อาศรมมิวสิก : งานเลี้ยงแสดงความยินดี อาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล

เที่ยงวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 คณะศิษย์เก่าที่จบปริญญาเอกจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่รุ่นแรก (พ.ศ.2548) ซึ่งมีนักศึกษาปริญญาเอกได้เรียนจบการศึกษาไปแล้วหลายรุ่น มีจำนวนกว่า 40 คน ได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ที่ได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2563 ที่ห้องอาหารอายัท โรงแรมอโนมา ราชประสงค์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เป็นบุคคลสำคัญของวงการดนตรีไทยและการศึกษาดนตรีในอุดมศึกษาไทย ท่านอายุ 83 ปี เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก ผู้เชี่ยวชาญวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นนักวิจารณ์ดนตรีในหนังสือพิมพ์รายวันที่สยามรัฐ เป็นอาจารย์สอนการค้นคว้าเรื่องดนตรี และเป็นผู้บุกเบิกเรื่องการศึกษาดนตรีระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์สอนการวิจัยดนตรีระดับบัณฑิตศึกษา เป็นผู้ดูแลวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกดนตรี (มากที่สุด) และท่านยังเป็นศาสตราจารย์ทางดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาไทย เป็นนายแพทย์ที่ได้ศาสตราจารย์ดนตรี เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอ่านผลงานผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการดนตรีระดับศาสตราจารย์ อาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล ยังเป็นกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติหลายสมัย สำคัญสุดคือ นักศึกษาดนตรีทุกคนเป็นหนี้บุญคุณอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล

ผมรู้จักอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล ผ่านบทความที่อาจารย์หมอเป็นผู้เขียนเรื่อง “อารมณ์และการร้องเพลง: ไอ้น้อยเสียคน” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2527 ประเด็นที่ว่า เพลงสมัยก่อนถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีกว่าเพลงสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่เพลงไทยเปลี่ยนจากบทกลอนเป็นบทเพลง เมื่ออ่านแล้วก็เขียนบทความโต้ความเห็นลงหนังสือพิมพ์มติชน เพื่อเสนอความคิดที่แตกต่างจากบทความของอาจารย์หมอพูนพิศ โดยที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ทั้งนี้ เป็นเรื่องของความเห็นที่แตกต่างหรือเพราะร้อนวิชา

วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2530 ผมได้ถูกขอตัวจากกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ โดยอธิการบดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ ตามคำแนะนำของอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล เพื่อเปิดหลักสูตรวัฒนธรรมดนตรีในระดับปริญญาโท ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีแค่อาจารย์หมอพูนพิศและผม เพียง 2 คน เป็นอาจารย์ทำหน้าที่ทุกอย่าง ในปี พ.ศ.2537 ได้ขยายการศึกษาเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนในระดับปริญญาตรี เตรียมอุดมดนตรี ปริญญาโทดนตรี และปริญญาเอกดนตรี ในปี พ.ศ.2548 เป็นการวางรากฐานและสร้างมาตรฐานใหม่ของการศึกษาดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาไทย

Advertisement

อาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล เป็นผู้มีบุญคุณต่อการศึกษาดนตรีของไทยอย่างมาก หากไม่มีอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล เป็นผู้นำทาง ก็คงไม่มีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่มีโฉมหน้าการศึกษาดนตรีใหม่ ไม่มีบุคลิกภาพของนักเรียนดนตรีแบบใหม่ ไม่มีศักยภาพของนักดนตรีรุ่นใหม่ขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการศึกษาดนตรีในภูมิภาค

การทำงานบุกเบิกเรื่องการศึกษาดนตรีในมหาวิทยาลัยหมอเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมหาวิทยาลัยหมอมีมาตรฐานสูงทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่าเป็นหมอแล้ว หมอนั้นเป็นคนเก่ง หมอเป็นคนกล้า หมอเป็นคนฉลาด หมอเป็นคนที่มีฐานะทางสังคมสูง หมอมีความน่าเชื่อถือสูง หมอมีบุคลิกดี (มีมาดดี) หมอเป็นผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี หมอดื้ออย่างมีหลักการ หมอเป็นผู้ที่มีรสนิยม และหมอเป็นคนมีเสน่ห์ ด้วยมาตรฐานของความเป็นหมอแล้ว ผมจึงได้ตอบรับเชิญไปทำงานเพื่อพัฒนาวิชาดนตรีในมหาวิทยาลัยหมอ

