อาศรมมิวสิก : โรเบิร์ต เทรวิโน กับงานบันทึกเสียงซิมโฟนีของเบโธเฟน บทพิสูจน์ในเรื่องโลกไร้พรมแดนและมิติแห่งกาลเวลา

เดิมทีผู้เขียนได้เตรียมค้นคว้าเรื่องราวประวัติของวาทยกรระดับตำนานผู้หนึ่งเอาไว้เพื่อเขียนให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันในฉบับนี้ แต่แล้วก็ต้องมีเหตุให้เปลี่ยนใจอย่างกะทันหัน เมื่อได้รับแผ่นซีดีผลงานบันทึกเสียงซิมโฟนีชุด 9 บทครบสมบูรณ์ของ “เบโธเฟน” (Ludwig van Beethoven) จากเพื่อนผู้รักดนตรีคลาสสิกในแวดวงด้วยกันคนหนึ่ง จากตัวอย่างงานบันทึกเสียงเพียงไม่กี่นาทีในโลกออนไลน์ ทำให้ผู้เขียนสะดุดใจเป็นอย่างมากกับการตีความซิมโฟนีของเบโธเฟน ของวาทยกรผู้นี้จนต้องอาศัยไหว้วานให้เพื่อนผู้นี้ช่วยติดตามสั่งซื้อมาให้ มันเป็นผลงานบันทึกเสียงจากการบรรเลงโดยวง “มัลโม ซิมโฟนีออเคสตรา” (Malmo Symphony Orchestra) แห่งประเทศสวีเดน อำนวยเพลงโดยวาทยกรหนุ่มชาวอเมริกันสายเลือดเม็กซิกันนามว่า “โรเบิร์ต เทรวิโน” (Robert Trevino) ที่มีวัยเพียง 36 ปี จากเดิมทีที่ต้องการให้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัว หากแต่เมื่อได้ฟังผลงานชุดนี้ไปสักช่วงระยะหนึ่งอีกทั้งเมื่อได้อ่านเรื่องราวของวาทยกรผู้นี้มาบ้างแล้วก็ต้องเปลี่ยนใจ นำมาบันทึกไว้ให้ท่านผู้อ่านรับรู้ด้วยกัน

ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนี้เมื่อปีกลาย (เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562) ผู้เขียนได้เขียนเรื่องราวของงานบันทึกเสียงซิมโฟนีชุด 9 บทครบสมบูรณ์ของ “เบโธเฟน” ที่บรรเลงโดยวง “แดนิช เชมเบอร์ออเคสตรา” (Danish Chamber Orchestra) กับวาทยกรวัยเก๋า (อายุ 71 ปี) ชาวฮังการีนาม “อดัม ฟิชเชอร์” (Adam Fischer) ไปแล้ว ประเด็นสำคัญประการหนึ่งก็คือในยุคสมัยนี้ ใครที่ยังกล้าผลิตผลงานบันทึกเสียงซิมโฟนี ของเบโธเฟนออกวางจำหน่ายใหม่ๆ ดูจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากทั้งในทางการตลาดและการยอมรับจากแฟนๆ เพลงร่วมยุคร่วมสมัยในปัจจุบัน แต่เมื่อเอาเข้าจริงๆ แล้วผลงานบันทึกเสียงซิมโฟนีของเบโธเฟนก็ยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการได้ไม่หยุดยั้ง ทั้งในด้านการตลาดและด้านการถกเถียงในเชิงการตีความทางดนตรี แผ่นซีดี, แผ่นเสียงไวนิล (Vinyl) ยังไม่ตาย แม้จะมีหนทางในการฟังสื่อเสียงดนตรีสำเร็จรูปในแบบอื่นๆ มากมาย เช่นเดียวกับซิมโฟนีของเบโธเฟน ที่ยังไม่ตายแม้จะมีดนตรีร่วมสมัยหรือดนตรีทางเลือกอื่นๆ ให้เลือกมากมายในโลกปัจจุบัน

นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจในการตัดสินใจ ควักสตางค์ซื้องานบันทึกเสียงซิมโฟนีเบโธเฟน ในยุคปัจจุบันทั้งๆ ที่เรามีผลงานบันทึกเสียงซิมโฟนีของเบโธเฟนมากมายในอดีต ชั้นยอดมากมายจนสามารถใช้คำว่า “นับไม่ถ้วน” อย่างแท้จริง แล้วอะไรคือเหตุผลที่เรายังต้องซื้อหาซิมโฟนีของเบโธเฟนมาฟังกันอีกในวันนี้ โดยส่วนตัวผู้เขียนเอง เอาแค่งานบันทึกเสียงของวงแดนิช เชมเบอร์ออเคสตรากับวาทยกรอาวุโสอย่าง “อดัม ฟิชเชอร์” เมื่อเปรียบเทียบกับการบรรเลงของวงมัลโมซิมโฟนี และวาทยกรหนุ่มอย่าง “โรเบิร์ต เทรวิโน” แล้วยังต้องยอมรับว่าการตีความของอดัม ฟิชเชอร์ผู้สูงวัยนั้นสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความน่าประหลาดใจ” (หรือภาษาวัยรุ่นที่เรียกว่า “Surprise”) ได้อย่างชัดเจนและมากมาย น่าตื่นเต้นกว่าการตีความของคนหนุ่มสายเลือดเม็กซิกันอย่าง โรเบิร์ต เทรวิโน เป็นไหนๆ แล้วทำไมโรเบิร์ต เทรวิโน จึงยังมีที่ยืนในตลาดเพลงซิมโฟนีเบโธเฟนยุคปัจจุบันได้อีก ผู้เขียนคิดว่าศิลปะดนตรีดีๆ นั้น ความน่าตื่นเต้น หรือความน่าประหลาดใจนี้ คงไม่ใช่เรื่องใหญ่เพียงเหตุผลเดียวที่เราจะใช้เป็นเหตุผลในการเลือกเสพงานศิลปะ มันเป็นการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ อีกมากที่การแสดงออกโดยศิลปินเพียงคนเดียวไม่อาจให้เราได้อย่างครบถ้วน

ผู้เขียนคิดว่านอกจากการฟังผลงานการตีความของ วาทยกรแล้วการได้รับทราบปรัชญา, แนวคิดในด้านการตีความ มุมมองทางดนตรี (ที่สามารถเชื่อมผสานได้กับมุมมองต่อโลกและชีวิต) นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งถ้าจะกล่าวในเรื่องนี้แล้ว “โรเบิร์ต เทรวิโน” เป็นศิลปินหนุ่มที่มีความคิดที่สุขุมและสุกงอมเกินวัยผู้หนึ่งทีเดียว นี่จึงคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดเขาจึงยังกล้าเลือกตีความซิมโฟนีเบโธเฟนครบชุดและบันทึกเสียงในยุคปัจจุบัน มันไม่ใช่ความมั่นใจในเรื่องฝีมือแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันยังต้องเป็นความมั่นใจในด้านความสุกงอมของวุฒิภาวะและปรัชญา-ความคิด (ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับวัยวุฒิ) ตัวอย่างจากบทสัมภาษณ์ในบางบทบางตอนระหว่างเขากับ “เดวิด แพทริค สเติร์นส์” (David Patrick Stearns) นักวิจารณ์ดนตรีชาวอเมริกัน เป็นเนื่องที่น่าสนใจมาก ในหลากหลายประเด็น อาทิ ในประเด็นที่ถูกถามว่า เกือบทุกๆ ครั้งที่มีการบันทึกเสียงซิมโฟนีของเบโธเฟนครบชุด ก็จะมีหลายต่อหลายคนกล่าวว่า “นี่เอาอีกแล้วเหรอ?” คุณคิดว่าคุณจะตอบคำถามนี้อย่างไร?

