อาศรมมิวสิก : รองเง็งฝั่งทะเลอันดามัน ขุมทรัพย์วัฒนธรรมเพลง

รองเง็งฝั่งทะเลอันดามัน
ขุมทรัพย์วัฒนธรรมเพลง

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2563 คุณยูโซฟ หมัดหลงจิ (Roberto) ศิลปินเดี่ยวกีตาร์ ได้ส่งคลิปเพลงรองเง็งมาให้ดู เป็นการแสดงของนักดนตรีที่มีฝีมือและมีความชำนาญมาก พินิจการแต่งกายเป็นชาวบ้าน ร้องเป็นภาษายาวี ทำนองเป็นเพลงยุโรป เครื่องดนตรีที่เล่นใช้ไวโอลิน กลองรำมะนา ฆ้อง ผสมกันแล้วก็น่าจะเป็นรองเง็งพื้นบ้านของชาวเลชายฝั่งหรืออยู่ในหมู่เกาะอันดามัน ฝรั่งเรียกว่า พวกยิปซีทะเล ส่งคลิปต่อไปให้พรรคพวกแถบชายฝั่งตะวันตก ส่งไปที่ครูดนตรี นักดนตรีท้องถิ่น วัฒนธรรมจังหวัดตั้งแต่สตูล ตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงา ได้คำตอบว่า เป็นรองเง็งในจังหวัดกระบี่

บังห้าม่า จิตเรือ นักไวโอลินสุดยอดที่ตามหา

ได้พบบังห้าม่า จิตเรือ นักไวโอลินที่อยู่ในคลิปเล่นเพลงลาคูใหม่ ขณะนี้อายุ 81 ปี อยู่ที่ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ คลิปวิดีโอบันทึกไว้โดยนักท่องเที่ยว เมื่อ พ.ศ. 2556 แล้วนำไปลงในสื่อสาธารณะ (ยูทูบ) ขณะนั้น บังห้าม่า จิตเรือ อายุ 73 ปี ยังเล่นไวโอลินและรับงานกับวงรองเง็งอยู่ต่อเนื่อง ที่น่าสนใจมากคือ เสียงของไวโอลินมีความชัดเจนและสดใส เล่นดนตรีได้จังหวะ สนุกสนานเร้าใจ ชวนให้ร้องเล่น ชวนให้อยากเต้นรำ เล่นด้วยวิญญาณศิลปิน ซึ่งบรรดานางรำและนายรำล้วนเป็นคนสูงวัยทั้งสิ้น วงรองเง็งเป็นดนตรีเต้นรำของคนรุ่นเก่า เป็นเพลงของชาวเกาะชาวบ้านชายฝั่งทะเลอันดามัน

ทำไมวงรองเง็งเป็นวงดนตรีเต้นรำสำหรับคนแก่ ทำไมวงรองเง็งไม่เป็นที่นิยมในคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่น ทำไมวงรองเง็งได้สูญหายไปจากสังคมรวดเร็ว ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักเพลงรองเง็ง ไม่นิยมเล่นดนตรีรองเง็ง คำตอบพื้นๆ ก็เพราะว่าเป็นการละเล่นเฉพาะกลุ่ม เป็นดนตรีชนกลุ่มน้อย เป็นพวกชาวเล วงรองเง็งไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ วงรองเง็งเป็นวิถีชีวิตเป็นความรื่นเริงของชาวเลที่หมดอายุ

Advertisement

สำหรับวงรองเง็ง หรือคนกระบี่เรียกว่า หร้อแห็ง รุ่งเรืองในยุคที่มีการเดินเรือทะเลขนสินค้าเป็นเส้นทางหลักและเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่ในปัจจุบัน การค้าเปลี่ยนเส้นทาง เพิ่มช่องทางบกและทางอากาศ ขณะเดียวกันวงรองเง็งก็ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาโรงเรียน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมใหม่ของคนส่วนใหญ่ รองเง็งจึงไม่เป็นที่นิยม เด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องการสืบทอด รองเง็งไม่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคม และมีวัฒนธรรมวิถีชีวิตใหม่เข้ามาแทนที่ในชีวิตหมดสิ้น

