จอมพล ป. กับเครื่องมือ “การลาออก”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับ "การลาออก" บ่อยมาก

“การลาออก” จากตำแหน่งของบุคคลระดับผู้นำประเทศในเวทีระดับนานาชาติเพื่อแสดงความรับผิดชอบเป็นเรื่องปกติ มีตัวอย่างให้เห็นอย่างมากมาย ล่าสุดได้แก่ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษตัดสินใจลาออก เมื่อผลการลงประชามติประชาชนโหวตให้ออกจากสหภาพยุโรป เพราะเขาเป็นแกนนำเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรอยู่กับสหภาพยุโรปตามเดิม

แต่สำหรับผู้นำบนเวทีประเทศไทยในยุคก่อน พ.ศ.2500 “การลาออก” ซับซ้อนกว่านั้นเยอะ

ตัวอย่างที่ดีในกรณีศึกษานี้คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ชอบพูดว่า “ลาออก” บ่อยครั้ง ซึ่ง พีระ เจริญวัฒนนุกูล (นักศึกษาปริญญาเอกด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) ค้นหาเอกสารวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับการลาออกของจอมพล ป. เขียนเป็นบทความชื่อว่า “การลาออกแต่ไม่ยอมออกของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2486” ตีพิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม

การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นปฐมฤกษ์ ณ ตึกสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัย จอมพล ป. (ภาพจาก "ข่าวโฆษณาการ" มิถุนายน 2482)
การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นปฐมฤกษ์ ณ ตึกสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัย จอมพล ป. (ภาพจาก “ข่าวโฆษณาการ” มิถุนายน 2482)

พีระ เจริญวัฒนนุกูล รวบรวม “การลาออก” ของจอมพล ป. จากเหตุการณ์ และบุคคลต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ เช่น

Advertisement

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตรัสเกี่ยวกับการลาออกของจอมพล ป. ว่า “ในระหว่างที่จอมพล ป. รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้นเคยลาออกหลายครั้ง ครั้งแรกในปี 2482 วันที่ 10 ธันวาคม แต่ไม่ได้ออกจริง หนังสือใบลาก็ไม่ได้ถอนไป เรื่องนี้ไม่ได้เปิดเผยให้คนภายนอกทราบ”

เมื่อมีการกระจายบัตรสนเท่ห์เป็นคำแถลงของคณะอิสระไทยกล่าวหา นายวนิช ปานะนนท์ ว่าขายชาติต่อประเทศญี่ปุ่นและมีการกล่าวพาดพิงถึงจอมพล ป. ว่ารู้ไม่เท่าทันผู้ใต้บังคับบัญชา ในบันทึกรายงานประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ตุลาคม 2484 จอมพล ป. กล่าวว่า

“เรื่องนี้มีประเด็นพาดพิงมาถึงผมด้วย ผมเป็นคนใช้ให้นายวนิช ปานะนนท์ ติดต่อกับญี่ปุ่นในเรื่องต่าง…เมื่อเป็นเช่นนี้เครดิตของผมก็ไม่มี ฉะนั้นผมจึงอยากจะขอถอนตัวจากนายกรัฐมนตรี [เน้นโดยพีระ] และมอบตำแหน่งนี้ให้เพื่อนฝูงคนอื่นทำต่อไป…ผมก็รู้ว่าพวกเราทุกคนคงไม่อยากให้ผมออก แต่เมื่อมันมีเรื่องเช่นนี้ ผมก็ไม่อยากอยู่ ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยโกง เมื่อครั้งอยู่โรงเรียนเพียงแต่ก๊อบปี้ผมยังไม่เอาเลย ฉะนั้นผมจึงไม่อยากจะให้ชื่อเสียงของผมต้องมาเสียเพราะเรื่องนี้”

Advertisement
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น วันที่ 6 มีนาคม 2485 จอมพล ป. ยื่นใบลาออกต่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา หากก็ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งจอมพล ป. กล่าวกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่า

