ถกปมศึก 2 สมรภูมิเดือด ภารนี สวัสดิรักษ์ “กทม.ต้องปฏิรูป” !

เข้มข้นและดุเดือดในระดับสูสีสำหรับ 2 ศึกใหญ่แห่งมหานครบางกอก อย่างกรณี “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ข้อพิพาทอันยืดเยื้อยาวนานถึง 24 ปี ผ่านเวทีการประชุมทั้งกลุ่มใหญ่กลุ่มย่อยมาเป็นร้อยหน นักวิชาการหลากสาขาค้นตำรามาเป็นศาสตราวุธช่วยหาทางออกให้ชาวบ้านอยู่ร่วมโบราณสถาน โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายที่คล้ายจะเป็นตัวล็อกของภาครัฐอย่าง กทม. ล่าสุดประชุมจบไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยมติที่ตรงกันจากนักกฎหมายว่าพระราชกฤษฎีกาสามารถแก้ไขได้หากมีเหตุผลทางวิชาการรองรับ ตัวแทน กทม.รับปากจะนำรายงานผู้บริหาร

ด้านกรรมการสิทธิมนุษยชน เตรียมร่อนจดหมายขอให้ยับยั้งการรื้อ ทว่าในเย็นวันเดียวกันก็มีข่าวยืนยันว่า 3 ก.ย.นี้จะรื้อแน่ ไม่แคร์เสียงค้าน ดูท่าทีศึกนี้ยังคงไม่จบง่ายๆ เช่นเดียวกับ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” โครงการหมื่นล้านที่เหล่าสถาปนิกและเครือข่ายต่างๆ ค้านหัวชนฝา ขอให้ “ทบทวน” รวมถึงชาวบ้านจากชุมชนนับสิบ ด้วยเหตุผลสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อวิถีชีวิต การมีส่วนร่วม อีกทั้งความโปร่งใส แต่ก็คล้ายจะยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากภาครัฐในการยับยั้ง จึงเป็นการนับถอยหลังถึงสิ่งที่หลายคนหวาดกลัว

ทั้ง 2 ศึกที่กล่าวมานี้ ล้วนมี “ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ร่วมลงสมรภูมิอย่างเต็มตัว โดยยืนยันว่าไม่เคยตั้งป้อมค้าน แต่เป็นการตั้งคำถามในฐานะประชาชนที่อยากเห็นสิ่งที่ดีและถูกต้องก็เพียงเท่านั้น

ต่อไปนี้คือคำให้การถึงปมศึกที่เจ้าตัวยืนยันจะสู้ไม่ถอย

Advertisement

หลังประชุมที่ กสม.ครั้งล่าสุด ซึ่ง กทม.ยังยืนยันว่าจะเริ่มรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ วินาทีแรกที่ทราบข่าวรู้สึกอย่างไร?

สลดใจในวิธีคิดของราชการ ตอนแรกในเฟซบุ๊กมีข่าวป้อมมหากาฬ เฮ! กับมติที่ประชุม อีกไม่ถึง 5 นาทีมีข่าว กทม. บอกจะไล่ แสดงว่าไม่ได้เก็ตอะไรจากการประชุมเลย ถ้าดิฉันเป็นผู้บริหาร กทม. แล้วมีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาบอกว่าพระราชกำหนดเวนคืนแก้ได้ ต้องนัดคุยแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ กทม.แก้เอง หรือเราเป็นคนเสนอแก้ เป็นการร่วมคิดด้วยกันว่าจะแก้แบบไหน เราช่วย กทม.ให้มีทางลงแต่ กทม.คิดว่าทางลงคือไล่ชุมชน ทั้งที่ภารกิจของคุณ คือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน แต่สิ่งที่ทำเหมือนเป็นการบำบัดทุกข์ตัวเอง ไม่ได้บำบัดประชาชน

รัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านประชามติ จะส่งผลอย่างไรต่อกรณีป้อมมหากาฬ และโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา?

รัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกใจทุกคน แต่คิดว่าจะหยิบด้านดีมาใช้ให้มากที่สุด ด้วยหน้าที่ของรัฐและสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ โดยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมนุษย์ในหลายเรื่อง คงหยิบมาใช้ในลักษณะที่เป็นเหตุผลประกอบการขอแก้ไขพระราชกำหนดเวนคืน อย่างที่ กทม.มองว่าการกระทำทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ สิ่งหนึ่งที่ กทม.ในฐานะกลไกของรัฐต้องคิดให้หนักคือ ถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ คุณได้ทำหน้าที่ของคุณอย่างที่ควรจะเป็นหรือเปล่า หรือคุณทำหน้าที่ในกรณีของการใช้อำนาจรัฐอย่างเดียว

หน้าที่ของ กทม.ตามภารกิจมีมากกว่านั้นเยอะ ตามกฎหมายมีหลายเรื่องที่ กทม.ต้องดูแลรวมถึงกฎหมายที่หน่วยงานอื่นต้องทำร่วมกับ กทม. ไม่ใช่คิดว่ามีอำนาจตาม พ.ร.ก.เวนคืนแล้วจะทำหน้าที่นั้นอย่างเดียว โดยไม่ได้ชั่งน้ำหนักกับการปฏิบัติ การทำหน้าที่อื่นแล้วเกิดผลประโยชน์ส่วนรวมได้ดีที่สุดสำหรับรัฐและประชาชน ข้อเสนอของเราคือสิ่งที่วินวิน คือ กทม.ไม่ต้องโดนมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนชาวบ้านก็รักษาชุมชนไว้ได้

Advertisement

คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ กทม.ดูเหมือนไม่รับลูกทางออกต่างๆ ที่นักวิชาการนำเสนอ?

ฟันธงไม่ได้ว่าเป็นเหตุผลของ กทม. แต่ด้วยธรรมชาติการทำงานของ กทม. ซึ่งน่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่รูปแบบกลไกการบริหารราชการนิ่งสนิท จัดการปัญหาหลายอย่างแบบรัฐเป็นใหญ่ ชินกับหลักคิดและการตัดสินใจด้วยการใช้อำนาจและกฎหมาย หลายเรื่อง กทม.เฉื่อย ล่าช้า แก้ปัญหาแบบคิดเชิงเดี่ยว คือเชิงอำนาจรัฐอย่างเดียว ฟังแต่หน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่ครบถ้วน และเป็นการรับฟังแยกกัน อย่างกรณีป้อมมหากาฬ ฟังชุมชนทีหนึ่ง ฟังรัฐทีหนึ่ง แต่ไม่มีกลไกที่จะมีข้อสรุปร่วมระหว่างภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาครัฐ บางเรื่องใหญ่กว่าที่ กทม.จะแก้ปัญหาเอง แต่ต้องหารือกับกฤษฎีกา หรือกระทรวงการคลัง อะไรที่คิดว่าตัดสินใจเองไม่ได้ ก็ทำเรื่องเสนอนายกฯสิ กทม.บอกว่าตัวเองเปลี่ยนแต่ในทางปฏิบัติไม่เคยเปลี่ยน กทม.ต้องปฏิรูป !

เรื่องนี้ไม่ใช่ กทม.แก้เอง หรือเราเป็นคนเสนอแก้ เป็นการร่วมคิดด้วยกันว่าจะแก้แบบไหน เราช่วย กทม.ให้มีทางลงแต่ กทม.คิดว่าทางลงคือไล่ชุมชน ทั้งที่ภารกิจของคุณ คือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน แต่สิ่งที่ทำเหมือนเป็นการบำบัดทุกข์ตัวเอง ไม่ได้บำบัดประชาชน

ควรเริ่มปฏิรูปอะไรก่อน?

วิธีคิด กทม.ใช้คำสั่งและกฎหมายเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ส่วนที่ได้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไปเหมือนเป็นไม้ประดับที่อ้างอิงว่าฉันฟังคุณแล้ว มาพบคุณแล้ว แต่ในที่สุดก็ยังมองด้านเดียว คือ มี พ.ร.ก.เวนคืนมาแล้ว ต้องทำตาม คำสั่งศาลปกครองแล้วต้องทำ แต่ไม่มีความพยายามแก้ไขในส่วนที่เป็นช่องทางที่แก้ได้

ระหว่างป้อมมหากาฬกับทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาไหนหนักใจกว่ากัน?