Advertisement

โรเบิร์ต เทรวิโน ตอบว่า “…พวกเราต่างก็กำลังยืนอยู่ ณ ทางแยก (ทางเลือก) ของดนตรีซิมโฟนีของเบโธเฟน พวกเรายังคงบรรเลงมันเหมือนๆ กับปรมาจารย์รุ่นเก่าๆ รึเปล่า เหมือนกับการตีความของ ‘เฟิร์ตเวงเลอร์’ (W.Furtwangler) และ ‘คารายาน’ (Herbert von Karajan) หรือเปล่า หรือเหมือนๆ กับพวกทางการตีความด้วยการบรรเลงย้อนยุคทางประวัติศาสตร์ อย่าง ‘อาร์นองกู’ (N.Harnoncourt) หรือ ‘จอห์น การ์ดิเนอร์’ (J.E.Gardiner) หรือไม่? ผมเองเป็นผู้ชื่นชมในสำนักสุนทรียศาสตร์ทั้งสองแบบนี้ และมันก็คือคัมภีร์ของแนวคิดเบโธเฟนที่ว่าดนตรีนี้ยังสามารถดำรงอยู่ได้ ต่อการตีความ-การบรรเลงที่แตกต่างสุดขั้วปานนั้นได้ อีกทั้งยังสามารถสื่อสารได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ความตั้งใจของดนตรีนั้นอีกด้วย, มันเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนในทุกๆ รุ่น, วงออเคสตราทุกๆ วง และประเทศต่างๆ ในทุกอาณาเขตแดน ที่จะแสดงถ้อยแถลงของพวกเขา ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ด้วยดนตรีของเบโธเฟน มันจึงเป็นเสมือนการจดบันทึก, วิถีทางความคิด, วิถีแห่งการบรรเลง และวิถีแห่งการมองโลก และโลก ณ ปัจจุบันนี้ในปี ค.ศ.2020 ก็ย่อมจะแตกต่างจากโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในปี ค.ศ.2030 และแน่นอนด้วยที่มันจะแตกต่างอย่างมากจากโลกในปี ค.ศ.1770 ตอนที่เบโธเฟนได้ถือกำเนิด…”

สำหรับคำถามที่ว่า “…มีค่าย, สำนัก (ทางความคิด) ทางการบรรเลงดนตรีมากมาย, หลากหลาย คุณชื่นชอบค่ายไหนเป็นพิเศษบ้างไหม? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองว่าครู (และที่ปรึกษา) ของคุณคนหนึ่งคือ ‘เดวิด ซินแมน’ (David Zinman) เป็นผู้ที่เชื่อมั่นอย่างมากในการบรรเลงดนตรีแนวย้อนยุคที่ถูกต้องตรงตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ (Historically-Informed Performance)…” โรเบิร์ต ทราวิโน ตอบว่า “…ก่อนที่ผมจะอำนวยเพลงชุดนี้ ผมได้ปรึกษากับเดวิดแล้ว และผมก็ยังได้พูดคุยกับ ‘ดาเนียล บาเรนบอย์ม’ (Daniel Barenboim) ผู้ซึ่งมีความเชื่อว่าดนตรีของเบโธเฟนสามารถแสดงลักษณะที่แตกต่างกันมากมายได้ในโลกสมัยใหม่ ด้วยเครื่องดนตรีในวงออเคสตราที่เราใช้กันอยู่ในยุคปัจจุบัน ด้วยความเคารพนับถืออย่างสูงต่อท่านศิลปินทั้งสองนี้ ผมนั้นมิได้มองเห็นดนตรีของเบโธเฟน เสมือนกันทุกอย่างกับที่ เดวิด ซินแมน หรือดาเนียล บาเรนบอย์ม มองเห็น โดยส่วนตัวของผมแล้วผมเห็นดนตรีของเบโธเฟน ดำรงอยู่ ณ บางจุดระหว่างวิธีคิดทั้งสองแบบ, การมองดนตรีเบโธเฟนแบบยึดความถูกต้องตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ด้วยวิถีทางปฏิบัติต่อบางสิ่งบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่า พวกเรากำลังบรรเลงดนตรีของเบโธเฟน ด้วยเครื่องดนตรีของวงออเคสตราสมัยใหม่ ที่สืบเนื่องมาด้วยขนบจารีตอย่างยาวนานมาแล้ว พวกเรามิได้ถูกจองจำหรือต้องถูกจำกัด อยู่เพียงในยุคสมัยใดเพียงยุคเดียว แต่คำว่าสมัยใหม่นี้ ก็มิได้หมายความว่า ผมสามารถเพิ่มเครื่องดนตรีไฟฟ้า เข้าไปในดนตรีของเบโธเฟน อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีวงออเคสตราแบบยุคปัจจุบัน แต่กลับไปถอดรื้อแนวคิดในการบรรเลง หรือทุกสิ่ง, ทุกอย่างที่มันได้พัฒนาสะสมต่อเนื่องมายาวนาน นั่นหมายความว่า คุณกำลังจะทำให้มันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ซึ่งมันก็นับเป็นเรื่องที่ดี หากคุณต้องการที่จะเดินทางย้อนเวลากลับไปในประวัติศาสตร์ แต่……สำหรับผมเองนั้นมองว่า ดนตรีเป็นสิ่งมีชีวิต, เป็นสิ่งมีชีวิตอย่างแท้จริง และยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการอีกด้วย…”