“การที่ผมถวายบังคมลาออกโดยมิได้แจ้งให้รัฐมนตรีแต่ละท่านทราบก่อนก็เพราะผมขอถือวิสาสะ ที่ผมทำเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่าผมได้เคยพูดว่าจะ ลาออกหลายครั้งหลายหนแล้ว และผมเจตนาจะลาออกจริงๆ ด้วย แต่ครั้นเสนอทีไร ด้วยความไมตรีของพวกเราก็ไม่มีใครจะยอมให้ผมลาออก [เน้นโดยพีระ] นอกจากนั้นทางคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ไม่ยอมให้ลาออก ผมยื่นทางสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สำเร็จ รวมความว่าผมอยู่ในฐานะถูกปิดประตูตีแมว แต่หากว่าเป็นไปในทางที่ดีและไมตรีจิตเท่านั้น”

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2486 จอมพล ป. ส่งจดหมายขอลาออกต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการฯ เรียก นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปสอบถามสาเหตุ และให้ ขุนนิรันดรชัย (สเหวก นิรันดร), พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้รับมอบหมายให้ทัดทานการลาออกของจอมพล ป. แต่ไม่เป็นผล สุดท้ายคณะผู้สำเร็จราชการฯ ก็ลงนามอนุมัติใบลาออก

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2486 สภาผู้แทนราษฎรทำเอกสารแจ้งว่ามีพระบรมราชโองการให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งได้ เมื่อนายทวีได้รับแจ้งจึงสั่งให้ร่างคำแถลงการณ์ลาออกและสั่งให้ นายไพโรจน์ ชัยนาม อธิบดีกรมโฆษณาการประกาศแถลงการณ์ เวลา 20.00 น. นายแม่น ชลานุเคราะห์ อ่านประกาศแถลงการณ์ลาออกของ จอมพล ป. ผ่านทางวิทยุกรมโฆษณาการ

แม่น ชลานุเคราะห์ ผู้อ่านประกาศแถลงการณ์เรื่องการลาออกของ จอมพล ป. ผ่านวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2486 เวลา 20.00 น. (ภาพจาก https://supparat.wordpress.com)
แม่น ชลานุเคราะห์ ผู้อ่านประกาศแถลงการณ์เรื่องการลาออกของ จอมพล ป. ผ่านวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2486 เวลา 20.00 น. (ภาพจาก https://supparat.wordpress.com)

หากในเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2486 ก็มีประกาศยกเลิกแถลงการณ์การลาออกของจอมพล ป. โดยให้เหตุผลว่า “เป็นความคลาดเคลื่อนของการกระจายข่าวสาร” พร้อมกับการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนโดยจอมพล ป. เมื่อจอมพล ป. เรียกนายทวีมาตำหนิว่าสมคบคิดกับฝ่ายตรงข้ามมาเล่นงานตนเอง เพราะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องประกาศแถลงการณ์ลาออก จอมพล ป. ก็ยังกล่าวถึงการลาออกอีกว่า

“คุณพูดเช่นนั้นไม่ถูก จะว่าคุณเป็นผู้ผิดก็ไม่ได้ เพราะถ้าจะพูดกันตามความจริงแล้ว ผมเป็นต้นเรื่องที่ยื่นใบลาออก ผมก็ต้องผิดด้วยเพราะผมเป็นต้นเรื่อง ถ้าผมไม่ยื่นใบลา เรื่องก็ไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นจงอย่าออกเลย เชื่อผมเถิด ลาพักผ่อนเสียชั่วคราวก็แล้วกัน อีกสองสามเดือนผมก็จะลาออกใหม่ [เน้นโดยพีระ]”

ที่ยกมานี้ เป็นเพียงบางส่วนของ “การลาออก” ของจอมพล ป. ขอได้โปรดอ่านส่วนที่เหลือจากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” เพราะท่านจะได้เห็นว่าในบริบทเช่นใดบ้างที่ จอมพล ป. เลือกใช้การลาออกเป็นเครื่องมือการโต้ตอบ

เพราะสำหรับจอมพล ป. “ลาออก” ไม่ใช่แค่การสมัครใจพ้นจากงานในหน้าที่ แต่ยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ลองใจผู้คน, วัดใจพวกพ้อง ฯลฯ ที่ทำให้เป็นนายกฯที่ยาวนานที่สุด 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8 สมัย

พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส
พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส
ไพโรจน์ ชัยนาม
ไพโรจน์ ชัยนาม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image