เพราะในส่วนลึกของหัวใจแล้ว ผมอยากมีปรัชญาการศึกษาดนตรีใหม่ “ดนตรีเป็นวิชาของนักปราชญ์” การพยายามช่วงชิงเอาลูกของหมอให้มาเรียนดนตรี การช่วงชิงงบประมาณนำมาพัฒนาการดนตรี และที่สำคัญคือการยกฐานะของวิชาดนตรี อาชีพดนตรีจากวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน ให้เป็นวิชาที่มีเกียรติเชื่อถือได้ โดยอาศัยอาชีพหมอ อาศัยคุณหมอ และมหาวิทยาลัยหมอเป็นนั่งร้าน ยกระดับอาชีพภาพลักษณ์การศึกษาดนตรี ซึ่งทั้งหมดก็ต้องอาศัยอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล นี่แหละ เป็นผู้นำทางให้

Advertisement

สมัยเริ่มต้นนั้น มีคุณหมอที่รักและชอบดนตรีเป็นทุนอยู่แล้ว อาทิ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี ผู้เชี่ยวชาญดนตรีมอญ รำมอญ และเป็นเจ้าชาวมอญ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว ผู้หลงรักดนตรีไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ คุณหมอนักแต่งเพลง (รักต้องห้าม) ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล คุณหมอนักวิชาการดนตรี รวมทั้งคุณหมอนักร้อง แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นคุณหมอทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งสิ้น

ผมแอบลอกเลียนชีวิตของอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียนดนตรี อาทิ ความศรัทธาในอาชีพ การเอาจริงเอาจัง การเอาใจใส่ตั้งใจทำ การวางตัว การแต่งตัว การสร้างราคาความน่าเชื่อถือ ความรับผิดชอบในหน้าที่ การตรงต่อเวลา ความกตัญญูรู้คุณ การดูแลผู้อื่น การพูดจาไพเราะ ที่สำคัญก็คือ วิธีวิทยาในการค้นคว้าหาความรู้ดนตรีอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การนำเสนอหลักฐานใหม่ การเสนอผลงานทางวิชาการดนตรี การปฏิรูปนักเรียนดนตรีจากความโกโรโกโสและรุงรัง ให้เป็นนักดนตรีฝีมืออาชีพที่ดูดี ต้องใช้ต้นแบบนักศึกษาหมอ ซึ่งปรากฏอยู่ในฉากภาพยนตร์เรื่องซีซันส์เชนจ์ (Seasons Change) เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ให้ดูเป็นหลักฐาน

ผมค่อยๆ ถอดบทเรียน แปลความจากการทำงานในฐานะที่เป็นลูกน้องอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล ทำไมอาชีพหมอจึงได้รับความน่าเชื่อถือ แม้พวกที่เสียหมอไปแล้ว ก็ยังได้รับความเชื่อถือจากสังคม กล่าวคือ ผู้ที่ไม่ได้รักษาคนอีกต่อไปแล้ว เป็นหมอไปทำอาชีพอื่น หมอก็ยังได้รับความน่าเชื่อถือ เพราะว่าหมอเป็นคนเก่ง หมอเป็นคนฉลาด คนฉลาดของประเทศส่วนใหญ่ไปเรียนหมอกัน แม้บางคนที่เก่งและไม่อยากเป็นหมอก็มี แต่ก็ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือไว้วางใจเท่าอาชีพหมอ เมื่อหมอชอบดนตรี หมอชอบร้องเพลง หมอชอบแต่งเพลง ซึ่งผมก็แอบเรียกว่าพวกเสียหมอ ได้หมอไปทำงานช่วยยกระดับอาชีพดนตรีให้สูงขึ้น หมออยู่กับดนตรี
ดูดีไปหมด

เนื่องจากหมอต้องเรียนหนักและทำงานหนัก หมออยู่กับความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ หมอจะผิดพลาดไม่ได้ เพราะความผิดพลาดของหมอคือ “ผู้ป่วยลงหลุม” ชีวิตของหมอจึงอยู่กับความเครียด หมอเป็นความคาดหวังของคนอื่น เมื่อหมอได้เบี่ยงเบนชีวิตมาทำเรื่องดนตรี ซึ่งเป็นความรักความชอบ จึงเป็นที่นับหน้าถือตาของสังคมมากขึ้นเท่าทวี อาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล นั้น ได้รับรางวัลในฐานะนักร้องเพลงไทยตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ ทำให้อาจารย์หมอรักฝังใจในเพลงไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก และได้รับรางวัลอีกมากมาย
ในชีวิต

ความจริงแล้วอาชีพหมอหมายถึงผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในตระกูลเดียวกับพวกหมอผี หมอนวด หมอดู หมอตำแย หมอความ หมอขวัญ หมอยา หมอรักษา หมอแคน หมอลำ เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่า หมอยากับหมอรักษาจะได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุด ส่วนหมออาชีพอื่นๆ ได้รับความน่าเชื่อถือลดหลั่นกันไป ที่น่าสังเกตคือ อาชีพหมอๆ มีตั้งแต่พวกอนุรักษนิยมสุดโต่ง ไปกระทั่งพวกแหกคอกหัวก้าวหน้าอยู่ในโลกอนาคตสุดกู่ด้วย

