เสียงเพลงและการเมือง เหตุเกิดที่ เทศกาล BMMF

เสียงเพลงและการเมือง เหตุเกิดที่ เทศกาล BMMF

เสียงเพลงและการเมือง
เหตุเกิดที่ เทศกาล BMMF

กรณี “บิ๊กเมาน์เท่น” เป็นข่าวกระหึ่ม ทั้งออนไลน์ และหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
หลายท่านอาจจะเปล่ง อิหยังวะ เทศกาลดนตรีของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวผู้รักเสียงเพลง กลายเป็นการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ทางราชการ งัดเอาเรื่องความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด มาเป็นเหตุสั่งห้ามแสดง และจะดำเนินคดีกับผู้จัดงาน

ลองลำดับเหตุการณ์ดู อะไรที่ทำให้ราชการไทย ที่กำลังสุดหลอนกับการรับมือม็อบคนหนุ่มสาว ภายใต้สมมุติฐานว่า มีผู้อยู่เบื้องหลัง ปั่นหัว ล้างสมองและชี้นำ ม็อบนี้ รวมเอาเทศกาลดนตรีไปอยู่ในหมวดภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐบาล

เมื่อโปรเจ็กต์ดนตรีชื่อดัง ‘Big Mountain Music Festival’ หรือ BMMF ประกาศกำหนดแสดงในปีนี้ ที่สนามกอล์ฟ ดิ โอเชี่ยน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม

Advertisement

และผู้จัดคือ ดีเจ นักธุรกิจดนตรีชื่อดัง ยุทธนา บุญอ้อม หรือ ‘ป๋าเต็ด’ อดีตดีเจชื่อดัง ซึ่งได้แสดงท่าทีสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร

นอกจากทำให้คอเพลง ผู้นิยมฟังเพลงในท่ามกลางสภาพธรรมชาติ ตื่นตัวเตรียมเงินไปซื้อตั๋วแล้ว ยังทำให้ BMMF เป็นที่จับตามองของฝ่ายความมั่นคงทันที

สำหรับป๋าเต็ด เป็นที่รู้จักคนหนุ่มคนสาว และคนรุ่นใหม่จำนวนมาก จากเส้นทางการเกี่ยวข้องกับวงการดนตรี

เขาคือ อดีตผู้บริหารคลื่นวิทยุ อดีตผู้บริหารสื่อดนตรี ‘DDT’

สำหรับ ‘Big Mountain Music Festival’ จัดมา 11 ปี เกินทศวรรษมาแล้ว โดยขับเคลื่อนในแบบเดียวกับ แกลสตันเบอรี่ เทศกาลดนตรีชั้นนำของประเทศอังกฤษ (Glastonbury Festival)

ป๋าเต็ดไม่ได้มีชื่อเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก่อน เพียงแต่ในช่วงของการชุมนุมของม็อบราษฎร เช่นเดียวกับศิลปินดาราและคนวงการบันเทิงที่มีแนวคิดประชาธิปไตย ยุทธนาเคยไปปรากฏตัวในที่ชุมนุม

และเมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดนำแรงดันสูง ฉีดใส่ประชาชนที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ยุทธนาได้โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ว่า “ในที่สุดก็เกิดความรุนแรงโดยไม่จำเป็นอีกแล้ว หยุดคุกคามประชาชน เริ่มรับฟังและพูดคุยกับประชาชนด้วยความจริงใจเสียที”

และ “คงต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุมของโลก ว่าครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ประเทศหนึ่ง ใช้อาวุธปราบจลาจล ต่อสู้กับเรือเป็ด”

อีกคนที่เป็นตัวละครสำคัญ คือ ‘แอมมี่ เดอะ บอททอมบลูส์’ นักดนตรีผู้เคลื่อนไหวกับม็อบราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่า อยากไปเล่น BMMF 2020

วันถัดมา ‘แอมมี่’ ระบุว่า จะได้ขึ้นเล่นเวที BMMF 2020 แล้ว แต่อีกวันต่อมากลับพลิกล็อก ‘แอมมี่’ โพสต์เฟซบุ๊กอีกว่า เพื่อความเป็นธรรมกับทุกศิลปิน จะไม่ไปขึ้นเล่นที่ BMMF 2020 จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย และขอบคุณป๋าเต็ดที่ให้โอกาส

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ถ้า ป๋าเต็ด ให้ แอมมี่ ขึ้นคอนเสิร์ตจะถูกปล่อยข่าวมีผู้ติดเชื้อโควิด

