่อง “สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ…. กับวิถีชีวิตของสตรีไทยในปัจจุบัน” ที่หอประชุมบ้านมนังคศิลา รวบรวมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในแวดวงผู้เกี่ยวข้องในการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดกฎเกณฑ์ต่างๆ ก่อนที่ร่างฯฉบับนี้จะผ่านกระบวนการตามขั้นตอนเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

สองประเด็นสำคัญที่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวในวงเสวนาคือ การห้ามสินค้านมผงทำการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด ถึง 3 ขวบ และการห้ามบุคลากรวิชาชีพด้านสาธารณสุขให้คำแนะนำสินค้านมผงเป็นอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก

ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ นายกสมาคมโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย เสนอให้มีการพิจารณาการกำหนดช่วงวัยของเด็กให้ลดลงเหลือเพียงห้ามการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด- หนึ่งขวบ เพราะช่วงขวบปีแรกเป็นช่วงที่ทารกควรได้รับสารอาหารจำเป็นจากนมแม่ และอาหารเสริมตามวัยร่วมกับนมแม่หรือนมผสมในกรณีจำเป็น เช่น แม่เจ็บป่วย ทารกที่มีปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงทารกได้รับการเลี้ยงดูโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แม่และบุคลากรสาธารณสุขต้องสามารถให้คำแนะนำได้

“ร่าง พ.ร.บ.ต้องคำนึงถึงเด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทารกและเด็กที่เจ็บป่วย ใครจะปกป้องสิทธิในการได้รับสารอาหารที่จำเป็นให้พวกเขาถ้าแม่และคนดูแลเด็กไม่รู้จักนมผง พวกเขาจะได้รับคำแนะนำจากใครหากบุคลากรด้านสาธารณสุขต้องระวังตัวมากขึ้นอีกในการปฏิบัติงาน มีทารกจำนวนหนึ่งที่แพ้อาหารผ่านนมแม่เพราะแม่อาจกินอาหารที่ทำให้เด็กแพ้โดยไม่รู้ตัว นมผงจึงเป็นทางเลือกของแม่กลุ่มนี้ แล้วยังมีกลุ่มเด็กเล็กที่ขาดสารอาหารร่างกายไม่เติบโต หรือเด็กเล็กที่เป็นภูมิแพ้ นมผงบางประเภทก็เป็นอาหารทางเลือก และเป็นเรื่องที่แพทย์ต้องให้คำแนะนำทั้งสิ้นในการบำบัดรักษา แต่ร่าง พ.ร.บ.ในตอนนี้ยังห้ามหมอแนะนำคนไข้ ผลกระทบที่จะเกิดแน่นอนคือทำให้แพทย์ไม่กล้าพูดไม่กล้าแนะนำอะไรให้คนไข้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้เพราะอาจมีโอกาสถูกฟ้องร้องได้”

พร้อมกันนั้นยังได้เสนอว่า “หากจะออกเป็นกฎหมายจริง ต้องมีการแก้ไขในสองส่วนนี้ และถ้าหากกระทรวงต้องการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น ดิฉันแนะนำให้กระทรวงยกร่าง พ.ร.บ.สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะตรงประเด็นมากกว่า กำหนดลงไปให้ชัดว่ามีวิธีการสนับสนุนอะไรบ้าง จะสร้างวัฒนธรรมนมแม่ขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร หรือหากเพิ่มวันลาคลอดเป็น 6 เดือนได้ เชื่อว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเพิ่มขึ้นแน่นอน”

(จากซ้าย) ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์, ศิริขวัญ จันทรางศุ, อภิรดา จิตธรรมา
(จากซ้าย) ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์, ศิริขวัญ จันทรางศุ, อภิรดา จิตธรรมา

ทางด้าน ศิริขวัญ จันทรางศุ นายกสมาคมสตรีเพื่อสตรี ประเทศไทย กล่าวว่า “ดิฉันเชื่อในเรื่องของการสร้างทางเลือกให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การดูแลครอบครัว การตัดสินใจบริโภคสินค้าใดๆ ก็ตาม คนเราควรจะมีทางเลือกเพื่อการตัดสินใจ ดิฉันเองก็เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และหลังจาก 6 เดือนก็ให้นมผสมด้วย นมผงเป็นทางเลือกให้แม่ที่จะเลือกหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจจากข้อมูลที่แม่มี” เป็นอีกหนึ่งความเห็นในฐานะของแม่และผู้หญิงทำงาน

การจะบอกว่าโฆษณามีผลต่อการตัดสินใจของแม่ ที่จะเลือกให้ลูกกินนมผงมากกว่าเลี้ยงด้วยนมแม่ จนต้องออกกฎห้ามการทำตลาดของสินค้าอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่จะกลายเป็นการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคมากกว่า ไม่มีแม่คนไหนเชื่อว่าลูกกินนมชนิดนี้ชนิดนั้นแล้วลูกจะโตขึ้นเป็นอัจฉริยะหรือเป็นอะไรต่ออะไรตามภาพในโฆษณาที่เห็น

ศิริขวัญ ย้ำว่า การส่งเสริมการให้ความรู้ด้านโภชนาการที่ดีของแม่และทารกควรเข้าถึงกลุ่มผู้หญิงทำงานในทุกระดับให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และเปิดทางเลือกในการให้แม่ได้ทำความรู้จักแหล่งอาหารที่มีประโยชน์สำหรับทารกได้หลายช่องทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นรายละเอียดจากบุคลากรในหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อให้แม่ทุกคนได้มีข้อมูลความรู้มากพอ ส่วนการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือไม่นั้น

เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนจะทราบได้เองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก และผู้หญิงทุกคนก็มีสิทธิที่จะรู้ว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image