วิกฤตสิทธิมนุษยชนไทย ความไม่ลงล็อกในมาตรฐานโลก บนการเมืองร้อน วันม็อบไม่แผ่ว

วิกฤตสิทธิมนุษยชนไทย ความไม่ลงล็อกในมาตรฐานโลก บนการเมืองร้อน วันม็อบไม่แผ่ว

“สิ่งที่เราเห็นคือการใชักฎหมายพร่ำเพรื่อ”

เพียงประโยคสั้นๆ ของ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี นักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง อดีตผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ก็เดาไม่ยากว่าเป็นคำกล่าวอันเชื่อมโยงถึงสถานการณ์ใดในช่วงเวลานี้

“มีกฎหมายมากมายถูกนำมาใช้ตั้งแต่ พ.ร.บ.ความสะอาด จนถึง พ.ร.บ.ชุมนุม ที่ไม่ได้เอื้อกับการชุมนุม แต่เป็น พ.ร.บ.ที่จำกัดการชุมนุม…

“พร่ำเพรื่อถึงขนาดใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องไม่ลืมว่าไทยนิยามคำว่าเด็กเอาไว้คือคนที่อายุต่ำกว่า 18

Advertisement

“วันก่อนนั่งดูข่าวแว่บหนึ่ง เห็นมีการดำเนินคดีกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ไปแล้ว 5 คน นี่คือเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่เกิดขึ้นได้ในยุคนี้

“ทั้งที่ไม่ควรเกิด ไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประทศใดๆ เลย”

คือเนื้อหาขยายความของประโยคในบรรทัดแรก อันเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาในเวทีสาธารณะ

Advertisement

“วิกฤตประเทศไทยในมุมมองสิทธิมนุษยชน : ปัญหา ความท้าทาย และทางออกเพื่อการเปลี่ยนแปลง” เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ตรงกันพอดีพอดี กับ “วันรัฐธรรมนูญ” ของไทย ไม่ว่าจะมีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นหรือไม่

ความ ‘ไม่ชอบธรรม’ ตามมาตรฐานโลก

“ประเทศที่ถือเป็นประชาธิปไตย หรืออ้างว่าเป็นประชาธิปไตย หรืออยากเป็นประชาธิปไตย ต้องไม่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิ การแสดงออกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ในกติการะหว่างประเทศก็รับรองข้อนี้ไว้อย่างชัดเจน” ดร.ศรีประภากล่าว ก่อนเข้าเป้าตรงประเด็นถึงการชุมนุมโดยนักศึกษาประชาชนในห้วงเวลานี้ ว่า

“แน่นอน การชุมนุมโดยสงบก็ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วม เพราะในไทย การพูดเสียงเดียวคงไม่มีใครฟัง ยกเว้นคุณมีอำนาจจริงๆ

“สิ่งที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกำลังทำอยู่ คือการจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีเป็นมาตรการป้องปรามซึ่งไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ

“เพราะกลายเป็นการทำตามอำเภอใจ แม้บอกว่า ทำตามกฎหมาย เราเห็นภาพเหล่านี้มากขึ้นทุกทีในสังคมไทยโดยเฉพาะช่วงนี้ ที่เป็นวิกฤตจริงๆ”

คำทิ้งท้ายในประโยค ชัดเจนว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยอยู่ใน “ภาวะวิกฤต” ซึ่งอย่าว่าแต่การจับกุมคุมขังจะไม่ลงล็อกมาตรฐานโลก แต่การหวงห้ามจำกัดระยะห่างจากสถานที่ราชการ ก็ถือว่า “ไม่ชอบธรรม” เพราะประเด็นเรียกร้องเกี่ยวข้องกับรัฐ การใช้พื้นที่ดังกล่าวในการแสดงออก จึงย่อมต้องทำได้เป็นปกติ

ดร.ศรีประภายังกล่าวอีกประเด็นสำคัญ คือสิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเองโดยให้ความเห็นว่า เด็กๆ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง เขาดูแล้วว่าอนาคตมืดมน การที่เยาวชนอยากกำหนดอนาคตตัวเองไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ระบการศึกษาน่าจะเอื้อให้เด็กๆ ลุกขึ้นมาใช้สิทธิเสียงบอกสังคม ครู กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลได้ ว่าเขาต้องการเห็นอะไรเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