บังมะหวี ทะเลลึก นักไวโอลินเกาะลันตา

การค้นหาบังห้าม่า จิตเรือ เมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคม พ.ศ.2563 มีโอกาสพบกับนักดนตรีวงรองเง็งอื่นๆ ที่รู้จัก มาเล่นให้ดู 2-3 วง เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจ ถือโอกาสบันทึกเสียงและได้ไปเยี่ยมบังห้าม่า จิตเรือ ถึงที่บ้าน โดยสภาพบังห้าม่านั้น เลิกเล่นรองเง็งไปแล้ว ไม่มีงานเพราะอายุมาก ไวโอลินประจำตัวเมื่อไม่ได้เล่นก็อยู่ในสภาพโกโรโกโส แต่จิตวิญญาณและพลังยังเปี่ยมด้วยเสียงดนตรี เมื่อเปิดคลิปรองเง็งที่ได้บันทึกไว้ให้ดู บังห้าม่าก็ออกอาการมีอารมณ์ศิลปินขยับตัว

วงรองเง็งที่กระบี่มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะลันตา ต่อมาค่อยๆ แพร่หลายไปยังเกาะอื่นๆ ได้ขยับขึ้นบกบนแผ่นดินใหญ่ ความเดิมมีผู้หญิงชาวเกาะลันตา 2 คน ชื่อย่าเหรี้ยะและย่าเส็น ได้ไปเรียนร้องรำและเต้นรองเง็งที่เกาะปีนัง แล้วกลับมาฝึกสอนให้คนในเกาะลันตาทั้งร้องและรำรองเง็ง ซึ่งเดิมไม่มีดนตรีประกอบเลย..

Advertisement

จากการศึกษาของอาจารย์กลิ่น คงเหมือนเพชร พ.ศ.2538 พบว่า ในปี พ.ศ.2467 ได้มีนักดนตรี 2 คน เดินทางจากเกาะปีนัง ไปที่เกาะลันตา ชื่อนายหมาน กัวลามุดา เป็นคนตีกลองรำมะนา และนายอาหวัง กัวลามุดา เป็นช่างซอ (ไวโอลิน) ชำนาญในการร้องเพลง นักดนตรีทั้ง 2 คน มีความสามารถทั้งร้องเล่นเต้นรำรองเง็งได้อย่างดี นายอำเภอเกาะลันตาได้จัดตั้งวงรองเง็งขึ้น ฝึกซ้อมให้แก่หนุ่มสาวชาวเกาะเป็นวงแรกในเขตทะเลอันดามัน (ฝั่งไทย)

ขุนพิทักษ์ลันตาเขต (ย่าเหล เจริญฤทธิ์) นายอำเภอเกาะลันตา ผู้หลงใหลและให้การสนับสนุนรองเง็ง เป็นตัวตั้งตัวตีฝึกนักร้อง นางรำ นักดนตรี และจัดงานแสดงวงรองเง็งจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เกาะลันตาได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองหลวงของวงรองเง็งแห่งอันดามัน

เพลงรองเง็งที่ได้บันทึกไว้ มี 3 คณะด้วยกัน คือ วงบังห้าม่า จิตเรือ วงสวนกวี และวงเพื่อนสามัคคี จากเกาะลันตา บันทึกเสียงที่บ้านสวนกวี ได้ทำนองไว้ 27 เพลง คือ ปาหรีหาดยาว ปาหรีสตูล ปาหรีภูเก็ต ปาหรีเกาะปันหยี ปาหรีเด็ก ปาหรีกลาย ลาฆูใหม่ เจะหม้าหมาด ติหมังบุหรง บุหรงบูเตะ (นกสีขาว) สร้อยระกำ สะหยังหล้า (ลาก่อนที่รัก) มะอีนัง (หญิงสาว) สะหยังเอย (รักเอย) เจะหมิหนังสะหยัง (เจะหมิหนังที่รัก) เพลงลาคูดัว (เต้นรำคู่หรือสองเรา) เลฮังกังกง (ระบำผักบุ้ง) ยาโฮ้ง (งานสนุก) ต๋อยอีแลต (เสียงปี่) สินาโดง จำเปียน ศรีนวล ซีราโยะ (สนุกสนาน) อานะอีกัน (ลูกปลา) เซียปาอิตู (ใครคนหนึ่งยืนอยู่) ลาฆู และเลนังกังกง (สังกะอู้)