โดยเนื้อหาไม่หนักใจ แต่โดยการต่อสู้กับอำนาจ เรื่องแม่น้ำเจ้าพระยาหนักใจกว่า เพราะกรณีของป้อมมหากาฬ ยังมองไม่เห็นภาพการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นโชคดี ปัญหาป้อมมหากาฬ มาจากการใช้อำนาจรัฐที่มองด้านเดียว คือการยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองเคยปฏิบัติ ในขณะที่กรณีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการที่เริ่มจากรัฐบาลมาหลายยุค ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ แล้วต่อยอดในรัฐบาล คสช. ความยากอย่างหนึ่งคือ เราอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งการขับเคลื่อนหลายเรื่องมีข้อจำกัดพอสมควร ไม่แน่ใจว่าจุดยืนของทหารที่ดูแลตรงนี้ จะพร้อมรับฟังแค่ไหน นี่คือข้อหนักใจ ถ้ามีโอกาสใช้ช่องทางอย่างเท่าเทียม เราโต้ได้อยู่แล้ว

กรณีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามองว่าไม่โปร่งใส?

ยังไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส แต่คาดหวังว่าควรเปิดเผยข้อมูล การไม่เปิดเผยคือความไม่โปร่งใสในระดับหนึ่ง โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อการเข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียม หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมขั้นตอนที่หนึ่งของความเท่าเทียมคือการเข้าถึงข้อมูล เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าถึงข้อมูลไม่ได้เท่าเทียม จะทำให้เข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร

แผนสำนักการระบายน้ำ แผนเรื่องการจัดการน้ำท่วมและอื่นๆ ในการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล การสำรวจข้อมูลสภาพทางชลศาสตร์ของน้ำเป็นอย่างไร การใช้ประโยชน์ทางเดินริมน้ำ ทางจักรยานมีเท่าไหร่ การที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 ฝั่ง คือจรัญสนิทวงศ์กับสามเสน มายังชุมชนแล้วไปต่อเรือ ข้ามไปอีกฝั่งหรือคนที่จะใช้ถนน มีปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน เพื่อจะเป็นฐานของการออกแบบ ก็ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้เลย

ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้แค่ 30 ชุมชนตามที่จดทะเบียน กทม. ความจริงมีบ้านจัดสรร มีร้านค้า มีอะไรอีกเยอะ ที่ต้องศึกษา 100% ของพื้นที่ เราก็ไม่เห็น ทีโออาร์บอกไว้ว่า ต้องมีการส่งงานเป็นงวดๆ ซึ่งขณะนี้ต้องส่งไปถึงการศึกษาความเหมาะสม ทำงบประมาณ การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม แต่คุณจะวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมเรื่องไหน เรายังไม่รู้เลย เหลืออีก 60 วันเอง

โครงการนี้ตีปี๊บว่าทำงานโบราณคดีชุมชน ทำงานการมีส่วนร่วมเรื่องมรดกวัฒนธรรม แต่ดิฉันตั้งคำถามว่าทีโออาร์ออกมาจากสำนักโยธา ซึ่งเป็นวิศวกรการก่อสร้างทั้งนั้น ไม่เห็นสำนักวัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยวออกมาพูดเลย

ทีโออาร์และความคืบหน้าก็ไม่เปิดเผยบนเว็บไซต์ แล้วจะเกิดคุณภาพของการมีส่วนร่วมได้อย่างไร แม้แต่โครงการห้วยอะไรที่ศรีสะเกษ ยังเปิด แต่โครงการใหญ่แบบนี้ไม่เปิด

แต่ก็มีการจัดเวทีหลายครั้งให้ฝ่ายต่างๆ มาเจอกัน?