เทรวิโนได้กล่าวถึงการบันทึกเสียงซิมโฟนีของเบโธเฟนชุดนี้ซึ่งเป็นบันทึกการแสดงสด ในเมือง “มัลโม”, สวีเดน อันเป็นคอนเสิร์ตที่แสดงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่วัน โดย โรเบิร์ต ทราวิโน เล่าว่า บัตรทุกที่นั่งในการแสดงทุกรอบถูกจับจองเต็มหมดล่วงหน้า เขาพูดถึงในประเด็นนี้ว่า “…นี่ แสดงให้เห็นว่าพวกเราในยุคปัจจุบันยังคงมีความต้องการ ‘สารทางความคิด’ ของเบโธเฟนกันมากแค่ไหน โลกปัจจุบันนี้ยังคงมีความต้องการนักแต่งเพลง ผู้ซึ่งกำลังพูดถึงความคิดในขั้นสูง, พูดถึงแนวคิดทางการเมือง และแนวคิดแห่งการเป็นผู้ให้, ผู้เสียสละ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้สร้างการถกเถียง, วิวาทะ อันจำเป็นอย่างยิ่งในการบรรเลงดนตรีของเบโธเฟน มันเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผมเอง ที่จะบันทึกเสียงหรือเลือกบรรเลงผลงานเพียงชิ้นเดียวจากทั้งหมด ผมมีแนวคิดจินตนาการในภาพรวมทั้งหมดของซิมโฟนีของเบโธเฟนเป็นภาพใหญ่อันเดียวกัน ที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้…”

สำหรับความเห็นโดยส่วนตัวของผู้เขียนต่องานบันทึกเสียงชุดนี้นั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เมื่อเทียบกับ วาทยกรอาวุโส อย่าง “อดัม ฟิชเชอร์” ที่โด่งดังไปเมื่อปีกลายแล้ว โรเบิร์ต เทรวิโน ยังสร้างความน่าตื่นเต้น, น่าประหลาดใจได้น้อยกว่าเสียอีก แม้วัยจะน้อยกว่าจนแทบจะเป็นรุ่นหลาน การตีความของเทรวิโน ในดนตรีของเบโธเฟนแม้จะฟังดูว่าเต็มไปด้วยพลัง และความร้อนแรงแบบคนหนุ่ม แต่ในภาพรวมแล้ว ก็ยังจะพอสามารถที่จะกล่าวได้ว่า เราพอจะคาดเดาทิศทางการบรรเลงของเขาได้ถูกว่าเขาจะเดินไปทางไหน ผิดกับความคิดสร้างสรรค์ของ อดัม ฟิชเชอร์ ที่หลายต่อหลายจุดที่เขานำพารสนิยมเข้าไปใกล้กับคำว่า “กล้าบ้าบิ่น” ทีเดียว ผู้เขียนคิดว่านั่นเป็นการแสดงออกถึงความเป็นไปได้แบบหนึ่ง และรสชาติทางดนตรีแบบหนึ่งในซิมโฟนีของเบโธเฟน ผิดกับเทรวิโนที่แสดงออกในภาพรวมถึงทรวดทรงทางดนตรีอันงดงามได้สัดส่วน ตามตรรกะทางดนตรีแบบสำนักความคิดแบบเยอรมัน การนำเสนอส่วนทำนองหลัก (Exposition) ของดนตรีที่ โรเบิร์ต เทรวิโน เลือกการบรรเลงแบบย้อนใจความหลัก (Exposition Repeat) ตามขนบจารีตแห่งดนตรีในศตวรรษที่ 18 อย่างแท้จริง คุณภาพเสียงที่คมชัด ฟังสบาย