วงบังห้าม่า จิตเรือ ที่คลองท่อม กระบี่ มีนักดนตรี คือ บังห้าม่า จิตเรือ ไวโอลิน นางห้าเหมี้ยน หมั่นมา เป็นนักร้อง วงเพื่อนพัฒนา มีนายประสิทธิ์ สัตย์จิตร เป็นโต้โผวงลิเกป่า รองเง็ง มะโหย่ง กาหยง ซ่ง เป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะลันตา นักดนตรีมี นายภัทราวุธ ปิตุคำ ไวโอลิน นายเกษม บุตรสมัน ตีฆ้อง เล่นโทน รำมะนา นายย่าสาด หวังสบู่ ตีโทน นายสุชาติ อ่อนนวม ตีรำมะนา นางสาวพะยอม หอมพันธ์ เป็นนักร้อง นางสาลินี กลันตัน นักร้อง ส่วนวงรองเง็งสวนกวี มีอาจารย์สมพร คงขึม นักไวโอลิน นางประพักตร์ ศรีจันทร์เพชร นักร้อง บังม่าหน้อ เปกะมล นักร้อง บังแดง ย่าเซ็น ตีโทน รำมะนา และนายธีรวัชร์ อุกฤษณ์ ตีฆ้อง

วงรองเง็งมีเครื่องดนตรีกลองรำมะนาเป็นวัฒนธรรมเปอร์เซีย (อิหร่าน) ฆ้องซึ่งเป็นมรดกในท้องถิ่นอุษาคเนย์ มีไวโอลิน แมนโดลิน มารากัส แอคคอร์เดียนเป็นของยุโรป ขับร้องเป็นภาษายาวีผสมกับภาษาไทย เนื้อเรื่องเกี่ยวกับอาชีพในทะเล ธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ การเล่นพนันของคนจีนที่เมืองอาเจะห์ (Aceh) บนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย

เนื้อเพลงจะรำพึงรำพันเกี่ยวข้องกับความรัก เมื่อชายหนุ่มได้ยินเสียงร้องรองเง็งแล้ว อดใจเอาไว้ไม่ไหว ต้องว่ายน้ำข้ามทะเลไปยังเกาะที่มีเสียงรองเง็ง เพื่อไปเต้นรำกับเธอ (นางรำ)..

เมื่อเกาะลันตาเป็นเมืองหลวงของวงรองเง็ง จึงจำเป็นต้องไปดู ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ได้ลงไปที่กระบี่อีกครั้ง ต้องขึ้นรถลงเรือข้ามเกาะไปที่ชุมชนบ้านสังกะอู้ เกาะลันตาใหญ่ เพื่อตามหานักไวโอลินชื่อ บังมะหวี ทะเลลึก นายซอ บาศรี ตีรำมะนา บังเหง็มผู้ขับเพลง

เพลงรองเง็งลงท้ายด้วยดูวอ (Duo หรือ Duel) เป็นการเต้นรำ 2 คน ดวล (duel) ศัพท์เป็นภาษาละติน อยู่ในภาษาโปรตุเกส และเข้ามาใช้ในภาษาไทย อาทิ ดวลปืน ดวลมีด ดวลกันตัวต่อตัว เป็นการท้าดวลคือการต่อสู้ระหว่างคน 2 คน หมายถึง การเล่น 2 คน การเต้นรำระหว่างชายกับหญิง เป็นการร้องเพลงโต้ตอบกัน เพลงปฏิพากษ์ ชื่อเพลงรองเง็งที่ลงท้ายด้วยคำว่า ดูวอ ดัว หรือดูวา เป็นเพลงเต้นรำที่มีสองคน

โบราณระบำยกเท้าสูงของฝรั่งเข้าไปในวังยะหริ่ง ปัตตานี ปรากฏในเพลงไทยชื่อฝรั่งรำเท้า มีทำนองเป็นฝรั่งแต่เล่นด้วยเครื่องดนตรีไทย เมื่อชาวโปรตุเกสได้แต่งงานกับลูกสาวเจ้าเมืองยะหริ่ง ซึ่งเป็นวิธีเข้าเมือง ถึงตัวโดยไม่ต้องรบกัน ได้ใช้วิธีแต่งงานเชื่อมสัมพันธไมตรี ทั้งการเมืองและการค้า ใช้อำนาจทางการปกครองผ่านวัฒนธรรมเพลงเต้นรำ วงรองเง็งที่ปัตตานีและพื้นที่ฝั่งตะวันออกจึงแพร่หลาย โดยไม่มีปัญหาเรื่องศาสนาแต่อย่างใด ครูขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ เล่นไวโอลินวงรองเง็ง พ.ศ.2536 ท่านพูดไว้ว่า “ผมเล่นดนตรีรองเง็งเพื่อถวายพระผู้เป็นเจ้า ผมก็ทำได้อยู่แล้ว ไม่บาป”