ผมมีโอกาสดีที่ได้เรียนรู้และทำงานเป็นลูกน้องอาจารย์หมอ คุณหมอนั้นดื้อและหัวรั้น ไม่ต่างไปจากศิลปินแต่อย่างใด ผมจึงตกอยู่ในสภาพที่ต้องต่อสู้ทำงานแบบต้องฝ่าตีนหมอทุกเรื่อง ฐานะของผมที่เป็นนักดนตรีนั้น ในทางสังคมแล้ว ดนตรีเป็นอาชีพของไพร่ มีความแตกต่างระหว่างชนชั้นมาก ผมจึงได้อาศัยบารมีของอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล เป็นกำแพงปราการปกป้องนักเรียนดนตรี ประคับประคองการศึกษาวิชาดนตรี และสร้างอาชีพดนตรีใหม่ เพราะเมื่อมีอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล เป็นอาจารย์ดนตรีนำทางอยู่ แม้รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังสมัยหนึ่ง ยังตั้งคำถามเมื่อของบประมาณว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลมีดนตรีด้วยหรือ”

อาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล นอกจากจะเป็นนักวิจัยดนตรี เป็นนักค้นคว้าเรื่องมานุษยวิทยาดนตรีมีความรู้มาก เป็นพจนานุกรมเคลื่อนที่ อาจารย์หมอพูนพิศเป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ เป็นศาสตราจารย์ดนตรีคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการดนตรี ตั้งแต่ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์กระทั่งศาสตราจารย์ ต้องพึ่งบารมีอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล การพิจารณาผลงานวิจัยดนตรี การพิจารณาศิลปินแห่งชาติ ก็ต้องพึ่งพาบารมีของอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล

ความจริงที่ประจักษ์เป็นเส้นผมบังภูเขา ทำไมอาชีพหมอประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะหมอได้คนเก่งมาเรียน เรียนแล้วมีอาชีพรองรับ คนเก่งได้รับการดูแล ได้ทุนเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ มีงานที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศ ดีกว่าโรงพยาบาลประจำเมือง ดีกว่าโรงพยาบาลเอกชน ที่สำคัญอาชีพหมอมีรายได้ที่ดี แม้บางครั้งคุณหมอจะเห็นแต่ตัวเลขและเห็นเชื้อโรค แต่บางครั้งก็มองไม่เห็นคน

ผมอาศัยต้นแบบโรงเรียนหมอและโรงหมอ โดยสร้างโรงเรียนดนตรีเพื่อให้เป็นที่พึ่งของอาชีพและเป็นที่พึ่งของสังคม เป็นพื้นที่ให้คนเก่งได้เรียนและได้ทำงาน สร้างวงดนตรีที่ดีให้คนเก่งได้เล่นเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ สร้างหอแสดงดนตรีที่ดีที่สุดให้เป็นพื้นที่ของรสนิยมระดับนานาชาติ สร้างอาชีพดนตรีให้มีเกียรติเชื่อถือได้ เมื่อหมอมีอาชีพรักษากาย ดนตรีก็มีหน้าที่รักษาจิตใจให้งดงาม ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้ว่า “ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน” ดังนั้น การมีโรงเรียนดนตรีที่ดีในมหาวิทยาลัยของหมอก็ถูกต้องแล้ว

อาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มและเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดการศึกษาให้คนพิการได้เรียนในระดับปริญญาตรี ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนพิการและผมเองก็ได้อานิสงส์ด้วย โดยได้จัดการศึกษา “ดนตรีบำบัด” เพื่อใช้ดนตรีช่วยเหลือพัฒนาและสร้างอาชีพให้แก่คนพิการ ทำให้การศึกษาดนตรีของไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมาก

วันนี้ลูกศิษย์ของอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล ที่เรียนจบปริญญาเอกสาขาดนตรี ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 40 คน ส่วนศิษย์เก่าดนตรีที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศกระทั่งจบปริญญาเอกอีกไม่น้อยกว่า 30 คน คนเหล่านี้ได้เห็นและได้ซึมซาบมาตรฐานอาชีพ ซึ่งคนเก่งดนตรีจะต้องช่วยกันพัฒนาอาชีพดนตรีให้ได้มาตรฐาน มีรายได้เลี้ยงตัวและครอบครัวได้ ทั้งนี้ คุณหมอที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บุกเบิกสร้างทุกอย่างสำหรับอาชีพดนตรีไว้พร้อมแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image