คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : “โปเกมอน โก” มาแล้ว

สิ้นสุดการรอคอยเสียที เมื่อเข้ามาให้ดาวน์โหลดเล่นกันได้แล้วในบ้านเรา ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง หลังจากดังข้ามโลกให้คอเกมชาวไทยชะเง้อชะแง้ดูประเทศอื่นเล่นกันสนุกสนานมาพักใหญ่ สำหรับ

“โปเกมอน โก” (Pokemon Go) เกมมือถือสุดฮอตจากค่ายเกมดัง “Niantic, Inc”

โด่งดัง และทำลายสถิติหลายสิ่งอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นยอดการดาวน์โหลดที่รวดเร็วที่สุด, ระยะเวลาในการเล่นเกมโดยเฉลี่ยต่อคนในแต่ละวันที่วิ่งแซงหน้าโซเชียลมีเดียดังทั้งหลายไปแล้วเรียบร้อย

“เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม-วอทส์แอพ” ต่างพ่ายแพ้ให้กับ “โปเกมอน โก” ยังไม่นับความสามารถในการทำรายได้จากการขายไอเท็มในเกมที่ได้มากกว่าทุกเกมที่เคยฮอตมาก่อนหน้านี้

Advertisement

“แคนดี้ครัช” ที่เคยแน่ๆ โดน “โปเกมอน โก” ล้มแชมป์ไปแล้ว

มีการคาดการณ์กันว่า เดือนเดียว “โปเกมอน โก” โกยเงินไปแล้วอย่างน้อย 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และไม่มีทีท่าว่าสปีดจะลดลงแต่อย่างใด แม้จะเริ่มมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับผลเสียที่เกิดจากการเล่นเกมนี้ และเริ่มมีบางประเทศแบนเกมด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป

ต้องยอมรับว่า กระแสโปเกมอน โก เป็นปรากฏการณ์ไม่ธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

Advertisement

ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเราเอง ประชาชนคนไทยที่ใช้สมาร์ทโฟนครึ่งประเทศที่เคยได้รับการขนานนามว่า ชนเผ่า “สังคมก้มหน้า” เริ่มออกเดิน

ด้วยว่า ตัวเกม “โปเกมอน โก” ออกแบบให้ผู้เล่นต้องเคลื่อนที่ สมชื่อเกมที่มี “โก” ต่อท้าย เพื่อไปตามล่า ตามหา อาวุธ เพิ่มพลัง และเจ้าตัว “โปเกมอน” หลากแบบ ตามสถานที่ต่างๆ

ยิ่งเคลื่อนไหว ยิ่งเพิ่มโอกาสในการสะสมแต้มอัพเลเวล ไข่โปเกมอนฟักเป็นตัวได้ด้วยระยะทางในการเดิน เช่น 2, 5, 10 กิโลเมตร

ถ้าในแต่ละวัน คนเราได้ออกกำลังกายด้วยการเดินได้สัก 5 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร นับเป็นเรื่องที่ดี ได้เดินได้เงยหน้าบ้างดีกว่านั่งนิ่งๆ ก้มหน้าก้มตา กดโน่นดูนี่แต่บนหน้าจอ “สมาร์ทโฟน” เพียงแต่ไม่ควรหมกหมุ่นเกิน

เพราะถ้ามัวแต่ก้มหน้าดูหน้าจอมือถือตามหาโปเกมอน พร้อมกับเคลื่อนตัว (เดิน) ไปด้วยก็มีโอกาสเดินสะดุดหกล้ม ชนโน่นนี่ หรือตกน้ำตกท่าเป็นอันตรายได้เหมือนกัน

ในบ้านเราเองเริ่มมีความเป็นห่วงกังวลเช่นกัน

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ “กสทช.” จึงนัดค่ายมือถือมาหารือเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงปัญหาบิลช็อก ร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.)

การหารือร่วมกันได้ข้อสรุป 3 แนวทาง

แนวทางแรก คือ ขอให้มีการจำกัดพื้นที่การเล่นเกมในเบื้องต้น 4 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณสถานที่อันตราย เช่น ริมทางรถไฟ ริมแหล่งน้ำ เป็นต้น 2.ศาสนสถานและโบราณสถาน 3.สถานที่ราชการ และ 4.พื้นที่ส่วนบุคคล โดยสำนักงาน กสทช.จะรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ควรจำกัดการเล่นส่งให้ Niantic ผู้พัฒนาเกมในสหรัฐอเมริกา

แนวทางที่ 2 คือ การขอความร่วมมือให้ค่ายมือถือจัดทำคู่มือในการเล่นเกม สำหรับผู้ปกครองและสำหรับเด็ก

แนวทางสุดท้าย เกี่ยวกับการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบิลช็อกแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเกมอื่นๆ ก่อนหน้านี้

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่า ข้อสรุปจากการหารือร่วมกันข้างต้น ยังไม่รู้ว่ามีอำนาจบังคับไหม และทำได้แค่ไหน แต่คิดว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและผู้บริโภค ส่วนไหนเริ่มทำได้ก่อนก็ทำไป เช่น การจัดทำคู่มือของค่ายมือถือ และการดูแลไม่ให้เกิดปัญหาบิลช็อก

เรื่องบิลช็อกยังไม่เกิด แต่กันไว้ก่อนก็ดี เพราะขนาดนักกีฬายิมนาสติกของญี่ปุ่นที่ไปแข่งโอลิมปิกที่บราซิลยังช็อกมาแล้ว หลังโดนเรียกเก็บค่าโรมมิ่งแสนกว่าบาทจากการเล่นเกมโปเกมอน

เช่นกันกับการจำกัดพื้นที่ห้ามเล่น ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มแล้ว โดยที่บริษัทผู้พัฒนาเกมเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อมีการส่งคำร้องไปยังบริษัท เช่น กรณีไม่ให้ปล่อย โปเกมอนในสวน “ฮิโรชิมา พีช” ซึ่งเป็นพื้นที่รำลึกเหตุการณ์ระเบิดปรมาณู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image