การรับฟังครั้งใหญ่ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นการปฐมนิเทศเพื่อบอกว่าจะทำแผนแม่บท ซึ่งจริงๆ แล้วต้องมีการศึกษา แต่ก็ไม่มี มีแค่บอกว่าทำอะไร โดยไม่มีการชี้แจงข้อมูล พอครั้งที่ 2 ก็บอกเพียงว่าขณะนี้ได้แผนแม่บท ที่เป็นพญานาค แนวคิดเป็นอะไร ดูแล้วไม่ได้สาระ เอกสารครั้งล่าสุดบอกว่าเป็นร่างผังแนวคิด ซึ่งก็เขียนเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการเขียนใหม่เท่านั้นเอง

สิ่งที่ กทม.จ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นั้น การส่งงานแต่ละครั้ง ควรเอาผลงานนั้นมารับฟังความคิดเห็น แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้เอางานที่ส่งมารับความเห็น เป็นงานออกแบบเฉพาะจุดไปรับฟังชาวบ้านซึ่งก็ไม่ได้ครบทุกชุมชน

แล้วประชาชนควรทำอย่างไร?

คงต้องตรวจสอบต่อไปว่าภาษีที่เราจ่ายไป 100 กว่าล้าน คุ้มค่ากับการศึกษาความต้องการในอนาคตอย่างไร ถ้ายอมให้กระบวนการมีส่วนร่วมโดยไม่เปิดเผยข้อมูล และการออกแบบโดยไม่มีการวิเคราะห์แบบนี้ผ่านไป เท่ากับยอมรับกระบวนการวางแผนที่บิดเบี้ยว ถ้าเกิดขึ้นได้กับ กทม. คิดว่าเป็นความด่างพร้อยของประเทศ

กทม.ควรเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ อันนี้ย้ำเลย เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศ เราไม่ได้จับผิด แต่เพื่อให้คน กทม.ได้แผนแม่บทและการออกแบบที่ดี นี่คือสิ่งที่ดิฉันไม่ถอยแน่นอน จะเป็นอย่างไรถ้ายอมให้โครงการเสร็จ อาจจะสายเกินไป คือ กทม.จ่ายเงินไปแล้ว การเรียกเงินคืน ยากมาก นอกจากทำผิดสัญญา

pra01130859p2

ปัญหาที่คล้ายกันของป้อมมหากาฬและทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาคือการไม่ตอบสนองจากภาครัฐ?

ใช่ ตัวอย่างเช่น ดิฉันไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯกทม. รวมถึงอธิการบดี สจล.กรณีทางเลียบ โดยไม่ได้ใช้คำว่ายกเลิก แต่ขอให้หยุดไว้ก่อนเพื่อปรับแผน จัดขั้นตอนใหม่ ส่วนตัวรับได้ แต่ต้องมีส่วนร่วมคิดด้วยกัน แต่ตั้งแต่ 22 เมษายน จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับเลยว่ามีความเห็นประการใด

มีกรณีศึกษาในต่างประเทศเปรียบเทียบไหม?

การคิดเมกะโปรเจ็กต์ หรือแม้แต่โครงการเล็กๆ ในต่างประเทศ เขาคิดจากฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมเป็นหลัก อำนาจการตัดสินใจเริ่มต้นมาจากท้องถิ่น ไม่ใช่ข้างบนเห็นชอบลงมาแล้วข้างล่างเป็นผู้ปฏิบัติ เลยไม่มีการคัดค้าน แต่จะไปเห็นต่างกันในรายละเอียดเมื่อถึงระดับโครงการ อย่างกรณีป้อมมหากาฬ ต้องปฏิรูปกลไกการตัดสินใจของ กทม. ถ้าในอนาคตยังสร้างวาทกรรมว่าชุมชนมีส่วนร่วม แต่การตัดสินใจมาจากข้างบนแบบนี้ การปฏิรูปประเทศล้มเหลว

การจัดระเบียบส่วนอื่น เช่นปากคลองตลาด ในฐานะนักผังเมือง มองอย่างไร?