“จริงๆ ไม่ได้อยากพูดเรื่องโควิดสักเท่าไหร่ แต่ขอแตะในฐานะที่ทำให้หลายอย่างในสังคมทั่วโลก เห็นภาพบางอย่างชัดเจน หลายอย่างที่ถูกกดทับไว้ กลายเป็นชัดเจนมากขึ้น ช่วงโควิดเป็นต้นมา เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามีเป็นล้านคนในขณะที่เราบอกว่า สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้นกับทุกคนเพราะต้องมีเครื่องมือที่ทำให้เข้าถึงการศึกษา เช่น อินเตอร์เน็ต มือถือสมาร์ทโฟน”

ดร.ศรีประภายังขยายด้วยภาพใหญ่ขึ้นในภูมิภาคอาเซียน

“เดือนที่แล้ว เพื่อนในต่างประเทศจัดเสวนา หัวข้อ อะไรเกิดขึ้นในไทย What’s going on in Thailand? สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นที่สนใจไปทั่วโลกโดยเฉพาะภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่สนใจคือนักกิจกรรมทางสังคม แต่รัฐบาลในอาเซียนไม่ค่อยสนใจ หรือาจจะสนใจแต่ไม่กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ในระหว่างที่คุยกันมีข้อความเข้ามาในแชทตลอด น่าสนใจมากว่า มีข้อความจากอินโดนีเซีย ถามว่า เขาจะสามารถสนับสนุนผู้ชุมนุมในไทยได้อย่างไร เพราะมองว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมในไทยกำลังเรียกร้อง คือ ข้อเรียกร้องที่เขาอยากเห็นร่วมกันในภูมิภาค” ดร.ศรีประภากล่าว

ปฏิวัติวัฒนธรรมความคิด ไม่ปรับตัวก็รั้งท้าย ย่ำอยู่กับที่คือทำร้ายประเทศ

จากมุมมองเพื่อนบ้านอาเซียน ยังมีประเด็นที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ชุดที่ 2 กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า

“หากไม่ปรับตัวรู้เท่าทัน อย่าว่าแต่จะตามหลังสิงคโปร์ ฮ่องกง ต่อไปจะตามหลังเวียดนาม พม่า สรุปแล้ว ในอินโดจีนดีไม่ดี เราจะอยู่รั้งท้าย ในด้านการพัฒนาประเทศให้มีความสุขสมบูรณ์”

เป็นความเห็นที่แน้นย้ำว่าการปรับตัวคือสิ่งสำคัญท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยที่นักเรียนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นปรากฏการณ์ที่ นพ.นิรันดร์ใช้คำว่า “นิมิตใหม่”

“เราได้เห็นนิมิตใหม่ของนักเรียนนักศึกษาเป็นเรื่องการปฏิวัติวัฒนธรรมความคิด สังคมไทยถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมความคิดที่ผิดหลายอย่าง โลกเปลี่ยนไปแล้ว การย่ำเท้าอยู่กับที่คือการทำร้ายประเทศไทย และนี่ไม่ใช่การย่ำเท้า แต่เป็นการถอยหลัง เพราะฉะนั้นอย่างแรกต้องทำให้เกิดการพูดคุยกันโดยอาศัยประชาชนที่ออกมา ส่งเสียงให้ชนชั้นนำทุกฝ่ายเข้าใจว่าเรายืนยันในการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานคือการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง การยอมรับในการชุมนุมสาธารณะโดยสันติวิธี ทางออกไม่ใช่การร้องขอแต่จะต้องส่งสัญญาณให้พร้อมกันมากกว่านี้ คิดว่านักเรียน นักศึกษาว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่สำเร็จหรอกภายในปีนี้ แต่ต้องใช้เวลา” นพ.นิรันดร์กล่าว

ใช้อำนาจตามอำเภอใจ สิทธิมนุษยชนไทยในขั้นวิกฤต

มาถึง อังคณา นีละไพจิตร เจ้าของรางวัลแม็กไซไซปี 62 ที่มองภาพกว้างของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไทยว่าอยู่ใน “วิกฤต”

“ดิฉันพยายามมองวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในหลายด้าน เรื่องแรก เห็นว่ารัฐประหารที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่ผ่านมาได้สร้างความขัดแย้งในประเทศไทยมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อย่างการบังคับบุคคลสูญหาย นอกจากนี้ ถ้าสังเกตดู ตั้งแต่รัฐประหาร 49 ความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ประชาชนแบ่งกลุ่มความคิด มีเรื่องเสื้อเหลือง เสื้อแดง จนขยายวงกว้างมากขึ้น กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง นำไปสู่การปราบปรามประชาชนปี 53 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในปี 57 หลังรัฐประหารโดย คสช. มีกลุ่มบุคคลที่ไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ ถูกไล่ล่า ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ในหลายคนนั้นกลายเป็นบุคคลสาบสูญ มีกรณีที่ถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ทารุณ รัฐบาลไทยไม่เคยมีการสืบสวนสอบสวน เปิดเผยข้อเท็จจริงและนำคนผิดมาลงโทษ”

จากภาพรวมตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 มาเข้าสู่สถานการณ์วันนี้ ไม่ว่าจะกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จนถึงเหตุการณ์ที่แยกอุรุพงษ์ ซึ่งกลุ่มวีโว่ นำโดย โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ อาสารื้อลวดหนามเพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจร สุดท้ายโดนรวบ

“6 เดือนที่แล้ว วันเฉลิมหายตัวในกัมพูชา ก็ทำให้เห็นชะตากรรมของคนเห็นต่างที่ลี้ภัยว่าจบลงด้วยกระบวนการนอกกฎหมายต่างๆ ในส่วนของเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นประชาน และเยาวชน ออกมาแสดงออกมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าในรัฐบาล คสช.แม้มีการเลือกตั้ง แต่เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนยังคงถดถอยย่างมากมีกฎหมายหลายฉบับไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไม่เคยได้รับการตอบสนอง แม้แต่ข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นปกติ เช่น หยุดคุกคามประชาชน

ในช่วงการชุมนมที่ผ่านมา มีการสลายชุมนุม ทั้งที่ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าจะนำไปสู่อันตรายต่อสาธารณะ จึงเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะแยกปทุมวันและเกียกกาย มีการใช้สารเคมี แก๊สน้ำตา

สำหรับเหตุการณ์ที่แยกอุรุพงษ์ ทำให้เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายตามอำเภอใจ เพราะไม่ควรมีใครถูกแจ้งข้อกล่าว เนื่องจากเรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อนจากลวดหนามขวางทางสัญจร การมีกลุ่มอาสาไปเก็บ กลายเป็นว่าถูกแจ้งข้อกล่าวหา ที่ผ่านมาเรามีอาสาสมัครทำความสะอาดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เห็นมีใครถูกแจ้งความ ในขณะที่เหตุการณ์แยกอุรุพงษ์ กลุ่มวีโว่ โดนแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งที่จริงๆ ตำรวจควรเก็บลวดหนามไปตั้งนานแล้ว” อังคณากล่าว

การฟ้องปิดปากและข่าวปลอมที่รัฐไม่ตรวจสอบ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประเด็น “ฟ้องปิดปาก” และ “ข่าวปลอม” ที่ชวนสงสัยในความหลายมาตรฐาน นอกจากนี้ ในยุค คสช.ยังออกกฎหมายมากมาย ซ้ำนำกฎหมายที่ไม่ถูกใช้นานแล้วมาปัดฝุ่น

เจ้าของรางวัลแม็กไซไซระบุว่า ในด้านการคุกคามประชาชน มีการฟ้องปิดปากมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลล้มเหลวในการปฏิรูปตำรวจและทหาร ในช่วง คสช.มีการออกกฎหมายเยอะมาก และไม่สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน หลายฉบับใช้มาแต่โบร่ำโบราณ ที่เคยยุติการใช้ไปแล้ว ก็กลับถูกนำมาใช้สร้างความหวาดกลัวไม่ว่า จะเป็นมาตรา 116 และ 112

“กฎหมายเหล่านี้ในอดีต สุดท้ายมักยกฟ้อง แต่ก็เป็นภาระกับประชาชนอย่างมาก นอกจากการคุกคามด้วยกฎหมายยังมีการลดทอนความน่าเชื่อถือของคนที่เห็นต่างจากรัฐ ทั้งนักกิจกรรมทางการเมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีการสร้างข่าวปลอม ข่าวเท็จ และวาทกรรมที่ว่า มีการรับเงินต่างชาติ

น่าสนใจว่าข่าวปลอมเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการตรวจสอบจากกระทวงดีอีเอส แม้จับได้ว่ามีไอโอ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการทำลายความชอบธรรม ด้อยค่า โดยเฉพาะผู้หญิง ถูกใช้เพศเป็นเครื่องมือคุกคามหลายกรณี ผู้หญิงหลายคนแจ้งความ แต่คดีไม่คืบหน้า เหมือนกับว่า ปอท.และดีอีเอส มีหน้าที่แค่ปกป้องรัฐบาลมากกว่าประชาชน”

สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนถูกตีตกจากการพิจารณาของรัฐสภาอย่างไม่เหนือความคาดหมาย

“ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนกลับถูกตีตก ทั้งที่ร่างจากประชาชนจำเป็นต้องเป็นหนึ่งในร่างที่เข้ารับการพิจารณาด้วย คนที่ติดตามรับฟังการถ่ายทอดสด คงได้ยินว่าแทนจะพูดถึงข้อกฎหมาย แต่พยายามลดทอนด้อยค่าผู้นำเสนอ

รัฐสภาเองมีการตั้ง กมธ.พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนของ ส.ว. โดยมากจะเป็นพวกที่ค้านการแก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ

ดิฉันเองได้เห็นความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมากมาโดยตลอด ในการแสดงให้ต่างชาติเห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะตอน คสช.เข้ามาใหม่ๆ มีการประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และ 2 ปีก่อนมีแผนที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การยุติการฟ้องปิดปาก แต่ในทางปฏิบัติรัฐกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และปฏิบัติสวนทางหลักสิทธิมนุษยชนสากล

รัฐบาลยังมองเห็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรู มีการแจ้งความกล่าวหา กล่าวโทษ คุกคามนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น” อังคณากล่าว

ถึงเวลาตั้ง ‘สภาเครือข่าย’ คณะกรรมการสิทธิภาคประชาชน

ด้าน เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เปิดเผยถึงการเตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคประชาชน เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรวมศูนย์ในช่วงเวลาวิกฤต

“ผมเห็นว่าวิกฤตของประเทศไทยในขณะนี้คือวิกฤตสิทธิมนุษยชนและวิกฤตรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต่ำกว่าบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 2 ฉบับหลัก คือ กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งถ้าไม่ยับยั้งร่วมกัน ผลพวงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางจะนำไปสู่รัฐที่ล้มเหลวหรือ Failed State ในอนาคตอันใกล้

“ส่วนหนึ่งนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตความขัดแย้งในครั้งนี้มาจากเงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบอำนาจรวมศูนย์และสืบทอดอำนาจจากกลุ่มคณาธิปไตย การรวบอำนาจนั้นทำให้เกิดวิกฤตความขัดแย้งในเวลาต่อมาจนรัฐบาลขาดความชอบธรรม และสะดุดขาตัวเองจนถอยหลังลงคลอง ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยหยุดชะงักมาหลายปี อำนาจที่กระจุกตัวที่ศูนย์กลางนั้นทำให้นำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย

“แม้ว่าข้อเด่นของประเทศไทยคือการรับรองกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนไปมากมาย แต่การปฏิบัติการปกป้องคุ้มครองสิทธิในประเทศย่ำแย่มาก ตลอดจนการผลักดันกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและการซ้อมทรมานยังไม่ผ่านรัฐสภา ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่นำพาในการแก้ไขปัญหาการอุ้มหายและการซ้อมทรมาน

“จากการประชุมขององค์กรสิทธิมนุษยชนจึงได้ข้อสรุปร่วมกันบางส่วนว่า ประเทศไทยมาถึงจุดตกต่ำด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว เนื่องจากกฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือที่ต่ำที่สุดในการประกันการอยู่ร่วมกันอย่างสันติยังถูกเลือกปฏิบัติและคุกคามคนเห็นต่าง กระทั่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสูงสุดในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจและการเมืองการปกครอง ยังถูกออกแบบเพื่อรับใช้ชนชั้นนำจนถูกเรียกร้องให้มีการแก้ไขอย่างกว้างขวาง ทางออกของวิกฤตความขัดแย้งในครั้งนี้ จึงอยู่ที่เงื่อนไขเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะต้องรวดเร็ว สอดรับกับสถานการณ์ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยเร็ว ก่อนจะกลายเป็นไฟลามทุ่งโดยไม่มีเครื่องมือในการวางกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

“ในสภาวะปัจจุบันที่ไร้ความหวังจากรัฐบาลและกลไกรัฐนี้ ภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนบางส่วนจึงเห็นร่วมกันว่า สมควรจัดตั้งสภาเครือข่ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อร่วมกันทำงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และทำงานคู่ขนานไปกับภาครัฐและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยกระดับการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้น ก่อนประเทศจะพังทลายลงจากวิกฤตการณ์ต่างๆ” เลขาฯ ครป.อธิบาย

ส่วนคณะทำงานเบื้องต้น จะมีนักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง อาทิ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อังคณา นีละไพจิตร บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ สุรพงษ์ กลองจันทึก และ สมชาย หอมลออ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไทยที่ตกต่ำ วิกฤต รอแร่ แม้มีโพยสคริปต์สวยหรูจากรัฐบาล ยืนยันว่าให้ความสำคัญระดับวาระแห่งชาติก็ไม่อาจร่ายมนต์ให้ประชาชนเชื่อได้ในโลกแห่งความจริง

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image