ข้อสังเกตใหม่ เพลงลาฆูดูวอและเพลงอื่นของรองเง็ง เพลงโยสลัมในดนตรีไทย แล้วพิจารณาถึงรำโทนที่ลพบุรี เป็นรำคู่หญิงชาย การรำครกที่กระบี่ของรองเง็ง เพลงฝรั่งรำเท้าหรือระบำยกเท้าสูง เปรียบเทียบกับเพลงรำวงมาตรฐาน ซึ่งมีเพลงยวนยาเหล ช่อมาลี หล่อจริงนะดารา ตามองตา ใกล้เข้าไปอีกนิด เป็นต้น ซึ่งเป็นลูกหลานของเพลงโยสลัม โอกาสเป็นไปได้ว่า “รำวง รำโทน รำครก” มาจากแหล่งเดียวกัน คือ รองเง็ง ระบำยกเท้าสูง หรือฝรั่งรำเท้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมโปรตุเกสได้ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ปรับตัวใหม่กลายเป็นวัฒนธรรมลูกผสม

เพราะว่าไม่มีวัฒนธรรมไหนที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีที่มา ไม่มีที่ไป ในเมื่อวัฒนธรรมไม่ใช่ภาพนิ่ง แต่เป็นภาพที่เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงปรับตัวอยู่ตลอดเวลา วัฒนธรรมมีชีวิตอยู่กับคน..

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยควรเข้าสู่หมวดของความรู้มากขึ้น โดยศึกษาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เส้นทางการเดินเรือ สังคม ผู้คนและวิถีชีวิตทั้งบนแผ่นดินใหญ่และพื้นที่หมู่เกาะในทะเลอันดามัน เพื่อนำความรู้มาสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น การสร้างวัฒนธรรมประดิษฐ์ อาทิ เทศกาลวงรองเง็ง ดนตรีชาวเกาะ ดนตรีนานาชาติ ดนตรีโปรตุเกส ดนตรีจีน ดนตรีอาหรับ ดนตรีเปอร์เซีย ดนตรีมาเลย์ ดนตรีอินโด ดนตรีอินเดีย ดนตรีสยาม สร้างเทศกาลดนตรีที่มีรากฐานวัฒนธรรม สร้างวัฒนธรรมประดิษฐ์ที่ตั้งอยู่บนความรู้และการพัฒนาภูมิภาคในมิติการท่องเที่ยว

เจ้าภาพควรเป็นส่วนงานของรัฐไทย แล้วเชิญผู้แทนวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO) เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เชิญผู้แทนรัฐบาลอิหร่าน (เปอร์เซีย) จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย โปรตุเกส สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส แล้วรัฐบาลไทยตั้งตนเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้รัฐบาลเหล่านั้นได้รับรู้ว่า บรรพบุรุษของเขาได้ทอดทิ้งวัฒนธรรมโบราณไว้ จารึกเป็นหลักฐานอยู่ในเพลงรองเง็ง ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ต้องสร้างสะพานข้ามเกาะลันตาให้เสร็จโดยเร็ว ให้ทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะว่ารัฐบาลมีอำนาจมากแล้วสังคมโลกก็ยังติดโควิดอยู่

เมื่อโลกเปิดใหม่ เมื่อฟ้าสีทอง การท่องเที่ยวก็จะสร้างรายได้ลำดับต้นๆ ของประเทศ การเกษตร อาหารการกินก็จะมาเป็นที่สอง เมื่อรู้ตัวแล้ว เตรียมตัวพร้อมไว้ เศรษฐกิจไทยก็จะสดใส อาศัยรากเหง้าขายวัฒนธรรมร่วมเป็นรายได้ของประเทศ

ดนตรีรองเง็ง มีชีวิตและมีพลังยาวนานมาก รองเง็งไม่ได้เป็นของใครหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นดนตรีวัฒนธรรมร่วมของชาวหมู่เกาะทะเลอันดามัน เป็นวัฒนธรรมร่วมที่มีส่วนผสมร้อยพ่อพันแม่ เหมือนกับชาวสยาม เพราะดินแดนในภูมิภาคนี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ร่ำรวยและเป็นขุมทรัพย์ของโลก เมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็เดินเรือทะเลเพื่อหาทรัพยากรโดยผ่านทะเลอันดามัน..

โดย สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image