โดยผังเมืองแล้ว ปากคลองตลาด สามารถอยู่ได้ในลักษณะที่คงความเป็นวิถีชีวิตของย่านการค้าที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ได้มุ่งให้เป็นอย่างที่กำลังมีปัญหาอยู่ การจัดระเบียบผังเมืองคือการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่การกำหนดรายละเอียดย่อยของตัวตลาด ไม่ได้นำมิติด้านวัฒนธรรม ความเป็นของแท้ของปากคลองตลาดมาคิด ไปคิดในแง่ของการจัดระเบียบแบบเทศกิจ ซึ่งปากคลองตลาดไม่ใช่วิถีแบบนั้น มันต้องการวิธีคิดที่ละเอียดอ่อนกว่าการตีเส้นแบ่ง ทางเท้าคนเดินมีสิทธิ การรุกทางเท้าบางส่วนเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญ ไม่ใช่เสน่ห์ แต่กรณีปากคลองตลาดสามารถจัดระเบียบกับเสน่ห์ให้ไปด้วยกันได้ ถ้าทำอย่างมีส่วนร่วม การจัดระเบียบก็ไม่ได้ทำลายความเป็นย่าน

วิธีคิด กทม.ใช้คำสั่งและกฎหมายเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ส่วนที่ได้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไปเหมือนเป็นไม้ประดับที่อ้างอิงว่าฉันฟังคุณแล้ว มาพบคุณแล้ว แต่ในที่สุดก็ยังมองด้านเดียว

ชุมชนอื่นที่มีแนวโน้มเกิดปัญหาแบบป้อมมหากาฬ?

ที่ใดที่เป็นของกรมธนารักษ์ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย การตอบผลประโยชน์บางอย่าง อาจจะทำให้เกิดการใช้อำนาจทางกฎหมายของราชการ อำนาจต่อรองของชุมชนที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ก็จะยากพอสมควร ป้อมมหากาฬน่าจะเป็นต้นแบบของการทำให้เห็นว่าการที่เรารักษาคุณค่าของเก่าได้อย่างมีเงื่อนไขและกติกา เป็น Innovative zone เป็นพื้นที่นำร่องที่ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีเยอะทั้งบางรัก ฝั่งพระนคร ชุมชนบางแห่งในฝั่งธนบุรี แม้แต่พื้นที่รถไฟอย่างมักกะสัน

เห็นด้วยไหมที่มีผู้วิจารณ์ว่าท่าช้าง ท่ามหาราช หลังการปรับปรุงสวยเหมือน “เมืองตุ๊กตา”?

ใช่ มันสิ้นสลายความเป็นชุมชนดั้งเดิม ชุมชนเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์หลายแห่งมีการเปลี่ยนแปลงจากโครงการพัฒนา ซึ่งจะเห็นว่าคนที่กลับมาอยู่ใหม่ไม่ใช่คนเก่าทั้งหมด ความเป็นของแท้ดั้งเดิมในหลักการอนุรักษ์ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนนี้อยู่ชั่วนาตาปี แต่หมายถึงว่าอะไรหลายเรื่องในวิถีภาพเดิมมันเปลี่ยนไป ถ้าชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแบบนี้ ต่อไปเอกลักษณ์ไม่เหลือ ท่าเตียน ยานนาวา อีกหน่อยไม่รู้จะเป็นอย่างไร

ความเป็นชุมชนมีมากกว่ารูปแบบอาคาร มีรากของความผูกพัน ทำอย่างไรจะรักษาความเป็นชุมชนพื้นถิ่นไว้ คนที่หายไปเป็นสิ่งที่น่าติดตาม คนท่าช้างเขาไปอยู่ไหน เราไม่เคยตามเลย ในฐานะหน่วยงานรัฐควรต้องดูแล ประเมินผล

เคลื่อนไหวประเด็นแบบนี้ กลัวไหม?