วันแรกของการจัดคอนเสิร์ต คือ 12 ธันวาคม มีข่าวลือในโลกออนไลน์ว่า พบหญิงวัย 43 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ไปร่วมงานเทศกาล Big Mountain ทำให้เพื่อนที่มาด้วยกัน 7 คนต้องกักตัว

ก่อนอธิบดีกรมควบคุมโรคออกมาชี้แจงว่า หญิงคนดังกล่าวมีโรคประจำตัวกล้ามเนื้ออ่อนแรง พอมาถึงปากช่องอาการแย่ลง จึงเข้าตรวจหาเชื้อโควิดทั้งกลุ่มแล้ว ผลปรากฏว่า เป็นลบและไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19

คอนเสิร์ต BigMountain จัดขึ้นตามปกติ โดยมีผู้เข้าชมร่วม 5 หมื่นคน ศิลปินหลายวงใช้โอกาสนี้แสดงจุดยืนทางการเมือง อาทิ มือกีตาร์วง Lomosonic ใส่เสื้อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, วงไททศมิตร นำร้อง 1 2 3 4 5 แล้วผู้ชมคอนเสิร์ตพูดคำด่าผู้มีอำนาจในรัฐบาล พร้อมชูสามนิ้ว

วง Sweet Mullet สวมชุดกู้ภัย เขียนว่า สวีต มัลเล็ต ไว้ด้านหลังและแต่งหน้าแฟนซี พร้อมแบกหุ่นศพที่พันผ้าคล้ายห่อศพขึ้นไปร่วมแสดงบนเวที

มีการนำเป็ดเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร มาสร้างบรรยากาศในงาน

รวมถึงวง Tilly Birds ประกาศ จุดยืน และคำขวัญทางการเมือง โดยให้แฟนเพลงร่วมกันชูสามนิ้ว

วันรุ่งขึ้น 13 ธันวาคม ทางจังหวัดนครราชสีมาประชุมผู้รับผิดชอบ ต่อมาผู้ว่าฯโคราชสั่งยุติการแสดง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้จัดงาน ป๋าเต็ด ยุทธนา ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ว่าฯจังหวัดนครราชสีมา แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมายกคำร้อง โดยระบุว่ามาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ยื่นขออุทธรณ์มา คล้ายกับมาตรการเดิมที่เคยเสนอมาแล้ว

เวลา 21.00 น. ทางเพจ Big Mountain โพสต์แจ้งว่า จะยุติการจัดงานในเวลา 22.00 น. และยินดีคืนเงินค่าบัตรให้ผู้ชม ทวิตเตอร์ที่ติดแฮชแท็ก #BigMountain2020 ขึ้นอันดับ 1 ในเทรนด์ทวิตเตอร์

ชาวเน็ตตั้งคำถามว่า คำสั่งปิดคอนเสิร์ตเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ที่มีศิลปินหลายวงแสดงออกทางการเมือง และมีการนำ เป็ดเหลือง เข้ามาในพื้นที่การแสดงหรือเปล่า

บรรยากาศหลังเลิกงานในช่วง 22.00 น. มีการร้องเพลง 12345 I Love You ของวง The Bottom Blues และตะโกนด่าผู้มีอำนาจในรัฐบาล ตามแบบที่ร้องในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา

รัฐบาลกำลังหวาดระแวงการรวมตัวของคนรุ่นใหม่

แม้เป็นการรวมตัวเพื่อฟังการแสดงคอนเสิร์ต เพื่อติดตามศิลปินคนโปรดของตนเองก็ตาม

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งสัญญาณเข้มๆ ไปยังคนที่แสดงท่าทีเห็นต่างจากรัฐ หรือสนับสนุนม็อบไปพร้อมกัน

ดังที่จะเห็นได้จาก ศิลปินดาราที่ยืนข้างฝ่ายผู้มีอำนาจทางการเมือง

เท่ากับว่า แนวรบทางการเมือง ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านได้ขยายตัว ลุกลามมาถึงแวดวงดนตรีและบันเทิง

บทสรุปของเรื่องนี้ คือ แม้ภาครัฐและราชการจะมีอำนาจมาก ด้วยระเบียบกฎหมายและกลไกของระบบราชการ แต่ถ้าใช้อำนาจไปเรื่อยเปื่อยตามใจตัวเอง

สุดท้าย จะคาดหวังให้ประชาชน มาสนับสนุน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image