ทุกวันนี้เป็นศตวรรษที่ 21 แล้ว ยังคงมีความต้องการฟังดนตรีของเบโธเฟนอยู่อย่างต่อเนื่องจากอดีตที่มันได้ถือกำเนิดขึ้นมา ยาวนานมาจนในปัจจุบัน เหตุผลใดที่ทำให้ดนตรีของเบโธเฟน ยังคงมีความเป็นอมตะ และคลาสสิก ก้าวข้ามพ้นยุคสมัยและกาลเวลา เซอร์ เนวิลล์ คาร์ดุส (Sir Neville Cardus) นักวิจารณ์ดนตรีชาวอังกฤษที่ผู้เขียนนับถือมากให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า เพราะดนตรีของเบโธเฟนก้าวข้ามเรื่องกาลเวลา ซึ่งเราไม่อาจใช้คำว่า “ล้าสมัย” หรือ แม้แต่คำว่า “ทันสมัย” กับดนตรีของเบโธเฟนได้ ดนตรีของเขาสถิตอยู่กับโลกทุกยุคทุกสมัย และในทุกๆประเทศทั่วโลก และเมื่อพูดถึงความเป็นสากลในดนตรีของเบโธเฟน ที่ก้าวพ้นเรื่องประเทศ, เขตแดน และมิติแห่งกาลเวลานี้ เราสามารถพินิจมันได้จากความสำเร็จทั้งในทางดนตรี และในทางวุฒิภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ของ โรเบิร์ต เทรวิโน วาทยกรวัยหนุ่มที่มีพื้นเพมาจากสายเลือดเม็กซิกัน แห่งรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันเขาได้รับความสำเร็จ, การยอมรับทางดนตรีให้ควบคุมวงออเคสตราชั้นนำในประเทศสวีเดน และประเทศสเปน นี่มันยิ่งสะท้อนให้เราเห็นถึงแนวคิดแห่งความเป็นสากลที่ก้าวข้ามเขตแดนและมิติแห่งกาลเวลาอย่างแท้จริง ในอดีตเรามักยึดติดกับแนวคิดที่ว่า ศิลปินดนตรีจากแดนดินถิ่นใดก็จะมีความเชี่ยวชาญดนตรีในแดนดินถิ่นนั้นเป็นพิเศษ ซึ่งเบโธเฟนไม่ต้องการให้เกิดความคิดที่ยึดติดแบบนี้กับดนตรีของเขา เขาประกาศความคิดนี้ทั้งโดยส่วนตัวและผ่านเสียงดนตรีที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้มันมีความเป็นสากลสำหรับมนุษยชาติ ดนตรีของเบโธเฟนจึงเป็นเครื่องมือในทางการศึกษาเพื่อยกระดับและพัฒนาความเป็นมนุษย์ของทุกคน และก้าวไปไกลกว่าที่เราจะให้คำจำกัดความดนตรีของเขาว่าเป็นเพียง “มหรสพ” คุณภาพการบรรเลงดนตรีของเบโธเฟนกับวงมัลโมซิมโฟนีออเคสตรา ในความควบคุมวงของโรเบิร์ต เทรวิโน เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง อีกทั้งการแสดงออกถึงปรัชญา, แนวคิดต่อการมองศิลปะดนตรีและการมองโลกของ โรเบิร์ต เทรวิโน ย่อมเป็นผลพวงมาจากรากฐานแห่งดนตรีของเบโธเฟนอย่างปฏิเสธไม่ได้

จากนี้ไปเราคงจะได้ฟังดนตรีของเบโธเฟนกันด้วยความกระตือรือร้น ต่อการตีความใหม่ๆ ที่จะมีขึ้นมาอีกในอนาคตอย่างมากมาย โดย ไม่ติดยึดอยู่กับคำว่า “ล้าสมัย” หรือแม้แต่คำว่า “ทันสมัย” อีกต่อไป

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image