ไม่กลัว แต่คนรอบข้างเป็นห่วง ดิฉัด้คิดว่ารัฐจะคุกคามหรอก แต่ผู้ที่เสียประโยชน์ซึ่งเรามองไม่เห็นมีอีกมากมาย เลยต้องระมัดระวังในการให้ข่าวพอสมควร เพราะกลไกแรกที่ผู้คัดค้านจะถูกรังแกคือการฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งเราไม่ได้หมิ่น ไม่เช่นนั้นประชาชนก็ท้วงติงอะไรไม่ได้

นอกจากนี้ ก็พยายามรวมพลังกันให้เป็นกลุ่ม ไม่ได้หมายความว่าให้คนอื่นเข้ามาร่วมเดือดร้อน
แต่พยายามหาความคิดที่จะมีน้ำหนัก มีเหตุผลให้คิดรอบด้าน

 

“ทุกข์-สุขที่ได้เจอในสังคมเล็กๆ บนโลกใบเดียวกัน”

นอกเหนือจาก 2 เรื่องใหญ่ในความรับรู้ของสาธารณชนอย่าง ป้อมมหากาฬ และ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แล้ว สิ่งที่นักวิชาการผู้นี้ทำมาตลอดคือการเป็นนักวิชาการอาสา ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องผังเมืองที่ตัวเองถนัด

“งานในมือมีเยอะมาก เช่น โรงไฟฟ้าขยะที่จะไปอยู่ในพื้นที่สีเขียว และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะไปขอแก้ผังเมือง รวมถึงการทำข้อเสนอยื่น คสช. เพื่อขอยกเลิกมาตรา 44 กับคำสั่งที่ 3 และ 4 ที่ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายผังเมืองกับโรงไฟฟ้า และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งยื่นข้อเสนอถึงนายกฯแล้วในนามนางภารนี ไปคนเดียวเลย (หัวเราะ) มองเป้าหมายเป็นหลักมากกว่าการเอาชนะ ถ้าเราสู้ด้วยเหตุด้วยผลแล้วท่านไม่ฟังก็ให้มันรู้ไป ซึ่งก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่เราก็ทำให้ดีที่สุด”

ถามถึงงานอดิเรกนอกเหนือจากงานเคลื่อนไหวทางสังคม หลังนิ่งคิดอยู่พักหนึ่ง ภารนีบอกว่า “ชอบเดินทาง” เพราะทำให้รู้จักตัวเองและเพื่อนร่วมโลก ไม่ได้เน้นความสวยงามของทิวทัศน์ แต่เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบ อันเป็นสิ่งที่ช่วยให้ได้ข้อคิดในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตัวเองอีกด้วย

ส่วนหนึ่งในการเดินทางครั้งประทับใจ คือ ชุมชนชาวประมงหลายแห่งทางภาคใต้ ซึ่งทำให้เห็นแง่มุมชีวิต ทุกข์สุขที่ได้เจอในสังคมเล็กๆ ในโลกใบเดียวกัน

“เดิมเป็นนักวิชาการที่พูดไม่รู้เรื่อง การได้เดินทางและทำงานกับชุมชนทำให้รู้ว่าต้องรู้จักคนที่ทำงานด้วยกันก่อน นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งทำให้ลดอัตตาตัวเอง ไม่อยากให้ชาวบ้านคิดว่าเราคือผู้รู้ จริงๆ แล้วเวลาชาวประมงลุกขึ้นมาพูด เรื่องราวของเขามีมหาศาล เขารู้ความแตกต่างของคลื่นแบบต่างๆ รู้ว่าฤดูนี้มีปลาอะไร ตรงไหนมีกระดองปลาหมึกอะไรบ้าง เขาชินกับทะเล จนมองไม่เห็นว่าสิ่งที่มีโดดเด่น เราแค่ไปช่วยดึงความพิเศษออกมาให้คนอื่นเห็น

“สิ่งสำคัญคือต้องเป็นการช่วยชาวบ้านคิด ไม่ใช่ไปคิดแทนชาวบ้าน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยการลุกขึ้นมาทำ การที่คนลุกขึ้นมาทำอะไรให้บ้านเกิด หัวใจต้องใหญ่ขนาดไหน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image